วันพระ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ชาตกาลพระเดชพระคุณอดีตหลวงพ่อพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ด้วยความศรัทธา และเคารพบูชาในปฏิปทาของท่าน ตั้งแต่วันที่ผู้เขียนไปภูเขาทองครั้งแรกในชีวิตเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ เพื่อไปกราบพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า ที่เพิ่งทราบช้าที่สุดกว่าใครๆ เขาว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุองค์จริง องค์เดียวที่สาธารณรัฐอินเดีย โดยรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งปกครองอินเดียในขณะนั้นมอบให้ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา และมีพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นเอกอักครศาสนูปถัมภกมาโดยตลอดตั้งแต่ตั้งแผ่นดินไทยมากว่า ๗๐๐ ปี หลังจากนั้นก็นำมาเขียนลงนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และนสพ.คมชัดลึกที่ผู้เขียนเป็นนักข่าว และผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว อยู่ในขณะนั้น
ในวันนั้น ธรรมะก็จัดสรรให้ผู้เขียนได้มีโอกาสกราบหลวงพ่อพระพรหมสิทธิ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์พระธรรมสิทธิ ที่ร้านกาแฟระหว่างทางขึ้นภูเขาทอง
ท่านเมตตาเล่าการเดินทางของพระบรมสารีริกธาตุในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทางรัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองประเทศอินเดีย ในขณะนั้นเห็นสมควรถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ออกเดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากรัฐบาลประเทศอินเดีย กลับสู่สยามประเทศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒ (จากหนังสือ “๑๑๒ ปี แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุงกบิลพัสดุ์ สู่สยามประเทศ)
หลังจากนั้น ผู้เขียนรู้สึกปีติมาก ที่ได้กราบพระบรมสารีริกธาตุองค์จริง และนำไปเขียนลงในนสพ.คมชัดลึก ในคอลัมน์วิปัสสนาบนหน้าข่าว หน้า วันนี้…วันพระ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันปิยมหาราช เรื่อง “พระบรมสารีริกธาตุที่ภูเขาทอง กับพระพุทธเจ้าหลวง และเรื่องที่ไม่ได้เล่าในจดหมายเหตุ ”
ดังมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า …
พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี่ …ภูเขาทอง วัดสระเกศ ประเทศไทย
เป็นเวลา ๑๑๒ ปีแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม ) ออกเดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากรัฐบาลประเทศอินเดีย ที่ตั้งใจมอบให้ประเทศไทยโดยเฉพาะ ด้วยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่กษัตริย์ เป็นพุทธมามกะ และตามข้อตกลง ที่เมื่อ พระบรมสารีริกธาตุกลับสู่สยามประเทศแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ ๕ จะทรงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้กับบรรดาประเทศที่รับถือพุทธศาสนาเช่นกัน
หลังการสรวจสอบข้อมูลกันเป็นระยะเวลานาน จนทราบว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สงเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า จริง ในส่วนของศากยราชสกุล ซึ่งได้รับการแบ่งไปในคราวโทณพราหมณ์ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ หลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
หลังพุทธกาลนั้น ในหลวงของเรา ก็ดำเนินการตามข้อตกลงทุกประการ ในช่วงเวลาที่ท่านนิมนต์พระจากประเทศต่างๆ มารับแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ พระองค์ทรงจัดเตรียมเมนูอาหารด้วยพระองค์เอง ทำให้พระที่มาประเทศไทยในคราวนั้น ประทับใจในหลวงเราเป็นอย่างมาก พระจากที่ประเทศญี่ปุ่นเมือ่กลับไป จึงสร้างวัดขึ้นในนามของในหลวงรัชกาลที่ ๕ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ด้วย
วันนี้วันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นโอกาสดี ที่เราจะได้น้อมถึงพระองค์ท่านที่ทรงเป็นผู้นำกองทัพธรรม ที่ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ด้วยพระเมตตาและพระปัญญา แล้วยังทรงเลิกทาสในเรือนเบี้ย ให้ทุกคนมีอิสรภาพแห่งชีวิตเสมอกันด้วย
พระบรมสารีริกธาตุ แท้ๆ ของพระพุทธเจ้า ๑ ใน ๘ ส่วนสำคัญอยู่ที่ภูเขาทอง ประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระไตรปิฎกโบราณที่ขุดพบในอัฟกานิสถานก่อนที่พระพุทธรูปจะถูกระเบิด ก็อยู่ที่ภูเขาทองเช่นกัน
