บัณฑิตน้อยซึมซับบทเรียนชีวิตล้ำค่า …เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๖” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

0
3503

เมื่อบุญบวชมาถึง อะไรๆ ก็ห้ามไม่อยู่

วันพืชมงคล ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล วันที่เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงมีอายุได้ ๗ ชันษา ทรงปลีกวิเวกไปนั่งทำสมาธิที้ใต้ต้นหว้า จนพบความสงบอันนุ่นนวลอ่อนโยนในฌาณที่ ๑ จิตใจพระองค์เปิดกว้าง ปัญญาก็ปรากฎ ทรงเห็นการเกิดของสรรพชีวิต เห็นความเชื่อมโยงของชีวิตน้อยใหญ่ในแผ่นดิน พระองค์ทรงสงสัยว่า สัตว์เล็กใหญ่กับตัวเรา ต่างเชื่อมโยมเกี่ยวพันกันอย่างไร …การทำสมาธิใต้ต้หว้าในวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในวันนั้น กว่า ๒๖๐๐ กว่าปีมาแล้ว อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทในวันวิสาขบูชาในเวลาต่อมาหลังจากนั้นอีก ๒๘ ปี …

เรียนรู้ชีวิตสามเณรน้อยเบื้องหลังรายการเรียลิตี้ “สามเณรปลูกปัญญาธรรม” ปีที่ ๖ กับช่วงเวลาอันล้ำค่าของบัณฑิตน้อยที่ได้ฝึกตนตามรอยพระพุทธองค์ในวัยเยาว์ กับ พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท หนึ่งในคณะพระวิทยากรกลุ่มเพื่อชีวิตที่ดีงาม เล่าเรื่องย้อนเวลาหาอดีตในวันแห่งการเปลี่ยนผ่านตลอดหนึ่งเดือนที่ทำให้เณรน้อยซึมซับบทเรียนของการฝึกตนในวิถีบรรพชิต ที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างยอดเยี่ยม

บัณฑิตน้อยซึมซับบทเรียนชีวิตล้ำค่า …

เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๖

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

ขอขอบคุณ ภาพจาก fbสามเณรทรูปลูกปัญญา
ขอขอบคุณ ภาพจาก fb สามเณรทรูปลูกปัญญา

บัณฑิตน้อยซึมซับบทเรียนชีวิตล้ำค่า

เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๖”

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

           ครั้งที่แล้วได้เล่าถึงเรื่อง ห้วงเวลาของการพัฒนาตน เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๕” ห้องเรียนธรรมะถ่ายทอดสดเรียลิตี้สัญจรสู่วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี สำหรับโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๖ ก็ยังสัญจรมาอยู่ที่เดิม ขอเล่าให้ถึงเบื้องหลังบางแง่มุมของบัณฑิตน้อยผู้บวชเรียนซึบซับบทเรียนชีวิตอันล้ำค่า

ผ่านกระบวนการเรียนการสอน เรียนรู้วิถีชีวิตของความเป็นสามเณรภายใต้แนวคิด “รักตน-รักคน-รักโลก-รักจักรวาล” เพื่อค้นหาและเข้าใจความหมายที่แท้จริงของ “ความรักจักรวาล” ตลอดเวลา ๑ เดือนเต็ม เยาวชนที่ถูกคัดเลือกมาทั้ง ๑๒ คนต่างมีบุคลิกที่แตกต่างกันเรียกได้ว่า ๑๒ คาแรคเตอร์

ขอขอบคุณ ภาพจาก fb สามเณรปลูกปัญญาธรรม

ขอพูดถึงเยาวชนผู้ถูกคัดเลือกเข้ามาบวชนิดหนึ่ง รุ่นนี้มีความพิเศษอยู่ หรืออาจจะบอกว่า บุญบวชมาถึงก็ได้ หนึ่งในสิบสองคน คนหนึ่งตอนเด็กๆ พ่อเคยพาขับรถเข้ามาในวัดเขาวง แล้วก็เจอหลวงตา พระครูภาวนาพิลาส พระอาจารย์ใหญ่โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๖ อยู่ๆเด็กก็พูดกับหลวงตาว่า “หลวงตาครับ โตขึ้นผมจะมาบวชเป็นลูกศิษย์หลวงตา”

