รำลึกมรณกาล ๑๐ ปี ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช,

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชชวรมหาวิหาร

บางท่านอาจมีคำถามว่า “เราตายได้ แต่พระพุทธศาสนาตายไม่ได้” นั้นหมายถึงอะไร

“เราตายได้ แต่พระพุทธศาสนาตายไม่ได้” คือ ประโยคสำคัญจากหนังสือ “เย็นหิมะในรอยธรรม” จากธรรมบรรยายของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชชวรมหาวิหาร ท่านมักแสดงธรรมเสมอ และเป็นที่มาของการทำงานเผยแแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกมาโดยตลอดในยุคสมัยของท่าน เพื่อสร้างพระสงฆ์รุ่นใหม่ สร้างวัด สร้างโครงการช่วยเหลือผู้คนมากมาย สร้างพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ ภายใต้พระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าได้วางไว้

ไม่น่าแปลกใจว่า พุทธบริษัท ในบวรพระพุทธศาสนา จึงดำเนินมาได้กว่า ๒๖๐๐ ปีแล้ว ก็เพราะมีพระธรรมทายาท คือพระสงฆ์ที่สืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงขอกราบอาราธนา พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) และ พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ช่วยอธิบายความเพิ่มเติม

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) อธิบายว่า

“เราตายได้ พระพุทธศาสนาตายไม่ได้”

“หมายถึง เราตายได้เพราะความตายเป็นธรรมดาของชีวิต แต่พระศาสนาของพระศาสดาจะตายไปพร้อมกับช่วงชีวิตของเราไม่ได้ เราในฐานะเป็นสาวกของพระบรมศาสดา จึงมีหน้าที่ทำให้พระศาสนาดำรงอยู่ และส่งต่อให้กับผู้สืบทอดรุ่นต่อไปเพื่อให้คำสอนเป็นประโยชน์และความสุขแก่คนเป็นอันมาก”

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี อธิบายว่า

“เราตายได้ พระพุทธศาสนาตายไม่ได้”

ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค มีพุทธพจน์สำคัญๆ อยู่หลายช่วงเวลา แต่หากลำดับเหตุการณ์จะพบว่าเป็นช่วงสำคัญในพระพุทธศาสนา เริ่มตั้งแต่มารมาทูลถามถึงการปรินิพพาน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ อุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้าเป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้”

คำตรัสนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นบุคคลสำคัญในทางพระพุทธศาสนานับจากนี้ไปคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่จะช่วยรักษาคำสอนพระพุทธศาสนาไว้ได้ แต่คำสอนที่ตรงเตือนต่อแต่นั้นก็คือคำตรัสสอนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและพระพุทธศาสนาคือ

คำสอนเรื่องชีวิตนั้นมีที่สิ้นสุด

เป็นช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสช่วงปลงอายุสังขาร เป็นการตรัสกับภิกษุชาวเวสาลีว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด อีกไม่นานการปรินิพพานของตถาคตจะมี จากนี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน” และตรัสคาถาประพันธ์ต่อว่า

“มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเด็ก

ผู้ใหญ่โง่ ฉลาด มั่งมี และยากจน

ล้วนต้องตาย

ชีวิตของสัตว์เปรียบเหมือนภาชนะดิน

ที่ช่างหม้อปั้นแล้วเล็กบ้าง

ใหญ่บ้าง สุกบ้าง ดิบบ้าง

ซึ่งล้วนมีความแตกสลายเป็นที่สุด”

“วัยของเราแก่หง่อมชีวิตของเราเหลือน้อย เราจะจากพวกเธอไป เราทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว พวกเธอจงอย่าประมาท มีสติ มีศีลบริสุทธิ์  มีความดำริมั่นคงดี รักษาจิตของตนไว้ ผู้ที่ไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้ ละการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”

การตรัสนี้มุ่งด้วยการกำหนดรู้เวลาของอายุสังขารมนุษย์นั้นสุดท้ายก็ถึงปลายทางคือความตายหรือมีที่สุดอยู่ที่ความตายทั้งสิ้น ทั้งหมดทุกผู้ทุกนาม จึงเป็นเครื่องเตือนสติและบอกถึงเวลาอายุสังขารขององค์ศาสดาจะหมดในอีก ๓ เดือนข้างหน้านี้

คำสอนเรื่องพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องไม่สิ้นสุด เป็นคำตรัสในช่วงใกล้จะปรินิพพาน โดยตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์ บางทีพวกเธออาจจะคิดว่า ‘ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา’ ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย”

การตรัสถึงธรรมวินัยเป็นศาสดา

เป็นการสอนให้เราปฏิบัติตามหลักธรรม

พระพุทธศาสนาก็จะไม่ล่วงลับไป”

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี

ส่วนในปัจฉิมวาจาของพระพุทธองค์ ได้ทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย

สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด”

นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

คำตรัสนี้ยิ่งมีความสำคัญ เพราะหากเราประมาท ก็เหมือนคนตายแล้ว

(อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ความประมาทเป็นทางอันไม่ตาย

ปมาโท มจฺจุโน ปทํ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย)

พุทธพจน์

คนตายก็ปฏิบัติอะไรไม่ได้อีกแล้ว ปฏิบัติอะไรไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ และเมื่อปฏิบัติไม่ได้ พระพุทธศาสนาก็อยู่ไม่อาจมีอยู่ต่อไป จึงเป็นธรรมดาที่ความตายจะมาสู่ชีวิตของเราไม่เร็วก็ช้า

แต่พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของผู้ไม่ตาย

คือผู้ไม่ประมาท มีสติ รู้ผิดชอบชั่วดี

สามารถยืนยันและตัดสินดีชั่วได้อย่างแจ่มชัด

ยิ่งพระพุทธศาสนายืนยาวนานต่อไปได้มากเท่าไหร่

ก็ยิ่งยืนยันมนุษย์เรายังมีความเป็นมนุษย์อยู่

ไม่ใช่เป็นคนที่ตายไปแล้วแต่หายใจอยู่เท่านั้น”

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.

เหตุใด “เราตายได้ แต่พระพุทธศาสนาตายไม่ได้” กระทู้ธรรมจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุเสณมหาเถร) อธิบายโดย พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) และ พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here