กว่าจะมาเป็น “คำนิยม” จากพระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย (พระอาจารย์จ๊อดส์) สำหรับ “บันทึกฝึกขีดเขียน” (เล่ม ๑)

ผู้เขียน มีโอกาสอันงดงาม ได้พบกับพระครูสมุห์สุพัฒน์  อนาลโย หรือ พระอาจารย์จ๊อดส์ ครั้งแรกในการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ด้านการเขียน (โครงการพระนักเขียน ) “การเขียนบทความเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา” เมื่อวันที่ ๒๓ -๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ ศาลาหลวงพ่อโชคดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร จัดโดย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม  และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ  พระศาสนา และพระมหากษัตริย์  วัดสะเกศ  และกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม  โดยในครั้งนัั้น ผู้เขียนได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และ พระอาจารย์ประสิทธิ์ ญาณัปปทีโป  ในขณะนั้น ให้ไปช่วยถวายความรู้ และเทคนิคการเขียน ในรูปแบบของการเล่าเรื่อง (Story Telling) แด่ พระผู้เข้าร่วมโครงการพระนักเขียน ในช่วงเช้าวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐

นำไปสู่การเขียนบทความอย่างต่อเนื่องเป็นธรรมทานในคอลัมน์ “ธรรมลิขิต” หน้า “ธรรมวิจัย” ทุกวันอังคาร ที่ผู้เขียนดูแลอยู่ ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ปิดตัวลง และเว็บไซต์ Manasikul.com กำเนิดขึ้น เพื่อสานต่องานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ครูบาอาจารย์เขียน พระอาจารย์จ๊อดส์ก็ยังเมตตาเขียนบทความ “จาริกธรรมในอเมริกา” เป็นธรรมทานมาจนถึงปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น พระอาจารย์จ๊อดส์ ยังเมตตาแนะนำการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ให้กับผู้เขียนอยู่เป็นประจำ เพราะนักเขียนอย่างผู้เขียนนั้น มีจุดอ่อนคือ หลงเข้าไปในความคิดบ่อยมาก หรือจะเรียกว่าหลงเข้าไปในป่าความคิดแทบจะตลอดเวลาเลยก็ว่าได้ จนบางครั้งก็คิดว่า เราคือตัวหนังสือ และตัวหนังสือก็คือตัวเรา จึงทุกข์กับความยึดตัดตัวตน มุ่งสนแต่ความพอใจและความไม่พอใจในงานเขียนของตนเองเสมอ จนหลงลืมสติปัจจุบันไปเสียสนิท

บ่อยครั้งที่ขาดสติ จึงขอให้พระอาจารย์จ๊อดส์ช่วยชี้แนะ จนสามารถประคับประคองจิตตนเองออกมาจากป่ารกชัฏของความคิดได้ และแม้ว่าจะหลุดเข้าไปในป่าอีก พระอาจารย์จ๊อดส์ก็มีเทคนิคการให้กลับมารู้สึกตัวในทุกอิริยาบถไว้ ให้อยู่กับฐานกายมากๆ ให้ออกกำลังกาย และการทำงานออกแรงมากๆ จนเหนื่อย ก็จะหลุดออกจากความคิดได้บ้าง และในที่สุด ผู้เขียนก็สามารถจดจ่อ มีสติ และมีสมาธิกับการเขียนได้ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในองค์กรสื่อแล้วก็ตาม

สื่ออิสระจึงต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบทุกตัวอักษร ไม่ต่างจากสื่อกระแสหลัก เมื่อวันนี้โลกโซเชียลมีเดียได้เปิดพื้นที่สนามกลางอากาศอันกว้างใหญ่มหาศาลให้เราทุกคนที่ลงมาเล่น กลายเป็นสื่อกันไปหมดแล้ว ดังนั้น ทุกครั้งที่เปิดประตูเข้ามาสู่โลกเสมือนนี้คือความรับผิดชอบของเราเองล้วนๆ เลย สติสัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญาจึงต้องให้ทันต่อความคิด การเขียนโพสต์ หรือการเล่าเรื่องผ่านเทคนิคต่างๆ ต้องไม่ทำให้ใครแม้เพียงคนเดียวเดือดร้อน และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการกำเนิด “บันทึกฝึกขีดเขียน” เล่ม ๑ ขึ้นมา

ก็เลยกลายเป็นเรื่องเล่าก่อนที่จะมาเป็นคำนิยมจากพระครูสมุห์สุพัฒน์  อนาลโย (พระอาจารย์จ๊อดส์) ที่ผู้เขียนเคารพและศรัทธา จึงขอให้ท่านเขียนให้ และท่านก็เมตตาเขียนให้ อ่านแล้วก็แสนจะอบอุ่นใจจริงๆ

