“กราบก้อนอิฐ คิดถึงพระพุทธเจ้า“
ตามรอยบาทพระศาสดา
เล่าเรื่องความประทับใจ
จากมุมมองบทบาทพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ ๒๕
เรื่องและภาพ โดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส
จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
“ใช้อดีตเป็นคันฉ่อง ส่องอนาคต”
จากความประทับใจที่ผู้เขียนได้มีโอกาสตามรอยบาทพระศาสดา เมื่อครั้งที่ได้อบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ ๒๕
ผู้เขียน ได้มีโอกาสเดินทางไปอินเดีย-เนปาล หลายครั้งแล้ว บางโอกาสไปไหว้พระ บางวาระไปทำงานตามโครงการต่างๆ เช่นโครงการอุปสมบทพระนวกะโพธิ, และโครงการอบรมพระวิทยากรกระบวนธรรม เป็นต้น
การเดินทางแต่ละครั้งได้ความรู้ได้ประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันไป ด้วยเพราะจุดประสงค์ที่ไปต่างกรรมต่างวาระนั่งเอง สังเวชนียสถานทั้งสี่แห่ง และสถานที่สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ต่างมีเรื่องราวมากมายให้เราได้ศึกษา อยู่ที่ว่าเราสังเกตสิ่งไหน โฟกัสเรื่องอะไร เราก็จะได้เรียนรู้สิ่งนั้น
“หลักสำคัญคือ มองอินเดียอย่างที่อินเดียเป็น อย่ามองอินเดียแบบที่เราอยากให้เป็น”
ครั้งนี้ได้เดินทางไปศึกษาดูงานสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง และสถานที่สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ในฐานะว่าที่พระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ ๒๕
ส่วนแรกที่ประทับใจ
“มองทะลุให้เห็นเรื่องราวหลังก้อนอิฐ”
คือ การศึกษาสถานที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ทั้งสถูปเจดีย์พุทธสถาน และ วัดไทยในประเทศอินเดีย- เนปาล กราบก้อนอิฐ คิดถึงพระพุทธเจ้า มองทะลุให้เห็นเรื่องราวเบื้องหลังก้อนอิฐ และซากปรักหักพังเหล่านั้น แล้วนำมาตริตรองตรึก เพราะเรื่องราวส่วนลึกมักซ่อนเร้นเป็นเงื่อนงำน่าสนใจ
หากเพียงแค่เห็น แต่ไม่ได้นำมาวิเคราะห์ เราก็จะพลาดบทเรียนที่สำคัญไปได้
ส่วนที่สองที่ประทับใจ
“ศึกษาภาพรวมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แตกฉาน”
ศึกษาภาพรวมการดำเนินงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของพระธรรมทูตสายต่างประเทศอินเดีย- เนปาล เพื่อเรียนรู้ว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้มีวิธีการในการทำงานอย่างไร เมื่อพบเจอปัญหาอุปสรรค มีแนวทางแก้ไขอย่างไร เพื่อให้งานเผยแผ่ดำเนินไปได้
ส่วนที่สามที่ประทับใจ
“ใช้อดีตเป็นคันฉ่อง ส่องอนาคต”
การศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเชิงลึก ต่อยอดจากการศึกษาในตำรา มาดูให้เห็นกับตา ศึกษาหลักธรรม และ แนวทางการเผยแผ่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลาย จากนั้นนำมาวิเคราะห์ ถอดรหัส คิดให้ดี ตีให้แตก ในหลักการ เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในปัจจุบัน และอนาคต เป็นการใช้ “อดีตเป็นคันฉ่อง ส่องอนาคต”
ส่วนที่สี่ที่ประทับใจ
“อุบาสก อุบาสิกา มีนาข้าว ส่วนพระคุณเจ้ามีนาบุญ”
เงินไม่ใช่อุดมการณ์ของพุทธศาสนา แต่จำเป็นต้องใช้ ดังเช่น อากาศหายใจ ไม่ใช่อุดมการณ์ของชีวิต แต่ขาดอากาศหายใจ แล้วสิ่งมีชีวิตชนิดไหนจะทนอยู่ได้ ในส่วนนี้เราได้ศึกษา ความคิดแนวคิดของ อุบาสก อุบาสิกา ผู้อุทิศชีวิต ทรัพย์สินเงินทองเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพระสงฆ์ได้มีที่พักอาศัย บำรุงธาตุขันธ์ และดำเนินงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สู่ชาวโลก โดยมีนางวิสาขา และ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น
เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เขียนได้สังเกตเรียนรู้ เป็นบทเรียนในการมาศึกษาดูงานครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การพูดถึงความประทับใจ เป็นลำดับต่อไป จึงขอเล่าเป็นภาพรวมว่า การมาศึกษาดูงานระยะเวลา ๑๕ วัน ในครั้งนี้ ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย เกิดความประทับใจในการศึกษาดูงานที่ “ทำให้ตื่นตา แล้วพาให้ตื่นใจ”
อาการตื่นตา คือ ก็ด้วยการเห็นความยิ่งใหญ่ของ สถูปเจดีย์ วิหาร ซากปรักหักพัง พระพุทธรูปตั้งเรียงราย ศรัทธาชาวพุทธหลากหลายไหลหลั่ง นั่งสวดมนต์ภาวนา ใจกายสมบูรณ์พร้อม น้อมระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อเห็นความยิ่งใหญ่ของสถูปเจดีย์พุทธสถานทั้งหลาย มีความอลังการ ช่างเป็นที่น่าตื่นตายิ่งนัก ในใจของผู้เขียนก็เกิดคำถามว่า
พระพุทธศาสนาได้กำเนิดเกิดขึ้นบนโลกนี้ ก้าวข้ามผ่านกาลเวลากว่า ๒,๖๐๐ ปี แม้จะเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ก็ยังมีสถูปเจดีย์อันยิ่งใหญ่ ให้เราชาวพุทธรุ่นหลังได้เห็น ประกาศให้โลกได้รับรู้ ถึงการมีอยู่ของพระพุทธศาสนา อะไรคือเรื่องราวเบื้องหลังสิ่งเหล่านี้
เมื่อได้สอบถาม พระวิทยากรผู้บรรยายถวายความรู้ ประกอบกับศึกษาจากตำรา ได้ข้อสรุปว่า เพราะความรัก ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และมีปัญญาอันเล็งเห็นประโยชน์ในอนาคตข้างหน้า สร้าง และ รักษา ศาสนวัตถุไว้ให้ลูกหลานชาวพุทธได้สักการบูชา เป็นอนุสติให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สูงขึ้นไปกว่านั้นคือ นำไปสู่การศึกษาปฏิบัติหลักธรรมต่างๆในพระพุทธศาสนา เป็นการ “เรียนรู้ธรรม มีธรรม ใช้ธรรมนำชีวิต ตามรอยบาทพระศาสดา”
หากขาดศรัทธา ก็เป็นเรื่องยากที่จะสร้างพุทธสถานให้มีความยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ และหากไม่มีการสร้างพุทธสถาน สถูปเจดีย์ไว้ คงเป็นเรื่องยากที่ชนรุ่นหลังจะทราบ ถึงการมีอยู่ของพระพุทธศาสนาในอินเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าพิจารณา
ซึ่งท่านที่มีอุปการคุณต่อชาวพุทธในการสร้างสถูปเจดีย์ ชี้จุด ขุดค้น และ ดำรงสิทธิพุทธสถานคือ
๑. พระเจ้าอโศกมหาราช สร้างสถูป ลงเสาอโศก ๘๔,๐๐๐ แห่งทั่วอินเดีย บูชาพระรัตนตรัย
๒. พระเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง) บันทึกตำแหน่งสำคัญของพุทธสถาน
๓. เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม นักโบราณคดี ขุดค้น เปิดเผยพุทธสถานแก่ชาวโลก
๔. ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ผู้เรียกร้องสิทธิให้ชาวพุทธดูแล เจดีย์และต้นพระศรีมหาโพธิ พุทธคยา
โดยเฉพาะ เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม เป็นผู้มีส่วน ทำให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏ เป็นเครื่องยืนยันการมีอยู่ของพระพุทธศาสนา เปิดเผยแก่ชาวพุทธ สร้างความตื่นตาให้กับชาวโลก “พระพุทธศาสนาที่หลับใหลได้ตื่นขึ้นในอินเดีย อีกครั้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”
ประเด็นเรื่อง “ความตื่นตา” ขอจบไว้เพียงเท่านี้ ลำดับต่อไปก็จะได้พูดถึง ประเด็น “ความตื่นใจ”
“ไฟอุดมการณ์ ไม่ได้มีไว้ต้มกินเหมือนผักปลา
