“ ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน สมาธิแบบชาวบ้าน”
จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๑
(ตอนที่ ๔)
จากธรรมนิพนธ์เรื่อง
“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
คำนำผู้เขียน
ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชรา
โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน
การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น
หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖
เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา
พระมหาเทอด ญาณวชิโร
มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗
เจริญพรโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง …
คราวที่แล้วอธิบายเรื่องศึกษาพระธรรม ด้วยการฟังเทศน์ และอ่านหนังสือธรรม ว่า หลังจากสำรวจศีลแล้วให้เปิดเทปธรรมะฟัง เนื่องจาก ตอนเช้า เป็นเวลาเงียบสงบ และเราก็ได้นอนหลับมาเต็มที่ จิตยังผ่องใสจึงเหมาะแก่การฟังธรรม หรือจะเปิดหนังสือธรรมะอ่านสักหน้าสองหน้าก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม ….
ครั้งนี้จะอธิบายเรื่อง
ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน สมาธิแบบชาวบ้าน
ก่อนนอนควรไหว้พระสวดมนต์ อันเป็นขนบธรรมเนียม เป็นแบบแผน และเป็นหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการนอนของคนไทยแต่โบราณ เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆอริยเจ้า การสวดมนต์ก่อนนอนเป็นกุศโลบายเพื่อผ่อนคลายจิต หรือเป็นการลดระดับจิตที่วิ่งวุ่นมาทั้งวันให้สงบระงับก่อนเข้าสู่ความหลับ เพื่อไม่ให้หลับไปพร้อมกับความกระวนกระวายกระสับกระส่าย
หากวันไหนมีกิจมาก เหนื่อยล้า ไม่มีเวลา อย่างน้อย ควรได้กราบหมอนสัก ๓ ครั้ง ว่า นะโม ๓ จบ หรืออย่างไม่ได้จริงๆ ล้มตัวลงนอน ยกมือไหว้จรดหัว แค่นี้ก็ทำให้ชีวิตงดงาม ตามแบบอย่างชาวพุทธที่ดีแล้ว
การสวดมนต์ หากสวดเป็นภาษาบาลีไม่ได้ ก็นึกเป็นภาษาไทย แล้วนึกทบทวนรอบวันที่ผ่านมา คือ ให้สำรวจดูว่า ศีลเราบริสุทธิ์หรือเปล่า ถ้าบริสุทธิ์ก็ให้นึกดีใจว่า “วันนี้ศีลเราบริสุทธิ์” ถ้าศีลขาด หรือด่างพร้อยไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ก็ให้นึกว่า “พรุ่งนี้จะตั้งใจใหม่ให้มั่นคงขึ้นกว่านี้” นึกตลอดไปถึงการทำบุญให้ทานที่ได้ทำ
ในที่นี้ จะแนะนำวิธีสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอนแต่พอสั้นๆ ให้เลือกปฏิบัติตามความเหมาะสม
นอนอย่างไรให้เป็นสุข
การนอนเป็นอิริยาบถใหญ่ที่สำคัญของคนเรา พระพุทธเจ้าทรงสอนเราให้รู้จักใช้การนอนทำสมาธิอีกอิริยาบถหนึ่ง นอกเหนือจากการทำสมาธิแบบนั่ง (สมาธิ) และเดิน (จงกรม) เป็นการใช้การนอน บริหารจิตใจให้สะอาดผ่องใสงดงาม ไม่หยาบกระด้างก้าวร้าว
การไหว้พระก่อนนอน เป็นรูปแบบวิถีชีวิตอันงดงามของชาวไทยมาแต่โบราณ ว่าโดยรูปแบบการไหว้พระก่อนนอน ยึดแบบมาจากการทำสมาธิ แต่แทนที่จะใช้วิธีนั่งบริกรรมคำใดคำหนึ่ง เช่น พุท-โธ, พองหนอ-ยุบหนอ, สัมมาอะระหัง เป็นต้น เพื่อเป็นสื่อให้เข้าถึงความสงบ ก็กลับใช้การไหว้พระสวดมนต์ เป็นอุบาย
การไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน จึงเป็นวิธีการเข้าสู่สมาธิ ตามวิถีชีวิตแบบไทยๆ มาแต่โบราณ เพื่อเป็นสื่อให้เข้าสู่ความหลับอย่างสบาย ไม่กระสับกระส่าย เมื่อหลับก็ไม่ฝันร้าย ตื่นก็สดชื่นไม่ง่วงซึม เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เมื่อจักเกิดเหตุร้ายในชีวิต ก็ทำให้เกิดนิมิตรู้ล่วงหน้า ที่เรียกว่า “เทพสังหรณ์” คือ เทวดาบอกเหตุล่วงหน้า
เหตุแห่งความฝัน
ความฝันเกิดจากสาเหตุใดนั้น เป็นการอยากที่จะอธิบายได้ เพราะมีคำอธิบายจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแพทย์ ทางด้านจิตวิทยา ตลอดจนนักจิตวิเคราะห์ทั้งหลาย ต่างก็มีคำอธิบายที่แตกต่างกันออกไป
เฉพาะในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรานั้น ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้คนเราฝันไว้ ๔ ประการ คือ
ธาตุโขภะ ธาตุในร่างกายกำเริบปั่นป่วน
เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย อันมีสาเหตุมาจากการ เปลี่ยนแปลงของธาตุในร่างกาย ทำให้ธาตุเกิดความไม่สมดุล เช่น ธาตุไฟมากไป ทำให้ตัวร้อน กลายเป็นไข้ ไม่สบาย ก็ทำให้ฝัน ได้ธาตุน้ำมากไป เกิดปวดปัสสาวะขณะหลับ ก็ทำให้ฝัน เป็นต้น ความฝันเช่นนี้มักเกิดขึ้นเมื่อนอนผิดท่า หรือเจ็บป่วยเป็นไข้ ไม่สบาย จนบางครั้งทำให้นอนละเมอเพ้อพกจับความไม่ได้เหมือนคนขาดสติ
เรื่องที่ฝันมักเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความน่ากลัวต่างๆ เช่น ฝันว่า ตกจากภูเขาหรือตกจากที่สูงลอยไปในอากาศเหมือนเหาะได้ ถูกภูตผีปีศาจ ยักษ์มารวิ่งไล่ ถูกสัตว์ร้าย เช่น เสือ ช้าง หรือโจรผู้ร้ายวิ่งไล่ ฆ่าฟัน เป็นต้น ในขณะที่วิ่งหนี มีความรู้สึกว่าวิ่งได้ช้ามาก ช้าจนบางครั้งเราต้องกระโดดสองขาแทน การวิ่ง เพื่อหนีจากสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวนั้น พอรู้สึกตัวตื่นก็เหนื่อย แทบขาดใจ เหมือนวิ่งมาด้วยความเร็วหลายสิบกิโลเมตร
อนุภูตปุพพะ ฝันเนื่องมาจากอารมณ์ที่ได้ประสบมา
ความฝันชนิดนี้เกิดจากจิตที่หมกมุ่นครุ่นคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ประสบพบเห็น หรือได้ยินได้ฟังมาในชีวิตประจำวัน เช่น ประสบเหตุการณ์บางอย่างมา จิตจะเก็บเหตุการณ์นั้นไว้แล้วกลายเป็นความฝัน แม้บางครั้งเรามีความรู้สึกว่า ลืมเหตุการณ์นั้นไปนานแล้ว แต่จิตยังคงเก็บเหตุการณ์นั้นไว้ในจิตใต้สำนึก เพียงรอเวลาแสดงออกเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์นั้นมาปรากฏในความฝัน จึงทำให้นึกขึ้นได้ทันที อารมณ์นั้นอาจเป็นเรื่องในอดีตชาติ อาจเป็นอารมณ์ที่เราประสบมาช้านาน หรือเพิ่งจะผ่านไปในวันนั้นแล้ว เก็บฝังไว้ในจิตใต้สำนึกแล้วฝันไปก็ได้
เทวตูปสังหรณ์ เทวดาบอกเหตุให้รู้ล่วงหน้า
ความฝันที่เทวดานำมา เป็นสาเหตุที่จะบอกเล่าเรื่องราว หรือเหตุการณ์บางอย่างให้ผู้ฝันรับรู้ความฝันนั้น อาจเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ตามอำนาจการบันดาลของเทวดา ถ้าเทวดารักเมตตา ปรารถนาจะให้การคุ้มครองรักษา และหวังประโยชน์จะบันดาลให้ฝันดี และเป็นผลในทางที่ดี ส่วนการที่จะฝันดีและเป็นผลดี ตามอำนาจของเทวดานั้น ผู้ฝันต้องเป็นที่รักของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายด้วย
การจะเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็ต้องเป็นผู้มีทาน คือ การให้ปันสิ่งของตามโอกาส มี ศีล คือ ความสะอาดกายและสะอาดวาจา ความสงบเสงี่ยม อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่หยาบกระด้างก้าวร้าว อวดดื้อถือดี ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่น และมีธรรมอันงาม คือ หมั่นฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้สะอาดผ่องแผ้ว
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ผู้มีศีลมีธรรมอันงามย่อมเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีศีลธรรมงามอย่าว่าแต่มนุษย์เลยที่รัก แม้เทพ เทวาทั้งหลาย ก็ชื่นชมต่อการปรากฏตัวของเขา
พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เทวดาได้นำเรื่องนั้นมาบอกให้รู้ล่วงหน้าก่อนที่จะได้รับข่าวจากผู้คน ซึ่งเป็นความหวังดีของเทวดา ในทางตรงกันข้าม หากเทวดาโกรธหวังจะให้พินาศ ก็จะให้นิมิตที่ไม่ดีต่างๆ แสดงให้รู้ถึง ความไม่พอใจ หรือความต้องการบางอย่างของเทวดา
ยกตัวอย่างพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาเช่นกัน ขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช ไม่ทราบว่าอยู่แห่งหนตำบลใด พระเจ้าสุทโธทนะ ก็เฝ้าแต่คิดถึง อยู่มาวันหนึ่ง เทวดาฝ่ายที่ไม่ปรารถนาดี ได้มาเข้าฝัน โดยถือห่อกระดูกมาด้วย แล้วบอกว่า เจ้าชายสิทธัตถะตายแล้ว เป็นต้น
บางครั้งเทวดาให้ฝันดี แต่มีผลร้าย ในคัมภีร์ทางศาสนา ได้ยกตัวอย่างพระเถระรูปหนึ่ง จำวัดอยู่ในวิหารแห่งหนึ่ง ตัดต้นไม้ซึ่งเทวดาสิงอยู่ ต้นไม้นั้นเป็นต้นไม้ใหญ่ จึงเป็นวิมานของเทวดา เทวดาโกรธมาก หลอกให้พระเถระตายใจ โดยมาเข้าฝัน บอกความจริงให้ทราบหลายครั้งหลายคราว ไม่เคยผิดพลาด ซึ่งถือว่าเป็นฝันดี
เมื่อพระเถระตายใจแล้ว คราวหนึ่ง เทวดาจึงเข้าฝันบอกว่า “อีก ๗ วันพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นอุปัฏฐากจะสิ้นพระชนม์” เพราะความที่พระเถระฝันแล้วจริงมาตลอด ท่านจึงบอกความฝันนั้นแก่คนทั้งหลาย จนความทราบถึงพระเจ้าแผ่นดิน ท้าวเธอ ระวังพระองค์จนตลอด ๗ วันล่วงไปแล้ว ก็ไม่เกิดอันตรายแต่อย่างไร จึงกริ้วพระเถระว่า คิดการขบถ รับสั่งให้ตัดมือตัดเท้าพระเถระเสีย
บุพนิมิต นิมิตบอกเหตุดีร้ายให้รู้ล่วงหน้า
ความฝันชนิดนี้เกิดด้วยอำนาจบุญกุศล และอำนาจบาปกรรม หรือเป็นบุพนิมิตแห่งการที่จะต้องเสวยผลแห่งบุญกุศล ซึ่งเป็นฝ่ายดี และเป็นบุพนิมิตแห่งการที่จะต้องเสวยผลแห่งบาปกรรม ซึ่งเป็นฝ่ายชั่ว
ความฝันที่เรียกว่า “บุพนิมิต” เป็นผลมาจากอำนาจบุญและอำนาจกรรมที่คนๆ นั้น ได้สั่งสมอบรมและกระทำไว้มาบันดาลให้ปรากฏเป็นลางบอกเหตุ พูดง่ายๆ ถึงเวลา ที่บุญ หรือกรรมจะให้ผลก็จะเกิดนิมิตให้รู้ล่วงหน้าทั้งบุญและกรรม ล้วนเป็นนิมิตที่ปรากฏให้ทราบล่วงหน้า เมื่อแรกจะตั้งครรภ์ พระนางสิริมหามายา มารดาของพระโพธิสัตว์ ทรงฝันว่า พระยาช้างเผือกหากินอยู่ในภูเขาใหญ่ เข้ามาเดินประทักษิณ เวียนขวารอบพระองค์ แล้วแหวกเข้าอยู่ในพระครรภ์ ต่อมา พระองค์ก็ทรงครรภ์ ความฝันนี้จึงเป็นบุพนิมิตแห่งการเสวยผลบุญที่เป็นลางบอกให้รู้ล่วงหน้าว่า พระองค์จะได้พระโอรสผู้เลิศ
นอกจากนั้น พระเจ้าโกศลราชทรงพระสุบิน ๑๖ ข้อ ดัง ปรากฏในมหาสุบินชาดก แต่ละข้อเป็นบุพนิมิตที่ปรากฏให้ทราบล่วงหน้า ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคต ทั้งความเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์ ธรรมชาติ และภัยพิบัติ นานาประการ