หลังจากนั้น ผ่านไปอีกสี่ปี พ.ศ.๒๕๕๘ ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสกราบสัมภาษณ์หลวงพ่อพระพรหมสิทธิอีกครั้งลงนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์ ” ในช่วงที่ท่านได้รับมอบหมายให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ผู้เขียนเปิดบันทึกความทรงจำจาก รายงานพิเศษ เรื่อง “พ่อดูแลลูก พี่ดูแลน้อง” หลักการบริหารคณะสงฆ์ของ ‘พระพรหมสิทธิ’ รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑๑๘๖ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๘ จึงขอน้อมนำมารำลึกความทรงจำ กราบอาเศียรวาทหลวงพ่อพระพรหมสิทธิ ในวันครบรอบ ๖๔ ปี ชาตกาล ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
“ตามหลักพระธรรมวินัย อยู่กันด้วยอาวุโสพรรษา คือกฎเกณฑ์ของพระสงฆ์ที่จะอยู่ร่วมกัน อย่างไม่มีปัญหา”
หลังจากที่มหาเถรสมาคม (มส.) โดย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการ มส. ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มอบพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้ง พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการ มส. และประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ แทนพระพรหมสุธี (เสนาะ ปัญญาวชิโร) เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๘ ที่ผ่านมา
ก่อนที่ท่านเจ้าคุณพระพรหมสิทธิในขณะนั้น จะมาดำรงตำแหน่งที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบอันสูงยิ่งนี้ ท่านมีประสบการณ์ภาวนาไปพร้อมๆ กับการบริหารคณะสงฆ์ โดยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ๑๐ ตลอดจน เป็นพระธรรมทูต ตัวแทนประเทศไทย ที่จาริกธรรมไปศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาทั่วโลก และที่สำคัญคือ มีความเมตตาเป็นอย่างสูง
และเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ผ่านมาเป็นวันคล้ายวันเกิดท่าน อายุครบ ๕๙ ปี พรรษา ๓๙ ท่านได้ให้เนชั่นสุดสัปดาห์สัมภาษณ์ถึงประวัติชีวิตสั้นๆ ก่อนที่จะมาถึงวันนี้
0 ท่านเจ้าคุณเกิดและเติบโตที่ไหน เหตุใดจึงบวช
อาตมาเป็นชาวสระบุรี ครอบครัวทำการเกษตร บวชตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจอยู่นาน แต่พอบวชแล้ว ก็อยู่ยาวมาเรื่อยๆ
0 อะไรที่ทำให้อยู่ยาว
เข้าใจว่า เป็นเรื่องของเหตุ ปัจจัยแแนะนำมา ก็เชื่อในเรื่องบุญกุศล ชาติที่แล้วเราอาจจะเป็นอย่างนี้มาแล้วหรือเปล่า ? และตอนนี้ ต้องบริหารคณะสงฆ์ ๖ จังหวัด ตั้งแต่อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครพนม ยโสธร มุกดาหาร และอำนาจเจริญ
0 หลักการภาวนาของท่านเจ้าคุณ
ใช้พุทโธเป็นคำบริกรรม แล้วก็ต้องบริหารคณะสงฆ์ควบคู่กันไป จะไปเน้นเรื่องการปฏิบัติมากก็ไม่ได้ แต่ก็ต้องใช้เหมือนกัน
0 บริหารคณะสงฆ์ด้วยหลักธรรม อย่างไร
คำสอนของพระพุทธเจ้ามีในหลักพระธรรมวินัยอยู่แล้ว คือเป็นลักษณะ พ่อดูแลลูก พี่ดูแลน้อง การที่พระบวชใหม่เข้ามาอันดับแรกก็คือ พี่ดูแลน้องก่อน พ่อดูแลลูก ก็คือครูบาอาจารย์ดูแลศิษย์ที่ทำให้คณะสงฆ์อยู่กันได้มาจนถึงปัจจุบัน โดยถือตามหลักพระธรรมวินัย อยู่กันด้วยอาวุโสพรรษา และกฎเกณฑ์พระธรรมวินัยคือ กฎเกณฑ์ของพระสงฆ์ ที่จะอยู่ร่วมกัน อย่างไม่มีปัญหา
0 ธรรมยุตกับมหานิกายมีการดูแลกันอย่างไร
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ไม่มีปัญหา เพราะสายงานเราต้องทำงานร่วมกัน แม้แต่มหายาน เราก็ไปเกี่ยวข้องเยอะ ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือที่อื่นก็ตาม แม้ว่ามหายานจะไม่ได้สอนเรื่องหลุดพ้นในวัฏฏะ แต่เขาก็สอนเรื่องโพธิญาณ ทำประโยชน์ให้กับสังคม เขาทำได้ดีด้วย อย่างวัดจีน เขาทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ เพื่อสังคมได้มากทีเดียว
ประวัติ สุขญาโณภิกขุ โดยสังเขป
พระพรหมสิทธิ ในขณะนั้น มีนามเดิมว่า ธงชัย สุขโข เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ ปีมะแม อายุ ๕๙ ปี พรรษา ๓๙ บ้านเกิด เลขที่ ๑๙ หมู่ ๕ ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี บิดาชื่อ นายเสงี่ยม มารดาชื่อ นางตัน สุขโข หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้เข้ารับการบรรพชา ณ.วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ครั้นดำรงสมณศักดิ์ พระธรรมคุณาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นสามเณรธงชัยได้คอยปรนนิบัติรับใช้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และศึกษาพระธรรมวินัยควบคู่กันไปด้วย จนได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “สุขญาโณ”
