“กางเกงอุบลลายผาแต้ม”
บอกเล่าเรื่องราวอีสานผ่านผืนผ้า
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
กระแสความนิยมกางเกงช้างเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถูกนำมาเป็นหนึ่งในนโยบาย Soft Power ที่รัฐบาลผลักดัน ให้เกิด ๑ ลาย ๑ จังหวัด
มีการพัฒนาคุณภาพกางเกง ทั้งลวดลาย สีสัน และเนื้อผ้าที่นำมาตัดเย็บ ตลอดจนมีการออกแบบดีไซน์ให้เหมาะกับอากาศประเทศไทย สะดวกต่อเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถ
บางจังหวัดมาแบบฟูลออฟชั่น จัดเต็มทั้งยางยืด เชือกผูกแบบนอกใน พร้อมกระเป๋าข้าง เรียกว่า เก็บทุกรายละเอียด
นอกจากจะสู้กันด้านคุณภาพแล้ว เรื่องราวที่ใส่ลงไป ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกชูขึ้นมาเป็นจุดเด่น เพื่อสร้างคุณค่าให้กับกางเกง
ในลายผ้ากางเกงอุบลลายผาแต้ม
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
สำหรับ “กางเกงอุบลลายผาแต้ม”
ได้ฉีกตัวออกมาจากขนบกางเกงช้าง
เสื้อและกางเกงอุบลลายผาแต้ม
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่เลือกหยิบเอาวิถีความเป็นอุบล มาเป็นจุดเด่น
โดยผูกเรื่องราววิถีความเป็นอีสานใส่ลงไป
เพื่อให้ผืนผ้ามีชีวิต
ทำให้ “กางเกงอุบลลายผาแต้ม” มีเส้นเรื่องเป็นของตัวเอง
“เสื้อและกางเกงอุบลลายผาแต้ม”
ทวิช สังข์อยู่ เล่าถึงที่มาของการออกแบบกางเกงอุบล “ลายผาแต้ม” ว่า มีแรงบันดาลใจมาจากการสนทนากับน้องสาวที่ร้านกาแฟแพรว “แพรวคอฟฟี่” บ้านปากน้ำ (บุ่งสระพัง) ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้นำเอาวิถีชีวิตชาวอีสาน มาเป็นฐานความคิดในการออกแบบ
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
การดีไซน์ก็ให้เหมาะกับอากาศประเทศไทย เน้นความสะดวกต่อเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถ เนื้อผ้าที่เลือกใช้ ต้องมีความพริ้วไหว เพื่อให้เกิดคลื่นริ้วผ้า เวลาเดินจะทำให้เหมือนปลากำลังแหวกว่ายตามกัน เหมือนควายกำลังชนกัน เหมือนกองคาราวานเกวียนกำลังเดินตามกัน
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
กางเกงแต้มอุบล จึงมีทั้งวัวควาย,เกวียน และชีวิตชาวนา โดยใช้ฮูปแต้ม ผาแต้ม ขับเน้นให้อัตลักษณ์ความเป็นอุบลราชธานี เด่นชัดยิ่งขึ้น เรียกกันว่า “กางเกงวัวควายลายผาแต้ม”
แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การนำดอกสะแบงมาผูกกับลายกางเกง เพราะเป็นดอกไม้ที่แสดงถึงความผูกพันของคนอีสานที่มีต่อถิ่นฐานบ้านเกิด
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
ที่มาของสีกางเกงอุบล ลายผาแต้ม
