หนังสือ "มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลคลื่นลม" (๑.) งานนิพนธ์ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์
หนังสือ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” (๑.) งานนิพนธ์ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์

๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

รำลึกชาตกาลสู่ปีที่ ๙๒

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ )

จากหนังสือ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” (๑.)

โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ )
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ ) ภาพในอดีต
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ ) ภาพในอดีต
หนังสือ "มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลคลื่นลม" งานนิพนธ์ ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก  วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗  งานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
หนังสือ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” งานนิพนธ์ ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ งานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ปกหลัง หนังสือ "มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลคลื่นลม"  โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ปกหลัง หนังสือ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ปกหลัง ที่มาของหนังสือ พระมองโลก มองความเป็นไป มองเหตุปัจจัย รวมทั้งมองการเมืองโดยมองแบบพระ ไม่ใช่มองแบบชาวบ้าน คือพระมองด้วยเจตนาเพื่อรู้เข้าใจสภาพของมนุษย์และภาวะการของโลกตามที่มันเป็น ให้ชัดเจนเพียงพอเพื่อสนองเจตนาที่จะแก้ปัญหาของโลกของมนุษย์ ให้ลุถึงประโยชน์สุข โดยไม่มีเจตนาที่เป็นเรื่องของตนเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือโยงอิงหมู่พวกใด ที่จะได้จะเอาอะไรๆ หรือเพื่อใคร เพื่อพวกใด จึงเรียกว่า รู้โลก เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ พหุชนหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนมาก พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของคนมาก โลกานุกัมปายะ เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก ที่ว่านี้ ก็โยงมาถึงการที่จะเล่าเรื่องของมหาจุฬาฯ กลายเป็นว่าจะพูดถึงมหาจุฬาฯ แต่เลยไปพูดถึงทั้งโลก ที่จริง นี่แหละคือเรื่องที่ควรพูดเพราะว่ามหาจุฬาฯก็ดำเนินเดินหน้าไป ในบ้านเมือง ในโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ตระหนักว่าตัวเป็นอยู่เป็นไปในสภาพแวดล้อม ท่ามกลางบ้านเมือง และในโลก ที่กำลังเป็นไปอย่างไร ตอนนั้นเวลานั้นมหาจฬาฯ อยู่ในบรรยากาศในสภาพแวดล้อมที่เป็นอย่างไร ไม่ใช่เดินไปในความมืด มองอะไรมัวๆ เมื่อตัวไม่รู้ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิด แล้วก็เลยคิดเห็นไป กลายเป็นลุ่มหลงไม่ตรงตามจริง จะต้องรู้ให้พอที่จะมองเห็น ไม่ใช่มัวแต่หรืออยู่แค่คิดเห็น ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด แม้มองถึงจุดหมายที่แท้ เมื่อมาเรียนที่มหาจุฬาฯก็เพื่อมีการศึกษา ที่จะให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย แล้วสามารถไปบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อคนทั้งมวล ทั้งโลก ด้วยรู้เข้าใจทั่วทันโลกดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

พิมพ์ครั้งแรก (๙ มีนาคม ๒๕๕๗) ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๑)

(คำปรารภ)

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และ พระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป 

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต)  , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปณมหาเถระ) และ  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ ) ภาพในอดีต จากหนังสือ  จากหนังสือ "มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลคลื่นลม"
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปณมหาเถระ)
และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ ) ภาพในอดีต
จากหนังสือ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม”

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น

กลางทะเลแห่งคลื่นลม

๑.

