ขอน้อมถวาย

ผลงานนี้ไว้ในพระพุทธศาสนา

เพื่อเป็นพุทธบูชา

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา
พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง พุทโธ ปะกิคัณหาตุ อัจจะยันตัง กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ฯ

หากจะมีกรรมอันน่าติเตียนใด ที่ข้าพเจ้าได้ทำผิดพลาดไว้ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงยกโทษล่วงเกินนั้น เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีความสำรวมระวัง ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลต่อไปฯ

ญาณวชิระ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

การบำเพ็ญบารมีสิบชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

เขียนโดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

คำนำผู้เขียน

ทศชาติ เป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญบารมี เพื่อบรรลุพระโพธิญาณ และเป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่ชาวโลก ไม่เฉพาะแต่คนไทยรู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง บรรพบุรุษไทยในอดีต ได้นำทศชาติมาเขียนเป็นจิตกรรมฝาผนังพระอุโบสถตามวัดต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานได้ศึกษาเส้นทางชีวิตมหาบุรุษ ผู้ที่จะเกิดมาเป็นพระศาสดาเอกของโลกหลายปีมาแล้ว ผู้เขียนชอบเข้าไปนั่งในพระอุโบสถ ดูภาพจิตกรรมฝาผนัง วันแล้ววันเล่าไม่รู้จักอิ่ม ความงดงามของภาพจิตรกรรม ดึงผู้เขียนให้จมลึกลงไปสู่เหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตตามภาพจิตรกรรม ทั้งงดงามและอิ่มเอิบ

ค่ำคืนวันหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้ปรารภถึงเรื่องอยากให้มีหนังสือทศชาติที่อ่านง่าย และเหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน พร้อมกับส่งหนังสือให้เล่มหนึ่ง วันเวลาล่วงเลยมาจนถึงจนถึงต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ผู้เขียนเริ่มเปิดพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกอ่าน แล้วผู้เขียนก็จมหายไปกับเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าบางเรื่องราวดูเจ็บปวดหนักหน่วงในชีวิตมนุษย์ จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีชีวิตเช่นนี้อยู่จริงบนโลก

บางเรื่องราวดูงดงาม บางเรื่องราวดูเหงาเศร้า แต่ทั้งหมดก็เต็มไปด้วยพลังแห่งความเพียรพยายามของมหาบุรุษเอกของโลก พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์โดยเลือดเนื้อและชีวิตอย่างมนุษย์ทั่วไป แต่ทรงสูงส่งยิ่งด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ เหนือมนุษย์และเทวดาทุกผู้ทุกนาม ผู้เขียนพยายามเก็บความจากพระไตรปิฎก และอรรถกถาให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วนำมาจัดเรียงหัวข้อใหม่ เพื่อให้น่าสนใจและชวนติดตามมากขึ้น โดยได้เชื่อมโยมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลไว้ด้วย

นอกจากนั้น ยังได้นำแผนที่แสดงที่ตั้งเมืองต่างๆ ในชมพูทวีปและสุวรรณภูมิสมัยโบราณมาประกอบไว้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น บางเมืองในชาดกยังมีชื่อปรากฏอยู่ในสมัยพุทธกาล บางเมืองได้เปลี่ยนชื่อไปหลายชื่อ แต่บางเมืองก็ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา บางเรื่องบางเหตุการณ์ในทศชาติ อาจดูเป็นเรื่องเกินจริงสำหรับชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง แต่หากพิจารณาให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าว มีโอกาสเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ได้เสมอ.

ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๑) พระเตมีย์ : เนกขัมมบารมี (ตอนที่ ๓) “ถูกนำไปฝังทั้งเป็น” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ถูกนำไปฝังทั้งเป็น

พระราชาตรัสถามพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะว่า “เมื่อแรกที่ลูกเราเกิด พวกท่านบอกเราว่า พระกุมารสมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะอันประเสริฐ อันตรายนานาประการไม่สามารถแผ้วพานพระกุมารได้ บัดนี้พระกุมารเป็นง่อยเปลี้ย เป็นใบ้ ทั้งหูหนวก พวกท่านจะว่าอย่างไร

พวกพราหมณ์ เห็นการณ์ผิดไปจากนิมิตที่ตนทำนายไว้เช่นนั้น เกรงราชทัณฑ์จึงกราบทูลแก้ว่า “พระอาญามิพ้นเกล้า พวกข้าพระองค์ทราบนิมิตทั้งหลายจนหมดสิ้น แต่เพราะพระกุมารนี้เป็นโอรสที่ราชตระกูลปรารถนาจึงได้มา เมื่อพวกข้าพระองค์กราบทูลว่าเป็นกาลกิณีตั้งแต่แรกประสูติ พระองค์จะเสียใจ เพราะเหตุนั้น พวกข้าพระองค์จึงไม่กราบทูลให้ทรงทราบตั้งแต่แรก”

พระราชาตรัสถามเหล่าพราหมณ์ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป พวกพราหมณ์สบโอกาสจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถ้าพระกุมารยังอยู่ในราชมณเฑียรต่อไป จะประสบเคราะห์กรรมอย่างร้ายแรงถึง ๓ ประการด้วยกัน คือ พระองค์จะถึงแก่ชีวิต เศวตฉัตรจะถึงกาลล่มสลาย และพระอัครมเหสีจะถึงแก่ชีวิต ควรที่พระองค์จะชักช้าไม่ได้ ขอได้โปรดเตรียมรถอวมงคล เทียมด้วยม้าอวมงคล นำพระราชกุมารบรรทมบนรถอวมงคลออกทางประตูทิศตะวันตกไปฝังเสียในป่าช้าผีดิบ”

พระเจ้ากาสิกราชสดับเช่นนั้น เหมือนพระหฤทัยจะแตกสลาย แม้จะสงสารลูก แต่ก็ทรงหวาดกลัวภยันตรายที่จะเกิดขึ้น จึงมีบัญชาให้นำพระโอรสไปฝังตามคำของพราหมณ์

พระมารดาทราบดังนั้น จึงรีบเสด็จเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลทวงขอพรที่เคยฝากไว้คืน พระราชาให้เลือกขอพรได้ตามปรารถนา พระนางกราบทูลขอราชสมบัติให้พระราชโอรส พระราชาไม่ทรงยินยอม พระเทวีทูลถามถึงสาเหตุที่ไม่ทรงยินยอม

พระราชาตรัสว่า “ลูกของเราเป็นกาลกิณี”

พระนางทูลว่า “ถ้าไม่พระราชทานตลอดชีวิต ก็ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติ ๗ ปี “

พระราชาไม่ทรงยินยอม พระเทวีได้ขอให้ครองราชสมบัติลดลงตามลำดับจาก ๖ ปี จนถึง ๑ ปี พระราชาก็ไม่ทรงยินยอม จึงทูลขอลดลงจาก ๗ เดือน จนถึง ๑ เดือน แม้เช่นนั้น พระราชาก็ไม่ทรงยินยอม พระเทวีจึงทูลขอเพียง ๗ วัน พระราชาจึงทรงยินยอม

พระราชาอนุญาตให้ประดับตกแต่งพระโอรสแล้ว ประกอบพิธีราชาภิเษก ป่าวประกาศไปทั่วพระนครว่า “ราชสมบัตินี้เป็นของพระเตมีย์ ราชกุมาร ” ให้ประดับทั่วทั้งพระนคร นำพระโอรสประทับบนคชาธาร ยกเศวตฉัตรขึ้นเหนือพระเศียร จัดริ้วขบวนแห่ทำประทักษิณรอบพระนคร ครั้นเสร็จพิธีราชาภิเษกแล้ว ให้พระโอรสบรรทมบนพระยี่ภู่อันมีสิริ

