ภาพนักเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์โรงเรียนวัดธรรมปทีปสกอตแลนด์ แต่งชุดผี และปาร์ตี้วันฮาโลวีน
ภาพนักเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์โรงเรียนวัดธรรมปทีปสกอตแลนด์ แต่งชุดผี และปาร์ตี้วันฮาโลวีน

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๑๖

“วันปล่อยผี” ถอดรหัสวันฮาโลวีน (Halloween) ถึง “บุญเดือนสิบ”กับความตายที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ

โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จากคอลัมน์ เขียนธรรมสื่อถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒)

           อาตมาได้ยินชื่อวันฮาโลวีนตั้งแต่สมัยอยู่ไทย ก็ยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นวันอะไร แต่ปีนี้มีโอกาสได้มาจริกธรรมในสกอตแลนด์ และเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมาคือวัน “ฮาโลวีน” ขึ้นรถเมล์ เข้าไปตามร้านค้า หรือเข้าไปเดินในเมืองก็เห็นแต่วิญญาณผีเต็มไปหมด ที่ว่าเห็นวิญญาณนี้คือ ผู้คนที่นี้จะแต่งเป็นหน้าผี ที่น่ากลัว เขียนหน้าทาปาก ทำคิ้ว หรือมีการแต่งตัวใส่ชุดให้ดูเหมือนผีร้าย

           พอช่วงกลางคือของวันฮาโลวีน แต่ละครอบครัวก็มีการจัดปาร์ตี้ผี กับครอบครัวของตนเอง หรือบางครอบครัวมีการนัดเพื่อน ๆ ของลูกมารวมเป็นหลาย ๆ ครอบครัว เพื่อจัดปาร์ตี้ให้เด็กๆ ได้สนุกสนาน

           ที่มาของวันฮาโลวีน หลายคนคงสงสัยว่ามันคือวันอะไร ทำไมจึงมีการแต่งเป็นหน้าผี หรือแต่งตัวเป็นวิญญาณผีโดยพร้อมเพียงกันทั้งเมือง เขาทำไปเพื่ออะไร และมีเหตุมาจากอะไร

           ความหมายของวันฮาโลวีน กล่าวโดยสรุปนั้น “วันฮาโลวีน” มีจุดกำเนิดเป็นเทศกาลของชาวเซลท์โบราณ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Samhain ซึ่งมีที่มาจากชาวไอริชโบราณ และให้ถือเอาวันนี้เป็นวันสิ้นสุดของฤดูร้อน หรือชาวบริตอนโบราณก็มีประเพณีแบบนี้เหมือนกัน เรียกชื่อว่า Calan Gaeaf เทศกาล Samhain จัดเทศกาลนี้ขึ้นเพื่อให้รู้ว่าเป็นวันสิ้นสุดของช่วงสว่างแห่งปี เพราะฤดูร้อนจะสว่างนานพระอาทิตย์ตกช้า และเข้าสู่ช่วงมืดของปี คือเข้าสู่ฤดูหนาวจะมืดเร็ว เวลามืดจะนานกว่าสว่าง

           บางกลุ่มยังมีความชื่อว่าวันฮาโลวีน เป็นเทศกาลแห่งความตาย (Festival of the dead) ซึ่งชาวเซลท์โบราณเชื่อว่าเป็นวันที่โลกนี้ และโลกหน้า จะเคลื่อนตัวโคจรอยู่ใกล้กันมากที่สุด เป็นเหตุให้เหล่าวิญญาณ ที่มีทั้งวิญญาณอันตรายเป็นวิญาณที่ไม่ดีจะมาทำร้ายและเอาชีวิตมนุษย์ และวิญญาณที่ดีไม่เป็นอันตราย คือวิญาณบรรพบุรุษหรือคนที่เรารักและเคารพ จะสามารถผ่านเข้ามาในโลกมนุษย์เราได้อย่างอิสระ และที่น่าสนใจคือวิญญาณของบรรพบุรุษหรือบุคคลที่เคารพรักจะพากันต้อนรับเข้าบ้าน ส่วนวิญญาณร้ายก็จะขับไล่ออกไป

         นี้คือสาเหตุที่อาตมาเห็นคนในเมืองพากันแต่งหน้า แต่งตัวเป็นผีไปหมด โดยมีความเชื่อว่าการที่แต่งตัวเป็นผีจะสามารถขับไล่วิญญาณร้ายที่จะมาเอาชีวิตเรา หรือมาทำอันตรายกับเราได้ เพราะใช้วิธีการแฝงตัวเป็นวิญญาณร้ายเองเลย เพื่อจะได้ดูกลมกลืน และพ้นอันตรายจากวิญญาณร้ายเหล่านั้นได้

