ขอให้ท่านย้อนกลับไปอ่านสองตอนที่ผ่านมาในคอลัมน์นี้ท่านจะเข้าใจมากยิ่งขึ้น และความตั้งใจที่อาตมาเขียนบทความนี้คืออยากเห็นสังคมได้มาร่วมกันถอดบทเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ กรณีอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม พระพรหมดิลก วัดสามพระยา, พระพรหมสิทธิ วัดสระเกศ พร้อมท่านเจ้าคุณอีกสามสี่รูปที่ต้องถูกจับถอดจีวรโดยไม่ได้มีเจตนาหรือกล่าวคำลาสิกขาตามมาตรานี้

การลาสิกขาตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม คอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์
หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ, ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ, พร้อมด้วยพระศรีคุณาภรณ์ พระครูสิริวิหารการ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ขณะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ในขณะนั้น (ขอขอบคุณ ภาพจาก ไทยรัฐ)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ,
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ, พร้อมด้วยพระศรีคุณาภรณ์
พระครูสิริวิหารการ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
ขณะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ในขณะนั้น (ขอขอบคุณ ภาพจาก ไทยรัฐ)

“การใช้ดุลยพินิจให้สละสมณเพศ

ตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์”

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม พระธรรมทูตประเทศสกอตแลนด์

           ในอดีตประเด็นนี้ที่โด่งดังไปทั่วประเทศและกลายเป็นประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทยก็คือกรณีของพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเท่าที่อาตมาทราบก็มีพระภิกษุอีกหลาย ๆ รูป ที่ต้องลาสิกขาตามมาตรานี้สุดท้ายศาลก็พิพากษาว่าไม่มีความผิด เพียงแต่ไม่เป็นข่าวเท่านั้นเอง หรือถ้าย้อนประวัติศาสตร์ไปอีกก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็เคยมีข้อเท็จจริงแบบนี้เกิดขึ้นกับครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาเช่นกัน ต่อไปเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกกับคณะสงฆ์

ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
นุ่งห่มจีวรหลังออกจากเรือนจำ
กับ “พระพิมลธรรมโมเดล”
พระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมือง
โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
จาก คอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒

            และสิ่งที่อาตมาจะได้กล่าวต่อจากนี้ทุกอย่างจะอยู่บนหลักของ พระธรรมวินัย กฎหมาย จารีตขอคณะสงฆ์ และด้วยความเคารพต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะอาตมายังเชื่อมั่นในระบบกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้กับคนที่มีความทุกข์ (ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม) หมดที่พึ่งแล้วได้อย่างแน่แท้

มีอยู่ ๓ ประเด็นด้วยกันดังนี้

           ประเด็นแรกความหมายของคำว่า “ดุลยพินิจ” อาตมาพยายามค้นหาในฎีกาที่ให้ความหมายของคำว่า “ดุลยพินิจ” แต่ก็ไม่มี(หรือมีแต่ค้นไม่เจอ) อาตมาจึงขอยึดความหมายตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ ๑๒ “…การเรียงคําพิพากษาและคําสั่งพึงใช้ภาษาเขียนที่ดี ใช้ถ้อยคําในกฎหมาย ใช้โวหารที่รัดกุมเข้าใจง่าย และถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน…”

           ความหมายของคำว่า “ดุลยพินิจ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ หมายถึง “การวินิจฉัยที่เห็นสมควร, ดุลพินิจ ก็ใช้.” ถ้าอธิบายตามตัวคำว่าดุลพินิจ คือ “ดุล” แปลว่า เท่ากัน เสมอกัน เท่าเทียม และคำว่า “พินิจ” หมายถึง การวินิจฉัยที่สมควรและด้วยความเที่ยงธรรม จะเห็นว่าดุลยพินิจ หมายถึง การวินิจฉัยมองให้รอบด้านพร้อมอยู่บนหลักการเหตุผลและด้วยความเที่ยงธรรม

         ประเด็นที่สอง กรณีการใช้ดุลยพินิจ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕  มาตรา ๒๙ “พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้”

