หนังสือ "หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรม" ในชีวิตประจำวัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ
หนังสือ “หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรม”
ในชีวิตประจำวัน
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙
โดยสำนักพิมพ์อนันตะ

ในหนังสือ “หลักการทำบุญ และปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เล่มนี้ เป็นบันทึกเล่มแรกที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ตั้งใจเขียนเป็นจดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ (คุณย่า) และโยมพ่อใหญ่ (คุณปู่) ของท่าน ในช่วงต้นๆ ของการมาจำพรรษาที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

เมื่อผู้เขียนได้อ่านก็ทราบเลยว่า ฝีมือการเขียนของท่านเจ้าคุณอาจารย์ไม่ธรรมดา นอกจากประสบการณ์ในการภาวนาที่เงียบเชียบไม่เคยแสดงตัวแล้ว ฝีไม้ลายมือในการเขียนก็ดุจเดียวกับการภาวนา

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งแรงบันดาลใจในการกราบเรียนถามถึงอัตโนประวัติของท่าน หลังจากที่ได้ขอความอนุเคราะห์ให้ท่านเขียนบทความ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ในรัชกาลที่ ๙ หลังจากพระองค์สวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ในเนชั่นสุดสัปดาห์ เป็นจำนวน ๒๔ ตอน

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๑๔ .  วันแรกที่พบหลวงพ่อสมเด็จ วัดสระเกศฯ

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

จากนั้นจึงขอให้ท่านเล่าประวัติ เพื่อให้ผู้อ่านทราบประวัติของผู้เขียน ซึ่งปัจจุบัน (ปีพ.ศ.๒๕๖๐) ท่านย่างเข้าสู่วัย ๔๖ ปี ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความคิดที่ลุ่มลึก บ่งบอกถึงกระบวนการทางความคิด ที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาอย่างหนักตั้งแต่เป็นสามเณร

ดังที่ท่านเล่าให้ฟังจนทำให้ผู้เขียนและผู้อ่านอีกไม่น้อยมีพลังและแรงบันดาลใจในการเลือกที่จะใช้ชีวิตดำเนินไปบนมรรคาแห่งธรรมตามรอยพระพุทธองค์อย่างไม่ลังเลสงสัย จนกระทั่งเกิดเป็นคอลัมน์ “มโนปณิธาน” ใน นสพ.คมชัดลึก แห่งนี้ต่อมา หลังจากที่เนชั่นสุดสัปดาห์ ปิดตัวลง

มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๔ วันแรกที่พบหลวงพ่อสมเด็จ วัดสระเกศฯ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๐ )
มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๔ วันแรกที่พบหลวงพ่อสมเด็จ วัดสระเกศฯ
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐

ด้วยมโนปณิธานอันแรงกล้าของท่าน ยิ่งสร้างพลังให้กับผู้เขียนต่อ ประดุจไฟที่ส่องทางไปข้างหน้า ให้พลังใจโชติช่วงในวันที่สื่อกระดาษกำลังล้มหายจากแผงหนังสือไปจนกระทั่ง ร้านหนังสือไม่น้อยก็ทยอยปิดตัวลง แต่ธรรมะที่พระพุทธองค์ฝากไว้กับพระสงฆ์ที่อยู่บนทางอีกมากมาย กลับเดินทางผ่านการเปลี่ยนผ่านมาได้โดยตลอด และยังเป็นที่พึ่งทางใจของผู้คนในทุกมิติของสื่อ

           ดังที่ท่านเล่าให้ฟังต่อมาในช่วงชีวิตที่เดินทางมาเรียนที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จนจบปริญญาโท และจำพรรษาที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร จนเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส และเลขานุการ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ในขณะนั้น ที่มุ่งทำงานสร้างพระสงฆ์เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกที่ตอบโจทย์สังคมและมีทางออกจากทุกปัญหาได้เป็นอย่างดี

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กับคณะสงฆ์กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ในขณะนั้น

           เบื้องหลังความมุ่งมั่นในมโนปณิธานของท่าน มีใครเป็นแรงบันดาลใจต่อมา… 

“ที่วัดสระเกศจะทำวัตร ๓ รอบ คือ ทำวัตรเช้า ตอน ๘ โมงเช้า ทำวัตรเย็น ตอน ๕ โมงเย็น และทำวัตรค่ำ เริ่มตั้งแต่ ๓ ทุ่มเสร็จอีกทีก็ราว ๔ ทุ่ม หลวงพ่อสมเด็จ (สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ลงทำวัตรค่ำร่วมกับพระเณรทุกคืน พระเณรในวัดหรือญาติโยมที่คุ้นเคยเป็นอันรู้กันว่า ใครมีอะไรก็ไปพบท่านเวลานั้น ทำวัตรเสร็จพระเณรก็เดินมาส่งท่านจนขึ้นกุฏิ วันไหนมีดอกไม้ มีพวงมาลัยที่โยมถวายมา ท่านก็จะแจกให้พระเณรไปไหว้พระที่ห้องของแต่ละรูป ส่งหลวงพ่อสมเด็จเข้ากุฏิเสร็จ ก็แยกย้ายกันกลับ 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

