“มองตัวเองผ่านสายตาแห่งสติ”

         การปฏิบัติสมาธิเป็นขั้นการทำความสะอาดจิต มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มองกลับเข้ามาภายในตนเอง เป็นการมองตนเองผ่านสายตาแห่งสติ จะมองตัวเองได้ก็ต้องทำความสะอาดจิตก่อน

วิธีปฏิบัติสมาธิจะใช้รูปแบบใดก็ตาม

ไม่ใช้ข้อสำคัญ

ที่สำคัญขอให้เราสามารถมองกลับเข้ามาหาตัวเองให้ได้ ก็เป็นอันใช้ได้

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เหมือนจะส่องกระจก กระจกก็ต้องสะอาดไม่มัวหม่น จึงจะเห็นหน้าชัด จะส่องกระจกต้องทำความสะอาดกระจก  แต่การปฏิบัติสมาธิในตอนแรกก็ควรจะยึดรูปแบบไว้ก่อนเหมือนเด็กนักเรียนยังอ่านหนังสือไม่ออก ก็ต้องหัดอ่านหัดเขียนตามครูที่สอนไปก่อน เหมือนคนยังไม่ชำนาญทาง ก็ต้องดูแผนที่ไปก่อน พอชำนาญทางแล้ว ก็ไม่ต้องดูแผนที่เพราะแผนที่ถูกบันทึกไว้ในสมองแล้ว

การเริ่มปฏิบัติสมาธิต้องดูแผนที่ของใจไปก่อน ฝึกหัดไปตามรูปแบบที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกท่านสอนท่านนำปฏิบัติ

กลับมาดูที่ใจของเราเอง

แล้วเฝ้าสังเกตดูอาการของจิตใจเรา

อย่าไปเฝ้าจับผิดพฤติกรรมของคนอื่น

ไม่ให้มองออกไปข้างนอก

ให้เฝ้าสังเกตกายใจตนเอง 

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

กายใจของเราประกอบขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ แล้วมันก็พร้อมที่จะปรวนแปรไปตามสิ่งที่ประกอบขึ้น ขึ้นอยู่กับว่า ขณะนั้นอะไรเป็นปัจจัยที่มีอำนาจในการทำให้เกิดการปรวนแปรมากกว่า ก็จะปรวนแปรไปตามสิ่งนั้น เช่น ราคะ เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากกว่า ใจก็จะปรวนแปรไปเป็นชอบใจพอใจ ติดใจ ปฏิฆะ โทสะ เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากกว่า ใจก็จะปรวนแปรไปเป็นขัดเคืองใจ โกรธ เกลียด และอาฆาต เป็นต้น เหมือนกล้วยบวชชีเน่าเสียง่ายเพราะกะทิ

ใจที่มีหลักแล้วจะไม่เน่าไม่บูดง่าย

เพราะไม่มีอารมณ์อะไรมาเป็นปัจจัยให้ใจเน่าใจเสีย 

ท่านจึงให้ใช้สมาธิเป็นหลักของใจ 

เอาไว้เป็นกระจกส่องใจ

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เวลาปฏิบัติสมาธิให้ดูทุกข์ เวลาดูทุกข์ดูจากที่ไหน ก็ดูจากความเปลี่ยนแปลง ความปรวนแปรของความคิด พอความคิดเปลี่ยนจากความคิดหนึ่งไปสู่อีกความคิดหนึ่ง ทุกข์ก็เกิด  เพราะไม่อยากให้เปลี่ยน อยากให้คงอยู่อย่างนั้น แต่แล้วก็เปลี่ยนไปจนได้ และเพราะอยากให้เปลี่ยนแต่ก็ไม่ได้ดั่งใจ ไม่ยอมเปลี่ยนไปตามใจอยากเสียที ก็เป็นทุกข์เดือดดาลใจ ที่ไม่ได้ดั่งใจ

ถ้าจะดูทุกข์ให้ชัด ก็ดูที่ความขัดเคืองใจ ความไม่ได้ดั่งใจ ความขัดเคืองใจ ความไม่ได้ดั่งใจนี่มันทุกข์เหลือเกิน ทุกข์ที่อยากจะให้มันได้ดั่งใจ พอไม่ได้ดั่งใจมันก็ขัดเคือง ทุรนทุราย กระสับกระส่าย พอได้ดั่งใจก็สะอกสะใจ เป็นสุขครึ้มอกครึ้มใจ ก็อยากจะแสวงหาความได้ดั่งใจอยู่เรื่อยๆ จะได้เป็นสุข สุขก็เป็นเวทนา เวทนาไม่เที่ยง พอสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวสุขก็ปรวนแปรไปเป็นทุกข์ใจ  กลัวว่า ความได้ดั่งใจจะเปลี่ยนไป ก็ทุรนทุรายหาทางที่จะรักษาไว้ แล้วก็จะวิ่งวนแสวงหาสุขใหม่อีกต่อไป แล้วก็จะเกิดตัณหาอยากได้สุข เกิดตัณหาไม่อยากทุกข์