           อาตมามีความเห็นว่ากรณีตามมาตรา ๒๙ นี้การใช้ดุลยพินิจของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำคือพนักงานสอบสวน กลางน้ำพนักงานอัยการ และปลายน้ำคือศาล ไม่ควรนำแต่หลักกฎหมายมาประกอบการวินิจฉัยเท่านั้น เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะการกระทำความผิดทางอาญาอย่างเดียว อาตมาก็เข้าใจทางบ้านเมืองว่าโดยหลักการแล้วต้องยึดหลักกฎหมายเป็นสรณะ แต่ถ้ามีเรื่องของพระธรรมวินัยเข้ามาเกี่ยวด้วยคือเรื่องของการสละสมณเพศ ก็ควรที่จะนำหลักพระธรรมวินัย และจารีตสงฆ์ในเรื่องนี้มาประกอบการวินิจฉัยด้วย

         โดยเฉพาะตามสังคมวิทยาของสังคมไทย คณะสงฆ์จะยึดถือหลักการอยู่ ๓ ประการคือ พระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งการใช้ดุลยพินิจตามมาตรา ๒๙ มันมีข้อคาบเกี่ยวระหว่างกฎหมายบ้านเมือง และพระธรรมวินัย การใช้ดุลยพินิจเพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจตามกฎหมายต้องนำหลักการทั้ง ๓ ประการคือ พระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมือง มาประกอบในการใช้ดุลยพินิจด้วยจึงจะเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยชอบตามมาตรา ๒๙ ซึ่งสาระสำคัญของการใช้ดุลยพินิจตามมาตรา ๒๙ มี ๒ ประการดังนี้

๑)ให้อำนาจพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการใช้ดุลยพินิจกรณีไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว อาจมีเหตุผลว่าพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนี หรือไม่ทำลายพยานหลักฐาน ประกอบกับเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาสังกัดไม่รับตัวไว้ควบคุม

กรณีตามข้อหนึ่งนี้ จะเห็นว่าหากเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุผู้ถูกล่าวหาสังกัดรับตัวไว้ควบคุม ดูแล พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีอำนาจใช้ดุลยพินิจให้ปล่อยตัวชั่วคราวและประกันตัวได้

           ๒) ถ้าพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนิน การให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้ตามกฎหมาย กรณีตามข้อสองนี้ทำให้กรณีข้อหนึ่งหมดความหมาย เพราะเป็นการให้อำนาจพนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจแต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าเจ้าอาวาสจะรับตัวพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาไว้ควบคุมดูแล แต่ถ้าพนักงานสอบสวนไม่เห็นด้วยก็ไร้ความหมาย

            ตามมาตรา ๒๙ นี้ การที่กฎหมายอนุญาตให้พระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาไปอยู่ในการควบคุมและดูแลของเจ้าอาวาสมันคือวิถีของพระธรรมวินัย และจารีตคณะสงฆ์ เพราะได้กลับไปอยู่ในความดูแลของครูบาอาจารย์เพื่อได้รับการอบรมสอนสั่งว่ากล่าวตักเตือนปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัย

           ดังนั้นอาตมามีความเห็นว่า ถ้าเจ้าพนักงานใช้ดุลยพินิจไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ให้ได้รับการประกันตัว ถือว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจแต่เพียงขอบเขตของกฎหมายเท่านั้น ไม่เป็นการใช้ดุลยพินิจรอบด้านให้เกิดความเที่ยงธรรมแก่พระภิกษุผู้ถูกล่าวหาคือไม่นำหลักของพระธรรมวินัย และจารีตคณะสงฆ์มาประกอบกับการใช้ดุลยพินิจด้วย  

           อาตมามีข้อสังเกตที่เจ้าพนักงานมุ่งใช้ดุลยพินิจแต่เพียงขอบเขตของกฎหมายเท่านั้น การกระทำดังกล่าวนี้มีแรงจูงใจมาจากอะไรหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นแรงจูงใจที่เกิดจากอคติ ๔ เช่นความโกรธ ความเกลียด หรือมีอคติอะไรกับคณะสงฆ์หรือไม่ เพราะการลาสิกขาเป็นเรื่องพระธรรมวินัยโดยตรงแต่ไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ แต่ด่วนบังคับท่านถอดจีวรโดยฉับพลัน

           และตามมาตรา ๒๙ “ให้เจ้าอาวาสรับตัวไว้ควบคุมดูแล” ซึ่งหมายถึงกรณีพระลูกวัดเป็นผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางอาญา จึงให้อำนาจผู้ปกครองคือเจ้าอาวาสเป็นผู้ควบคุมดูแล