           อย่างเช่นในสกอตแลนด์เมืองที่อาตมาอยู่ ผู้ชายวัยรุ่นแต่งตัวเป็นผีด้วยการสวมชุดขาว สามหน้ากาก สามผ้าคลุมหน้า หรือทาหน้าเป็นสีดำ  และคนส่วนมากที่แต่งตัวเป็นผี ทำให้เป็นผีร้าย แม่มด ภูตผีปีศาลต่างๆ โดยเลียนแบบผีจากภาพยนตร์ ละครทีวี เป็นต้น เมื่อพูดถึงเรื่องการแต่งตัวเป็นผี หรือวันที่วิญญาณผีสามารถเข้ามาสู่โลกมนุษย์ได้ ทำให้อาตมาคิดถึงความเชื่อในท้องถิ่นภาคอีสานบ้านเกิดอาตมาเอง

           สำหรับการแต่งกายเป็นผี เพื่อไม่ให้ถูกวิญญาณร้ายมาเอาชีวิตหรือทำร้ายเราได้ ในบางท้องถิ่นภาคอีสาน หากตามหมู่บ้านไหนมีคนตายติดต่อกันหลายศพแบบไม่ทราบสาเหตุ หรือตายแบบแปลกๆ บ้าง คนในท้องถิ่นจะมีความชื่อว่าเป็นผีแม่หม้ายมาเอาชีวิต ชาวบ้านก็จะป้องกันผีแม่หม้ายด้วยการทำเป็น “หุ่นฟางปลัดขิก” ให้ยืนอยู่หน้าบ้านทุกหลังคาเรือน เพื่อป้องกันไม่ให้มีแม่หม้ายเข้าไปเอาชีวิตของคนในบ้านหลังนั้นได้

           ส่วนวันฮาโลวีนที่มีความเชื่อว่าเป็นวันที่วิญญาณผีเข้ามาสู่โลกมนุษย์ได้ ที่บ้านเราก็มีแนวคิดเช่นนี้เหมือนกันคือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ เป็นการทำบุญเดือนสิบ ทางภาคอีสานจะเรียกว่า “บุญข้าวสาก” ภาคกลางเรียกว่า “บุญข้าวสารท” ภาคเหนือเรียกว่า “บุญสลากภัตร” ภาคใต้เรียกว่า “บุญชิงเปรต” ซึ่งถือว่าเป็นงานบุญสำคัญมีที่มาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลเลย

         บุญเดือนสิบนี้อาตมาได้ยินตั้งแต่สมัยเด็กๆ ตามยายไปทำบุญที่วัด ในหมู่บ้านของอาตมาเมื่อถึงบุญข้าวสากทุกหลังคาเรือนจะต้องไปวัด อย่างน้อยหลังคาเรือนละคน

“ในครั้งนั้นยายเล่าให้ฟังว่า…

วันนี้เป็นวันที่ประตูนรกเปิด

วิญญาณที่ไม่มีคนทำบุญอุทิศไปให้

ก็ไม่สามารถไปเกิดไดหรือไปขึ้นสวรรค์ได้

จึงจะลงมาโลกมนุษย์เพื่อมารับบุญในวันนี้

และเรามาทำบุญเพื่ออุทิศบุญกุศล

ให้บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไป

ตลอดถึงเจ้ากรรมนายเวรอีกด้วย”

            ทั้งนี้ ในวันฮาโลวีน ถ้ากล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ เป็นความเชื่อเกี่ยวกับความตายของมนุษย์ซึ่งเป็นความจริงที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ หลักการทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงเหตุแห่งการตายไว้ ๔ ประการด้วยดันดังนี้

           ๑) สิ้นอายุ (อายุกขยะมรณะ) กล่าวคือ ตายเพราะสิ้นอายุขัย เช่น อายุของคนทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ ๗๒ ปี สำหรับผู้ชาย ๗๐ ปี และผู้หญิง ๗๕ ปี เมื่อตายตามเกณฑ์อายุนี้ก็ถือว่าตายเพราะสิ้นอายุขัย

           ๒) สิ้นกรรม (กัมมักขยะมรณะ) กล่าวคือ  ตายเพราะสิ้นกรรม เช่น ค่าเฉลี่ยของคนในปัจจุบันอยู่ระหว่าง ๗๐ – ๗๕ ปี แต่มีชีวิต ๑ เดือน, ๑๐ ปี ฯ หรือมีชีวิต อายุ ๙๐ ปี, ๑๐๐ ปี ถึงตายเพราะด้วยอำนาจแห่งกุศลกรรม

           ๓) สิ้นทั้งสอง (อุภยักขยะมรณะ) คือ ตายเพราะสิ้นอายุขัย และสิ้นกรรมพร้อมกัน หมายถึง ดำรงชีวิตอยู่เต็มอายุขัยแล้วประกอบกับสิ้นกรรมลงจึงถึงแก่ความตาย