เกิดตัณหาอยากหนีทุกข์ แม้จะสุขที่ได้มา  แต่ก็เป็นทุกข์เพราะจะเสียไป  ได้มาเหมือนจะสุขแต่ทุกข์กำลังตามมา

ความอยากสุข ความอยากหนีทุกข์ ความอยากผลักใสทุกข์ ก็เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ที่อยากได้มา พอได้มาก็เครียด กลัวว่ามันจะไม่อยู่กับเรานาน ที่ไม่อยากได้มา พอได้มาก็เครียด เป็นทุกข์ ทุรนทุรายใจ เดือดร้อนใจ อยากให้มันพ้นไปเสียไวๆ อยากจะหนีให้ไกลห่าง เราก็บ่นเพ้อรำพึงรำพัน ว่าทำไมเขาทำอย่างนี้กับเรา ก็เอาแต่ก่นด่าโทษฟ้าโทษดินอยู่อย่างนั้น พอปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ อยากสงบ พอไม่สงบ ก็บ่นว่ามันน่าจะสงบก็ไม่สงบ คนอื่นยังสงบ มันน่าจะเห็นอย่างนั้นอย่างนี้กับเขาบ้าง

ตัณหา คือ ความอยาก

ก็ปรากฏเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาให้เห็นอยู่ต่อหน้า

แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าเป็นตัณหาอีก

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

         นี่ก็เรียกว่า “อยาก” ก็ให้บอกกับตัวเองว่า ออ! นี่เองที่เรียกว่า “ตัวตัณหา” ตัวก่อทุกข์ เราก็ได้เห็นหน้าเห็นตาของตัณหาแล้ว

ปฏิบัติสมาธิไปพออยากเห็นนั่นเห็นนี่ อยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้  อยากให้คนอื่นรู้ว่าเรานั่งสมาธิเราปฏิบัติธรรม ก็บอกกับตัวเองว่า “นี่ไงตัวตัณหา”

ความอยากเป็นหัวเชื้อให้เกิดกระแสความคิด

เป็นหัวเชื้อให้เกิดกระแสชีวิต

เป็นหัวเชื้อให้เกิดกระแสวิญญาณ

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความอยากที่เป็นหัวเชื้อให้เกิดกระแสความคิดเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสาเหตุให้ทุกข์เกิด เราต้องยอมรับความจริงแห่งทุกข์ที่แท้จริงนี้ และค่อยๆ เรียนรู้ขึ้นมา อย่ามัวแต่หนีจากทุกข์ ไม่กล้าที่จะเผชิญทุกข์  ที่เราค้นหาทุกข์ไม่เจอเพราะมัวแต่หนีทุกข์ ไม่อยากรับรู้ความจริงของทุกข์

         ที่จริง วิธีที่จะแก้ทุกข์ในเบื้องต้นพระพุทธเจ้าให้รู้จักทุกข์ก่อน ไม่ให้หนีทุกข์ ทุกข์จึงเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ว่า อันนี้เป็นทุกข์เป็น“ปริญเญยยันติ”คือ ต้องกำหนดรู้ไว้ก่อน แม้ยังไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก็กำหนดไว้ก่อนว่า อาการนี้ทุกข์นะ ทุกข์เกิดแต่ละครั้งก็กำหนดรู้ไว้ว่า นี่อาการของทุกข์มันเป็นอย่างนี้ กำหนดให้รู้ด้วยตัวเองจนรู้จนเข้าใจแน่แล้ว ว่า ออ! นี่ทุกข์มันเป็นของมันอย่างนี้นี่เอง

เมื่อจะรู้ทุกข์ได้ก็ต้องรู้จักตัวทุกข์ว่าเป็นอย่างไร อะไร คือ  ตัวตนของทุกข์อย่างแท้จริง

แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความเจ็บก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ แม้ความเศร้าเสียใจก็เป็นทุกข์ ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์

กล่าวโดยสรุปที่เป็นทุกข์ก็เพราะเรามีอุปาทานยึดมั่นในขันธ์ ๕ นั่นเอง

เมื่อแจกแจงลักษณะตัวทุกข์ออกไป ตามที่เราทุกคนล้วนประสบเป็นประจำในแต่ละวันของชีวิตอยู่แล้วก็มีดังนี้

ทุกข์อย่างธรรมดาของคนทั่วไป ทุกข์เพราะไม่ได้ดั่งใจก็เดือดร้อนใจ ทำงานไม่ได้ดั่งใจก็เครียดเป็นทุกข์ เรียนไม่ได้ดังใจก็เครียดเป็นทุกข์ คาดหวังไว้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็เครียดเป็นทุกข์ ทุกข์อย่างธรรมดาของคนทั่วไป รวมลงในทุกข์แบบโลกธรรม ได้ลาภมา เสื่อมลาภก็เป็นทุกข์ ได้ยศมา เสื่อมยศไปก็เป็นทุกข์ กำลังสุขสบายมีความทุกข์เข้ามาแทรก ก็เป็นทุกข์ อยากได้ยินได้ฟังแต่คำสรรเสริญ พอได้ยินคำนินทา ก็เป็นทุกข์ แม้ทุกข์อย่างธรรมดาของคนทั่วไปแบบนี้ต้องดู ต้องกำหนดรู้