พระราชมารดาตรัสวิงวอนตลอด ๕ วัน ๕ คืนว่า

“เตมีย์ลูกแม่ แม่ไม่เป็นอันหลับนอนร้องไห้มาตลอด ๑๖ ปี เพราะลูก ตาของแม่ทั้งสองฟกช้ำ หัวใจแม่เจ็บปวดเพราะความทุกข์โศก แม่รู้ว่าลูกไม่ใช่คนง่อยเปลี้ย ลูกอย่าทำให้แม่ไร้ที่พึ่งเช่นนี้เลย

“ครั้นถึงวันที่ ๖ ที่ลูกครองราชสมบัติ พระราชารับสั่งนายสารถีชื่อ สุนันทะ ว่า “สุนันทะ พรุ่งนี้ จงเทียมม้าอวมงคลที่รถอวมงคลแต่เช้าตรู่ นำลูกเราออกจากพระนครไปทางประตูทิศตะวันตก ประกาศให้ผู้คนทั้งหลายทราบว่า คนกาลกิณีจะไปป่าช้าผีดิบ จงขุดหลุมฝังลูกเราที่ป่าช้าผีดิบนั้น

“พรุ่งนี้เช้าลูกจะถูกนำไปฆ่าแล้วนะลูก แม่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร”

พระเตมีย์ได้ยินเช่นนั้น กลับมีจิตใจแช่มชื่นว่า

“เตมีย์ ความพยายามที่เจ้าทำมาตลอด ๑๖ ปี จะถึงที่สุดแห่งความหวังในวันพรุ่งนี้แล้ว”

เมื่อพระโพธิสัตว์ดำริอยู่อย่างนี้ ก็เกิดปีติเอิบอิ่มขึ้นภายในใจอย่างประหลาด แต่พระมารดากลับระทมทุกข์เจ็บปวดเหมือนใจจะขาด แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระโพธิสัตว์ก็ทรงดำริว่า

“ถ้าพูดอะไรออกไปตอนนี้ ความตั้งใจของเราจะไม่สัมฤทธิ์ผล ”

จึงไม่ยอมตรัสอะไรกับพระชนนีเลย

ราตรีนั้นผ่านไปอย่างเงียบเหงาจนรุ่งเช้า พระเทวีสงสนานพระโอรส ประดับตกแต่งแล้วให้โอรสประทับนั่งบนพระเพลา ทรงสวมกอดพระโอรสไว้แนบอกร้องไห้ปิ่มจะขาดใจ ทรงหวาดกลัวพระอาทิตย์ที่กำลังสาดแสงจับขอบฟ้าด้านทิศตะวันตก

เช้าวันนั้น นายสารถีลุกขึ้นเทียมรถแต่เช้าตรู่ ด้วยบารมีพระโพธิสัตว์ เทวดาที่สถิตอยู่ในราชมณเฑียรดลใจให้นายสารถีนั่งรถมงคลที่เทียมด้วยม้ามงคล ขับออกมาหยุดอยู่ที่ประตูพระราชนิเวศน์เข้าสู่ห้องบรรทมพระกุมาร ถวายบังคมพระเทวีแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระเทวี ขอพระองค์อย่าได้กริ้วข้าพระองค์เลย ข้าพระองค์รับพระราชบัญชามา จึงต้องทำตามรับสั่ง” กราบทูลดังนี้แล้ว เอามือกันพระเทวีซึ่งนั่งร้องไห้สวมกอดพระโอรสอยู่ให้ถอยห่างออกไป อุ้มพระกุมารลงจากปราสาท

พระนางจันทาเทวีทรงสยายพระเกศา ทุบอก ปริเทวนาการ ร้องไห้คร่ำครวญเจียนใจจะขาด ท่ามกลางความเศร้าสลดของนางสนมในปราสาท

พระเตมีย์ทอดพระเนตรเห็นพระมารดาร้องไห้เหมือนพระทัยจะแตกสลาย ก็ทรงดำริว่า เมื่อไม่พูด พระชนนีจะต้องอกแตกตาย จึงประสงค์จะพูดด้วย แต่ทรงดำริต่อไปว่า

