กว่า “บันทึกฝึกขีดเขียน” เล่ม ๑ จะปรากฎออกมาเป็นรูปเล่ม ผู้เขียนก็มีเรื่องเล่าเต็มไปหมด ระหว่างทาง จริงๆ แล้ว เราทุกคนต่างเป็นนักเขียนด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ เราอาจไม่ได้เขียนบนกระดาษ หรือเขียนบนโซเชียลมีเดีย แต่เราก็เขียนประทับไว้ในจิตกันทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้าออกเลยก็ว่าได้ แล้วเราเขียนกันทางไหนล่ะ ก็เขียนกันทางความคิดไง

ความคิดของเรา เกิดจากการเขียนของตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อจรดใจลงบนรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่างๆ นานา เรื่องราวต่างๆ ก็เกิดขึ้นมากมายบนกระดาษแห่งจิตที่มองไม่เห็นด้วยตา ภาษาพระท่านเรียกว่า “การปรุงแต่ง”

หรือ การกระทบของอายตนะภายใน กับ อายตนะภายนอก แล้วเกิดปิ๊งแวบขึ้นมา คราวนี้ก็อยู่ที่ว่า ใจเราจะปรุงแต่งไปอย่างไรก็อยู่ที่สติและปัญญาของเราแล้วล่ะ

“ใจ” จึงเป็นสิ่งที่ต้องฝึก เรามาฝึกให้คิดดี เขียนดี และทำดีกันเถอะ เพราะชีวิตนี้น้อยนัก เดี๋ยวก็จากโลกนี้กันไปแล้ว…อย่ารอช้าที่จะทำความดีทุกลมหายใจเข้าออก

วันที่ผู้เขียนได้พบกับ พระอาจารย์วิสัชนา วรปญฺโญ (พ.วิสัชนา) เมื่อหลายปีก่อนที่ศาลาหลวงพ่อโชคดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร คือวันที่ได้รับเชิญจากท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ให้ไปช่วยถวายความรู้แด่พระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศ ๒๐ กว่ารูป เกี่ยวกับเรื่องเทคนิคการเขียนบทความ โดยมีพระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปที โป ในขณะนั้น เป็นผู้ดูแลโครงการพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ด้านการเขียน (โครงการพระนักเขียน) ในช่วงครึ่งวันของวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งจัดในนามของสถาบันพัฒนาพระวิทยากร ร่วมกับ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ภายใต้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์

เป็นโอกาสที่ดีมากในชีวิตของผู้เขียนที่ได้ไปร่วมแบ่งปันความรู้ที่มีมากว่าสามสิบปีในการทำงานอยู่แวดวงสื่อสารมวลชนถวายแด่พระภิกษุสงฆ์

ในครั้งนั้น ผู้เขียนซึ่งไม่ถนัดพูด ก็กราบเรียนพระมหาประสิทธิ์ไปว่า จะทำอย่างไรดี “โยมไม่ถนัดพูดหน้าชั้น แต่ถนัดเขียนมากกว่าค่ะ พระอาจารย์”

พระมหาประสิทธิ์ ก็เลยให้ผู้เขียน ช่วยอ่านบทความที่พระเขียน แล้วแนะนำแต่ละบทความเลย ว่าควรจะปรับปรุง แก้ไข หรือ ดีแล้ว จะเขียนให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร

หลังจากช่วงเวลาอันมีค่ายิ่งผ่านไป ผู้เขียนมารำลึกถึงทำให้เกิดปีติยิ่งนักที่ในครั้งหนึ่งได้มีโอกาสถวายความรู้ด้านการเขียนแด่พระภิกษุสงฆ์ ตอนนั้น คุณแม่ของผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่

คุณแม่บอกกับผู้เขียนว่า

เป็นบุญอย่างสูงสุดในชีวิตของลูกเลยนะ

ที่ได้ไปถวายความรู้

เกี่ยวกับการเขียนแด่พระสงฆ์

วิชาการเขียน จริงๆ แล้ว ผู้เขียนเรียนจากแม่เป็นหลักเลยตั้งแต่อยู่อนุบาล ๑ ไม่ยอมขึ้นชั้นอนุบาล ๒ เป็นเวลา ๔-๕ ปีที่เรียนกับแม่

ในเล่ม “บันทึกฝึกขีดเขียน” เล่ม ๑ ที่จะปรากฏโฉมออกมา ผู้เขียนก็เล่าบันทึกช่วงนี้ไว้ด้วยค่ะ และการได้ถวายความรู้แด่พระสงฆ์ในครั้งนั้น ถือว่าเป็นของขวัญอันมีค่าประมาณมิได้ในชีวิต เพราะมากกว่าการถวายความรู้ทางโลกเกี่ยวกับเทคนิคการเขียนที่ผู้เขียนกราบถวาย ผู้เขียนกลับได้รับพลังจากพระอาจารย์ทั่วประเทศในขณะนั้น ที่เมตตาเขียนบทความอันทรงพลังที่กลั่นออกมาจากการภาวนาและประสบการณ์ของท่านเกี่ยวกับการที่พระสงฆ์แต่ละรูป มีบทบาทในการช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ แล้วเล่าออกมาเป็นตัวหนังสืออย่างอ่อนน้อมถ่อมตนและงดงามยิ่ง