จากนั้น พระผู้ใหญ่ในสำนักมีงานสิ่งใดที่จะถวายรายงาน ก็มาในเวลานี้ พอดึก ราว ๕ ทุ่มเศษ ท่านก็ออกเดินตรวจรอบวัดไปตามคณะต่างๆ มีไฟฉายกระบอกหนึ่งก็ส่องไปเรื่อยตั้งแต่คณะ ๑ จนถึง คณะ ๑๗ จึงกลับเข้ากุฏิสวดมนต์ภาวนาส่วนตัวภายในห้องแล้วจำวัตร

ที่จำวัตรหลวงพ่อสมเด็จ ปูด้วยผ้าอาบน้ำผืนเดียว บนพื้นไม้ธรรมดา มีหมอนใบเดียว ห่มผ้าจีวร ท่านไม่ใช้ผ้าห่ม ต่อมาเมื่ออายุมากย่างเข้าสู่วัยชรา มีปัญหาที่กระดูกต้นคอ หมอให้นอนเตียง จะช่วยได้ ท่านก็ยังลงมาปูผ้าอาบน้ำนอนข้างๆ เตียง บอกว่า เคยนอนแบบนี้มา

“เหตุที่หลวงพ่อสมเด็จให้มีทำวัตรค่ำ ท่านให้เหตุผลว่า ก็เพื่อให้พระเณรที่ต้องทำงานได้มีโอกาสทำวัตรสวดมนต์ เนื่องจากพระเณรมีงานเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เวลากลางวัน บางรูปที่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ต้องไปเรียน บางรูปมีหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ ก็ต้องไปสอน บางรูปมีหน้าที่เกี่ยวของกับการบริหารคณะสงฆ์ กับบ้านเมือง และสังคมในส่วนอื่นๆ ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่หมุนไปในแต่ละวันตามแต่จะเกิดขึ้น และตัวท่านเองจะได้มีโอกาสพบพระเณรพร้อมหน้าพร้อมตากันในเวลานั้นด้วย

“วันแรกที่อาตมาเดินทางมาถึงวัดสระเกศฯ ในขณะที่ยังเป็นเณรยังไม่ได้เข้าไปกราบหลวงพ่อสมเด็จ ยังไม่รู้ที่ไหนเป็นที่ไหน ก็มีเหตุต้องให้พบท่านโดยบังเอิญ  ขณะที่ท่านกำลังเดินกลับจากทำวัตรค่ำ อาตมาเปิดประตูออกไปส่องๆ ดูนอกคณะซ้ายขวา แบบสงสัย พบท่านก็ตกใจ รนรานรีบปิดประตูเสียงดังปัง! ได้ยินเสียงหลวงพ่อทุ่มลึก หนักแน่น ดังมาว่า ใคร? ยิ่งกลัวใหญ่ หลบเข้าไปตัวสั่นอยู่ที่หลังประตู 

“ท่านให้พระที่เดินตามมาเรียกให้ออกไปพบ แล้วบอกว่า อย่ากลัวๆ คราวหลังเจอหลวงพ่อแล้วอย่าหนีนะ ต้องเข้ามาหา … ท่านคงเห็นท่าทางตื่นกลัว จึงพูดปลอบแล้วก็ถามที่มาที่ไป มาอยู่กับใคร ถามถึงสำนัก ถามถึงครูบาอาจารย์  ไม่นึกว่า คำว่า “ต้องเข้ามาหา” จะเป็นเหมือนพรแรกที่ได้รับจากหลวงพ่อสมเด็จ ทำให้ต้องมาสนองงานท่านในโอกาสต่อมา” 

ย่ามที่หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ มอบให้

จากนั้น ท่านก็ให้พระไปเอาผ้าไตรจีวร เอาย่ามมาให้ ย่ามที่รับจากหลวงพ่อสมเด็จ อาตมาใช้มาร่วม ๒๐ ปี ตั้งแต่เป็นสามเณร แม้บวชเป็นพระได้ย่ามใบใหม่มา ก็ยังใช้ใบเดิมของหลวงพ่อสมเด็จ พอด้ายยุ่ยปริขาดตรงไหนก็ใช้เข็มเย็บเอง ทุกวันนี้ย่ามใบนั้นอาตมาใส่พานตั้งไว้ที่หัวนอน เพื่อระลึกถึงเมตตาธรรมของท่าน

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๑๔ วันแรกที่พบหลวงพ่อสมเด็จฯ

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here