           กรณีนี้อาตมาตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า “ถ้าเจ้าอาวาสเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าคณะตำบล, ถ้าเป็นเจ้าคณะตำบลต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าคณะอำเภอ, ถ้าเป็นเจ้าคณะอำเภอต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าคณะจังหวัด, ถ้าเป็นเจ้าคณะจังหวัดต้องอยู่ในควบคุมดูแลของเจ้าคณะภาค, ถ้าเป็นเจ้าคณะภาคต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าคณะหน, ถ้าเป็นเจ้าคณะหนและกรรมการมหาเถรสมาคมต้องอยู่ในความควบคุมดูแลโดยมติของมหาเถรสมาคม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน” ตามความในมาตรา ๒๙ นี้ด้วยหรือไม่

           ประเด็นที่สาม เจตนารมณ์ของคำว่า “สละสมณเพศ” กับ “ลาสิกขา” ทำไมกฎหมายไม่ใช้คำว่าลาสิกขาตามพระธรรมวินัย เมื่ออาตมากล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว เกิดความสงสัยว่าทำไมกฎหมายต้องใช้คำว่าสละสมเพศ อาตมาจึงได้ไปค้นเพื่อให้เห็นถึงต้นเหตุหรือแหล่งที่มาของ ๒ คำนี้ว่ามันหมายถึงอะไร อธิบายได้ดังนี้

           คำว่า “สละสมณเพศ” เมื่ออาตมาไปค้นถึงต้นเหตุของการมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และเบื้องหลังของการบัญญัติมาตรา ๒๙ นี้จากรายงานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ศ. คณะสงฆ์ พ.ศ. … โดยมีพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ เป็นประธานกรรมาธิการ และมี พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ เป็นเลขานุการกรรมาธิการ พร้อมคณะกรรมาธิการอีก ๑๔ ท่าน อาทิเช่น ม.ล.ปิ่น มาลากุล, นายสัญญา ธรรมศักดิ์ หลวงวุฒิศักดิ์เนตินาท ฯ เป็นต้น

           จากรายงานการประชุมครั้งที่ ๔ วันพุธที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ หน้าที่ ๓ มีคณะกรรมาธิการให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (๒๕๐๕) ฉบับนี้ว่า

           “ท่านอธิบดีเคยพูดไว้ว่า กฎหมายคณะสงฆ์นี้ ในลังกา พม่า ไม่มี มีแต่เมืองเราเท่านั้น ทางลังกา พม่า เคยขอมาเพื่อจะนำไปเป็นตัวอย่าง แต่ก็เอาไม่ลง ทั้งนี้เพราะเขาเห็นว่า ธรรมวินัยอันเป็นจารีตประเพณีมาแต่เดิมนั้น มีความเหมาะสมเพียงพออยู่แล้ว จึงไม่ยอมแตะต้อง มีแต่เมืองเราเท่านั้นที่กล้าเข้าไปแตะต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็แตะต้องแต่ในเรื่องที่จะสนับสนุน ทะนุถนอมและรักษาพระศาสนาเท่านั้น อย่าพยายามแตะต้องในเนื้อหาของพระธรรมวินัยให้เกินไป

         การตัดสินอธิกรณ์และการลงโทษพระวินัยผู้ทำความผิด เมื่อเป็นอำนาจเด็ดขาดของสงฆ์แล้ว ก็ปล่อยให้เป็นไปตามนั้น…”

           จะเห็นว่าในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ นี้หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ยังมีส่วนที่ไปขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัยอยู่ ดังนั้นการที่จะมีกฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ควรเป็นเรื่องที่มีแต่เจตนารมณ์มุ่งสนับสนุน ทะนุถนอมและรักษาพระวินัยเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของพระธรรมวินัยควรเป็นอำนาจเด็ดขาดของคณะสงฆ์ในการดำเนินการ 

           และจากรายงานการประชุมครั้งที่ ๑๓ วัน พุธ ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๐๕ หน้าที่ ๓ มีคณะกรรมาธิการให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาของมาตรา ๒๙ ไว้โดยเฉพาะว่า

           “กรณีที่ ๒ มาตรา ๒๓ ตรี ผมเป็นห่วงอยู่ว่า ตามที่ท่านประธานร่างมานั้นพนักงานสอบสวนมีอำนาจมากเกินไป ผมอยากจะขอให้ลดลงอีก” (ในชั้นคณะกรรมาธิการ มาตรา ๒๙ ณ ปัจจุบันนี้ ยังเป็นมาตรา ๒๓ ตรีอยู่)