ถ้าเราพูดกับพระชนนี ความพยายามที่ทำมาตลอด ๑๖ ปี ก็เปล่าประโยชน์ เมื่อไม่พูดก็จะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่พระชนก พระชนนี และแก่มหาชนเป็นอันมาก

ดำริเช่นนี้แล้วสู้อดกลั้นความโศกไว้ ไม่ตรัสอะไรกับพระชนนี

นายสุนันทสารถีนำพระราชกุมารขึ้นรถแล้ว ตั้งใจจะขับรถตรงไปประตูทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งป่าช้าผีดิบ แต่ถูกเทวดาดลใจให้ขับรถตรงไปประตูทิศตะวันออก

ครั้นล้อรถกระทบธรณีประตูนอกพระนคร พระโพธิสัตว์สดับเสียงนั้นแล้วทรงดำริว่า ความปรารถนาของพระองค์สัมฤทธิ์ผลแล้ว เกิดแช่มชื่นเบิกบานใจอย่างประหลาด รถแล่นออกจากพระนครผ่านชุมชน ท้องนา ป่าเขาไปไกล ล่วงเข้าสู่ราวป่าใหญ่อันรกชัฎแห่งหนึ่ง นายสารถีกลับรู้สึกไปว่าเป็นป่าช้าผีดิบ พิจารณาดูเห็นว่า ที่นี่เหมาะ จึงหยุดรถเปลื้องเครื่องทรงแต่งองค์พระราชกุมารออกห่อวางไว้ใกล้ราชรถ แล้วลงมือขุดหลุมไม่ห่างไกลจากราชรถนัก

พระเตมีย์ดำริว่า

“เราไม่ได้ขยับเนื้อขยับตัวมาเป็นเวลานานถึง ๑๖ ปี เรายังมีกำลังอยู่หรือเปล่า”

จึงทดลองลุกขึ้นเอาพระหัตถ์ขวาลูบพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ซ้ายลูบพระหัตถ์ขวา แล้วนวดพระบาททั้งสองข้าง ทรงคิดจะลงจากราชรถ แผ่นดินก็กลับสูงขึ้นเสมอท้ายราชรถจนเกยพระบาท

พระเตมีย์เสด็จลงจากราชรถ เดินกลับไปกลับมาครู่หนึ่ง ก็ทรงสัมผัสได้ถึงพละกำลังที่เต็มเปี่ยมสามารถเดินได้ไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ภายในวันเดียว เมื่อทรงพิจารณาต่อไปว่า หากนายสารถีทำร้ายจะมีกำลังพอที่จะสู้ได้หรือไม่ จึงทดลองจับท้ายรถแล้วยกขึ้นกวัดแกว่งไปมาเหนือพระเศียร เหมือนยกรถเด็กเล่น ครั้งทรงพิจารณาเห็นว่าพระองค์มีกำลังพอจะสู้กับนายสารถีได้ จึงประสงค์จะได้เครื่องประดับองค์

ท้าวสักกเทวราชทราบความประสงค์ ได้ให้วิสสุกรรมเทพบุตรนำเครื่องประดับทิพย์ไปประดับพระโพธิสัตว์ โพกพระเศียรด้วยผ้าทิพย์เหมือท้าวสักกเทวราช

พระเตมีย์เสด็จไปยืนใกล้หลุมที่นายสารถีกำลังขุดอยู่ ตรัสถามว่า

“นายสารถี ท่านก้มหน้าก้มตาขุดหลุมนี้ทำไม ท่านจะใช้หลุมทำอะไร”

นายสารถีได้ยินเสียงคนทักอยู่ไม่ไกล แต่ก็มิได้เงยหน้าขึ้นดูยังคงขุดหลุมต่อไป พลางตอบว่า