           ๔) กรรมตัดรอน (อุปัจเฉทกมรณะ) คือ ตายเพราะมีกรรมมาตัดรอน หมายถึง ผู้ที่มีอายุยังไม่ถึงขีดอายุขัย และอำนาจแห่งกรรมยังไม่หมด แต่ตายเพราะอำนาจของอกุศลกรรมที่ได้ทำในปัจจุบันหรืออดีต อกุศลกรรมจึงได้มาตัดรอนให้ตายในขณะที่ยังไม่ถึงเวลา เช่น เกิดอุบัติเหตุ ถูกฆาตกรรม เกิดโรคภัยเจ็บป่วย หรือปฏิบัติตนทุศีล เป็นต้น

           นี้คือเหตุแห่งความตาย ไม่ว่ามนุษย์จะแตกต่างกันเชื้อชาติ ศาสนา เพียงใดก็ตาม แต่สุดท้ายสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเหมือนกันคือ “ความตาย” มนุษย์ทุกคนมีความตายเป็นเพื่อน เหมือนเงาติดตามตัวไปทุกที่ทุกคนทุกแห่ง ไม่มีใครหลีกหนีความตายไปได้

           เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อาตมาก็อยากจะชวนทุกท่านถามตนเองว่า “ในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่ เราจะทำอะไรก่อนตาย” ระหว่าง “เอาลมหายใจที่เหลืออยู่กอบโกยเอาแต่ลาภ ยศ สรรเสริญ เงินทอง โดยไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะผิดศีลธรรมหรือกฎหมายหรือไม่ ทั้งแก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น ฟาดฟันกันด้วยความโกรธ ความโลภ ความหลง ความอิจฉาริษยา”

กับการ “ใช้ลมหายใจที่เหลืออยู่ เพื่อต่อลมหายใจให้อีกหลาย ๆ คนในสังคมให้เขามีลมหายใจต่อไปได้ ทั้งช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และใช้ลมหายใจที่เหลืออยู่เพื่อสร้างคุณงาม ความดีฝากไว้ให้กับลูกหลานเรา”

           แต่อาตมาเห็นว่าการได้เกิดมาในชาตินี้คือ เป็นโอกาสทองที่เราจะได้สร้างคุณงาม ความดีให้กับตนเองและผู้อื่น เป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ประเทศชาติ ถ้าเราทำได้เช่นนี้ แม้เราจะตายแต่ก็ไม่เหมือนตาย เพราะคุณงามความดีหรือประโยชน์ที่เราได้ทำไว้กับสังคมและประเทศชาติมันยังคงอยู่

 “ทำดีเพื่อตนอยู่แค่สิ้นลม ทำดีเพื่อสังคมอยู่คู่โลกา”

ขอขอบคุณ ภาพจาก หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ
ขอขอบคุณ ภาพจาก หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

ท้ายที่สุดนี้ขอฝากคำกล่าวของหลวงพ่อพุทธทาส

ไว้ให้เป็นแง่คิด “เพื่อชีวิตดีงาม” ก่อนตาย

ตายเมื่อตาย ย่อมกลาย ไปเป็นผี           ตายไม่ดี ได้เป็นที่ ผีตายโหง

           ตายทำไม เพียงให้ เขาใส่โลง            ตายโอ่โถง นั้นคือตาย เสียก่อนตาย

                      ตายก่อนตาย มิใช่กลาย ไปเป็นผี         แต่กลายเป็น สิ่งที่ ไม่สูญหาย

           ที่แท้นั้น คือความตาย ที่ไม่ตาย         มีความหมาย ไม่มีใคร ได้เกิดแล

                     คำพูดนี้ ผันผวน ชวนฉงน                 เหมือนเล่นลิ้น ลาวน คนตอแหล

           แต่เป็นความ จริงอัน ไม่ผันแปร         ใครคิดแก้ อรรถได้ สบายเอยฯ

“ตายก่อนตาย” คือ จิตหมดความรู้สึกว่า

ตัวกู-ของกู เสียก่อนแต่ที่ร่างกายจะตาย

เหลืออยู่แต่ สติปัญญา บริสุทธิ์ในชีวิต

นี้เป็นสิ่งที่มีได้แต่เดี๋ยวนี้

ดังนั้น ตายได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งมีกำไรชีวิตเท่านั้น

อ่านมาจนจบแล้ว อาตมาอยากถามอีกครั้งว่า

“ในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่

เราจะทำอะไรก่อนตาย” ?

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๑๖

“วันปล่อยผี” ถอดรหัสวันฮาโลวีน (Halloween) ถึง “บุญเดือนสิบ” กับความตายที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ

จากคอลัมน์ เขียนธรรมสื่อถึงโลก

(หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒)

โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here