วันนี้วันพระ วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๖)

“ให้นิมิต คือลมหายใจเป็นเครื่องหมายของสติ”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ให้นิมิต คือลมหายใจเป็นเครื่องหมายของสติ

ที่จริง นิมิตเป็นอารมณ์พระกรรมฐาน เป็นเครื่องหมายให้จิตยึดให้เกิดความสงบ ให้จิตมีอารมณ์เดียว การทำสมาธิเป็นการหาหน้าที่ให้จิตทำ เมื่อจิตไม่มีหน้าที่ต้องทำ ต้องรับผิดชอบก็จะเลื่อนลอยไปเรื่อย เพื่อไม่ให้จิตเลื่อนลอยไร้หลัก ก็หาหน้าที่การงานให้จิตทำ ท่านเรียกว่า

“กรรมฐาน” คือหน้าที่การงานของจิต

พระอาจารย์ญาณวชิระ

ในที่นี้ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องหมายของสติ เมื่อรู้หน้าที่แล้วก็ทำหมุดหมาย ทำเครื่องหมายไว้เรียกว่า “นิมิต” เป็นเครื่องหมายแสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของจิต ตามที่ได้รับมอบหมาย ถ้าจิตเลื่อนลอยออกจากลมหายใจ ก็เรียกว่า “จิตเสียหน้าที่” ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ต้องเรียกจิตกลับมาฝึกฝนอบรมสั่งสอนใหม่ ไม่ให้จิตละทิ้งหน้าที่

การอบรมสั่งสอนให้จิตรู้หน้าที่อยู่บ่อยๆ เรียกว่า “ภาวนา”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

จนจิตเกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ขึ้นมาด้วยตัวเอง ดวงตาภายในก็เกิด ปัญญาก็เกิด ญาณก็เกิด วิชชาก็เกิด ความเบิกบานสว่างไสวอยู่ภายในก็เกิด ตรงตามบททำวัตรสวดมนต์ที่แปลกันว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นั่นแหละ

ในตอนแรกที่จิตกำหนดนิมิต จิตจะยังไม่สงบ กำหนดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ลุ่มๆ ดอนๆ แต่ก็เพียรพยายามฝึกฝนอบรม ภาวนาไป เรียกว่า “บริกรรมนิมิต” เป็นสมาธิอยู่ในขั้นต้น เป็นขณิกสมาธิ เป็นขั้นของการจัดเตรียมความพร้อม จัดหาเครื่องไม้เครื่องมือให้พร้อม เหมือนการทำกับข้าว ก็อยู่ในขั้นเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำกับข้าว เมื่อจิตเริ่มยึดลมหายใจไว้ได้ ก็เรียกว่า “อุคคหนิมิต” เป็นสมาธิขั้นกลาง เป็นอุปจารสมาธิ หากเปรียบการทำกับข้าวก็อยู่ในขั้นกำลังลงมือปรุงกับข้าว แต่เมื่อปฏิบัติจนจิตแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจ จิตเป็นลมหายใจ ลมหายใจเป็นจิต คลุกเคล้ากันเข้าแน่นก็เป็น “ปฏิภาคนิมิต”  สมาธิอยู่ในขั้นอัปปนาสมาธิ  หากเปรียบการทำกับข้าวก็อยู่ในขั้นปรุงกับข้าวเสร็จแล้ว

“ธรรมชาติของจิตจะออกไปหาอารมณ์

และอารมณ์ที่จิตออกไปหานั้น

จะเป็นทั้งอารมณ์ที่ชอบใจ

และไม่ชอบใจ

ซึ่งล้วนเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เพื่อป้องกันจิตออกไปหาอารมณ์ที่จะเป็นเหตุก่อทุกข์ จึงต้องใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ให้จิตยึด เป็นการตัดเสียแต่ต้นเหตุ เพื่อไม่ให้จิตไปยึดอารมณ์อื่นๆ มากมายหลายอย่าง ทั้งจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ เพื่อจำกัดกรอบให้แคบเข้า ให้จิตรับอารมณ์น้อยที่สุดแคบเข้ามาจนมีอารมณ์เดียวอยู่กับลมหายใจ

เมื่อเหตุแห่งทุกข์ถูกจำกัดขอบเขตการรับรู้อยู่แค่ลมหายใจ จิตก็ไม่เคลื่อนออกไปหาอารมณ์อื่น เมื่อเหตุถูกดับ ผลคือความทุกข์ก็ดับไปด้วย เหตุดับผลก็ดับ เหตุไม่มีผลก็ไม่มี เหตุไม่เกิดผลก็ไม่เกิด

“ลมหายใจจึงเป็นนิมิต

เป็นเครื่องหมายในการทำหน้าที่รู้อารมณ์ของจิต

นิมิตในความมุ่งหมายทางปฏิบัติ

จึงเป็นเครื่องหมายให้จิตกำหนด”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

