เพราะคำว่า “ธรรม” มีความหมายกว้างขวาง เป็นความจริงในธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าค้นพบ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาจึงเป็นสากล เพราะเป็นจริง พระพุทธศาสนาจึงเป็นที่รักของคนทั้งโลก ดังที่วันวิสาขบูชา วันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ก็เป็นวันสันติภาพโลกไปแล้ว เพราะใครๆ ต่างก็ปรารถนาจะมีสันติให้ปรากฎที่ใจ ใครๆ ก็อยากจะเข้าถึงรสพระธรรม คือความร่มเย็นแห่งใจ เพราะธรรม คือน้ำทิพย์แห่งความเมตตา กรุณา และปัญญา …จึงขออัญเชิญมธุรสทิพย์แห่งองค์พระมหากษัตริย์มาประดิษฐานไว้ในใจและขออธิบายในมุมของพสกนิกรเล็กๆ คนหนึ่งที่ตั้งใจเขียนเรื่องนี้เล่าให้แม่ฟัง…
เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ วันฉัตรมงคลแรกแห่งรัชกาลที่ ๑๐ จ้ะแม่ นับเป็นมหามงคลสมัยแห่งการเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอังยิ่งใหญ่อย่างสมพระเกียรติยิ่ง พสกนิกรชาวไทยต่างปีติหัวใจเป็นล้นพ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี
ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศ พระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ความว่า
“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้า ได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส และได้นึกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้นๆ ฉะนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการและให้การคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดีว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิด “
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศ พระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก เมื่อวันฉัตรมงคงแรกแห่งนรัชกาลที่ ๑๐ วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ |
ทีฆายุโก โหตุ มหาราชาขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน |
แม่จ๊ะ หนูชอบคำว่า “พุทธศาสนูปถัมภก” เป็นอย่างมาก เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่พระพุทธองค์ให้เราเปิดใจให้กว้าง ไม่ต้องเชื่อก่อน จนกว่าเราจะปฏิบัติจนจิตใจเราพบเองเห็นเอง ก็จะเข้าใจด้วยตนเอง และหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าค้นพบ เป็นความจริงที่เป็นสากล พระพุทธศาสนาจึงเป็นที่รักของทุกศาสนา โดยพฤตินัย ใครๆ ก็มาปฏิบัติได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนศาสนา ในหลวงรัชกาลที่๑๐ พระองค์ทรงเข้าถึงธรรมในพระพุทธศาสนา จึงทรงปกปักษ์รักษาคุ้มครองพระพุทธศาสนาไว้ให้ธรระที่เป็นสากลปรากฎอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ชาวไทยได้น้อมนำมาปฏิบัติกัน อีกทั้งให้เราอยู่ร่วมกับทุกศาสนาอย่างสันติสุข
“พุทธศาสนูปถัมภก จึงเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองแผ่นดินโดยธรรม”
ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งอธิบายว่า ขอให้ใจเราเปิดกว้างว่าแม้พระองค์ทรงประกาศเป็นพุทธศาสนูปถัมภก แต่พระองค์ก็มิได้ละเลยศาสนาอื่นแม้แต่น้อย ด้วยพระราชกรณียกิจของพระองค์เกี่ยวเนื่องกับทุกศาสนามาโดยตลอด ทรงให้ความสำคัญกับความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติโดยธรรม และทรงเป็นธรรมกับพสกนิกรทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ทรงให้พสกนิกรของพระองค์เป็นแขกพิเศษในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จัดขึ้นในสามวันนี้อย่างอบอุ่นที่สุดจ้ะแม่
ครูบาอาจารย์บอกว่า ให้เราอ่านคำประกาศนี้ ประกอบกับพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ก็ทำให้เห็นถึงความสืบเนื่องในการที่พระองค์จะสืบสานพระราชกรณียกิจในหลวงรัชกาลที่ ๙ ต่อไปทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทศพิศราชธรรม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาประเทศทุกด้านในแนวทางสากล คือ ทรงมีแก่นธรรมจากพระพุทธศาสนาเป็นหลักปฏิบัติ ที่สอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่ทั่วโลกต่างขานรับ พระองค์ทรงรักษาขนบธรรมเนียมราชประเพณีไทย ขณะเดียวกันก็ทรงเปิดกว้างสำหรับการศึกษานวัตรกรรมใหม่ๆ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกทุกศาสนาดังที่เราเห็นกันในข่าวพระราชกรณียกิจของพระองค์ คือ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทะนุบำรุงศาสนาต่างๆ โดยธรรม เช่นกัน เพื่อให้ประเทศที่มีเชื้อชาติต่างๆ อยู่ร่วมกันเป็นพหุวัฒนธรรมมาอย่างยาวนานนับเนื่องตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบันที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความสมานสามัคคีที่ชาติต่างๆ ในโลกเดินทางมาเรียนรู้กันอย่างที่แม่ชอบเล่าให้หนูฟังบ่อยๆ ค่ะ แม่
ความหมายของการที่ทรงเป็นพุทธศาสนุปภัมภก สืบเนื่องมากจาก การที่พระองค์เมื่อครั้งดำรงพระยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
การแสดงพระองค์เป็น พุทธมามกะ นั้นหมายถึงการที่พระองค์ทรงรับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกแห่งชีวิตแล้ว หลังจากนั้น พระองค์ทรงติดตามในหลวงรัชกาลที่ ๙ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ทรงปฏิบัติธรรมเป็นการส่วนพระองค์ ทรงผนวชเป็นเวลา ๑๕ วัน เมื่อวันจันทร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร(เจริญ สุวฑฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ สมเด็จพระธีรญาณมุนี(ธีร์ ปุณฺณโก ) ถวายอนุสาสน์ ทรงได้รับถวายพระสมณนามว่า “วชิราลงฺกรโณ” และได้ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหารตลอดจนทรงลาสิกขาในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ ส่งเสริมการดำเนินจิตภาวนาของพระสงฆ์และงานเผยแผ่ของพระสงฆ์ ตลอดจน สนับสนุนการศึกษา ของพระเณร มากไปกว่าน้ั้น พระองค์ทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์ศาสนาต่างๆ ดุจเดียวกับการอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน
ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมา กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธศาสนิกและอัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงเป็นพุทธมามะ และทรงเป็นผู้ทะนุบำรุงศาสนาทั้งหลายที่รัฐรับรอง ทั้งนี้ เพราะเป็นประเพณีมาแต่เดิมที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเปิดให้มีการเผยแผ่ศาสนาทั้งหลายในแว่นแคว้นและทรงอุปถัมภ์การเผยแผ่ทุกศาสนาด้วย ชาวไทยจะว่าไปก็คือ รวมหลากหลายเชื้อชาติศาสนาเป็นหนึ่งเดียว
ประมาณนี้จ๊ะแม่ …