ในคัมภีร์ทางศาสนายังได้กล่าวอีกว่า ความฝันชนิดธาตุโขภะ และ อนุภูตปุพพะ ไม่ควรเชื่อถือ ไม่เป็นจริง เพราะสติไม่อยู่ในสภาพปกติ ความฝันชนิด เทวตูปสังหรณ์ เป็นจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทวดาผู้มาเข้าฝันเป็นตัวแปรว่ามีความประสงค์เช่นไร
ส่วนความฝันชนิดบุพนิมิตนั้น ท่านยืนยันอย่างแน่นอนลงไปเลยว่าเป็นความจริงตามที่ฝันทุกประการไม่คลาดเคลื่อน และท่านให้ข้อสังเกตว่า ความฝันที่เป็นบุพนิมิตโดยมากจะปรากฏเฉพาะในเวลาค่อนรุ่ง ทั้งนี้เพราะเวลาหัวค่ำ และเวลาเที่ยงคืนนั้น เป็นเวลาที่ร่างกายกำลังเผาผลาญอาหาร ธาตุไฟ กำลังทำงาน ทำให้ธาตุในร่างกายคนเราไม่ปกติ จึงมีผลทำให้ความฝันคลาดเคลื่อนไม่แน่นอน ความฝันนั้นอาจจริงก็ได้ไม่จริงก็ได้ พูดง่ายๆ คือ ตั้งแต่หัวค่ำจนถึงหลังเที่ยงคืน ธาตุในร่างกาย ยังทำงานอยู่ แต่เวลาค่อนรุ่งเป็นเวลาที่ร่างกายเผาผลาญอาหารเสร็จแล้ว ร่างกายอยู่ในสภาพปกติ ความฝันที่ปรากฏในช่วงนี้จึงเป็นจริงอย่างแน่นอน เพราะเป็นความฝันที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของร่างกาย แต่เป็นความฝันที่ปรากฏเพราะอำนาจบุญกุศล และ อำนาจบาปกรรมของผู้นั้น
ถ้าความฝันเกิดจากอำนาจบุญกุศลก็จะฝันดี และมีผลดี ถ้าฝันเกิดจากอำนาจบาปกรรมก็จะฝันร้าย และมีผลร้ายด้วย ความฝันชนิดบุพนิมิตจะไม่มี “ฝันร้ายกลายเป็นดี” หรือ “ฝันดีกลายเป็นร้าย” ถ้าความฝันร้ายก็จะมีผลร้าย ฝันดีก็จะมี ผลดี ท่านจึงให้ข้อสังเกตไว้ว่า
ถ้าฝันในเวลาค่อนรุ่ง ให้สันนิษฐานว่าเป็น “บุพนิมิต” แห่งอำนาจบุญ หรือกรรมที่กำลังจะให้ผล ซึ่งปรากฏให้เรารู้ล่วงหน้า
นอกจากนั้น ในคัมภีร์ทางศาสนายังได้แสดงอาการที่จิตคนเราจะเข้าสู่ภาวะความฝันไว้ว่า ถ้านอนหลับสนิทจะไม่ฝัน ตื่นอยู่ก็ไม่ฝัน แต่เวลาที่ฝันเป็นเวลาที่จิตกำลังอยู่ในช่วงหลับเหมือน การหลับของลิง คือ หลับๆ ตื่นๆ หรือครึ่งหลับครึ่งตื่นนั่นเอง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นการยากที่จะระบุลงไปได้อย่างชัดเจนว่า ที่เราฝันนั้นเป็นความฝันชนิดใด จริงหรือไม่จริง เพียงนำหลักเกี่ยวกับความฝันทางพระพุทธศาสนามาให้โยม ทั้งสองรู้ไว้เป็นข้อสังเกตเท่านั้น ส่วนความฝันทางด้านการแพทย์ และนักจิตวิเคราะห์ เห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องพูดถึงในที่นี้ เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนา
ต่อไปนี้ เป็นวิธีไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน จำได้ว่า เมื่อยังเด็ก โยมทั้งสองเคยสอนให้อาตมาไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน บทสวดมนต์ที่อาตมาจำขึ้นใจมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คงเป็นบท นะโม ๓ จบ ถึงวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ อาตมามีหน้าที่เก็บดอกไม้ให้โยมแม่ใหญ่ไปบูชาพระที่วัด และบูชาพระที่หัวนอน ภาพต่างๆ ยังอยู่ในความทรงจำของอาตมาไม่ลบเลือน
วิธีไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน
บทกราบพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิฯ (กราบ)
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิฯ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิฯ (กราบ)