ผ่านไป ๕-๖ ปีแล้วก็ถูกคัดเลือกมาบวชที่วัดเขาวงที่เคยสัญญากับหลวงตาไว้ ดูเหมือนว่าโลกนี้ไม่มีความบังเอิญ มีแต่ความตั้งใจที่ตรงกัน และอีกคนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นน้องเล็ก พี่สมัครเข้าบวชในโครงการ แล้วน้องก็ไปดูพี่เข้าค่ายคัดเลือกสมัครบวช แต่บุญของน้องเต็มบริบูรณ์ บุญบวชมาถึง พี่ทีมงานเห็นแววก็เลยถามว่า อยากบวชไหม พี่ก็เลยต้องเสียสละให้น้องได้บวชแทน อย่างนี้ไม่เรียกว่าบุญบวชมาถึงจะเรียกว่าอะไร

เมื่อกล่าวถึงการมาอยู่ร่วมกันไม่ต้องห่วง มีความวุ่นวายเกิดขึ้นแน่นอน ตามประสาของเด็กๆ บางรูปก็ร้องไห้กลับบ้าน บางรูปก็ยังไม่คุ้นชินกับวิถีของการเป็นสามเณร จำวัดดึกตื่นเช้า ทำวัตรสวดมนต์ บิณฑบาต ทำกิจวัตรประจำวัน คงไม่ได้สบายเหมือนเด็กๆ ทั่วไป หน้าที่ของพระวิทยากร พระอาจารย์พี่เลี้ยงจะทำอย่างไรให้สามเณรเข้าใจบทเรียนเรื่องรักตน รักคน รักโลก เป้าหมายคือความรักจักวาล

 การที่จะให้สามเณรได้เข้าใจว่า “โลกทั้งผองเราคือพี่น้องกัน” แท้จริงแล้วคนทุกคนคือคนๆเดียวกัน สรรพสิ่งบทโลกนี้เกี่ยวข้องกัน อิงอาศัยซึ่งกันและกัน สิ่งมีชีวิต ต้นไม้ ใบหญ้าทุกต้น คนทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกันและกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถ่ายทอดให้สามเณรได้เข้าใจ

 กระบวนการเรียนการสอน ไม่ได้สอนด้วยตำรา ทฤษฎีอย่างเดียว แต่สอนด้วยการพาลงมือปฏิบัติจริง การเรียนการสอน เรียนรู้ผ่านผัสสะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส ใจรับรู้

พระอาจารย์ทุกรูปเชื่อว่า ทุกคนสามารถพัฒนาได้ ทุกคนสามารถจะเข้าใจและไปถึงความรักจักรวาลได้ เพียงแต่อาศัยกาลเวลา ความรัก ความเมตตา ความเข้าใจ เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น แล้วค่อยๆปรับไปทีละเรื่องๆ และที่สำคัญความอดทน ในฐานะผู้สอน ในฐานะของความเป็นครู ครูที่ดีต้องมองหาความดีของศิษย์ให้เจอ

ห้วงเวลา ๑ เดือนคงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการใช้ธรรมะมาพัฒนาตนเองของเหล่าสามเณรในการบวชครั้งนี้หลายคนคงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของเหล่าสามเณร แต่คงดีที่สุดเท่าที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเราคาดหวังว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ อาจจะผิดหวัง  ถ้าไม่คาดหวังก็ไม่ผิดหวัง ธรรมะจะดีขนาดไหน ถ้าเขาไม่เปิดใจรับนำไปปฏิบัติก็เปล่าประโยชน์ เหมือนเรามียาดีที่สุด แต่ถ้ายาไม่ถูกโรค หรือไม่ได้รับประทานโรคก็ไม่หาย

