จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ญาณวชิระ

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๑๙ )

บรรพ์ที่  ๔

ขั้นตอนการบรรพชา  และ อุปสมบท

  (๒) เล่าเรื่องนาค  จากพุทธประวัติสู่ตำนานชาวบ้าน

            คำว่า  “นาค” แปลว่า  ผู้ประเสริฐ   เพราะไม่ทำบาป  จะเป็นคนก็ตาม เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม  หากไม่ทำบาปก็เรียกว่าผู้ประเสริฐ เช่น พญาช้างปาลิไลยก์ที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คราวเสด็จประทับในป่าปาลิไลยก์พระองค์เดียว  ไม่มีพระภิกษุอุปัฏฐากติดตาม ได้พญาช้างเชือกหนึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐาก  เราจึงเรียกพญาช้างเชือกนั้นว่า “หัตถินาโค” แปลว่า “ช้างประเสริฐ”  

นอกจากนั้น สัตว์เลื้อยคลานประเภทงูจำพวกหนึ่ง  เป็นพญางูใหญ่  กึ่งสัตว์เดรัจฉาน  กึ่งเทพ  สามารถจำแลงกลายเป็นมนุษย์ไปไหนมาไหนได้ตามความต้องการ  เราเรียกว่า “พญานาค”  เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉานแต่ก็แสวงหาคุณอันประเสริฐ

ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุนั้นเป็นการดำเนินชีวิตตามเส้นทางของพระอริยเจ้า  ปฏิปทาของพระอริยเจ้าเป็นปฏิปทาอันประเสริฐเพราะไม่ทำบาปทั้งปวง  เราจึงเรียกผู้จะดำเนินชีวิตตามปฏิปทาอันประเสริฐนั้นว่า “นาค”

โครงการอุปสมบทหมู่นวกะโพธิ รุ่นที่ ๖ สี่เหล่าทัพ ณ พุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย วันที่ ๑๘ -๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ จัดโดย สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ  วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ,พระธรรมทูตสายอินเดีย -เนปาล และวัดไทยพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย โดยมีการขลิบผมที่วัดสระเกศ  :  ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
โครงการอุปสมบทหมู่นวกะโพธิ รุ่นที่ ๖ สี่เหล่าทัพ ณ พุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย วันที่ ๑๘ -๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ จัดโดย สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ,พระธรรมทูตสายอินเดีย -เนปาล และวัดไทยพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย โดยมีการขลิบผมที่วัดสระเกศ : ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

พญานาคภูริทัตต์  

อดีตชาติของพระพุทธองค์

         ตามคัมภีร์ทางศาสนา พญานาคได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ตั้งแต่อดีตชาติ เมื่อพระองค์เสวยชาติเป็นพญานาคชื่อภูริทัตต์  ปรากฏในภูริทัตต์ชาดกที่พระองค์ตรัสเล่า  พญานาคภูริทัตต์พิจารณาเห็นว่าการเกิดเป็นนาคโดยชาติกำเนิด ต้องดำรงชีพด้วยชีวิตของกบและเขียด เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความลำบากเดือดร้อน จึงคลายพิษออกปลีกตนจากหมู่ญาติไปจำศีลภาวนา  จนถูกหมองูสะกดด้วยคาถาเพื่อนำแสดงมายากลให้คนดู  พญานาคภูริทัตต์ได้รับความลำบากเหลือแสน เพราะความตั้งอยู่ในศีล แม้จะได้รับความลำบากเช่นนี้ พญานาคภูริทัตต์ก็หาได้ผูกจิตคิดร้ายและทำอันตรายแก่หมองูไม่  จนหมู่ญาติได้ออกตามหาและช่วยไว้ได้ในที่สุด

กาฬนาคราช 

นาคราชนอนเฝ้าถาดอธิษฐาน

ตามพุทธประวัติ พญานาคยังได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ตั้งแต่ก่อนการตรัสรู้  

เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายแล้ว  ได้ถือถาดไปทรงอธิษฐานที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราว่า  ถ้าเราจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้ ขอให้ถาดลอยทวนกระแสน้ำไป ถ้าไม่ได้เป็นจงลอยไปตามกระแสน้ำ ครั้นอธิษฐานแล้ว ทรงลอยถาดไปในแม่น้ำ ถาดนั้นลอยตัดสายน้ำออกไปจนถึงกลางแม่น้ำ แล้วลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปประมาณ ๘๐ ศอกจึงหมุนจมลงไปตามวังวนแห่งหนึ่ง

ถาดนั้นได้ตกลงไปกระทบถาดของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์  คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และ พระกัสสปะ ที่มาตรัสรู้ก่อนหน้านี้  ทำให้พญากาฬนาคราชสะดุ้งตื่นจากหลับ พญากาฬนาคราชคิดว่า เมื่อวานนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วพระองค์หนึ่ง วันนี้ตรัสรู้อีกพระองค์หนึ่ง จึงลุกขึ้นสรรเสริญพระพุทธคุณด้วยคาถาหลายร้อยคาถา 

อดีตชาติพญานาคราชตนนี้เคยเกิดเป็นสามเณรผู้ทำหน้าที่อุปัฏฐากภิกษุหลายร้อยรูป    ตั้งแต่อุปัฏฐากภิกษุสามเณรไม่เคยได้หลับได้นอนเต็มอิ่มสักวัน   จึงอธิษฐานขอให้ได้นอนไม่รู้จักตื่น  เมื่อตายไปแล้วสามเณรได้ไปเกิดเป็นพญากาฬนาคราช  นอนอยู่ในนาคพิภพอันเป็นทิพย์ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้องค์หนึ่งจึงตื่นครั้งหนึ่ง  

พญามุจลินท์นาคราช

หนึ่งในเทพชั้นผู้ใหญ่ของท้าวจตุโลกบาล 

            ภายหลังการตรัสรู้  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสวยวิมุตติสุขบริเวณต้นโพธิ์เป็นเวลาถึง ๗ สัปดาห์  ในสัปดาห์ที่ ๖ พระพุทธองค์เสด็จจากต้นอชปาลนิโครธไปยังต้นมุจลินท์ 

            ณ ต้นมุจลินท์นั้นเอง แม้มิใช่ฤดูกาลที่ฝนจะตก เมฆใหญ่ก็ตั้งขึ้นท้องฟ้ามืดมิดทำให้ฝนตกตลอด ๖ วัน พญามุจลินท์นาคราช ได้ออกจากที่อยู่ของตน  มาทำขนดเป็นวงล้อมพระวรกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานกั้นฝนเหนือพระเศียร ด้วยความคิดว่าหยาดฝนลมหนาว เหลือบยุง  และสัตว์เลื้อยคลานอื่นใด อย่าได้เบียดเบียนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย พระพุทธองค์ได้เสวยวิมุตติสุขที่ต้นมุจลินท์ประหนึ่งประทับอยู่ในพระคันธกุฎี 

            พอถึงวันที่ ๗ อากาศกลับปลอดโปร่ง พญามุจลินท์นาคราชทราบว่าฝนหยุดตกแล้ว จึงคลายขนดจากพระวรกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำแลงกายเป็นมาณพน้อย ยืนประคองอัญชลี ถวายนมัสการต่อเบื้องพระพักตร์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงไม้มุจลินท์ตลอด ๗ วัน

(โปรดติดตามตอนต่อไป …)

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๑๙) บรรพ์ที่ ๔ “ขั้นตอนการบรรพชา และ อุปสมบท (๒) เล่าเรื่องนาค จากพุทธประวัติสู่ตำนานชาวบ้าน ” โดย ญาณวชิระ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here