ทวิช สังข์อยู่ เล่าถึงจุดเด่นของกางเกงอุบลลายผาแต้มว่า ออกแบบมาตั้งแต่การเลือกใช้โทนสีหลัก การให้สีกางเกงแต่ละสีต้องมีความหมาย โดยเลือกใช้โทนสีจากแม่น้ำมูล "มูลสีคราม" สีเขียวจากดอกบัวตูม สีดินจากผาแต้ม และสีดำจากสีถ่าน เป็นสีหลักในการออกแบบ และได้ใช้วิธีดึงสีจากภาพเขียนตามสิมในภาคอีสาน มาเทียบค่าสี แล้วใส่น้ำหนักแสงลงไป เพื่อให้ใกล้เคียงกับระยะการมองเห็นจริงมากที่สุด
สีที่ใช้ จะเน้นโทนสีที่สะดุดตา เพื่อสร้างแรงจูงใจในการมอง อย่างแดงสีดิน จะเป็นสีที่สุกสว่าง มีความเข้มลึก ใช้วิธีเติมดำลงไป ยิ่งเวลากระทบกับแสง และพริ้วไหวไปตามการประทะของลม ยิ่งทำให้กางเกงมีความโดดเด่น
การเติมดำลงไปในอัตราส่วนที่พอเหมาะ นอกจากจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักสีให้ได้ความลึก เหมาะกับระยะการมองเห็นแล้ว ยังช่วยการดร๊อปของสี ขณะนำไปพิมพ์ลงบนผิวผ้าอีกด้วย
การใช้ “แดงสีดิน” ในกางเกงลายผาแต้ม มาจากโทนสีดิน ที่ใช้ในฮูปแต้ม ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม ซึ่งเป็นภาพจำของจังหวัดอุบลราชธานี สื่อความหมายถึงการแสดงความเคารพต่อผืนแผ่นดิน และธรรมชาติ ที่เราพึ่งพาอาศัยทำมาหาเลี้ยงชีพ
"ครามสีมูล" มาจากโทนสีของแม่น้ำมูล “โขงสีปูน มูลสีคราม” สื่อความหมายถึง แม่น้ำที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอุบลมาตั้งแต่บรรพกาล จนชาวอุบลเรียกตัวเองว่า "ลูกแม่มูล"
นอกจากสีครามจะเป็นสัญลักษณ์ของสีแม่น้ำมูลแล้ว สีคราม ไม่ว่าจะเป็น “ฟ้าคราม” "น้ำเงินคราม" "เขียวคราม" หรือ "แดงคราม" ยังถูกนำมาย้อมเป็นสีเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ของชาวอีสานอีกด้วย
จากการสอบถามข้อมูลคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านปากน้ำ พบว่า ชาวบ้านในอดีต นิยมเลี้ยงครั่งที่ต้นแกนา เพื่อนำมาย้อมผ้า โดยนำฟางข้าวไปผูกไว้ตามกิ่งต้นแก เพื่อให้ครั่งมาเกาะแล้วใช้กิ่งต้นแกสร้างรัง เป็นการเลี้ยงครั่งตามธรรมชาติ
ด้วยความที่ครั่งให้สีแดงเข้ม บางครั้ง ชาวบ้านก็เรียกแดงครั่งตามภาษาปากว่า “แดงคราม”
"เขียวบัวตูม" มาจากโทนสีดอกบัวตูม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี สื่อความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความรุ่งเรือง และความงดงามของเมืองแห่งธรรม
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
ทวิช สังข์อยู่ อธิบายเพิ่มว่า ที่จริงลายแต้มอุบล ควรจะมีดอกบัวและต้นเทียนพรรษา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอุบล แต่เลือกใช้สีดอกบัวตูมเป็นสัญลักษณ์แทน เนื่องจากเห็นว่า ดอกบัว และ เทียนพรรษา อยู่ในฐานะของกราบไหว้บูชา จึงเลี่ยงที่จะนำมาใส่บนกางเกง
