สัมมาสมาธิ เป็นหนึ่งในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้มวลมนุษย์ได้นำไปฝึกปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ทางใจในที่สุด

สัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่คนสมัยนี้ละเลยกันไปมาก ในยุคนี้ ผู้เขียนขอกราบแทบเท้าท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้นเป็นอย่างสูง ที่ท่านเมตตาเขียนเรื่อง “สัมมาสมาธิ” ไว้จากประสบการณ์การภาวนาของท่าน และจากหลักการที่พระพุทธองค์ฝากไว้ในพระไตรปิฎก ผ่านปลายปากกาของท่านอยู่ในหนังสือหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ “สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน” วิธีฝึกสมาธิด้วยตนเองสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักสมาธิ” เล่มนี้

“สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน”
วิธีฝึกสมาธิด้วยตนเองสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักสมาธิ
โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พิมพ์ครั้งที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓

นอกจากนี้ยังมีบันทึกเรื่อง สัมมาสมาธิ” อีกเล่มหนึ่งที่มีคุณค่ามหาศาล ที่ได้เริ่มต้นเล่าไว้ในมโนปณิธาน ตอนที่แล้ว (ตอนที่ ๓๔ ) เรื่อง “เห็นภูเขาความคิด พบสภาวะจิตที่เปลี่ยนไป” เริ่มต้นจากเห็น “ภูเขาความคิด” ที่อัดแน่นอยู่ภายในจิต และวิธีการทลายภูเขาความคิดด้วย “กายคตาสติ” คือ ให้สติอยู่ภายในกาย เฝ้าสังเกตกายและจิตเหมือนนักดาราศาสตร์ อดทนเฝ้าสังเกตกลุ่มดวงดาว เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มดาวในจักรวาล จนทำให้เกิดความสลดสังเวชใจ เพราะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของกายและจิตอยู่เสมอ เห็นความคิดสลับกันเกิดขึ้นแล้วดับไป

เห็นธาตุในกายแตกดับอยู่ตลอดเวลา เพราะเห็นความไม่สะอาด เห็นความเปื่อยเน่าไปของกาย จิตจะถูกดึงดูดลงสู่ภาวะความสงบ จะปลอดโปร่งจากกามคุณที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ปลอดโปร่งจากอารมณ์ขุ่นมัวทางใจ ปลอดโปร่งจากการยึดถือในตัวตนของตน ในสิ่งของของตน จากความเห็นและความเชื่อของตน สติสัมปชัญญะจะบริบูรณ์ และจะเกิดความรู้จากภายใน มีความเบิกบาน สว่างไสวอยู่ภายใน 

การฝึกสมาธิเป็นเป็นงานที่ต้องเฝ้าดูการทำงานภายในจิตใจอย่างไร เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ก็ใช่ว่า จะไม่ใช้ในการงาน สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิจะต้องมีสติตื่นรู้ที่แจ่มชัด ระลึกรู้สภาวะอย่างชัดเจน เป็นสมาธิที่อ่อนโยน ควรแก่การงาน สมาธิที่แท้จริงเป็นการเปิดจิตให้กว้างขวาง สัมผัสได้กับทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่มีเมฆของความคิดมาบดบัง

สติ ที่กรปรไปด้วยสมาธิจึงมีความสำคัญทุกการก้าวย่างของอิริยาบถ …เพื่อการทำหน้าที่ในปัจจุบันขณะอย่างเต็มกำลัง แล้วปล่อยวาง

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จึงกลับมา …

เมื่อ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ เจ้าคณะภาค ๑๐ มอบหมายพระวิจิตรธรรมาภรณ์(เทอด ญาณวชิโร) เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐ ปฏิบัติศาสนกิจตรวจเยี่ยมวัดสวนหินผานางคอย อ.ศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี

“กายคตาสติ คือ ให้สติอยู่ภายในกาย เฝ้าสังเกตกายและจิตเหมือนนักดาราศาสตร์ อดทนเฝ้าสังเกตกลุ่มดวงดาว เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มดาวในจักรวาล จนทำให้เกิดความสลดสังเวชใจ เพราะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของกายและจิตอยู่เสมอ เห็นความคิดสลับกันเกิดขึ้นแล้วดับไป “

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๓๕ สมาธิเพื่อการพ้นทุกข์

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒

ทุกครั้งที่กลับมาอ่านหนังสือ “สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน” เขียนโดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) หรือ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ ก็ทำให้ผู้เขียนมีกำลังใจในการเคี่ยวเข็ญตัวเองฝึกปฏิบัติสมาธิในชีวิตประจำวันที่บ้านมากขึ้น เพราะเป็นหนังสือที่บอกกล่าววิธีฝึกสมาธิด้วยตนเอง สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ  

เพราะ “สมาธิ” นี้สำคัญมากๆ เลย ถ้าเราไม่สามารถฝึกสติจนเกิดเป็นสัมมาสมาธิได้ การที่จะเข้าสู่วิปัสสนาคือการมองเห็นกายและใจตามความเป็นจริงก็เป็นไปได้ยาก การเตรียมตัวที่จะเผชิญกับความตายอย่างปล่อยวางก็ยิ่งเป็นการยาก เพราะการคิดเอาไม่มีทางที่เราจะตัดรากถอนโคนความยึดติดกายใจได้ หากเราไม่รู้วิธีการเข้าสมาธิจนเกิดวิปัสสนาปัญญาในการเห็นการเกิด-ดับของความคิด จนสามารถตัดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมดสิ้นพร้อมทั้งอาสวะที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจได้