คำนิยม : พระครูสมุห์สุพัฒน์  อนาลโย (พระอาจารย์จ๊อดส์)

สำหรับหนังสือ “บันทึกฝึกขีดเขียน” เล่ม ๑

การจดบันทึกเป็นการเขียนเล่าเรื่องประสบการณ์ของชีวิตจริงที่เป็นอดีต  คือ  ความทรงจำของตนเองที่เกิดความประทับใจเรื่องราวต่างๆ นานาผ่านตัวเอง  เล่นเป็นตำแหน่งของพ่อแม่ลูก  พี่น้องชายหญิง  ลุงป้าน้าอาปู่ย่าตายาย  แล้วแต่เขาหรือเราจะกำหนดบทชะตาของชีวิตที่เป็นอยู่ไปในทิศทางไหน  หรือความใฝ่ฝัน  ความชอบ  ความถนัด ความสามารถพิเศษ ความเก่งกาจเฉพาะทาง  เรื่องการจดบันทึกส่วนตัวก็ชอบขีดเขียนอยู่  เพราะรู้ว่าตนเองเป็นคนที่ไม่เก่ง  อ่านหนังสือไม่ค่อยออก  ในช่วงเวลานั้นคิดในใจว่า  “ถ้าเราอ่านหนังสือออกเขียนได้จะขยันอ่าน  จะขยันเขียน”

จากนั้นก็เริ่มเล่นเฟซบุ๊ก  ใหม่ๆ ไม่กล้าพิมพ์หรือเขียน  กลัวว่ามันจะเขียนผิด  พออ่านออกเขียนได้แล้วบ้างช่วงนั้น  ก็เริ่มมีความคิดใหม่ว่า  “ต่อไปนี้เราจะฝึกพิมพ์ก็เท่ากับเป็นการฝึกเขียนไปในตัวขณะเดียวกัน”

เอ่อมันก็ได้ผลดีสำหรับความคิดนี้  เราก็ได้ฝึกพิมพ์  สะกดไปด้วย  อ่านในใจทำความรู้จักกับตัวอักษรพยัญชนะจากเฟซบุ๊ก  และครูที่ดีชั้นยอดเยี่ยมที่คอยสอนเราไปในตัวก็คือ “ผู้แช็ตสนทนากับเรา”

เราพิมพ์ผิดก็สังเกตจากเพื่อนที่ส่งมาให้ด้วยวิธีการสนทนากันกับเรา

นี่ก็เป็นวิธีการเรียนรู้  การเขียน  การจดบันทึกในโทรศัพท์มือถือ  เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคนที่กำลังอ่านอยู่นี้  เคยพิมพ์สนทนากับคนที่เรารู้จักคุ้นเคย  คนที่เรารัก  คนที่เราสื่อสารประสานงานต่างๆ  รวมไปถึงการประกอบธุรกิจกันเกือบทั้งหมด

ส่วนการเขียนบทความ  ครั้งแรกของชีวิตจริงๆ  ก็คือได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพระนักเขียน  ของสถาบันพัฒนาพระวิทยากร  สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม  และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ  พระศาสนา และพระมหากษัตริย์  วัดสะเกศ  และกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม 

ความทรงจำนี้ยังจำได้ว่าไปฝึกเขียนที่สุพรรณบุรี  นั่งอยู่โขดหินข้างหน้า  มีเขื่อนน้ำแสงแดดระยิบระยับพร้อมกับสายลมพัดโชยมาเย็นสบายใจ  มีนกบินไปจับคู่กันเป็นภาพที่สวยงาม

เวลาเดียวกันนั้น   ในขณะนั่งฝึกเขียน  จากพระวิทยากรท่านให้ไปฝึกเขียนมาหนึ่งเรื่องอะไรก็ได้  หนึ่งหน้าเอสี่   ตามหลักการประกอบด้วย  บทนำ  เนื้อเรื่องสาระ  ตัวอย่างประกอบ และบทสรุป

ผลปรากฏว่า   ผู้เขียนนี้คิดไม่ออก  มืดแปดด้าน  ในสมองมีแต่ความว่างเปล่า  มืดมิดปวดหัว  มือจับปากกาก็แล้ว  ตีหัวเบาๆ ก็แล้ว  จนเกือบจะร้องไห้

สรุปว่า  เรายังไม่มีความรู้มากพอ  อ่านหนังสือน้อย  ประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิตมีน้อยเรื่องเล่าเลยน้อยตามไปด้วย