“ดำสีถ่าน” มาจากโทนสีถ่าน ที่ชาวอีสานเผาถ่านเลี้ยงชีพ ซึ่งพบเห็นโดยทั่วไป สื่อความหมายถึง ความหนักแน่น ขยัน อดทน
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
วิถีชีวิตชาวอีสาน คือ แรงบันดาลใจการออกแบบลายผ้าแต้มอุบล
ทวิช สังข์อยู่ ได้เล่าถึงที่มาของลวดลายกางเกงแต้มอุบล เอาไว้ ดังนี้
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
ฮูปแต้มดวงตาสวรรค์ในลายผ้า
ดวงตาสวรรค์ หนึ่งในฮูปแต้ม บนผาแต้ม เป็นดวงตาที่เฝ้ามองความเป็นไปของลูกหลานชาวเมืองอุบล มานับพัน ๆ ปี ได้ถูกนำมารังสรรค์ ขึ้นใหม่ ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ผ่านการออกแบบลวดลายบนผืนผ้า
หากมองลึกลงไปในฮูปแต้มดวงตา เราจะรู้สึกสัมผัสได้ ถึงแววตาของผู้เฒ่าใจดี เฉกเช่นเดียวกับดวงตาของพ่อใหญ่-แม่ใหญ่ ที่เฝ้ามองลูกหลาน ด้วยความห่วงใย เอื้ออาทร แต่ดวงตาบนผาแต้ม เฝ้ามองผู้คนมารุ่นแล้วรุ่นเล่า นับพัน ๆ ปี
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
ฮูปแต้มชาวนาในลายผ้า
ภาพชีวิตชาวนาเมื่อหลายพันปี ถูกส่งต่อสู่ปัจจุบัน ผ่านฮูปแต้ม แสดงถึงความผูกพันระหว่างคน ควาย และผืนนา ที่มีมาอย่างยาวนาน
แม้ผ่านมานับพันปี ชีวิตชาวนาก็ไม่ได้ต่างไปจากฮูปแต้ม ผู้คนยังมีชีวิตผูกพันอยู่กับควาย ทุ่งนา และต้นข้าว
วิถีชีวิตชาวนาอีสานในแต่ละปี หมดจากหน้านา ก็ตัดไม้เผาถ่าน หมดจากเผาถ่าน เข้าเมษาหน้าสงกรานต์ ก็แห่ดอกไม้ สรงน้ำพระ ฝนแรกฮวยรดหน้าดิน หอมกลิ่นฝนใหม่ อบอวลไปทั่วทุ่ง ก็ขึ้นไฮ่ ไถไฮ่สักหลุมหยอดปอด
พอถึงเดือนพฤษภา ฝนเริ่มหนาเม็ด ปอขึ้นสูงเท่าเอว ก็เสียหญ้าปอ แล้วใส่ปุ๋ยเร่งให้ปอโต จากนั้นก็แบกไถ แบกคราดลงนา ตกกล้าดำนา พอดำนาเสร็จ ถึงเดือนตุลาคม ปอโตได้ที่ ก็ตัดมัดใส่เกวียนขนลงแช่น้ำ ปอเปื่อย ก็ลอกปอ ตีปอ หาบขึ้นราวตากให้แห้ง แล้วมัดใส่เกวียนขนไปชั่งกิโลขาย
ต้องฝืนอาบน้ำทั้งลม ทั้งหนาว ต้องใช้เฟืองแห้ง-ใช้ซางมะพร้าวขัดถูตัว ล้างกลิ่นปอเน่า
ผ่านมานับพันปี ชีวิตชาวนาก็ไม่ได้ต่างไปจากฮูปแต้ม ยังคงผูกพันอยู่กับวัวควาย ผืนนา และต้นข้าว
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
ฮูปแต้ม ตุ้ม ปลาบึก เต่า รอยมือ และ สายน้ำ ในลายผ้า
“ตุ้ม” คือ เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง สานจากริ้วไผ่ รูปร่างคล้ายข้อง มีงาแซงอยู่ด้านข้าง เป็นลิ้นสำหรับดักปลา ถักจากด้ายและริ้วไผ่