เมื่อย้อนรำลึกไปในเช้าวันนั้น ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ระหว่างการเดินอยู่ในวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เพื่อไปศาลาหลวงพ่อโชคดี ก็ได้พบกับ พระอาจารย์ วิสัชนา วรปญฺโญ (พ. วิสัชนา) ตอนนั้นยังไม่รู้จักท่าน และในวันนั้นหอบหนังสือ “แม่ พลังใจเปลี่ยนชีวิต ” เตรียมไปถวายพระสงฆ์ที่มาร่วมโครงการด้วย เมื่อได้พบท่าน จึงขอถวายท่าน และท่านยังขอลายเซ็นด้วย

แม้ผู้เขียนมิได้เป็นนักเขียนที่โด่งดัง แต่ก็มีอาชีพเขียนหนังสือยังชีพ เลี้ยงพ่อแม่มาตลอดชีวิต ก็เป็นที่ภาคภูมิใจมากที่มีพระอาจารย์ขอลายเซ็น

และเมื่อผู้เขียนเริ่มรวบรวมต้นฉบับใกล้เสร็จเรียบร้อย พระอาจารย์วิสัชนาก็เมตตาเข้ามาให้กำลังใจใน facebook ของผู้เขียน ทำให้ผู้เขียนในช่วงเวลานั้น กำลังท้อก็ฮึดขึ้นมาใหม่ ด้วยพลังใจจากท่านอีกหนึ่งแรง ผู้เขียนจึงขอให้ท่านเขียนคำนิยมให้ ซึ่งท่านก็เมตตาเขียนให้ด้วยความกรุณาและมุทิตาอย่างยิ่ง

ผู้เขียนจึงขอกราบขอบพระคุณ กราบนมัสการแทบเท้าท่านผ่านมาทางนี้อีกทางหนึ่ง และขอวาดรูปท่านประกอบคำนิยม บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย เมื่อท่านเห็นภาพวาดลายเส้น ท่านก็ยังเมตตาให้กำลังใจผู้เขียน ซึ่งเป็นผู้วาดรูปว่า “วาดได้น่าเอ็นดู ” ก็เลยได้แรงบันดาลใจที่จะทำหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ต่อจาก “บันทึกฝึกขีดเขียน” ก็คือ “บันทึกฝึกวาดรูป (ไม่) เหมือนกันเถอะ ”

และในช่วงเวลาที่รอหนังสือเสร็จเรียบร้อย ก็เลยขอนำคำนิยมจากพระอาจารย์ วิสัชนา วรปญฺโญ (พ. วิสัชนา) มาแบ่งปันกันอ่านค่ะ

คำนิยม 

พระอาจารย์ วิสัชนา วรปญฺโญ (พ. วิสัชนา)

จุดเริ่มต้นของนักเขียนที่ดี  สิ่งหนึ่งที่พึงกระทำคือ  อย่าไปสนใจเสียงของคนอื่นมากเกินไปจนลืมฟังเสียงหัวใจของตัวเอง 

ถ้าหากเป็นเสียงที่คอยส่งเสริมให้พลังให้แนวคิดสร้างสรรค์  ควรจะรับฟังเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ  แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับงานเขียน  แต่อีกมุมหนึ่งเสียงคนอื่นก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป  บางครั้งอาจทำให้เกิดความวุ่นวาย  สับสน  ท้อแท้ จนกระทั่งกลายเป็นขยะในสมอง  ขัดขวางไอเดียใหม่ๆ โดยไม่รู้ตัว  คงเปรียบเหมือนกำแพงอันแข็งแกร่งที่คอยกำจัดความแหลมคมปลายปากกาของเราไม่ให้แทงทะลุไปสู่ความสำเร็จดั่งที่ใจปรารถนาเอาไว้

เพราะฉะนั้น  ควรหันกลับมาอยู่กับตัวเอง  อยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างมีสติ  ฟังเสียงลึกๆ ของหัวใจที่กำลังเต้นอยู่  หากเปิดใจรับฟังจริงๆ  ก็จะได้ยินเสียง  ซึ่งเป็นเสียงมาจากหัวใจจริงๆ ว่า  สิ่งที่ปรารถนาอย่างแรงกล้าเก็บซ่อนอยู่ภายในมาแสนนานนั้นคืออะไรกันแน่  แล้วถามใจตัวเองดูว่า  พร้อมหรือยังที่จะนำสิ่งนั้นออกมาสู่ภายนอกให้ชาวโลกได้ประจักษ์