แต่ก่อนอื่นขอย้อนไปถึงฉบับที่แล้ว การที่จะเข้าสู่สมาธิ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ในครั้งนั้นอธิบายว่า   “ทางเดียวที่เป็นไปได้ ต้องฝึกสติ ให้มีสติ ให้ความคิดอยู่ในความระลึกรู้ ให้จิตอยู่ที่จิต ให้ใจอยู่ที่ใจ ต้องฝึกความรู้สึกตัวให้มีความรู้สึกตัว ต้องฝึก ต้องหัด ต้องสอนจิตให้เกิดความรู้ขึ้นมา จนจิตรู้ว่า จิตเองมีสติและสัมปชัญญะ โดยเริ่มต้นจากการเฝ้าสังเกตทุกความเคลื่อนไหวในกาย  เฝ้าสังเกตความเป็นไป ความเปลี่ยนแปลงของกายและจิต เฝ้าสังเกตการนั่ง การลุกขึ้นยืน การเดิน การนอน การเหลียวซ้ายแลขวา การกิน การดื่ม เป็นต้น

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และหลวงปู่สมชาย วิจิตฺโต วัดผานางคอย อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๐
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และหลวงปู่สมชาย วิจิตฺโต
วัดผานางคอย อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๐

“การเฝ้าสังเกตกายก็เป็นการเฝ้าสังเกตจิตไปในตัว เพราะเราจะไม่สามารถเห็นจิตได้เลย ถ้าไม่เฝ้าสังเกต การสังเกตเหมือนการที่เราดูลมหายใจ เราไม่เห็นลม แต่เรารู้ว่า ลมกำลังเข้า ลมกำลังออก กายก็เหมือนกัน ทุกย่างก้าว ทุกความเคลื่อนไหวของกายที่มองผ่านการเฝ้าสังเกตด้วยสติ จะเห็นภูเขาความคิดก่อตัวขึ้นจากตัณหา คือ ความอยาก

“อยากให้อะไรๆ ได้ดั่งใจ อยากให้ผู้อื่นรู้จักเราว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากให้ผู้อื่นเชื่อและยอมรับในความคิดเห็นของเรา(โลภะ) มีความติดใจแรงกล้าในกาม(ราคะ) คิดแต่ในทางลบ ไม่มีความเบิกบานจากภายใน มีจิตใจพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันเป็นโทษ อารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็วเหมือนพายุร้าย เพราะโทสะกล้า(โทสะ) และมีจิตไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีความคิดหมุนไปผิด ไม่ระมัดระวังภัยจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (โมหะ)

ภูเขาแห่งความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วเลือนหายไป จากนั้น ก็จะถูกดึงกลับมาฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียนคิดกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น บางเรื่องก็มีอายุการคิดที่สั้น บางเรื่องก็มีอายุการคิดยาวนาน บางเรื่องนานๆ จะถูกดึงกลับมาคิดครั้งหนึ่ง บางเรื่องถูกดึงกลับมาคิดวนเวียนซ้ำๆ บางเรื่องคิดเพียงบางเบาแล้วจางหายไป บางเรื่องกลับหนักหน่วงจนปวดสมอง บางเรื่องบีบหัวใจแน่น ยิ่งวนคิดก็ยิ่งเหมือนน็อตถูกขันเขม็งเกลียวแน่น ไม่รู้ว่าจะทำให้ภูเขาแห่งความคิดนั้นทะลายลงได้อย่างไร

           “แม้คนเราจะถูกธรรมชาติสร้างมาให้มีการทอดถอนหายใจ เพื่อให้ผ่อนคลายในยามที่ใจต้องเผชิญกับการก่อตัวขึ้นของภูเขาแห่งความคิดทับอกอัดแน่น จนต้องถอนหายใจ แต่แล้วเพียงชั่วขณะเดียว ภูเขาแห่งความคิดอันมีรากมาจากความยึดมั่นถือมั่น ก็กลับก่อตัวขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และวนฉายครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะไม่มีวิธีการจัดการที่ถูกต้อง แล้วคนเราก็คิดวนเวียนอยู่กับความทุกข์ที่ทับถมและการทอดถอนหายใจ

           “ภูเขาแห่งความคิดที่ก่อตัวขึ้นจากความทะยานอยาก คือ ตัณหา กลายเป็นพายุอารมณ์โหมกระหน่ำพัดอยู่ภายในจิตใจ ไม่เคยหยุดพัก พระพุทธองค์ตรัสว่า “เป็นภัย เป็นโรค เป็นฝีหนอง เป็นความติดข้อง เป็นหล่ม”  จึงทรงสอนให้เราพยายามทลายภูเขาแห่งความคิดที่เปรียบเหมือนภูเขาหิมพานต์เหล่านี้ลงให้ได้

“การจะทลายภูเขาแห่งความคิดลงได้ ต้องอาศัยจิตใจที่มีความมั่นคงเป็นสมาธิ ซึ่งดำเนินไปในหลักการที่สำคัญ คือ ต้องฉลาดในการเข้าสมาธิ ต้องฉลาดในการดำเนินจิตให้สมาธิตั้งอยู่นาน ต้องฉลาดในการออกจากสมาธิ ต้องฉลาดในความควรแก่กาลของสมาธิ ต้องฉลาดในอารมณ์ของสมาธิ และ ต้องฉลาดในการเข้าสมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ”

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๓๕ สมาธิเพื่อการพ้นทุกข์
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here