บาตรเดียวท่องโลก…

ก้าวที่สำคัญ

เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร

หนุ่มชาวออสเตรียอเมริกันวัย ๒๙ ปี ตัดสินเลือกเป็นอนาคาริก (พ่อขาว) ที่วัดอมราวดี ประเทศอังกฤษ หลังจากได้ปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาอยู่หลายปี ซึ่งตามหลักของการเตรียมบวชที่นี่ ในช่วงเวลา ๑ ปีเป็นอย่างน้อยตามข้อกำหนดของวัดทางตะวันตกสายหลวงปู่ชา สุภัทโท ที่ต้องเป็นพ่อขาวก่อน

ในช่วงเวลานั้นเขาต้องเรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติในพระธรรมวินัยและบทสวดมนต์ต่างๆ ที่จำเป็น เมื่อเขาต้องการเลือกเดินอยู่บนหนทางนี้ นอกจากนั้นเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ และพระพี่เลี้ยงที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดอยู่ร่วมกันในการเตรียมการใช้ชีวิตแบบนักบวช

เมื่อครบเวลา ๑ ปีของการเป็นพ่อขาว ทางพระพี่เลี้ยงและพระภิกษุสามเณรจะร่วมกันตัดสินใจว่า พ่อขาวสมควรจะได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรหรือไม่

นอกจากทางฝั่งพระภิกษุสามเณรที่มีมติเห็นสมควรแล้ว ทางด้านพ่อขาวเองก็ต้องตัดสินใจว่า ตนเองมั่นใจที่จะเป็นสามเณรหรือไม่

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะการตัดสินใจบวชของสายนี้ เหมือนการเลือกที่จะใช้ชีวิตคู่ที่ต้องแต่งงานกับใครสักคน แต่ต่างกันตรงที่เขาต้องอุทิศทั้งชีวิตเพื่อเดินทางสายนี้เพียงลำพัง โดยมีคณะสงฆ์เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมทางโดยมิได้เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง แม้ทางคณะสงฆ์อาจมิได้กำหนดว่าต้องเป็นนักบวชตลอดชีวิต แต่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เมื่อใดเลือกที่บวชแล้ว จะขอปฏิบัติจนกว่าจะดับทุกข์ทั้งหมดในตน อาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตหรือมากกว่าชีวิตนี้ ถ้ายังไม่หมดทุกข์

ซึ่งพ่อขาวชาวออสเตรียอเมริกันท่านนี้ ก็ได้ตัดสินใจเลือกที่จะบรรพชาเป็นสามเณรและทางคณะสงฆ์ก็มีฉันทาคติให้บรรพชาได้ แม้ช่วงก่อนที่บรรพชาเพียงหนึ่งเดือนตัวเขาเองยังลังเลอยู่ว่า จะบรรพชาดีไหม?

  “นับเป็นสิ่งที่น่ายินดี น่าอนุโมทนายิ่งเมื่อมีใครสักคน ที่ตื่นขึ้นจากความยึดมั่นถือมั่น”

พระพิทยา ฐานิสสโร
ก้าวที่สำคัญ เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร จากคอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑)
ก้าวที่สำคัญ เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร จากคอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑)

แม้ในช่วงขณะเวลาหนึ่งที่ตัดสินใจเลือกเดินบนหนทาง ฝึกปฏิบัติที่จะดับทุกข์ในตนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือตลอดไป เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาเหล่านั้นจะออกจากสิ่งที่เคยติด เคยหลง เคยผูกพัน เคยตกเป็นทาสมาแล้วไม่รู้กี่ภพ กี่ชาติ

การได้สั่งสมบารมีในการที่จะออกบวชเพื่อลดละเลิกกามที่ตนหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จึงนับเป็นมงคลชีวิตที่งดงาม  เพราะเขาได้เลือกที่จะฝึกตน เพื่อเป็นอิสรภาพจากสิ่งสมมติทั้งปวง

พระพิทยา ฐานิสสโร

ถึงแม้เขาอาจไม่สำเร็จในชีวิตนี้ หรือ เลือกที่จะออกจากสิ่งสมมติในรูปแบบนี้ แต่อย่างน้อย ในช่วงเวลาที่เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่จะกลับมาฟังเสียงภายในตนมากกว่าที่จะวิ่งตามเสียงของสังคมส่วนใหญ่ ที่นับวันจะเพิ่มความหิวโหยภายในจิตใจมากขึ้นๆ อย่างทวีคูณ ทำให้ค่อยๆ สูญเสียอิสรภาพภายในตนเองมากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว และยากที่จะถอนตัว ก็นับเป็นสิ่งน่ายินดีที่สุดแล้ว          

ทุกสรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งนี้เป็นสัจธรรมความจริงแท้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ได้ผ่านการเวลากี่ยุค กี่สมัย กี่ศตวรรษก็ตาม บุคคลใดที่ต้องการให้ใคร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้อยู่ในสภาพเดิม เป็นดั่งเดิมที่เคยเป็น คิดดั่งเดิมที่เคยคิด พูดดั่งเดิมที่เคยพูด ปฏิบัติดั่งเดิมที่เคยทำตามความรัก ความหลง ย่อมเป็นทุกข์อยู่ร่ำไปไม่มีวันจบสิ้น อาจต้องเสียน้ำตาซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างหาที่สุดมิได้

ดีหรือไม่ดี สวยงามหรือน่าเกลียด ชอบหรือเกลียดชัง ถูกหรือผิดฯลฯ  ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนแล้วเป็นสิ่งสมมติตามสังขารการปรุงแต่งแห่งจิตในแต่ละสรรพชีวิตในแต่ละยุค แต่ละสมัย ซึ่งไม่สามารถสรุปได้ว่า ดีที่สุด สวยงามที่สุด ถูกที่สุดเป็นเช่นไร

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะสร้างบรรทัดฐานแห่งการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพ ไม่เบียดเบียนทำร้ายกันทั้งในชีวิต ทรัพย์สิน คู่ครอง คำพูดและสติ สัมปชัญญะ รวมทั้งการประกอบอาชีพที่สุจริตทั้งของตนเองและผู้อื่น เพราะไม่เช่นนั้น เราจะไม่สามารถพบความสงบสุขในการอยู่ร่วมกัน เริ่มตั้งแต่สังคมที่เล็กที่สุดเช่นครอบครัว

เพราะเมื่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในสังคม เริ่มเกิดความเห็นผิดต่อการดำรงชีวิตว่าความสำเร็จแห่งการมีชีวิต คือการได้มี ได้ครอบครอง ได้เป็นเจ้าของ ได้เป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียงยิ่งได้มาก มีมาก เป็นที่รู้จักมากยิ่งสำเร็จ จนเป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันในหลายรูปแบบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ต้องพัฒนาสินค้าให้เป็นที่น่าสนใจดึงดูด ชวนหลงใหลอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ร่างกายตนเองก็กลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง เพื่อสนองความอยากอย่างไม่จบไม่สิ้น

สิ่งที่ตามมาคือ ความเครียด ความกดดัน ความเหนื่อยล้า ขาดความเห็นอกเห็นใจ ขาดการเคารพ ขาดการยอมรับความเป็นเช่นนั้นของตนเอง จนต้องพึ่งหรือหาวิธีกล่อมจิต ให้ลืมความทุกข์สะสมแห่งการดำเนินชีวิตที่ผิด และสิ่งที่ง่ายที่สุดคือ การทำให้จิตเพลินในการได้เสพในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งเมื่อได้มี ได้ครอบครอง ได้เป็นเจ้าของก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นมากยิ่งขึ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งทำให้เสพติดสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเพิ่มขึ้น จิตใจก็ยิ่งหิวโหย ไร้อิสรภาพ ไร้ความสงบอยู่ตลอดเวลา ไร้การเคารพแม้กระทั่งร่างกายที่จิตอาศัยอยู่ เพราะใช้ร่างกายเพื่อสนองความอยากของกิเลสโดยไม่มีสติยับยั้งชั่งใจ

การที่เราเลือก พยายามฝึกฝนตนเองที่จะพบความสงบสุขด้วยการทวนกระแสกิเลส ไม่ใช่การใช้สิ่งเสพติดจนสูญเสียอิสรภาพภายใน  เราจะดำรงชีวิตอย่างพอเพียง เรียบง่าย สันโดษ เคารพ อ่อนน้อมถ่อมตน จนเราสามารถที่จะมองโลกอย่างเข้าใจโลกอย่างที่เป็น และไม่ตกเหยื่อของกระแสแห่งโลก ที่ดูดกลืนความเป็นอิสระของจิตด้วยการมอมเมาจิตให้หลง เพลินในรูป  รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์

การทวนกระแสที่เชี่ยวกรากของกิเลส เป็นเรื่องท้าทายในการได้เกิดมาเป็น “มนุษย์” เราจะเป็นอิสระได้มากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สั่งสมมาแต่กาลก่อน สิ่งที่กำลังเพียรกระทำในปัจจุบัน และเราจะเห็นชัดเจนด้วยตัวเราเองจากประสบการณ์แห่งการรักษา ศีล ปฏิบัติสมาธิภาวนา จนเกิดปัญญาตามกำลัง ตามความสามารถตน และสิ่งที่บ่งบอกชัดเจน คือ เราจะพบความสงบสุขในตัวเองมากขึ้นๆ เพราะเราสามารถปล่อยวางสิ่งสมมติทั้งปวงที่เคยยึดมั่น ถือมั่นได้แล้ว

จิตใจที่ปล่อยวาง เป็นความสุขสูงสุด

         ทุกข์ไม่มี ในทุกที่ๆ ปล่อยวาง

พระพิทยา ฐานิสสโร ผู้เขียน
พระพิทยา ฐานิสสโร ผู้เขียน

ก้าวที่สำคัญ เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร จากคอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑)

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here