“พระโอรสของพระราชาเรา เป็นใบ้ หูหนวก ง่อยเปลี้ย เหมือนคนไม่มีจิตใจ พระราชารับสั่งให้เรานำมาฝังในป่าช้าผีดิบนี้

พระเตมีย์ตรัสว่า

“นายสารถี พระราชาสั่งให้ท่านฝังพระโอรสผู้เป็นใบ้ หูหนวก ง่อยเปลี้ย แต่เราไม่ใช่คนหูหนวก ไม่ใช่คนเป็นใบ้ ง่อยเปลี้ย และไม่มีอวัยวะพิกลพิการแต่อย่างไร ถ้าท่านฝังเราผู้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ท่านก็ทำในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม”

พระ เตมีย์เห็นนายสารถี แม้ฟังคำนั้นแล้วก็ยังไม่มองดูพระองค์ ยังคงก้มกน้าก้มตาขุดหลุมต่อไป ทรงประสงค์จะให้นายสารถีทราบว่า พระองค์ คือ พระเตมีย์ไม่ได้หูหนวก ไม่ได้เป็นใบ้ ไม่ได้ง่อยเปลี้ย จึงตรัสว่า

“นายสารถี หากคิดว่าเราง่อยเปลี้ยก็จงดูขาทั้งสองข้างของเราสิ เป็นเหมือนลำกล้วยทองคำ แม้แขนทั้งสองข้างของเรา ก็มีผิวพรรณดังใบกล้วยทองคำ ได้ยินคำอันไพเราะเราไหม เมื่อท่านเห็นแล้ว ยังใจดำฝังเราได้ ท่านก็ทำในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม”

นายสารถีคิดว่า ใครกันนี่ พอมาถึงก็ยกยอปอปั้นตนเองอยู่ได้ จึงหยุดขุดหลุมเงยหน้าขึ้นดู ได้เห็นรูปร่างพระโพธิสัตว์ เกิดประหลาดใจ ไม่ทราบว่าชายผู้นี้เป็นมนุษย์หรือเทวดา จึงถามว่า “ท่านเป็นใครกัน เป็นเทวดา คนธรรพ์ หรือพระอินทร์ ท่านเป็นลูกเต้าเหล่าใคร จึงมายืนยกยอปอปั้นตนเองอยู่เช่นนี้”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่พระอินทร์แต่อย่างไร เราเป็นโอรสพระเจ้ากาสิกราชที่ท่านกำลังขุดหลุมฝัง เป็นโอรสของพระราชาที่ท่านพึ่งพระบารมีเลี้ยงชีพอยู่ในเวลานี้

จงฟังเราเถิดนายสารถี ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ผู้ใดอาศัยนั่ง หรือนอนใต้ร่มไม้ ไม่ควรหักรานกิ่งต้นไม้นั้น เพราะเขาผู้นั้นจะได้ชื่อว่าเป็นคนเนรคุณมิตร เป็นคนหยาบช้า พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราผู้เป็นโอรสเป็นเหมือนกิ่งไม้ ส่วนท่านเล่า เป็นเหมือนคนอาศัยร่มไม้ ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม”

ถึงแม้พระโพธิสัตว์จะตรัสอย่างนี้ นายสารถีก็ยังไม่เชื่อว่า พระองค์ คือ พระเตมีย์กุมาร แต่เพราะถ้อยคำพระโพธิสัตว์อ่อนโยนไพเราะจับใจ จึงทำให้นายสารถียืนฟังอยู่

(โปรดติดตามตอนต่อไป …”ประกาศคาถาว่าด้วยน้ำใจมิตร”)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) /ที่ปรึกษา : พระพรหมสุธี ,พระธรรมสิทธินายก, พระราชปัญญาโสภณ, พระสิทธิธรรมธาดา , พระครูอรรถเมธี, พระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์ / ภาพประกอบ-แบบปก : ทวิช สังข์อยู่ /จิตกรรมฝาผนัง : พระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ /จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ คณะ ๗ /ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ฉบับธรรมทาน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here