ทุกข์ภายในจิตใจ ความไม่สบายใจ ความกังวลใจ ความเครียด ความหวั่นไหว ความหวาดกลัว ความพรั่นพรึง ความกลุ้มอกกลุ้มใจ ความขุ่นมัวใจ ความเศร้าหมองใจ ความซึมเศร้า ความสับสน ความท้อแท้ห่อเหี่ยวสิ้นหวัง ความเบื่อหน่าย น้อยใจ ความเสียใจ ความอิจฉาริษยา ความขัดเคือง คับแค้นใจ ความเกรี้ยวกราด ดุดัน ความก้าวร้าว ความอยากได้อยากมี ความได้แล้วไม่ได้  ได้แล้วเสียไป ได้ของที่ไม่อยากได้ ไม่ได้ของที่อยากได้ ทุกข์เพราะถูกใส่ความให้ได้รับโทษ ทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมาจากผลของความทุกข์ใจ

ทุกข์เพราะจิตยึดในขันธ์ คือ รูปร่างหน้าตา ความคิดเห็นความเชื่อ ลัทธิศาสนา ประเทศชนชาติและเผ่าพันธุ์

ทุกข์เพราะมันเป็นทุกข์ของมันเองตามธรรมชาติ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะโรคภัย ไข้เจ็บ  กายที่มันมีความเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ  จะยึดหรือไม่ยึดมันก็เปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์ของมันเอง เห็นตอนแรกมันยังไม่ชัดเพราะใจมันยังไม่สงบ มันก็มองไม่ชัด แต่พอดูไปๆ มันก็จะค่อยๆ ชัดขึ้น

เมื่อได้มาเห็นทุกข์อย่างนี้แล้วก็จะเกิดความกลัวขึ้นมาอย่างจับใจ เพราะมารู้ว่าหากต้องเกิดแล้วก็จะไม่พ้นจากทุกข์เหล่านี้ไปได้ก็เป็น “ปริญญาตันติ”  คือ ได้มารู้ทุกข์อย่างจังเข้าแล้ว เป็นการรู้ทุกข์ลงไปตรงๆ ด้วยตัวเอง ไม่ได้ดัดแปลงปรุงแต่งทุกข์ไปตามกิเลส

ให้กำหนดรู้จักตัวทุกข์เข้ามาที่กายที่ใจ อย่างนี้

เมื่อทุกข์เกิดเช่นนี้แล้ว ก็ไม่หลบหนีทุกข์ เวลาทุกข์เกิดก็ต้องดูให้แน่ใจเสียก่อนว่า เป็นทุกข์ชนิดไหน แหล่งที่เกิดมาจากแหล่งใด มาจากทุกข์ทางตา ทุกข์ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือเป็นทุกข์คิดวนเวียนอยู่ในใจ ทุกข์ออกมาจากข้างในใจเอง หรือทุกข์เก็บมาจากข้างนอก  ใจมันดิ้นรนอยู่ข้างในใจเอง หรือเก็บเอามาจากข้างนอก  ใจมันดิ้นรนอยู่ข้างใน หรือมันดิ้นรนทะยานอยากจากข้างในไปข้างนอก ก็เฝ้าสังเกตดู ถ้าดิ้นรนอยู่ข้างในก็เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด  ถ้าดิ้นรนทะยานอยากไปไขว่คว้าเอาจากข้างนอก ก็เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด

ของชอบก็อยากได้ ก็เป็นกามตัณหา เมื่อได้มาก็อยากให้มั่นคงอยู่อย่างนั้น อยากยึดไว้อย่างนั้น ก็เป็นภวตัณหา  ของไม่ชอบก็ปฏิเสธอยากผลักไสออกไป ก็เป็นวิภวตัณหา

ความอยากจึงเป็นรากของทุกข์ทั้งปวง ต้องฝึกให้จิตได้รู้จักทุกข์ ถ้าทุกข์เกิดแล้วให้เฝ้าสังเกตว่ามันเป็นทุกข์ชนิดไหน ทุกข์เกิดจากอะไร ไม่ใช่ทุกข์เกิดแล้วมัวแต่หนี เหมือนคนกลัวผี ก็หลอกตัวเองร่ำไป พอบอกว่าที่นี่ผีดุ ก็จะหนีอย่างเดียว เลยไม่รู้ว่าผีเป็นตัวอย่างไร ความกลัวผีก็ไม่หาย เพราะไม่รู้ความจริง  คนกลัวทุกข์ก็เช่นเดียวกัน ก็คอยแต่จะหนีทุกข์อย่างเดียว เลยไม่มีโอกาสได้รู้จักตัวทุกข์ ก็แก้ทุกข์ไม่ได้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๗) มองตัวเองผ่านสายตาแห่งสติ เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here