เวลาขณะที่เขียนเรื่องนี้ อยู่ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ จะหวนหลังไปเล่าเรื่องราวเหตุการณ์เก่าๆ เกี่ยวกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อครั้งศตวรรษที่ผ่านมา โดยกลับไปตั้งหลักที่ ๔๐ ปีก่อนโน้น คือ พ.ศ. ๒๕๐๖ แล้วมองย้อนจากปี ๒๕๐๖ นั้นถอยลงไป และตามดูต่อตั้งแต่ปี ๒๕๐๗ ถัดขึ้นมา

สายลมเย็นสดชื่น


ในช่วงเวลานั้น มีเหตุการณ์หนึ่งที่มหาจุฬาฯ ซึ่งเด่นอยู่ในความทรงจำของผู้เล่ายังนึกเห็นภาพลางๆ  วันนั้นสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ วัดสระเกศ เสด็จมาทรงเป็นประธานในงานวันอนุสรณ์มหาจุฬาฯ (๑๘ กรกฎาคม)

 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

เหตุการณ์ที่ว่าเด่นอยู่ในความทรงจำ คือ เมื่อพระเถระผู้เป็นหัวหน้าทางด้านมหาจุฬาฯ (คงจะเป็นองค์รักษาการอธิการบดี) อ่านถวายรายงานกิจการจบแล้ว สมเด็จพระสังฆราชก็มีพระดำรัสตอบ หรือทรงกล่าวโอวาท โดยทรงอ่านตามข้อความบนแผ่นพิมพ์ดีดที่ทำมหาจุฬาฯ จัดเตรียมถวายไว้

สมเด็จพระสังฆราชทรงอ่านว่า
“มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์…โทรศัพท์ โท-สี่-โท-สี่-เก้า…” ถึงตรงนี้ (๒๔๒๔๙, สมัยนั้น เลขเพียง ๕ ตัว*) ทรงหยุด แล้วก็ทรงพระสรวลชอบพระทัย เสร็จแล้วจึงทรงเริ่มอ่านใหม่ ตามข้อความที่พิมพ์ถวาย

พระโยมพลอยหัวเราะกันเบาๆ และมองกันด้วยความรู้สึกรื่นรมย์ชมชื่นใจ มีเสียงผู้ใหญ่ท่านหนึ่งพูดเชิงกระซิบเสริมบรรยากาศว่า ทรงอ่านละเอียดๆ หรือว่าทรงอ่านครบทั้งหมด หรืออะไรทำนองนั้น (จำไม่แม่นแล้ว) คือ ทรงอ่านทั้งหมดตั้งแต่หัวกระดาษตรามหาจุฬาฯ ซึ่งบอกสถานที่ตั้ง ตลอดจนหมายเลขโทรศัพท์

คนที่อยู่ในงานพิธีวันนั้น โดยเฉพาะญาติโยมทั้งหลาย มาด้วยจิตใจของผู้ร่วมงานบุญกุศลที่วัด ไม่ได้มุ่งจับจ้องอะไรในเรื่องที่เป็นการเป็นงาน ไม่ค่อยได้เอาใจใส่กับคำรายงานกิจการ และแม้แต่ข้อความที่เป็นพระโอวาทหรือพระดำรัสตอบ แต่ใจอยู่กับบรรยากาศของงาน มุ่งไปที่เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวเป็นไปซึ่งได้ผ่านได้เห็น และสำหรับวันนี้ จุดสำคัญอันเป็นศูนย์กลางของเหตุการณ์ที่ปกแผ่ให้บรรยากาศ ก็คือ องค์สมเด็จพระสังฆราช ที่เสด็จมาทรงเป็นประธานของงาน

ที่จริง สำหรับงานอย่างนี้ รายงานกิจการเป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่ง แต่เป็นเรื่องสำคัญในฝ่ายเจ้าของงานคืองาน คือประจำปีนี้ เป็นจุดกำหนดที่เรียกร้องหรือบังคับให้ได้รวบรวมสถิติทำประมวลสรุปความเจริญก้าวหน้าและความเป็นไปอันพึงสังเกตในปีหนึ่งๆ ไว้เป็นหลักฐานและเป็นแหล่งข้อมูล อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในระยะยาว

ถ้าไม่มีงานที่เป็นจุดกำหนดอย่างนี้ ก็อาจจะหรือมักจะเพลินลืมหรือปล่อยเรื่อยเฉื่อยไป เมื่อถึงวาระเช่นนี้ คนที่มางานบางคนอาจจะอยากรู้ บางคนก็เจาะฟังบางจุดบางด้าน บางคนก็ใฝ่ศึกษาตั้งใจอยากรู้ แต่รวมแล้วก็ไม่ต้องไปหวังว่าคนที่มาในงานจะใส่ใจสนใจอะไรมากมาย ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเจ้าของกิจการควรถือเป็นโอกาสดีที่จะทำสถิติและประมวลสรุปกิจการขอบคุณไว้ให้เป็นหลักฐานอย่างดีที่สุด  เหตุการณ์ที่เด่นขึ้นมาเป็นบรรยากาศอันแผ่คลุมให้ความหมายแก่งานอนุสรณ์มหาจุฬาฯ วันนั้น ก็คือการเสด็จมาของสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง

สมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ วัดสระเกศ เวลานั้นมีพระชนมายุย่าง ๙๐ พรรษา ทรงพระชรามากแล้ว การที่ทรงอ่านข้อความบนหัวกระดาษพร้อมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ แล้วทรงนึกได้ และทรงหยุด พร้อมทั้งพระสรวลชอบพระทัยอย่างนั้น เห็นได้ว่า นอกจากไม่มีใครถือแล้ว กลับทำให้เกิดบรรยากาศชื่นบานหรรษา

ข้อสำคัญ การที่จะเกิดความรู้สึกรื่นรมย์ชื่นใจอย่างนั้น ก็เนื่องจากพระคุณลักษณะส่วนพระองค์ คือพระอาการที่ทรงยิ้มแย้มแจ่มใส ฉายพระเมตตาเด่นชัดออกมา อย่างที่พูดตามภาษาชาวบ้านว่าให้ความรู้สึกเป็นกันเอง สบายๆ ผ่อนคลาย ชื่นอกชื่นใจ ทำให้งานวันอนุสรณ์มหาจุฬาฯ ปีนั้น เด่นอยู่ในความจำของผู้เล่าดังได้กล่าวข้างต้น 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อยู่ ญาโณทยมหาเถร ป.ธ.๙) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  ภาพจากหนังสือ ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อยู่ ญาโณทยมหาเถร ป.ธ.๙) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ภาพจากหนังสือ ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

วังเวงเมื่อพายุผ่าน


แต่ไม่เท่านั้น ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง บรรยากาศแห่งการเสด็จมาของสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ วัดสระเกศ ครั้งนั้น เป็นเสมือนสายลมฉ่ำชื่น ซึ่งพัดผ่านเข้ามาในคราวที่มหาจุฬาฯ อยู่ในสภาพแห้งโหยว้าเหว่แทบจะวังเวง คราวถูกลมพายุร้ายโหมกระหน่ำ เป็นเหมือนอาคารที่เสาหลักโย้เย้ กระเบื้องมุงหลุดหาย หลังคาโหว่ น่าหวั่นเกรงแก่คนภายในที่อาศัยอยู่ ว่าตัวเรือนจะยอบแยบยุบลงไปหรือไม่

พายุร้ายอันโหมกระหน่ำมหาจุฬาฯ ที่ว่านั้น พูดสั้นๆ คือ พระภิกษุที่ดำรงตำแหน่งสั่งการเลขาธิการมหาจุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารหลักของมหาวิทยาลัย ถูกรัฐบาลคณะปฏิวัติกล่าวหาในคดีคอมมิวนิสต์ แล้วถูกจับไป ดำเนินการให้ลาสิกขาและคุมขังไว้ที่สันติบาล ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓

คดีความดำเนินคืบหน้าไป แล้วต่อมาไม่ช้า ระหว่างที่พระพิมลธรรม สภานายก เข้ามาใกล้ชิดกิจการภายในโดยคงหวังให้ความเกิดความอบอุ่นขึ้น ขณะที่ผู้บริหารซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่กำลังนำพางานจะให้เข้าที่เข้าทาง ในเดือนพฤศจิกายนปี ๒๕๐๓ นั้นเอง อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุก็ถูกถอดสมณศักดิ์ ฐานขัดพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช พ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ และจากความเป็นสภานายกมหาจุฬาฯ

พอถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วยข้อกล่าวหาในคดีคอมมิวนิสต์ทำนองเดียวกับสั่งการเลขาธิการ (ข้อหาที่แจ้งคราวนี้ว่า “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร”) อดีตพระพิมลธรรมก็ถูกจับไปดำเนินการให้สละเพศและคุมขังไว้ที่สันติบาล

นี่คือสภาพมหาจุฬาฯ เวลานั้น ซึ่งหากจะเทียบกับบ้านที่หลังคาโหว่ เสาโย้เย้ก็คงไม่ผิด ว่าถึงการเสด็จมาของสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ วัดสระเกศ ข้างต้นแม้จะเด่นอยู่ในความทรงจำของผู้เล่านี้ แต่เป็นความจำแบบภาพติดใจ โดยไม่ได้จำตัวเลข พ.ศ. กำกับไว้ด้วย ก็เลยบอก พ.ศ. ได้ไม่เด็ดขาด แต่แน่นอนว่าอยู่ในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ และคงไม่ใช่ปีอื่นจาก พ.ศ. ๒๕๐๖ หรือ ๑ ปีหลังจากองค์สภานายกถูกจับไป

ที่ว่าเป็น พ.ศ. ๒๕๐๖ ก็เพราะว่าสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ ทรงได้รับสถาปนาเนื่องในฉัตรมงคลปีนั้น คือวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๖ แล้ว ต่อจากนั้นอีก ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๕๐๘

ถ้าจะว่าเสด็จมาในปี ๒๕๐๗ ก็คงไม่ใช่ เพราะมีบันทึกว่า ในวันอนุสรณ์มหาจุฬาฯ ปี ๒๕๐๗ สมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาในภาคเช้า เสวยภัตตาหารเพลแล้ว ก็เสด็จกลับมิได้ประทับอยู่ในพิธี ส่วนในภาคบ่าย สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน ซึ่งพระโยมนิยมถวายนามว่า “สมเด็จป๋า” ได้มาเป็นประธานในพิธีแทน

ส่วนในปี ๒๕๐๘ มีบันทึกว่าเสด็จมาทรงเป็นประธานในงานวันแจกประกาศนียบัตร ของแผนกโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ในวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๘ แล้วหลังจากนั้นไม่นาน ได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๘

รวมแล้ว ไม่ว่าจะเสด็จมาคราวไหน ก็อยู่ในช่วงเวลา ๒ ปีเศษแห่งพระชนมชีพของพระองค์ อันตรงกับเวลาที่มหาจุฬาฯ กำลังพยายามฟื้นตัวจากภาวะถูกกระทบกระแทกที่กล่าวมานั้น

ในที่นี้ขอถือยุติไว้ก่อนว่า สมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ วัดสระเกศ เสด็จมาในงานวันอนุสรณ์มหาจุฬาฯ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๐๖ หลังจากทรงได้รับการสถาปนา ๒ เดือน ๑๔ วัน และการที่เสด็จมาอย่างนับได้ว่าทุกวาระแห่งงานสำคัญของมหาจุฬาฯ ดังนี้ ก็แสดงว่า ทรงมีพระเมตตาเอาพระทัยใส่ให้ความสำคัญแก่มหาจุฬาฯ และเป็นพลังช่วพยุงหนุนมหาจุฬาฯ เป็นอย่างมาก ในยามยากอย่างนี้

การที่สมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ เสด็จมามหาจุฬาฯ นั้น คงมิใช่เป็นแค่สายลมเย็น แต่เป็นเครื่องยั้งยันไว้ ให้มหาจุฬาฯ คงมั่นอยู่ในที่ได้ ไม่ซวนเซเสียหลักไป

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ขอขอบคุณที่มาจาก เว็บไซต์สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ HE REGULATORY OFFICE FOR OVERSEAS DHAMMADUTA BHIKKHUS https://www.obhik.com/ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐


ที่มา: หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here