บทนมัสการพระพุทธเจ้า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะฯ (ว่า ๓ จบ)
บทไตรสรณคมน์
พุทธัง สะระณัง คัจฉาม
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ฯ
(ถ้าพอเท่านี้ ก็ให้ข้ามไปสวดบทแผ่เมตตา หน้า ๔๐ ต่อได้)
หลังจากนี้ให้นั่งพับเพียบ และเลือกสวดมนต์ตามที่ต้องการ สุดแล้วแต่ว่า ใครจะมีบทสวดมนต์พิเศษออกไปอย่างไร บางคนมีพระคาถาบทต่างๆ บางคนสวดพระคาถาชินบัญชร เป็นต้น เสร็จแล้ว สวดบทถวายพรพระ เป็นลำดับสืบไป
บทถวายพรพระเป็นคาถาที่พรรณนาถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าชนะมาร ผ่านพ้นอุปสรรคครั้งสำคัญไปได้ด้วยดีด้วยวิธีของพระองค์เอง
เป็นคาถาว่าด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ ที่มีต่อพญามาร (พญาวสวัตตีมาราธิราช) ,อาฬวกยักษ์, ชางนาฬาคิรี,องคุลีมาล, นางจิญจมานวิกา, สัจกนิคนธ์,นันโทปนันทนาคราช และท้าวมหาพรหม
การสวดถวายพรพระ เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตผ่านพ้นปัญหา อุปสรรคและภยันตรายต่างๆ ในชีวิตไปได้ คนไทยตั้งแต่โบราณจึงนิยมสวดบทถวายพรพระในชีวิตประจำวัน และ นิยมนิมนต์พระสงฆ์มาสวดในการทำบุญในโอกาสต่างๆ
แม้ในปัจจุบัน ที่วัดสระเกศ หลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จ พระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ก็ให้พระสงฆ์ภายในวัดสาธยาย บทถวายพรพระนี้ตามโบราณคติ หลังทำวัตรเย็นทุกวันมิได้ขาด
เมื่อครั้งที่อาตมาบวชเป็นสามเณรใหม่ๆ นอกจากบท ยะถาฯลฯ สำหรับให้พรญาติโยม และบทปฏิสังขาโยฯลฯ สำหรับพิจารณาอาหารบิณฑบาตที่ต้องจำแล้ว ก็ยังมีบทถวายพรพระนี่แหละ ที่ถูกบังคับให้ท่องจำเป็นอันดับแรก รู้สึกว่าท่องยากมาก กว่าจะจำได้ แต่ละบทแสนจะยาก แต่เมื่อจำได้แล้ว กลับเป็นบทที่สวดแล้วมีความไพเราะจับจิต และติดอยู่ในใจตลอดมา
บทถวายพรพระ
อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะ สัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู, อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา, เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ ฯ
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก, โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติฯ (อ่านว่า วิญญูฮีติ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต, สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะ สังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเณยโย, อัญชะลีกะระณีโย, อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ ฯ
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะ มารัง ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ
มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติ
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ
นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสาภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ
อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง
ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ
กัตะวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ
สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ
นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิธูปะเทสะวิธินา ชิตะนา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ
ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พรัมมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ
เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา
โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที
หิตะวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ
โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญฯ
มะหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง
ปูเรตะวา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เต ชะยะมังคะลัง ฯ
ชะยันโต โพธิยา มูเล สักกะยานัง นันทิวัฑฒะโน
เอวัง ตะวัง วิชะโย โหหิ ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล
อะปะราชิตะปัลลังเก สีเส ปะฐะวิโปกขะเร
อะภิเสเก สัพพะพุทธานัง อัคคัปปัตโต ปะโมทะติ ฯ
สุขักขัตตัง สุมังคะลัง สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง
สุขะโณ สุมุหุตโต จะ สุยิฏฐัง พรัมมะจาริสุ
ปะทักขิณัง กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง
ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง ปะณิธี เต ปะทักขิณา
ปะทักขิณานิ กัตะวานะ ละภันตัตเถ ปะทักขิเณ ฯ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะธัมมานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
การแผ่เมตตา คือ การตั้งความปรารถนาดีไปในมวลสรรพสัตว์ ตลอดจนเทพเทวา ภูติ ผีปีศาจทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไร้พรมแดนขีดคั่น ไม่ว่าเขาผู้นั้น หรือสัตว์นั้นจะเป็น เชื้อชาติ ศาสนาอะไร จะเกี่ยวข้องกับเรา โดยความเป็นญาติ โดย ความเป็นประเทศ เชื้อชาติ ศาสนาหรือไม่ก็ตาม ให้มีจิตกว้างขวางไร้พรมแดน ไม่มีขอบเขตขีดคั่น ขอให้เขาได้มีความสุข อย่าได้มีความทุกข์ระทมขมขื่นใจ
ในการดำเนินชีวิต สิ่งที่ทุกคนปรารถนาก็คือความสุข และต้องการหลีกเลี่ยงจากภัยอันตรายต่างๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ เราต้องการความสุขอย่างไร คนอื่นและสัตว์อื่นก็ต้องการความสุขอย่างนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เอาความรู้สึกตัวเราเอง เปรียบเทียบกับความรู้สึกของคนอื่นและสัตว์อื่น จะได้เห็นอกเห็นใจ (มีเมตตา) คนอื่นและสัตว์อื่นมากขึ้น แล้วไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ให้ได้รับความระทมขมขื่นใจ
การแผ่เมตตาจึงควรแผ่ให้ทั้งแก่ตนเองและคนอื่น ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยตั้งความปรารถนาให้ทุกสรรพชีวิตมีความสุขเสมอกัน อย่าได้เบียดเบียนข่มเหงน้ำใจซึ่งกันและกัน
ก่อนแผ่เมตตาควรทำสมาธิ ๓-๕ นาที น้อยหรือมากกว่านั้นตามโอกาส เพื่อให้จิตอ่อนโยน งดงาม สว่าง สะอาด ผ่องแผ้ว จิตที่ผ่องแผ้วเกิดจากกำลังสมาธิ แม้จะชั่ว ระยะเวลาสั้น ก็เป็นจิตที่ว่างจากความอาฆาตพยาบาท ความอิจฉาริษยา ว่างจากกามราคะ ว่างจากความทะยานอยาก และ ว่างจากความหม่นหมองเศร้าซึม ลังเลสงสัยจับจด ไม่แน่นอน จึงเหมาะแก่การแผ่เมตตา
ในการแผ่เมตตาไม่จำเป็นต้องกล่าวเป็นภาษาบาลีเสมอไป
