เรื่องของพราหมณ์ขี้โม้

เขียนโดย ณัฏฐ์

คนเราเมื่อเกิดมาได้ศึกษาเล่าเรียนจนได้ระดับหนึ่ง  อย่าได้ทึกทักเอาว่า สิ่งที่ตนเองนั้นรู้แล้ว  เล่าเรียนแล้ว  มีค่ามากกว่ามนุษย์คนอื่นๆ  มีความรู้อะไรๆ  ก็เรียนรู้ได้หมด ได้รู้จนหมดสิ้น  มีความรู้มากกว่าคนอื่น  เมื่อใคร ๆ กล่าวก็อะไร ๆ  ก็เอาตนเองนั้นเป็นที่ตั้ง เพราะไม่มีใครรู้อะไรมากเท่าตนเอง

มีนิทานธรรมบทเรื่องหนึ่งเล่าว่า  มีพราหมณ์พูดมากคนหนึ่ง  ชอบคุยโวโอ้อวด ว่า ตนเองมีความรู้มาก อย่างนั้น  อย่างนี้  มีความสามารถมากกว่าคนอื่นอย่างนั้น อย่างนี้  ใครๆ ในเมืองนี้  ก็ไม่มีความสามารถมาก  หรือจะรู้มากเท่าตนเองเลย  จึงคุยข่มผู้อื่น  จนคนอื่นเขาระอา  รำคาญ  เบือนหน้าหนี  ไม่อยากฟังเรื่องโม้เหล่านั้น  

เรื่องนี้ถูกกล่าวขานกระจายเป็นไวรัลดังจนถึงหูของพระราชา  จึงเรียกอุปราชมาจะทำอย่างไรให้พราหมณ์เลิกขี้โม้ได้  อุปราชจึงกราบทูลว่า  อุบายแก้ไขก็พอมี  จึงแนะนำคนง่อยพูดไม่ได้อยู่หนึ่งคน  เก่งด้านดีดก้อนดิน  ต้อนแพะ  ต้อนวัวควายในทุ่ง แม้จะดีดก้อนขี้แพะ  หรืออะไรก็ตามตรงเป้า  แม่นยำ  จึงกราบทูลอุบายว่า  ทดลองให้บุรุษง่อย  ไปยืนอยู่ในวงคนขี้โม้  แล้วค่อยๆ ดีดขี้แพะเข้าไปในปาก  เมื่อถึงเวลา พราหมณ์ขี้คุยก็เริ่มโม้  โอ้อวดยกตน  ข่มคนอื่นอยู่นั่นเอง  ก็ดีดขี้แพะเข้าไปในปากพราหมณ์เป็นร้อยๆ ลูก  

เหตุที่พราหมณ์พูดมากไม่ทันปิดปากให้โอกาสคนอื่นแทรก  จึงกลืนกินขี้แพะทุกก้อนเข้าไปจนอิ่ม  จนพูดไม่ไหว แต่หารู้ไม่ได้กลืนขี้เข้าท้องไปจำนวนมาก ด้วยความละอาย  นับแต่วันนั้น พราหมณ์จึงไม่กล้าที่จะเหยียบย่างเข้าไปตลาดในเมืองอีกเลย

เป็นเรื่องเปรียบเปรยบุคคลนั้น แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท  หรือดอกบัวแบ่งเป็น ๔ เหล่า ได้แก่

๑.  อุคฆฏิตัญญู คือ คนจำพวกที่มีสติปัญญาฉลาด  เป็นสัมมาทิฏฐิ  เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว  เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อสัมผัสรับแสงอาทิตย์ตอนเช้าก็เบ่งบานได้ทันที

๒.  วิปจิตัญญู คือ คนจำพวกที่มีสติปัญญาปานกลาง  เป็นสัมมาทิฏฐิ  เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามธรรม  และได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ  ซึ่งจะบานในวันถัดไป

๓.  เนยยะ คือ คนจำพวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ  มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธาปสาทะ  ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง

๔.  ปทปรมะ คือ คนจำพวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ  แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้  ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ  ไร้ซึ่งความเพียร  เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม  ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน

ในดอกบัวทั้ง ๔ เหล่า  แสดงให้เห็นว่า  คนเรายังสามารถพัฒนายกระดับให้เกิดสติปัญญาในระดับที่ใกล้เคียงกัน  หรืออยู่ระดับเดียวกันได้ด้วย  ที่กล่าวกันว่า  ไม่มีใครเก่ง  หรือโง่ไปกว่ากัน หลังจากการเรียนรู้ได้เท่ากัน

ชีวิตที่คิดว่า  ตนเองรู้มาก เปรียบดังกระต่ายที่จะเอาชนะเต่า ทั้งที่ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องชนะเต่า แต่เพราะความทะนงตนว่าเก่งกว่านั้นแหละ  จึงจะเอาตนเข้าไปสู่การต่อสู้  ส่วนเต่านั้น  ก็ไม่ได้คิดจะเอาชนะกระต่าย  แต่ก็เดินไปเรื่อย เพียงเพราะตนเองเป็นแค่เต่า  จึงเข้าเส้นชัยชนะกระต่าย  

ในชีวิตจริง เราไม่จำต้องเป็นกระต่าย  เพราะกระต่ายมันแพ้เต่า  บางคนก็เลือกเป็นลิง  กลิ้งเต่าให้หงายท้อง แล้วลิงก็โลดแล่นไปต่อ  อันนี้ก็มองอีกมุมหนึ่ง  แต่ก็ยังเป็นมุมเกเรอยู่  แต่ในสังคมมนุษย์ส่วนใหญ่ล้วนเป็นอย่างนี้ (ไม่รู้ตัว)

 อาจเปรียบเปรย บุรุษคนหนึ่งที่ทะนงตนเหมือนคนที่มีความรู้เที่ยวไปในที่ต่างๆ แล้วเที่ยวเอาความรู้ของตัวเองไปอวดจนไม่ได้เรียนรู้ว่า  ในขณะนั้น  ตนอยู่ที่ไหน  มีอะไรที่น่าเรียนรู้เพิ่มเติมบ้าง  จะว่าไปก็คล้ายกับที่พระเซนท่านว่า เป็นชาล้นถ้วยนั่นแหละ

การมีความรู้ จึงต่างจากการมีปัญญา

อาทิ ลิงแสม เพียงแค่เอาหางจ่อลงรูปู เพื่อให้ปูหนีบงับ อดทนเจ็บหน่อย แล้วจึงได้ปูขึ้นมากิน

ถ้าเป็นลิงกัง  ไม่มีหาง  พัฒนาขึ้นมา  มีความใกล้เคียงกับคน  สอนได้ เรียนรู้ได้ เล่นละครลิงได้

ยิ่งพัฒนาไปกว่านั้น คือเป็นลิงชิมแปนซี  ไม่ใช่ธรรมดา เป็นสัตว์มีสมองดีกว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งปวง  มีความใกล้เคียงกับมนุษย์

แต่เราก็พัฒนามาไกลกว่านั้น  เรื่องอะไรจะต้องเป็นตามสัตว์เหล่านั้น  ก็ในเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์  เป็นคนอยู่แล้ว  ไม่ต้องอยากไปเป็นลิงหรือสัตว์  เพราะไม่ว่าลิงจะฉลาดอย่างไร  สุดท้ายแล้วเมื่อลิงติดบ่วงก็ไม่สามารถจะออกไปได้  ยิ่งแก้ก็ยิ่งติด เพราะแก้แบบลิง  