แต่เมื่อกำหนดจนจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเครื่องหมาย นิมิตคือลมหายใจก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามการปรุงแต่งของจิต จากลมหายใจหยาบเป็นลมหายใจละเอียด ตามความหยาบและละเอียดของจิต หรือตามความสงบระงับของจิต จนจิตละวางนิมิต เพราะมีความสงบเด่นชัดขึ้นมาแทน จิตก็ปรุงแต่งไปเป็นลมหายใจขาดหายไป จนเหมือนไม่หายใจ แต่ความจริงจิตละวางลมหายใจไปยึดความสงบเป็นอารมณ์แทน เพราะขณะนั้น ความสงบเด่นชัดขึ้นมาเหนือลมหายใจ สภาวะใดเด่นชัด จิตจะยึดสภาวะนั้นเป็นอารมณ์ พอจิตยึดอารมณ์กรรมฐานได้ ก็หมายความว่านิมิตในพระกรรมฐานปรากฏชัดขึ้นมา

อารมณ์พระกรรมฐานทุกชนิดเป็นนิมิตของจิต ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจเข้าออก พุทโธ พองหนอยุบหนอ สัมมาอรหัง และการเคลื่อนไหว เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ปฏิบัติได้ใช้อะไรเป็นนิมิตของอารมณ์พระกรรมฐาน

“ดังนั้น นิมิตก็คืออารมณ์พระกรรมฐาน

ที่ใช้เป็นเครื่องหมาย

ให้จิตกำหนดในการปฏิบัติสมาธิ”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

แต่เมื่อนิมิต ซึ่งเป็นเครื่องหมายให้จิตกำหนด ถูกนำมาอธิบายถึงสภาวะจิตขณะเกิดความสงบ ก็ทำให้คำว่า “นิมิต” ถูกอธิบายความออกไปในทางแสดงออกถึงความดูเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ขึ้นมา  ทั้งที่นิมิตเป็นเพียงคำที่ใช้เพื่อสื่อความหมายให้รู้ว่า เป็นสิ่งให้จิตยึดเพื่อนำไปสู่ความสงบเป็นเอกภาพภายในเท่านั้น

ความมุ่งหมายที่แท้จริงของนิมิต จึงเป็นเพียงอารมณ์พระกรรมฐานแต่ละชนิด ในบรรดาพระกรรมฐาน ๔๐ กอง มีการกำหนดรู้ลมหายใจ เป็นต้น และเมื่อกำหนดนิมิตในพระกรรมฐานจนเกิดความสงบเป็นปัสสัทธิ อาการต่างๆ ที่เป็นผลมาจากความสงบก็จะเกิดตามมา อาการนั้นก็จะถูกเรียกรวมเข้าไปในนิมิตด้วย

ต่อมา นิมิตในความหมายดั้งเดิมก็เลือนหายไป และถูกแทนที่ด้วยคำอธิบายตามสภาวะธรรมที่ปรากฏว่า นิมิต

เมื่อจิตยึดนิมิต คือลมหายใจไว้ได้ ลมหายใจก็จะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบต่างๆ ตามความละเอียดของจิต ซึ่งเกิดจากการปรุงแต่งที่จิตสังขารขึ้น เป็นผลมาจากความสงบ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสมาธิ ไม่ใช่สิ่งอัศจรรย์ หรือสิ่งวิเศษวิเสโสตามที่จิตปรุงแต่ง พอยึดถือนิมิตว่าเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ เกิดความยินดีไป จิตที่ละเอียดมากอยู่แล้วก็ปรุงแต่งต่อเร็ว โดยไม่มีสติมาคอยกำกับตัดทอนให้ขาดตอน ภาวะนี้เรียกว่า อวิชชา หรือ โมหะ

  “เพราะไม่มีสติจึงไม่รู้

เพราะไม่รู้จึงหลงลืมสติไป

การเตือนจิตให้กลับมามีสติระลึกรู้

ด้วยคำว่า “รู้ๆๆ”

หรือ “รู้หนอๆๆ”

จึงเป็นการตัดการปรุงแต่งของจิต

ให้ขาดตอนลงด้วยความรู้

ที่เป็นปัจจุบันขณะ 

ไม่ปล่อยให้จิตเลื่อนไหลออกไปยินดี

ตามสิ่งที่จิตสังขารปรุงแต่งขึ้นมา”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เมื่อจิตเลื่อนไหลออกจากนิมิต คือ ลมหายใจ ก็จะรู้ว่าจิตเลื่อนไหลออกจากลมหายใจ เมื่อจิตสังขารและกำลังยึดในสิ่งที่จิตสังขารก็จะรู้  เมื่อจิตเลื่อนไหลออกจากลมหายใจเป็นจิตหดหู่ จิตเศร้าหมอง จิตดีใจ จิตเสียใจ ก็จะรู้ เมื่อรู้อยู่ตลอด จิตก็เป็นปัจจุบันขณะ จิตสังขารนิมิตก็จะไม่มีโอกาสแทรกเข้ามา

“นิมิต คือลมหายใจ

ก็จะเป็นเพียงสิ่งที่มีไว้

เพื่อให้สติระลึกรู้ปัจจุบันขณะ

ไม่ใช่มีไว้เพื่อให้ตัณหา

และทิฏฐิเข้าไปอิงอาศัย

เป็นฐานให้จิตสังขารจินตนาการ

ไปตามอำนาจของกิเลส

แล้วชักจูงผู้ปฏิบัติ

ให้หลงยึดมั่นถือมั่นติดข้องอยู่”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๖) “ให้นิมิต คือลมหายใจเป็นเครื่องหมายของสติ” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here