ก่อนที่ท่านพุทธทาสจะละสังขารไปเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ สิ่งหนึ่งที่ท่านเป็นห่วงคือจะทำอย่างไรให้ลูกผู้หญิงได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกับลูกผู้ชาย ดังปรากฎอยู่ในบันทึกของท่านตอนหนึ่งว่า …
มโนธาตุในใจ คือความตระหนักรู้ถึงเหตุปัจจัยในการสร้างอาศรมสำหรับลูกสาวแห่งนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นที่พึ่งของลูกผู้หญิง เพราะสวนโมกขพลารามที่เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะเงินก้อนสุดท้ายของผู้หญิงคนหนึ่ง คือคุณแม่เคลื่อน พานิช โยมแม่ของท่านพุทธทาส ที่สนับสนุนลูกให้เดินไปบนหนทางนี้จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ นั่นเอง
อานิสงส์แห่งธรรมที่ท่านพุทธทาสไม่เคยลืมคือความกตัญญูต่อพระคุณแม่ ที่ให้วิญญาณแก่ลูก จึงมีอานิสงส์มาถึงเรา ลูกผู้หญิงทุกคนที่ยังแสวงหาความสงบสุขแห่งใจเพื่อเยียวยาปัญหาที่ท่วมทับอยู่ในหัวใจให้จางคลายไป
๑๐๐ ปีชาตกาลแม่ทัพธรรมสตรี ผู้มีคุณูปการทั้งทางโลกและทางธรรม (ตอนที่ ๒) แสงสว่างจากท่านพุทธทาส เรื่องและภาพโดย หมอนไม้
ในปี ๒๕๓๗ ธรรมทานมูลนิธิ โดยมีคุณเมตตา พานิช เป็นผู้แทนจึงได้ประชุมกันเป็นระยะ ในที่สุดจึงได้มอบหมายให้อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง เป็นผู้เขียนโครงการธรรมาศรม ธรรมมาตาขึ้นมา จนกระทั่งในปลายปี ๒๕๔๒ โครงการนำร่องของธรรมาศรมธรรมมาตาก็เกิดขึ้นในชื่อว่า “โครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม”
โครงการดังกล่าว เปิดโอกาสให้ลูกผู้หญิงมาปฏิบัติธรรมและใช้ชีวิตเช่นอนาคาริกา หรือนักบวชหญิง เป็นเวลา ๔ เดือน เพื่อเรียนรู้หลักธรรมทั้งในด้านปริยัติ แล ปฏิบัติ จนเห็นผล (ปฏิเวท) ด้วยตนเอง
และในวันล้ออายุท่านพุทธทาสครบ ๑๐๑ ปี ในปี ๒๕๕๐ (ผ่านมาแล้ว ๑๕ ปี ผู้เขียนนำมาโพสต์ใหม่ในวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕) วารสาร “ธรรมมาตา” ถือกำเนิดขึ้นเป็นฉบับปฐมฤกษ์ เพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับลูกสาวและลูกชายทุกคนที่สนใจศึกษา และปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ท่านพุทธทาสศึกษาจากพระไตรปิฎก ซึ่งท่านได้มอบกายถวายชีวิตเป็นทาสของพระพุทธเจ้าเพื่อพิสูจน์ธรรมะของพระพุทธองค์ว่างามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในเบื้องปลาย จนเห็นผลมาแล้วตราบจนลมหายใจสุดท้ายเมื่อ ๑๔ ปีก่อน (ปัจจุบันก็ ๒๘ ปีแล้ว )
คงเหลือไว้เพียงธรรมะไว้ให้เราพิสูจน์กันต่อ ในนามของธรรมโฆษณ์เกือบ ๑๐๐ เล่มเช่นเดียวกับพระพุทธองค์ที่มอบพระธรรมถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์เป็นเพื่อนแท้ให้กับทุกคนมาจนถึงทุกวันนี้
ใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น สรุปลงมาเหลือเพียง ๑ คือขันธ์ ๕ ประกอบด้วย กาย ,เวทนา (ความรู้สึก ),สัญญา(ความจำได้หมายรู้ ) ,สังขาร(การปรุงแต่ง) และวิญญาณ (การรับรู้) ที่เราจะต้องเรียนรู้สืบค้นเข้าไปทุกขณะจิต ด้วยสติ สมาธิ จนกระทั่งเห็นด้วยปัญญาว่า กายเรานี้เป็นเพียงการปรุงแต่งของสังขาร ที่ทำให้เป็นทุกข์ไม่รู้จบสิ้น
และสังขาร หรือการปรุงแต่งนี้เอง เป็นตัวที่ทำให้เราเกิดภพเกิดชาติ และเป็นตัวสร้างปัญหาไม่สิ้นสุด ตลอดเวลาที่ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้น
และหนทางใดเล่าที่จะทำให้ความทุกข์จากความคิดปรุงแต่งนี้จางคลายไปได้
๒๔ ชั่วโมง ในแต่ละวัน ในช่วง ๔ เดือน ที่เราได้กลับมาอยู่กับตัวเอง ใช้ชีวิตเช่นคนไร้บ้าน มีเพียงกุฏิเล็กๆ หมอนไม้ เสื่อ กลด โคมเทียนส่องทาง อาสนะ และอาหารวันละมื้อสองมื้อ จะช่วยให้เราจางคลายจากความทุกข์ จากความคิดปรุงแต่งได้อย่างไร
พระพุทธองค์ทรงมอบอานาปานสติสูตรไว้ให้เราเป็นเครื่องมือในการแก้ความทุกข์ของเราเอง …
“เพียงเราหายใจเข้า และหายใจออก
อย่างตระหนักรู้
มีสติเกาะเกี่ยวอยู่กับลมหายใจ
ไปตลอดเวลา”
หากทำได้อย่างนี้ เมื่อจิตเป็นสมาธิ จิตก็จะเกิดปัญญา มองเห็นตามความเป็นจริงว่า ไม่มีสิ่งใดน่ายึดถือ น่าเอาน่าเป็นสักอย่างเดียว
ทุกอย่างล้วน เกิดขึ้น ตั้งอยู่และแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดคงที่แม้แต่ความคิดปรุงแต่งของเรา แล้วขันธ์ ๕ ของเราล่ะ ยังมีอะไรที่น่ายึดถืออีกเล่า
วารสารธรรมมาตาฉบับนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเพื่อนเดินทางของทุกท่าน ที่ต้องการจะศึกษาชีวิตตนเองเข้าไปอย่างถ่องแท้ โดยจัดพิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ออกทุกสี่เดือน
ปัจจุบัน วารสารธรรมมาตา จัดพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ ๑๕ เล่มที่ ๒ กันยายน -ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๔
หากท่านใดสนใจวารสารธรรมมาตา ติดต่อขอรับโดยตรงได้ที่ …ธรรมาศรมธรรมมาตา (วารสารธรรมมาตา) อาคารธรรมทานมูลนิธิ 68/1 หมู่ 6 ต.เลม็ด อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84110 (ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น )
ปัจจุบัน วารสารธรรมมาตา จัดพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ ๑๕ เล่มที่ ๒ กันยายน -ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๔