ในครั้งนั้นนับว่าเป็นประสบการณ์ของชีวิตแบบใหม่  เป็นการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่  ก็มีองค์ความรู้เพิ่มขึ้นใหม่อีกศาสตร์สาขาหนึ่ง

ครั้งที่สอง  ก็ได้มีโอกาสได้มาฝึกเขียนบทความกับคุณโยมมนสิกุล  โอวาทเภสัชช์  จากการแนะนำของพระอาจารย์ประสิทธิ์ ญาณัปปทีโป   นี่คือประสบการณ์การเขียนบทความครั้งที่สอง

คุณโยมมนสิกุล  มีวิธีการสอนที่ดีอีกท่านหนึ่ง  คือให้ผู้เขียนได้เขียนจากจินตนาการของตนกับองค์ความรู้ที่ตนมี   เขียนสิ่งที่ใกล้ตัว  ประวัติความเป็นของตนเองก่อน 

นี่เป็นวิธีการเปิดใจของผู้เขียน  ให้สร้างความมั่นใจ  และถูกผิดนั้นไม่ได้ว่าอะไรก็เพียงแค่แก้ไขเพิ่ม  จากประสบการณ์ของท่านก็จะแนะนำให้ตัวเราเอง

คอลัมน์ "ธรรมลิขิต" เขียนโดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑
คอลัมน์ “ธรรมลิขิต” เขียนโดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑

งานที่เขียนให้คุณโยมมนสิกุลคือ  “ธรรมลิขิต” เกี่ยวกับศีลห้า  ช่วงนั้นโยมแม่ของผู้เขียนท่านป่วยด้วยไปเฝ้าเยี่ยมดูแลแม่ท่าน  ก่อนนอนก็เขียนบทความลงสมุดบันทึกไว้แล้ว  ก็มาพิมพ์ลงโทรศัพท์มือถือส่งคุณโยมมนสิกุล  ต่อมาได้ลงเป็นคอลัมน์ต่อเนื่องทุกวันอังคาร ในหน้าธรรมวิจัย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ทุกวันอังคาร  เป็นเวลากว่า ๓ ปี  เป็นธรรมทาน

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเขียนบทความกับคุณโยมมนสิกุล  ทุกครั้งที่ส่งบทความให้จะได้ยินคำว่า  “ดีเยี่ยม ดีมากๆ เขียนส่งมาอีกนะ” เสมอเลย

นี่เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนได้มีกำลังใจที่ฝึกฝนเขียนส่งไปเรื่อยๆ  จริงๆ แล้วผู้เขียนเองก็เขียนไม่ได้เรื่องหรอก  เขียนตกบ้าง  เนื้อเรื่องไม่ไพเราะไม่มีคำสละสลวยเลย

แต่ที่โชคดีมีกัลยาณมิตรที่ดี  มีองค์ความรู้ประสบการณ์  เชี่ยวชาญในเรื่องการเขียนบทความและหนังสืออีกมากมาย

จนกระทั่งผู้เขียนมาที่สหรัฐอเมริกาไกลที่สุดของชีวิตแล้ว และยังได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก หน้าธรรมวิจัย ในหัวคอลัมน์ว่า “จาริกธรรมในอเมริกา” ต่อมาจนกระทั่งหนังสือพิมพ์ปิดตัวลง  จากนั้นก็ยังเขียนมาลงในเว็บไซต์ Manasikul.com ของคุณโยมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเผยแผ่ธรรมะเป็นธรรมทาน  เป็นทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งสำหรับผู้อ่านออนไลน์ที่ทำงาน  อยู่บ้าน  เดินทาง  เรียนหนังสือ ฯลฯ  ซึ่งมีชีวิตที่จะต้องท่องอินเทอร์เน็ตควบคู่ไปด้วยในทุกวันนี้ 

จากการแนะนำให้เขียนบทความหัวข้อดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือคุณโยมมนสิกุล

สุดท้าย  ขออนุโมทนากับคุณโยมมนสิกุล  ที่ได้เขียนหนังสือ “บันทึกขีดเขียน” เล่ม ๑  เป็นเรื่องราวชีวิตของนักเขียนตั้งแต่เยาว์วัย  มีวิธีอุปนิสัยของนักเขียนเป็นอย่างไร  กว่าจะประสบผลสำเร็จมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรบ้าง

ไม่แน่เราอาจจะมีนิสัยที่คล้ายคุณโยมก็ได้  หรืออาจจะเป็นนักเขียน  นักจดบันทึกในอนาคตก็ได้  หนึ่งในนั้นกำลังรอคุณอยู่