หลังจากอุปสมบทก็ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ดูแลงานปกครอง ในขณะเดียวกันยังเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดสระเกศ เป็นกรรมการตรวจนักธรรมสนามหลวง พระพรหมสิทธินั้นได้เป็นที่เคารพนับถือในหมู่กว้างและเป็นที่ไว้วางใจของพระมหาเถระหลายรูป จึงนำมาสู่การดำรงตำแหน่งผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ซึ่งมีบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จากประเทศอินเดียมอบให้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นศูนย์รวมใจคนไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิต และเป็นศาสนาประจำใจไทยทั้งชาติ
งานทางด้านการศึกษา
ท่านได้สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดสระเกศ เป็นเลขานุการประจำสำนักเรียน ทั้งแผนกธรรมและบาลี เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรมสนามหลวง เพื่อให้พระภิกษุได้บรรยายและแสดงธรรมเป็นประจำ นอกจากนี้ ได้จัดให้พระภิกษุไปสอนศีลธรรมตามโรงเรียนและจัดพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิไปแสดงปาฐกถาธรรม ให้การฝึกอบรมตามสถานศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ได้มอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่สอบนักธรรมและบาลีของสำนักเรียนวัดสระเกศ
งานด้านการสาธารณูปการ
ท่านได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ให้ดำเนินการก่อสร้างศาลารับรองและกุฏิ รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์โรงเรียนพระปริยัติธรรม ตึกสมเด็จญาโณทยมหาเถระ (พ.ศ. ๒๕๐๑) และเป็นประธานดำเนินการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและหอไตรวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
งานด้านการสาธารณสงเคราะห์
ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติตามโอกาสอันควรตลอดมา อาทิ ได้มอบเครื่องนุ่งห่ม ให้แก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดารในเขตปกครองหนตะวันออก และมอบปัจจัย อัฐบริขารที่จำเป็นให้แก่พระภิกษุสามเณรที่ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบธรณีพิบัติภัย (สึนามิ) ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในนามวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
งานการต่างประเทศ
ท่านเป็นพระเถระที่สนองงานสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในด้านการต่างประเทศได้ไปเยี่ยมพระธรรมทูตไทยที่ปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศจำนวนหลายครั้ง เช่น สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ประเทศสวีเดน , สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น และยังเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๖ ดูแลพระธรรมทูตแถบสแกนดิเนเวียและสหรัฐอเมริกา และในคราวที่พระธรรมทูตได้ประสบอุบัติเหตุก็ได้ช่วยเหลือแบบพี่น้องสหธรรมิก ท่านเป็นพระเถระที่ดูแลคณะสงฆ์อย่างเต็มกำลังตามรอยหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาในวงกว้าง
เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตปาปา
พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิในขณะนั้น และคณะ อาทิ พระเทพโพธิวิเทศ พระราชธีราจารย์ พระราชกิจจาภรณ์ พระศรีคุณาภรณ์ ในขณะนั้น และคณะสงฆ์จำนวนมากได้เดินทางไปยังสำนักวาติกัน เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก ได้หารือเกี่ยวกับด้ารการศึกษาของพระสงฆ์ไทยที่ไปต่างประเทศ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ ๓๐ ปี ที่คณะสงฆ์ไทยเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตปาปาถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างศาสนาอันสำคัญที่นำมาสู่ความเข้าใจระหว่างศาสนาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
(ขอขอบคุณ ข้อมูลประวัติ บางส่วนจาก wikipedia)
อาเศียรวาท ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ชาตกาล ‘สุขญาโณภิกขุ’ รำลึกความทรงจำ…” พ่อดูแลลูก พี่ดูแลน้อง” หลักการบริหารคณะสงฆ์ของพระพรหมสิทธิ ในขณะนั้น โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑๑๘๖ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๘