ปุจฉา (Question) : พรหมวิหารจะนำใช้ในสถานการณ์ที่โรคระบาดจากโควิด-๑๙ ได้อย่างไรในช่วงนี้ เพราะดูเหมือนว่า ผลจากโควิด ไม่รุนแรงเท่ากับผลกระทบทางด้านจิตใจในทุกด้านมากกว่า และเราจะรู้เท่าทันกิเลสในตัวเราอย่างไร อีกทั้งจะใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องไปจนถึงจิตใจอย่างไร
Q&A Quickly Dhrama Healing
กับ พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง
แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี วิสัชนา (Answer) : พรหมวิหาร ๔ ประกอบด้วย เมตตาคือความรักปรารถนาให้คนมีความสุข กรุณาคือความสงสาร ช่วยเหลือเพื่อให้คนพ้นทุกข์ มุทิตาคือความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี อุเบกขาคือความวางเฉยด้วยปัญญา เมื่อผู้นั้นจำต้องแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
หากแบ่งตามนี้จะพบว่า จิตมนุษย์นั้น เมื่อต้องพบอุปสรรคปัญหาจะต้องการความสุข ต้องการหลุดพ้นจากทุกข์ ต้องให้ให้คนอื่นมาร่วมยินดี และไม่ต้องการอยู่ลำพังคนเดียว
ฉะนั้น เมื่อประสบปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทุกคนต่างหาที่พึ่งยึดเหนี่ยว คนที่เคยชินกับวิถีชีวิตแบบโลกก็จะหันไปพึ่งพิงวัตถุเป็นอันดับแรก เช่น เงิน, ทอง, ข้าวของเครื่องใช้ หากการพึ่งพิงนั้นไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น ทุกคนก็จะเริ่มหันไปพึ่งพิงทางด้าน “จิตใจ” แทน (ซึ่งอาจสายเกินไปเหมือนสำนึกได้เมื่อสายเสียแล้ว) เพราะความทุกข์นั้นไม่ได้ส่งผลต่อร่างกาย แต่ส่งผลต่อจิตใจโดยตรงต่างหาก พระพุทธศาสนาจึงสอนการเป็นที่พึ่งพิงจิตใจด้วยการแผ่ความสุข (หรือแบ่งปันสิ่งที่เราชอบหรือเรารู้สึกดีกับผู้อื่น) เพราะวิธีนี้เป็นวิธีเบื้องต้นในการอยู่ร่วมกัน
ดังพุทธพจน์ที่ว่า “เนกาสี ลภเต สุขํ” แปลว่า ผู้รับประทานคนเดียวไม่ได้ความสุข การแบ่งปันความสุขต่อกันจึงเป็นวิธีการสร้างสุขของเราให้มั่นคงและยั่งยืน
วิธีการแบ่งปันความสุขจึงเป็นวิธีคิดพื้นฐานของมนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้ และเป็นพื้นฐานทางด้านจิตใจที่จะมีความสุขเป็นที่พึ่ง เพราะหากเรายึดถือพรหมวิหาร ๔ ไว้ได้ตลอดเวลาก็เหมือนกับยึดความสุขไว้ได้ และหากพบเจอความทุกข์ก็ปล่อยวางได้ง่ายเช่นเดียวกัน ทั้งหมดเป็นฐานแห่งการเข้าใจการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขสงบ
หากลองยึดอีกแนวทางที่ตรงข้ามจากนี้ เมื่อจิตใจเราต้องทุกข์จากปากท้องแล้วค่อยๆ เติมความโกรธเกลียดลงไปทีละน้อย ทุกคนที่คิดแบบเดียวกันนี้ สังคมจะอยู่แบบมีแต่คนที่มีแต่ความเกลียด ความโกรธต่อกันอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็ไม่มีใครได้ความสุขจริง มีเพียงใจที่หวาดระแวง กลัวทุกอย่างจะสูญเสียไป ปล่อยวางไม่ได้ จิตใจก็จะยิ่งทุกข์ ดิ้นรนไม่จบสิ้น
เพราะโรคระบาดที่เกิดจากโควิด-๑๙ หรือโรคใดๆ ล้วนเป็นผลจากจิตใจที่ไร้ความรักความเมตตาต่อกันต่างหาก
ยิ่งโรครุนแรงขึ้นก็เพราะจิตใจเราเติมความโกรธ เกลียดให้กันมากขึ้น พระพุทธศาสนาจึงเริ่มที่จิตใจที่ดี มีเมตตาแล้วผู้มีจิตใจดีงามก็จะทำให้โลกนี้น่าอยู่และงดงามขึ้นตามแรงกำลังจิตใจที่เรามีเมตตาต่อกันนั่นเอง
“โรคระบาดจากโควิดหรือโรคใดๆ ล้วนเป็นผลจากจิตใจที่ไร้ความรักความเมตตาต่อกัน ? ” Q&A กับ พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.