ในหนังสือมีเนื้อหาสาระที่เติมเต็ม

ตัวปัญญาความรู้ของเรายังไม่พอ 

ยังมีภาพประกอบเปิดโลกจินตนาการ

แห่งการเรียนรู้อีกศาสตร์หนึ่ง 

ท้ายสุด  ขอคุณงามความดีที่ผู้เขียนได้สะสมมา  อุดหนุนส่งเสริมความดีของคุณโยมมนสิกุล โอวาทเภสัชช์  ให้ประสบความสำเร็จดั่งใจนึกคิดปรารถนาในครั้งนี้จงพลันๆ สำเร็จทุกประการด้วยเทอญ

พระจ๊อดส์

พระครูสมุห์สุพัฒน์  อนาลโย

๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๔ (ค.ศ.2021)

กว่าจะมาเป็น “คำนิยม” จากพระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย (พระอาจารย์จ๊อดส์) สำหรับ “บันทึกฝึกขีดเขียน” (เล่ม ๑)

หมายเหตุภาพวาด : “ต้องดูที่ตา”

เมื่อพระอาจารย์จ๊อดส์ เห็นภาพวาดท่านออกมา ท่านเมตตาให้กำลังใจว่า ทึ่งในความเพียรและความสามารถในการวาดภาพของโยมมากเลย

“ภาพที่โยมวาดทุกภภาพ ต้องดูที่ตานะ ตามีความรู้สึก มีชีวิต”

ผู้เขียนก็ปลื้ม และมีความพยายามในการวาดรูปต่อไป…

ด้วยสีชอล์ก มีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างที่ทำให้เหมาะกับการวาดภาพเหมือนมาก ผู้เขียนเอง ชื่นชอบการวาดภาพเหมือนมาตั้งแต่เรียนศิลปะที่มศว ประสานมิตร ในตอนนั้น วาดรูปเพื่อนทั้งหอพักเลย สนุกกับการปาดแท่งชอล์กสีดำบนกระดาษปรู๊ฟจนคิดว่าเรียนจบมาจะวาดภาพเหมือนขาย

แต่จนบัดนี้ ผ่านไปสามสิบกว่าปีแล้วที่เรียนจบป.ตรี เอกศิลปะมา ก็ยังไม่ได้วาดรูปเหมือนขายสักภาพเลย พอมาตั้งต้นวาดใหม่ ก็เหมือนเริ่มต้นใหม่ พอวาดไปเรื่อยๆ ก็เริ่มระลึกถึงตอนเรียนศิลปะทีละเล็กทีละน้อย จนเห็นการเริ่มต้นวาดโครงร่างใบหน้า จากโครงกระดูก ตำแหน่ง ตา หู จมูก เป็นต้น แต่วาดอย่างไร ก็วาดไม่เหมือน

จนถึงขณะนี้ ผู้เขียนมีอายุ ๕๖ ปี ก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตไปอีกกี่วัน เมื่อได้วาดภาพพระอาจารย์แต่ละท่าน ก็เกิดความสงบใจ แล้วระลึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ ไปจนถึงพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับการมีสติ จดจ่อในสิ่งที่ทำจนเกิดสมาธิ แล้วเมื่อมีสมาธิ ปัญญาในการแก้ไขปัญหา หรือความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ก็ปรากฏ ดังที่พระอาจารย์จ๊อดส์ เมตตาถ่ายทอดวิทยายุทธ์ในการเจริญสติ รู้สึกตัวกับการวาดภาพพจนเกิดสมาธิ แล้วปัญญาจะเกิดตามมา และปัญญานี้ ไม่เพียงเป็นปัญญาในการวาดภาพเท่านั้น หากเป็นปัญญาที่ทำให้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ว่า อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง ถ้าไปยึดมันเข้าก็ทุกข์เอาทันที และอะไรที่เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขนั้น ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ความจริง มันคือความคิดหลอกเราทั้งนั้น แท้จริงแล้ว เราไม่ได้เป็นอะไรเลย ในความไม่เป็นอะไรเลย เราจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีสติ เพราะสติ จะทำให้เรามองเห็นว่ามันไม่มีอะไร มันเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง

แต่ทั้งหมดนี้ ท่านว่า ต้องมองเห็นด้วยตนเองนะ ไม่ใช่การเห็นของคนอื่น ท่านจึงแนะนำให้วาดภาพพระพุทธเจ้า และภาพครูบาอาจารย์ที่ผู้เขียนได้กราบนมัสการ และได้สนทนาธรรม ตลอดจนไปปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์ท่านต่างๆ ให้เขียนภาพแต่ละท่านออกมา แล้วดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจว่า เป็นอย่างไร….

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here