บทเรียนอันสำคัญยิ่งในการพัฒนาตน ในกระบวนการฝึกตน มีทั้งการชม การให้กำลังใจ การพูดดี การใช้ไม้อ่อน การใช้ไม้แข็ง การให้ความรัก ความเมตตา ก่อนให้ความรู้ เรียกได้ว่าทำทุกอย่าง เพื่อให้เหล่าสามเณรได้มีสติดูแลใจ มีสติดูแลตัวเอง ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้

ของขอบคุณ ภาพจาก fb สามเณรปลูกปัญญาธรรม

ผู้เขียนขอยกบทสนทนาระหว่างพระอาจารย์กับสามเณรรูปหนึ่งมาแบ่งปัน พระอาจารย์ถาม สามเณรตอบ เป็นการเล่าสู่กันฟัง

           “ประทับใจอะไรในการบวช”

“ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงแค่ผมที่ได้เพื่อน ครอบครัวผมด้วย เป็นการสร้างความเป็นญาติ จากครอบครัวหนึ่งไปสู่ครอบครัวหนึ่ง ต่อๆกันไป”

         “ความตั้งใจในการบวช”

“ได้ทำบุญให้พ่อแม่”

         “สิ่งที่ยากที่สุดในการบวช”

“เวลาตักเตือนเพื่อนๆ แล้วเพื่อนไม่ฟัง แต่ผมก็เข้าใจนะในสิ่งที่เขาเป็น เพราะตอนเด็กก็เคยเป็น ทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ไม่เคยย่อท้อในการที่จะตักเตือน รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”

           “สิ่งที่จะนำไปปรับใช้หลังจากลาสิกขา”

“จะทำสมาธิ ให้มีสมาธิในการเรียน จะสอนเพื่อนในการนั่งสมาธิ การสร้างจังหวะ ๑๔ จังหวะ”

           “คิดว่าการบวชได้พัฒนาตนเองเรื่องอะไร”

 “การมีสมาธิ สติ เป็นสามเณรแล้วไม่สามารถทำเหมือนโยมได้”

           “ธุดงค์เป็นอย่างไรบ้าง”

“ผมมีความประทับใจในช่วงของการเดินจงกรม ผมมองไปที่เทียนแล้วทำให้ผมได้คิด ผมคิดว่า เทียน ไส้เทียนเปรียบเสมือนชีวิตของครู ที่คอยเผาผลาญตัวเองและให้แสงสว่างกับลูกศิษย์ เปลวไฟเหมือนความรู้ น้ำตาเทียนเป็นเชื้อให้ไฟลุกไหม้ก็เหมือนกับนักเรียนที่ตั้งใจ น้ำตาเทียนที่ไหลออกมาก็เหมือนนักเรียนที่ไม่ตั้งใจ”

“ถ้าเราเป็นต้นไม้จะผลิบานความดีสักอย่างหนึ่ง จะผลิบานอะไร”

“ผมจะเลี้ยงหัวใจพ่อแม่ ด้วยการเป็นเด็กดีครับ”


ของขอบคุณ ภาพจาก fb สามเณรปลูกปัญญาธรรม

และขอเล่าถึงเนื้อหาบางส่วนของบทบรรยายธรรมของสามเณรรูปหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากการที่พระอาจารย์ท่านถามตอบพูดคุยแล้วก็เรียบเรียงออกมา ซึ่งสามเณรใช้เป็นบทบรรยายธรรมในวันลาสิกขา

“ถ้าพ่อกับแม่ไม่ทำหน้าที่ ลูกๆ ก็ลำบาก และถ้าลูกๆ ไม่ทำหน้าที่ พ่อกับแม่ก็ลำบาก เช่นกัน”