แต่ที่นำภาษาบาลีมาก็เพียงเพื่อจะให้ได้รูปแบบที่ใช้โดยทั่วไปเท่านั้น แม้จะไม่กล่าวเป็นภาษาบาลี ก็ให้นึกเป็นภาษาไทย ขอให้เป็นภาษาของความรู้สึก เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ รู้สึกเมตตาสงสารการเกิดของตนเอง ที่ต้องเผชิญความทุกข์ ความเศร้าโศก โรคภัยไข้เจ็บ และต้องเผชิญกับความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่รู้จักจบสิ้น ความรู้สึกนี้ให้เกิดตลอดไป จนถึงสรรพสัตว์ทุกจำพวกทุกหมู่เหล่า แม้แต่ศัตรูที่จ้องทำลายล้างเรา ก็ให้รู้สึกเช่นนั้น ให้นึกไปถึงสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น เทวาอารักษ์ พระภูมิเจ้าที่ทั้งหลายด้วย
การแผ่เมตตานั้น แม้กล่าวเป็นภาษาบาลี แต่ความรู้สึกไม่ได้เป็นไปตามภาษาที่กล่าว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่ควรยึดรูปแบบให้มาก
คำแผ่เมตตาให้แก่ตนเอง
อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
นิททุกโข โหมิ ปราศจากความทุกข์
อะเวโร โหมิ ไม่มีเวรไม่มีภัย
อัพยาปัชโฌ โหมิ ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
อะนีโฆ โหมิ ไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ มีความสุขกายสุขใจและรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น เถิด ฯ
คำแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมด ทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ และ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกัน ทั้งสิ้นเทอญ
จากนี้นึกอธิษฐานใจ ถึงญาติบรรพบุรุษทั้งสองฝ่ายของเรา คือ ปู่ ย่า ตา ยาย เรื่อยมาโดยลำดับ จนถึงมารดาบิดา แม้ยังมีชีวิตอยู่ก็ขอให้ท่านมีความสุข มีสุขภาพ ร่างกายแข็งแรง อธิษฐานถึงเทวาอารักษ์ เจ้ากรรมนายเวรได้อนุโมทนา เพื่อจะได้เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญที่เราได้ทำในแต่ละวัน เมื่ออนุโมทนาแล้ว ขอให้ทำการคุ้มครองปกปักรักษาให้มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในชีวิต มีความร่มเย็นเป็นสุขแก่ตัวเราเอง และทุกๆ คนในครอบครัว เสร็จแล้วกราบ ๓ หน
ขณะนอนทำสมาธิภาวนา ด้วยการกำหนดจิตตามดูลมหายใจ
ขณะกำลังนอนให้นึกภาวนาตามลมหายใจ คือ เอาความรู้สึกไปตามดูลมหายใจ เมื่อหายใจเข้า ก็รู้สึกว่าลมหายใจผ่านเข้าไปในโพรงจมูกผ่านหน้าอกจนถึงท้องที่กำลังขยายพอง ขึ้น ดันซี่โครงจนลมเต็มปอด เมื่อหายใจออก ให้นึกตามลมหาย ใจที่กำลังออกมาจากท้อง ผ่านหน้าอกแล้วไหลรินผ่านโพรงจมูก เมื่อหายใจเข้าต้นลมอยู่ที่ปลายจมูก กลางลมอยู่ที่หน้าอก ปลายลมอยู่ที่ท้อง เมื่อหายใจออกต้นลมอยู่ที่ท้อง กลางลมอยู่ที่หน้าอก ปลายลมอยู่ที่จมูก หรือจะดูอาการ ยุบ-พองของท้องจนลมหายใจหยุดอยู่
ลมหายใจคนเรานั้น หากพิจารณาให้ละเอียดแล้ว จะพบว่า เมื่อหายใจเข้าจนลมหายใจเต็มปอด ก่อนจะหายใจออกมา ลมจะหยุดอยู่ครู่หนึ่งก่อนแล้วจึงหายใจออกมา ดูให้เห็นชัดเจนถึงขนาดนี้ จึงเรียกว่า “จิตตามดูลมหายใจ”