           จะเห็นว่าจากความเห็นของคณะกรรมาธิการในเรื่องนี้มันไปสอดคล้องกับที่อาตมาวิเคราะห์ไว้ในข้างต้นเรื่องการให้อำนาจดุลยพินิจแก่พนักงานสอบสวนแต่เพียงผู้เดียวที่จะชี้ขาดว่าให้สละสมณเพศหรือไม่ ทั้งที่ประเด็นนี้เป็นเรื่องของพระธรรมวินัยเป็นอำนาจของคณะสงฆ์อย่างเด็ดขาดในการดำเนินการตามความเห็นของคณะ กรรมาธิการที่กล่าวไปก่อนหน้านี้

           เมื่อไปย้อนดูต้นเหตุหรือที่มาของ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ และมาตรา ๒๙ คำว่า “สละสมณเพศ” นี้จึงหมายถึงเป็นการลาสิกขาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเท่านั้น เพียงแค่บังคับให้ปลดจีวรออกโดยที่ไม่ได้กล่าวคำลาสิกขาตามพระธรรมวินัยและกระทำการต่อหน้าสงฆ์ตามจารีตของคณะสงฆ์ก็ถือว่าเป็นการลาสิกขาตามความในมาตรานี้ แต่ไม่ได้หมายความถึงการลาสิกขาตามพระธรรมวินัย และที่สำคัญเมื่อไปค้นในพระไตรปิกฎและอรรถกาในเรื่องนี้ก็จะมีแต่เพียงคำว่า “ลาสิกขา” เท่านั้น ไม่มีคำว่าสละสมณเพศปรากฏอยู่เลย

           ส่วนคำว่า “ลาสิกขา” หมายความว่า เป็นการลาสิกขาตามกระบวนการของพระธรรมวินัยอย่างสมบูรณ์อาตมาได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดแล้วในคอลัมน์นี้เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ความหมายไม่เหมือนตามมาตรา ๒๙

           และเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านหนึ่งได้ยื่นกระทู้ถามสดในรัฐสภากรณีนี้เหมือนกันว่าเมื่ออดีตกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมเจ้าคุณอีก ๓-๔ รูป ได้รับการประกันตัวแล้ว ตำรวจยังจะไปตามจับท่านในกรณีแต่งกายเลียนแบบสงฆ์อีก ท่านรัฐมนตรีฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะแก้ไขปัญหาและดำเนินการคุ้มครองท่านอย่างไร เพราะท่านมียังมีสถานะเป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัยทุกประการ

           อาตมาเองก็เข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะยึดเอาการสละสมณเพศตาม มาตรา ๒๙ ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เป็นกระบวนการที่ย้อนแย้งและขัดกับพระธรรมวินัย เมื่อมาตรา ๒๙ กับพระธรรมวินัยมันสวนทางกัน จะยึดหลักอะไรเป็นเกณฑ์ เราก็ต้องย้อนกลับไปดูต้นเหตุ เจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ในความเห็นของคณะกรรมาธิการที่อาตมายกมานั้นก็คือ เมื่อเป็นเรื่องของพระธรรมวินัยต้องเป็นอำนาจเด็ดขาดคณะสงฆ์ในการตัดสิน และก็เป็นไปตามหลักปฏิบัติของคณะสงฆ์ด้วยที่ถือพระธรรมวินัยเป็นใหญ่

           ดังนั้นตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกรณีของอดีตกรรมาการมหาเถรสมาคมเป็นการลาสิกขาหรือไม่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็ต้องกลับไปยึดตามหลักพระธรรมวินัยเป็นเกณฑ์ในการตัดสินและเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

            สำหรับตอนต่อไปเป็นตอนสุดท้ายเรื่อง “มาตรา ๒๙ ขัดต่อพระวินัย ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาตรานี้”

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม พระธรรมทูต ประเทศสกอตแลนด์ ผู้เขียน
พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม พระธรรมทูต ประเทศสกอตแลนด์ ผู้เขียน

บทความพิเศษ ตอนที่ ๓ จาก คอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ เรื่อง “การใช้ดุลยพินิจให้สละสมณเพศตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here