ในขณะที่ผู้เขียนนั่งฟัง ก็สัมผัสได้ถึงการที่ลูกคนหนึ่งมีความรู้สึกอยากจะบอกพ่อแม่ ซึ่งเป็นการฟังบรรยายธรรมรูปเดียวในจำนวน ๑๒ รูป ที่ฟังแล้วน้ำตาไหลออกมา เป็นความตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก ความรู้สึกเสียงบรรยายมันอินเข้าไปในใจ หลับตาแล้วนึกตามเสียง เป็นอะไรที่ซึ้งมาก

ยิ่งในช่วงสุดท้ายของการบรรยายธรรมเนื้อความที่สามเณรได้สารภาพกับหลวงตาว่า ตัวเองได้อธิษฐานใจขอกลับมาบวชกับหลวงตาอีกว่า “หลวงตาครับ ผมได้อธิษฐานในใจกับหลวงตาว่า ถ้าผมจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้ว ผมจะมาบวชเป็นลูกศิษย์หลวงตาอีก”

ความประทับใจในวันแรกของการบวชของเหล่าสามเณร คือ ได้เห็นพิธีกรอาจารย์อุทัย มูลแก้ว จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่สามเณรรูปหนึ่งมีหน้าเหมือนกันอย่างพ่อกับลูก ตอนเห็นภาพอาจารย์ก้มลงกราบที่เท้าของสามเณรอย่างนอบน้อม ไม่มีคำพูดไหนจะบอกนอกจากคำว่า ประทับใจในปฏิปทา และการกระทำของอาจารย์

นั่นเป็นความประทับใจประการแรก

ความประทับใจประการที่สองในวันลาสิกขา หลังจากสามเณรลาสิกขาแล้วได้มาก้มกราบที่เท้าอาจารย์อุทัย เห็นแล้วประทับใจ ทั้งสองคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่สิ่งที่แสดงออกมีค่ายิ่งกว่าคำว่า ความรัก

คำว่า พ่อลูกก่อเกิดขึ้น ผูกพันกันด้วยความดี หลังจากนั้นเวลาผ่านไปไม่นานนัก ผู้เขียนอ่านเจอข้อความที่อาจารย์อุทัยเขียนถึงสามเณรใน Facebook ว่า เป็นไงบ้างลูก เพราะสามเณรเป็นตัวแทนของความดี จึงไม่แปลกที่จะได้รับความดีตอบแทนมา เห็นแล้วก็ปลื้มใจแทนในความรัก ความดีที่อาจารย์มีให้สามเณร

ผู้เขียนได้ถามถึงความประทับใจในการบวชของบัณฑิตน้อย ได้รับคำตอบว่า ประทับใจในการสวดมนต์ นั่งสมาธิ สร้างจังหวะ ฉันในบาตรแล้วรู้สึกดี วันลาสิกขา ก่อนกลับบ้านมาลาหลวงตา เจอคณะพระอาจารย์คุณแม่บอกว่า บ่นอยากบวชต่อ ไม่อยากกลับบ้าน อยากอยู่วัดเขาวง ซึ่งต่างจากความรู้สึกของคณะพระอาจารย์เลย อยากกลับวัดๆ

วันนี้บัณฑิตน้อย ยังไม่ลืมวัด ไม่ลืมหลวงตา ไม่ลืมคณะพระอาจารย์ ถ้าลืมวัด ลืมหลวงตา ลืมพระอาจารย์ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าลืมความประทับใจความรู้สึกดีที่เคยมี ความดีที่เคยทำ กำลังทำอยู่ และจะทำต่อไปในอนาคต ขอให้ความดีรักษา เทวดาคุ้มครอง อยู่ให้มีชัย ไปให้มีโชค ให้พ้นทุกข์ พ้นโศก พ้นโรค พ้นภัย ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ตามสติปัญญาของตนเอง และได้กลับมาบวชสมความปรารถนา

คอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมลชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
คอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมลชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
คอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมลชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
คอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมลชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน


“ในฐานะผู้สอน ในฐานะของความเป็นครู
ครูที่ดีต้องมองหาความดีของศิษย์ให้เจอ

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท






ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here