เมื่อวานนี้ ข้าพเจ้าคิดถึงแม่มาก จริงๆ แล้วก็คิดถึงแม่ทุกวัน และด้วยเหตุดลใจอะไรก็ไม่ทราบได้ ทำให้หยิบเล่มนี้มาอ่านก่อนนอน “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา สัญญาปรารภอดีต ในวาระครบ ๑๐๐ วัน แห่งการละสังขาร ของ อุบาสิกาวัลย์ นานายน สำนักปฏิบัติธรรม เขาสวนหลวง จังหวัดราชบุรี ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๖”
แล้วข้าพเจ้าก็เปิดมาตงหน้าจดหมาย ฉบับ “สัญญาขันธ์” หน้า ๖๓ พอดี เป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่หลานสาวของท่านเขียนถึงท่านในวันที่ท่านละสังขารพอดี คือวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อคืนที่เปิดอ่าน จะเป็นวันเดียวกับที่ท่านละสังขารเมื่อ ๒๗ ปีก่อน จึงขอนำบางตอนของจดหมายมาแบ่งปันกันอ่าน เพื่อจะได้เป็นพลัง เป็นกำลังใจกันสำหรับลูกผู้หญิงที่มีความปรารถนาจะพ้นทุกข์บนเส้นทางแห่งพระพุทธองค์ที่ได้แผ้วถางไว้

“เราจะทำอย่างไรดีกับความอาลัย…”
รำลึก ๒๗ ปี แห่งการจากไป “อุบาสิกาวัลย์ นานายน”
เพราะความจากพรากและความสูญเสีย แม้เป็นส่วนหนึ่งของทุกชีวิตที่ต้องพบเจอ แต่เชื่อว่าใครหลายๆ คนก็ไม่อาจผ่านพ้นเวลาที่ยากยิ่งเหล่านั้นไปได้ ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงคำพูดปลอบประโลม หรือสะกดความทุกข์ไว้ในใจอย่างเดียว และด้วยเหตุดลใจหลายอย่าง ทำให้ข้าพเจ้าหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านในค่ำคืนหนึ่ง…
“ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา สัญญาปรารภอดีต ในวาระครบ ๑๐๐ วัน แห่งการละสังขาร ของ อุบาสิกาวัลย์ นานายน สำนักปฏิบัติธรรม เขาสวนหลวง จังหวัดราชบุรี ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๖” เป็นหนังสือเก่ากว่ายี่สิบปีตั้งแต่เมื่อครั้งที่เคยไปอยู่ปฏิบัติเป็นช่วงสั้น กับเพื่อนในกุฏิสามขา เป็นกุฏิเล็กๆ ที่สร้างขึ้นโดยมีลูกกรงล้อมรอบ เพราะที่นั่นมีลิงเยอะมากๆ เช้าๆ ก็เห็นลิงออกมาเป็นฝูงๆ เป็นร้อย เป็นพันตัว ผ่านหน้ากุฏิไป ในสำนักปฏิบัติธรรมของท่านก. เขาสวนหลวง ซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของท่านวัลย์ ที่เป็นต้นแบบของลูกผู้หญิงอีกมากมายผู้กล้าหาญสละชีวิตทางโลกออกแสวงหาทางพ้นทุกข์ในแบบฉบับของสตรีผู้ปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์จนพบธรรมในที่สุด
ก็เลยขอนำจดหมายจากหลานสาวของท่านที่เดินทางไปปฏิบัติธรรมกันท่านอยู่เนืองๆ จนกระทั่งท่านละสังขารมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่หลานสาวของท่านเขียนถึงท่านในวันที่ท่านละสังขารพอดี คือวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อคืนวันนั้นที่เปิดอ่านก็เป็นวันเดียวกับที่ท่านละสังขารเมื่อ ๒๗ ปีก่อน จึงขอนำบางตอนมาถ่ายทอดต่อเพื่อจะได้เป็นพลัง เป็นกำลังใจกันสำหรับลูกผู้หญิงที่มีความปรารถนาจะพ้นทุกข์บนเส้นทางแห่งพระพุทธองค์ที่ได้แผ้วถางไว้