อย่างเช่น นิทานอีกเรื่องหนึ่ง  เจ้าลิงไปขโมยแห  เห็นคนเดินเข้าใกล้เข้ามาตั้งใจจะช่วยลิง  แต่พอลิงเห็นว่าถือมีดมาด้วย  ก็คิดว่าคนจะมาฆ่า  มันก็กระโจนลงน้ำตาย (เป็นสัญชาตญาณความกลัว  กรณีนี้ มนุษย์เราก็เป็นเหมือนกัน  ยิ่งปัจจุบัน ความหวาดระแวงมีมาก  ทำให้คนคิดไม่ดีต่อคนที่ตั้งใจทำความดีก็มี ทำให้เดือดร้อนกันไปหมด เพราะความหวาดระแวง  )

อีกหนึ่งเรื่องเล่ามีอยู่ว่า  ลิงเกลียดกะปิ  แต่อยากกินมะพร้าว  ตอนเอามือเข้าไปในลูกมะพร้าวก็เอาเข้าได้  แต่พอมันรู้ว่าเป็นกะปิในลูกมะพร้าว  ก็ดึงมือออกจากลูกมะพร้าว  เนื้อมะพร้าวก็จะเอา  แต่ก็เอามือออกจากมะพร้าวไม่ได้เสียที  เพราะกำกำปั้นแน่น  ทั้งที่วิธีแก้ไขนั้นง่ายๆ คือ  คลายของในมือก็เอามือออกมาได้ แต่อาจเป็นเพราะความตกใจ คิดไม่ทัน หรือ กลัวจะไม่ได้กินมะพร้าว ความยึดติดทำให้ชีวิตตกอยู่ในความประมาทไม่น้อย

แท้จริงแล้ว  “การรู้”  มิใช่ “ความรู้” อย่างที่ชายทะนงตนรู้

การรู้  คือ รู้อย่างแจ่มแจ้ง  รู้แจ้งก็ไม่พอ ต้องแทงตลอด เหมือนกระบอกไม้ไผ่ ที่มีปล้อง  ต้องทะลุได้ถึงกัน มองเป็นปล้องเดียวกัน นั่นเรียกแทงตลอด

คิดแล้ว รู้แล้ว แจ้งตลอดแล้ว ก็มองเห็น

ปัญญาที่เรารู้แจ้งนั้นเป็น “สัมมาปัญญา” หรือจะเป็น “มิจฉาปัญญา”  ก็อยู่ที่ว่า ต้องมีสติกำกับด้วย  จึงต้องกลับมาพิจารณาต่ออีกว่า  สิ่งที่เรารู้นั้น  หมิ่นเหม่ทางไหนมากกว่ากัน  ระหว่าง “มิจฉา” หรือ “สัมมา” มันจะเป็นปัญญาที่ฉลาดแกมโกงหรือเปล่า  ในทางโลกเรียกว่า  ปัญญาแบบศรีธนญชัย  คือ มิจฉาปัญญา  

แต่ในด้านพุทธศาสนาแล้ว  หากกล่าวถึงปัญญาก็มีความบริสุทธิ์หมดจดโดยส่วนเดียว  เป็นความดีงาม  เป็นธรรมะ  ความถูกต้อง  ความรู้พร้อม   ไม่ได้กล่าวถึงความเป็นมิจฉา  ถึงต้องมีสติมากำกับด้วย

และ “สติ” นี้จะต้องเป็น “สัมมาสติ” มิใช่ “มิจฉาสติ” แบบโลกๆ  ที่เป็นสติแกมโกง

“สัมมาสติ”  เป็นสติที่กอปรด้วยสัมปชัญญะ  จึงทำให้มีทั้งความรู้สึกตัวทั่วพร้อมกับความระลึกรู้ว่า สิ่งที่คิด หรือสิ่งที่จะกระทำนั้น จะไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อนและเมื่อลงมือทำลงไปก็จะประกอบด้วยปัญญาบริสุทธิ์ เป็นประโยชน์ท่านประโยชน์ตนอย่างงดงาม  หรือภาษาทางโลกเรียกว่า Win Win

เรื่องของพราหมณ์ขี้โม้ : ณัฏฐ์ลิขิต

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here