
๑๓ ตุลา ๒๕๖๔
รำลึกถึงวันที่พ่อจากไป…
“วิถีแห่งการให้ คือ หัวใจของการบำเพ็ญบารมี”
วันสำคัญ แห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ทรงจากไปแต่เพียงพระสรีระ หากพระราชปฏิปทา และพระราชวิถีการใช้ชีวิตของพระองค์ท่าน ล้นเกล้า รัชกาลที่ ๙ จักเป็นประวัติศาสตร์ของคนรุ่นเก่า สืบเนื่องมาจนถึงคนรุ่นใหม่ ให้เห็นความสัมพันธ์ของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการตามรอยธรรมพระองค์ท่าน จากการที่ทรงเป็นพุทธมามกะอย่างเข้มข้น เพื่อรักษาแผ่นดินไทยให้ดำรงอยู่ นั้นลึกซึ้งเพียงใด

วัฒนธรรม คือ ร่องรอยที่พระองค์ฝากไว้ให้กับพสกนิกรของพระองค์ทุกเชื้อชาติ ศาสนา และทุกเผ่าพันธุ์ ให้ดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุขในแผ่นดินแห่งธรรมนี้ ด้วยการเชื่อมร้อยทุกส่วนไว้ในวิถีชีวิตอันมีพระพุทธศาสนายึดโยงไว้ตรงกลางระหว่างชาวบ้านกับพระมหากษัตริย์อันงดงาม ตั้งแต่ยามเช้า จนเข้านอน
คือตั้งแต่ ตื่นมา สวดมนต์ทำวัตรเช้า ทำอาหาร และใส่บาตร ทำบุญ วิถีชีวิตแห่งการให้ คือความยิ่งใหญ่ที่ทำให้เรารอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ ข้าวปลาอาหารที่ใส่บาตรพระสงฆ์ ทุกคำข้าว คือ การร้อยดวงใจไทยให้เป็นหนึ่งเดียว เพราะถ้าคนในชาติแตกกันเมื่อไร ก็ไม่มีชาติ ไม่มีพระพุทธศาสนา แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร
ดังที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) กล่าวไว้ในหนังสือ “เย็นหิมะในรอยธรรม” ตอนหนึ่งว่า ตอนนี้ พระบารมีของพระมหากษัตริย์ยังอยู่ จึงทำให้พระพุทธศาสนาในเมืองไทย เปลี่ยนแปลงช้ากว่าสิ่งอื่น แต่ต่อไปจะเปลี่ยนแปลงเร็ว
“ต่อไปสังคมจะหมุนเร็ว
พระศาสนาก็จะเปลี่ยนแปลงเร็วตามไปด้วย
ไม่ใช่อย่างทุกวันนี้แล้ว”
“ดังนั้น การรักษาสังฆมณฑล ก็คือการรักษาสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ “
…ในวิถีแห่งการให้ การแบ่งปัน การเสียสละ เพื่อให้เราทั้งหลายได้อยู่กันอย่างสันติสุข ในวิถีแห่งธรรม