ฮูปแต้มตุ้มดักปลา ปลาบึก เต่า รอยมือ และ สายน้ำ เป็นภาพเขียนที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องมือหากินทางน้ำ ที่มีมาอย่างยาวนานนับพันปี
ตุ้มมีหลายชนิด หลายขนาด ทั้งชนิดสานตาห่าง ใช้ในน้ำลึก สำหรับดักปลาใหญ่ และชนิดสานตาถี่ ใช้ในน้ำตื้น สำหรับดักปลาเล็ก เรียกว่า “ตุ้มลาน”
เหยื่อสำหรับใส่ตุ้มล่อปลา จะทำจากข้าวปลาย ปั้นเป็นก้อน แล้วนึ่งให้สุก ใส่ไว้ในตุ้ม แล้วหย่อนลงไว้ในน้ำ ให้ปลาเข้ามากินเหยื่อทางลิ้นตุ้ม
ส่วนตุ้มอีกชนิดหนึ่ง ทำรองรับปลาที่ก้นหลี่ ไม่มีเหยื่อล่อ จะมีขนาดใหญ่และยาว เรียกว่า “ตุ้มต่งปลา”
การหาปลาของชาวอุบล มีหลากหลายวิธี ตั้งแต่แบบพึ่งพิงวิธีธรรมชาติ ไปจนถึงใช้เครื่องมือจับปลา เช่น กางมอง ไหลมอง ลงเยาะ ใส่บั้งลัน ใส่จั่น ใส่ลอบ ลงต้อน ใส่ไซ ใส่เบ็ด สักสุ่ม ส้อนสวิง ส้อนกะแหง่ง เป็นต้น
ฮูปแต้มตุ้มดักปลา ปลาบึก เต่า รอยมือ และ สายน้ำ ถูกนำมารังสรรค์ขึ้นมาใหม่ ผ่านลวดลายบนผืนผ้า
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
ดอกสะแบงในลายผ้า
ดอกสะแบง เป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอีสาน เป็นดอกไม้ที่สะท้อนถึงความผูกพันที่คนอีสานมีต่อถิ่นฐานบ้านเกิด
เมื่อถึงเดือนเมษาเข้าหน้าแล้ง ดอกสะแบงออกดอกแดงเต็มต้น ทุ่งนาอีสานยามนี้ เปลวแดดเป็นตัวเต้นยิบ ๆ ลมหัวกุดหอบเฟืองแห้งขึ้นบนอากาศ ดอกสะแบงหลุดจากขั้ว หมุนคว้างตามกัน สุดแรงลม ตกลงกองทับถมกันแดงเต็มพื้น มวลความเงียบเหงา แผ่ปกคลุมไปทั่วผืนนา เดินไปทางไหน ก็ได้กลิ่นใบไม้ และหญ้าแห้ง อบน้ำหมอกโชยติดจมูก
คนอยู่ทางบ้านเห็นดอกสะแบง ก็ใจวี่ใจวอน คิดถึงคนไกลบ้าน ส่วนคนไกลบ้าน ออกไปทำงานหาเงินส่งกลับมาจุนเจือครอบครัว นึกถึงดอกสะแบงกลางทุ่ง ก็คิดถึงคนอยู่ทางบ้าน
นอกจากนั้น ถึงหน้าบุญเดือนสี่ หรือบุญผะเหวด บางท้องที่ยังนิยมเก็บดอกสะแบงมาย้อมสี ร้อยพวงมาลัยประดับประดาตามศาลาหรือบริเวณวัดอีกด้วย
ดอกสะแบง เป็นดอกไม้ที่สะท้อนถึงความผูกพัน ที่คนอีสานมีต่อถิ่นฐานบ้านเกิดได้แจ่มชัด การผูกลวดลายกางเกงด้วยดอกสะแบง จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ของการออกแบบกางเกงอุบลลายผาแต้ม
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
งัวเกวียนในลายผ้า
เกวียน คือ พาหนะที่มีความจำเป็นในการเดินทางของผู้คนในยุคก่อน บ้านไหนเฮือนไหนมีเกวียน ก็สะดวกในการไปนาไปไร่ ทั้งยังใช้รับจ้างขนไม้ ขนถ่าน ขนข้าว ขนปอ หาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้อีกด้วย
คนมีนาไกล ไปมาลำบาก ต้องมีเกวียนเอาไว้เทียวนา