…ดูเหมือนคุณยายไม่มีทุกขเวทนาเลย คุณยายตอบว่า “ก็มีเหมือนกัน แต่ว่าอานาปานสติก็ช่วยได้มาก” ท่านพูดต่อว่า “เวลาที่ไม่เจ็บป่วยก็คิดว่าทุกขเวทนามันไม่หนักหนาอะไร แต่เวลาเจ็บป่วยจึงรู้จักว่ามันจริง ” ท่านพูดธรรมะให้ฟังต่ออีก เสียดายความจำไม่ดีพอที่จะจำได้ทุกคำ แต่พอจะสรุปได้ว่า ท่านสอนเกี่ยวกับเรื่องทุกข์ การเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เพราะไปยึดถือเอามาว่าเป็นตัวตน แท้จริงแล้ว มันก้เป็นเพียงธรรมชาติ เกิดแล้วก็ดับไป ชีวิตความเป็นอยู่ก็เป็นแต่เพียงการสืบต่อของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา เมื่อยังมีปัจจัยให้อยู่ก็อยู่ต่อไป อยู่ดูมันไป หมดกรรมหมดปัจจัยเมื่อไรก็หมดกัน”
เวลาท่านพูดนั้น ท่านเว้นช่วงเป็นระยะๆ เกรงว่าท่านจะเหนื่อย เรียนถามท่านว่า พูดนานๆ เหนื่อยไหม ท่านไม่ตอบแต่หลับตา …
…คุณยายยังไม่หลับ จึงรวบรวมความกล้าถามท่านว่า หนูก็เชื่อและยอมรับว่า “คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตายไป แต่ความอาลัยยังมีอยู่ จะทำอย่างไรกับความอาลัยดีคะ”
คุณยายยิ้ม แล้วสอนว่า “เป็นธรรมดา คนเราเกิดมาแล้วก็ตายไป แต่ถ้าจิตยังตกอยู่ในความครอบงำของของคู่แล้วก็ยังมีอาลัย ออกมาเสียจากของคู่ก็ไม่มีอาลัย ” คุณยายพูดเพียงเท่านี้ แล้วก็หยุด หลับตา ไม่พูดอะไรอีกเลย

…ของคู่ รัก-ชัง ดี -ชั่ว บุญ -บาป ความผูกพัน -ความไม่ใยดี ฯลฯ เรามักจะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ โดยยึดถือความรู้สึกส่วนตัวเป็นหลัก ก็ไม่พ้นจากของคู่ไปได้เลย กิเลสเป็นตัวชักนำให้ตกอยู่ในความครอบงำของของคู่ เมื่อไรที่ปัญญาคมกล้าพอที่จะตัดความยึดถือในอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ได้ ก็พ้นจากความครอบงำของของสิ่งนั้นได้ จิตก็จะเป็นอิสระ และเห็นตามความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็ล้วนแต่เป็นเพียงสภาวธรรม ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น ทั้งสิ่งที่พบเห็นจากภายนอกและความรู้สึกจากภายใน แต่ทว่าในทางปฏิบัตินั้น ไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิดเลย…
เวลาสายได้รับโทรศัพท์ แจ้งข่าวว่า คุณยายละสังขารแล้ว เมื่อเช้านี้
จดหมายในบท “สัญญาขันธ์” แม้ว่าผ่านไปยี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ตัวหนังสือบอกเล่าถึงความรู้สึกที่แจ่มชัด แม้ผู้ที่อยู่ห่างไกลก็ยังสัมผัสได้ถึงความฉ่ำเย็นแห่งธรรมในเช้าวันที่ท่านอุบาสิกาวัลย์จากไป ซึ่งเป็นพลังอย่างมากที่ทำให้เข้าใจเรื่องความตายที่เป็นธรรมชาติของชีวิตที่เราต่างต้องพบเจอในวันหนึ่ง แต่จะทำใจอย่างไรให้พร้อมเมื่อเวลานั้นมาถึง นั่นจึงการบ้านของเราที่ต้องฝึกฝนต่อไปอย่างแท้จริง