แต่มีไว้เพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณที่ว่างเปล่า”
ตื่นใจ เป็นอาการของจิตใจ ถูกสุมด้วยไฟอุดมการณ์ อันเนื่องมาจากการลงพื้นที่ศึกษาได้เห็น ฟังพระวิทยากรบรรยายเชิงลึก เรื่อง พุทธสถาน,แนวคิดการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวก การประยุกต์หลักธรรมะใช้ให้เข้ากับยุคสมัย แนวคิดวิธีคิดของพระธรรมทูตสายต่างประเทศอินเดีย – เนปาล ศรัทธาของอุบาสก อุบาสิกา ผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้พระสงฆ์ขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาให้เผยแผ่ครอบคลุมทั่วอินเดีย และประเทศใกล้เคียง
สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ พระพุทธเจ้า และเหล่าพระสาวก ได้ทำงานอย่างหนัก มีอุปสรรคมากมายในการเผยแผ่นพระพุทธศาสนา ต้องเผยแผ่หลักสัจธรรม ท่ามกลางหลักความเชื่อเดิมที่มีอยู่อย่างฝังรากลึก เปรียบดังเปลวเทียนที่ส่องสว่างท่ามกลางพายุโหมชัดใส่ แต่พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกก็ไม่ได้ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหาใดๆ
เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ไฟอุดมการณ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ลุกโซนตื่นขึ้น ตระหนักให้ตื่นรู้หันกลับมาดูตัวเราเองว่า “ขณะนี้เราคือใคร ทำหน้าที่อะไรอยู่” ซึ่งคำตอบก็อยู่ตรงหน้าแล้วว่า
“เราคือพระธรรมทูต ผู้รับภาระ ธุระ งานเผยแผ่พระธรรม เอาไว้บนไหล่ทั้งสองข้าง นำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปสู่ชาวโลก ด้วยหลักการของ ศีล สมาธิ ปัญญา”
การเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีความจำเป็นทุกยุคทุกสมัย ชาวพุทธ ทั้งพระเณรทั้งอุบาสก อุบาสิกา ต่างก็ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในการเผยแผ่หลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดมา
ถ้าจะชี้ให้ชัดเจนขึ้นมาอีกหน่อย ก็ต้องถามว่า ในพุทธบริษัท ๔ ใครคือผู้อยู่ใกล้พระพุทธศาสนามากที่สุด ข้อนี้ตอบได้เลยว่า คือ พระเณร นั่นเอง เพราะบวชเข้ามาอยู่ในวัด ศึกษาธรรมะ ถือว่าอยู่ใกล้ชิดพระรัตนตรัยมาก
ด้วยเหตุนี้ พระเณรต้องมีการศึกษาให้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ศึกษาทางธรรม เพราะเป็นเรื่องของตัวเอง แต่ทางโลกก็ต้องรู้ เพื่อจะได้นำพาพระพุทธศาสนา เผยแผ่ออกไปสู่ชาวโลก “เป็นการช่วยกันต่อลมหายใจของพระพุทธศาสนา ให้ยาวนานสืบไป”
ซึ่งทางคณะสงฆ์ไทย นำโดย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และวิทยาลัยพระธรรมทูตได้เล็งเห็นความสำคัญของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ จัดอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ
และขออนุโมทนาบุญกับเจ้าภาพ เจ้าศรัทธาทั้งหลายที่มีส่วนในการสนับสนุนโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ ๒๕ นี้ ด้วยอำนาจของพระรัตนตรัย ขอท่านทั้งหลายจงถึงความสุข ปราศจากความทุกข์ ทุกท่านทุกคนเทอญ
ฐาตุ จิรัง สะตัง ธัมโม
ขอพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า จงดำรงอยู่สิ้นกาลนานเทอญ
พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส ๐๕๓
“กราบก้อนอิฐ คิดถึงพระพุทธเจ้า” ตามรอยบาทพระศาสดา จากมุมมองบทบาทพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ ๒๕ โดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส เรื่องและภาพ