แต่ถึงแม้จะมีเกวียนก็ไม่ใช่ว่าจะขับเกวียนเทียวนาทุกวัน หากไม่ขนข้าวของ หรือขนฝุ่นใส่นา*ก็จะไม่เอาเกวียนไปนา ต่างคนต่างเดิน ไล่วัวไล่ควายตาม ๆ กันไป (*ฝุ่น คือ ปุ๋ยคอก)
บางคนไม่มีเกวียน ก็มีรถเข็ญ พอได้ขนข้าวขนของไปนาไปไร่ ตื่นเช้ามาได้ยินเสียงไก่ขัน ลุกนึ่งข้าวเป่าไฟ อย่าให้ทันแดดออก ต้องรีบเร่งไล่วัวไล่ควายออกจากคอกเมือนา ก่อนครูบาตอกโปง พ่อแม่ ปู่ ย่า ตายาย สอนกันมาอย่างนั้น
ภาพคนขับเกวียน เป็นวิถีชีวิตชาวอีสานที่คุ้นตามาในอดีต ถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านลวดลายบนผืนผ้า
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
งัวควายในลายผ้า
งัวควายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอีสาน เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งความหวังของครอบครัว
คนอีสานมีวัวควายไว้เป็นเพื่อน เห็นวัวเห็นควายเดินตามไร่ตามนาแล้ว ทำให้นาไม่เงียบเหงา มีวัวควายไว้ขี้ใส่นา วัวควายขี้ใส่นา เหยียบย่ำไปมา ก็เป็นปุ๋ย ถึงเวลาทำนา ข้าวก็งาม มีวัวควายแล้ว เหมือนมีข้าวมีของอยู่ในเรือน มีวัวควายอยู่ในบ้าน ทำให้สบายใจ
การมีวัวมีควายอยู่ในคอก นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการทำไร่ไถนาแล้ว จำนวนวัวควายในคอก ยังบ่งบอกถึงสถานะทางครอบครัวอีกด้วย
เวลาลูกออกเรือนไปมีครอบครัว วัวควาย คือ ทรัพย์สินที่พ่อแม่จะแบ่งให้ลูก ไปสร้างเนื้อสร้างตัว
เมื่อวัวควายมีความสำคัญกับวิถีชีวิตคนอีสาน การค้าขายวัวควาย จึงกลายเป็นอีกหนึ่ง ในช่องทางการทำมาหาเลี้ยงชีพของคนอีสาน
รูปแบบการค้าวัวค้าควาย มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผู้ที่ยึดอาชีพค้าวัวค้าควาย เรียกว่า “นายฮ้อยวัวนายฮ้อยควาย”
ในอดีต นายฮ้อยบางคน เดินทางค้าขายวัวควายข้ามจังหวัด จนชำนาญทาง ก็หันมารับจ้างคุมกองคาราวานเกวียน ขนของไปขายข้ามจังหวัดห่างไกล
ด้วยความที่นายฮ้อยเดินทางไปต่างถิ่น ต้อนวัวต้อนควายไปขาย ทำให้รู้จักภูมิประเทศและผู้คนมากมาย จึงกลายเป็นคนกว้างขวาง ชีวิตของนายฮ้อยจึงโลดโผน เต็มไปด้วยตำนาน และเรื่องเล่าการผจญภัย ระหว่างการเดินทาง
การเลือกใช้เกวียนเป็นหนึ่งในลวดลายบนผืนผ้ากางเกงอัตลักษณ์อุบล จึงเหมือนการปลุกคาราวานเกวียนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่
กางเกงอุบลลายผาแต้ม
ที่ต่อยอดมาจากกางเกงช้าง
ได้ฉีกขนบกางเกงช้าง
ออกมาสร้างเส้นเรื่องลวดลายเป็นของตัวเอง
ให้ผืนผ้าบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตชาวบ้าน
กำลังจะกลายเป็นแนวทางใหม่
ของการออกแบบลายกางเกงประจำท้องถิ่น
“สายน้ำ” หนึ่งในลายผ้าที่อยู่บนกางเกงอุบลลายผาแต้ม
: ออกแบบโดย ทวิช สังข์อยู่