หากสิ่งที่ปรารถนานั้นคือ  การเขียน  ก็จงเขียนอักษรออกมาด้วยความสวยงามอย่างบรรจง  ประณีต  เสริมด้วยทักษะความแหลมคมทางปัญญาอย่างมีชั้นเชิง  ใครจะรู้ว่าสิ่งที่สาธยายอักษรลงบนพื้นผิวกระดาษอาจจะกลายเป็นผลงานชิ้นเอกก็ได้  สิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลเพียงหนึ่งเดียวของคำว่า “การเขียนอย่างมีศิลปะ”

การเขียนอักษร  หรือการเขียนรูป  ต่างก็เป็นงานศิลปะที่สวยงามเสมอ  เนื่องจากว่า นักเขียนหรือศิลปิน  มักจะใส่เนื้อหาสาระ  ปรัชญาชีวิต  แนวคิดที่ลึกซึ่งแอบซ่อนไว้  งานในลักษณะอย่างนี้ยิ่งเก่าแก่ยิ่งทรงคุณค่าขึ้นเรื่อยๆ

เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทีต้องมีงานเขียนดีๆ สักเล่มฝากไว้ในโลก  เก็บไว้เป็นของขวัญให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  จากรุ่นสู่รุ่นได้อ่าน  ได้เข้าใจความรู้สึกนึกคิด  จนกระทั่งได้สัมผัสสิ่งมหัศจรรย์ที่มีอยู่ในห้วงจักรวาลจิตใจของเรา  ที่ได้กลั่นกรองออกมาแล้วเป็นอักษรศาสตร์โดยมีความสวยงามอย่างวิจิตรพิสดาร

พระอาจารย์ วิสัชนา วรปญฺโญ (พ. วิสัชนา)

การอ่าน  จึงไม่ใช่เรื่องของการหลงยุคหลงสมัย  แต่ทว่าการอ่านทำให้เกิดปัญญาอย่างชาญฉลาด  ทำให้มีพัฒนาการศักยภาพ  จินตนาการไปแสนไกล  และเข้าใจหลายยุคหลายสมัยอย่างแจ่มแจ้ง  รวมทั้งได้เรียนรู้จากอดีตที่มีวิวัฒนาการต่างๆ ของมนุษย์  สัตว์  ธรรมชาติ สังคม  สงคราม  สันติ  จนกระทั่งสามารถนำเอาองค์ความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันได้จริงๆ 

นอกจากนี้  ยังนำไปจัดการเรื่องราวต่างๆ ทั้งที่เป็นปัญหา  หรือแม้แต่เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกมากมาย 

เพราะฉะนั้น การอ่าน จึงทำให้มีความรอบรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง  ลึกซึ้ง และมีความคิดที่ทันสมัยมากกว่าคนทั่วไปตั้งหลายเท่าตัว

ปกหนังสือ "บันทึกฝึกขีดเขียน เล่ม ๑" เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
ปกหนังสือ “บันทึกฝึกขีดเขียน เล่ม ๑” เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

หนังสือเล่มนี้  มีเรื่องราวและภาพประกอบ  อ่านแล้วเข้าใจง่าย  ขนาดกะทัดรัดน่ารักๆ แต่ทว่าทรงพลัง  เป็นแสงสว่างในยามราตรีส่องทางให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้เดินไปสู่เส้นทางแห่งการเป็นนักเขียนที่ดี  จนกระทั่งอาจจะกลายเป็นนักเขียนชั้นยอดในวันข้างหน้าได้ 

ขอให้หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางที่ค่อยชี้แนะแนวทางไปสู่เป้าหมายดั่งที่ใจปรารถนาเอาไว้ทุกประการ

ขออนุโมทนากับคุณโยม มนสิกุล โอวาทเภสัชช์  ที่แบ่งปันประสบการณ์รังสรรค์ปัญญาออกมาเป็นตัวหนังสือ  พร้อมด้วยรูปภาพผสมผสานกันงดงามได้อย่างลงตัว  และทรงคุณค่าต่อการเรียนรู้ยิ่งนัก  หนังสือเล่มนี้เปรียบเหมือนไฟที่ได้จุดชนวนแห่งความคิด  และพุ่งกระจายไปทั่วสารทิศ  ปัญญาที่เกิดจากการอ่าน  เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเขียน  ขอให้แสงสว่างแห่งปัญญานั้นได้เจิดจรัสส่องประกายอย่างนี้ไปตราบนานนิรันดร์กาล  เทอญ

                                                     พระอาจารย์วิสัชนา วรปญฺโญ (พ.วิสัชนา)

กว่าจะมาเป็น “คำนิยม” จากพระอาจารย์ วิสัชนา วรปญฺโญ (พ. วิสัชนา) สำหรับหนังสือ “บันทึกฝึกขีดเขียน” เล่ม ๑ โดย มนสิกุล

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here