คำว่า “จิตตามดูลมหายใจ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงดูด้วยตา แต่ให้รู้ด้วยความรู้สึกว่า ลมหายใจเป็นอย่างนี้ๆ เอาความรู้สึกไปตามลมหายใจ นึกอย่างนี้ไปจนกว่าจะหลับ อย่าให้หลับไปกับความคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่าน คิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี่ คิดถึงคนโน้นคนนี้ ต้องเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ คือ เมื่อหลับก็หลับไปกับลมหายใจ อย่าหลับไปกับโลกของอดีตหรือโลกของความใฝ่ฝัน เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาก็ตื่นมากับลมหายใจ อย่าตื่นมากับการละห้อยหาอดีต หรือการโหยหาโลกแห่งความใฝ่ฝัน พอรู้สึกตัวก็นึกถึงลมหายใจก่อนอย่างอื่น อย่านึกถึงคนโน้นคนนี้ สิ่งโน้นสิ่งนี้ นึกถึงลมหายใจก่อน เสร็จแล้วค่อยเปิดเทศน์ฟัง และทำกิจทำหน้าที่ของตนที่มีต่อไป
การดูลมหายใจก่อนนอน อาจจะทำให้หลับยากในระยะแรก เพราะจิตมัวเป็นกังวลอยู่กับลมหายใจว่าจะเข้า หรือจะออก แต่พอปฏิบัติไปสักระยะหนึ่ง ก็จะเห็นเป็นธรรมดา ถึงเวลานั้นเราไม่ได้ใส่ใจแล้วว่า ลมหายใจจะเข้าหรือจะออก เราเป็นแต่เพียงผู้รู้อาการที่ลมกระทบจมูก ขณะเข้าขณะออกเท่านั้น
เราเป็นแต่เพียงผู้รู้ว่า มีลมหายใจ ลมหายใจมีอยู่ แต่ผู้หายใจไม่มี
การทำอย่างนี้ เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม” หรือ “ทำสมาธิ” หรือ “บำเพ็ญภาวนา” แต่ถ้าวันไหนที่ตื่นขึ้นมาแล้ว ไม่มีลมหายใจ ให้ดูให้พิจารณาตาม หรือให้กำหนดตาม ก็คือวันที่เราไม่มีธรรมจะให้ปฏิบัติ และวันที่เราไม่มีโอกาสจะได้ปฏิบัติธรรมต่อไป
ตามที่กล่าวมาทั้งหมด ตั้งแต่ตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ และปฏิบัติธรรม ข้อที่ได้บุญกุศลมากที่สุด คือ ปฏิบัติธรรมอยู่กับลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นการมุ่งเข้าไปสูการขัดเกลาจิตโดยตรง
แม้การปฏิบัติธรรมจะได้บุญมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ หรือการทำบุญกุศลอย่างอื่นไม่สำคัญ แท้จริงแล้ว ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพียงจัดระดับให้เห็นความสำคัญของการทำบุญ อย่างธรรมดา อย่างกลาง และอย่างสูงสุดเท่านั้น
แม้การปฏิบัติธรรม การรักษาศีล ๘ หรือศีลอุโบสถ ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปปฏิบัติกับพระสงฆ์ที่วัด ปฏิบัติธรรมที่บ้านนี่แหละ ปฏิบัติธรรมอยู่กับลมหายใจ ทำที่ไหนเวลาไหนก็ได้ กลางวันนั่งอยู่หน้าบ้าน นึกอยากทำสมาธิ ก็เอาสติไปตามดูลมหายใจ ครั้ง ละ ๓ นาที ๔ นาที หรือ ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที สองครั้งสามครั้ง ก็ได้ แล้วแต่โอกาส
อย่าไปยึดว่า ต้องไปทำสมาธิที่นั่นที่นี่ และต้องนั่งสมาธิได้เท่านั้นนาทีเท่านี้นาที จะกี่นาทีก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน คงเคยได้ยินพระสงฆ์ท่านเทศน์สอน การทำสมาธิชั่วช้างกระพือหูชั่วงูแลบลิ้น ก็เป็นบุญมหาศาล ยากจะคำนวณนับอานิสงส์ได้
การทำสมาธินั้น แม้จะนอนอยู่ดูลมหายใจก็ได้ นั่งอยู่ดูลมหายใจก็ได้ ยืนอยู่ดูลมหายใจก็ได้ ถ้าความรู้สึก หรือสติยังอยู่กับลมหายใจเป็นอันใช้ได้ ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนา เช่นกัน ให้ทานก็ให้มาตลอด ตักบาตรหยาดน้ำไม่ได้ขาด ลอง ปฏิบัติธรรมดูบ้าง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
“ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน สมาธิแบบชาวบ้าน” จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๑ (ตอนที่ ๔) จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)