เราไม่ได้มีเวลาชั่วนิรันดร์ (จบ)
งานศพ กับ คุณค่าของการมีชีวิตอยู่
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้
หลังจากที่ผู้เขียนกับพระอาจารย์จิระศักดิ์ เกตุเมโธเจ้าอาวาสวัดพุทธารามเกาหลี ได้เดินทางไปสวดศพแรงงานคนไทยที่เสียชีวิตอยู่ทางภาคเหนือของเกาหลี
พระอาจารย์จิระศักดิ์ เกตุเมโธ เจ้าอาวาสวัดพุทธารามเกาหลี ได้ปรารภถึงการมาทำหน้าที่ของพระสงฆ์ ท่านเล่าให้คณะญาติโยมได้ทราบว่า ทุกครั้งที่ไปร่วมงานศพไม่ว่าจะไปที่ไหน ในนามคณะสงฆ์วัดพุทธารามเกาหลี ก็ไปเพื่อจะอนุเคราะห์ญาติโยม ปัจจัยที่ญาติโยมได้ร่วมกันทำบุญถวายมา พระสงฆ์รับอนุโทนาให้พรเสร็จแล้ว ขอบุญได้ส่งถึงผู้ตายให้สำเร็จวิบากผลเป็นทิพยสุข ทิพยสมบัติ แล้วก็ได้มอบปัจจัยคืนเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพต่อไป
ท่านเล่าว่า แต่ถ้าเป็นการทำบุญเปิดร้านใหม่ ทำบุญเปิดบริษัทใหม่อะไรเหล่านี้ พระก็ไม่ปฏิเสธศรัทธาญาติโยม หากโยมถวายมาก็รับ เพื่ออนุเคราะห์ให้ตามเจตนา เพราะเป็นสิ่งที่น่ายินดีน่าดีใจ ญาติโยมมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตในอาชีพ
พระอาจารย์ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ในฤดูหนาวการเสียชีวิตของคนเกาหลีมีมาก ฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้เปลี่ยนสี แล้วใบไม้ก็ร่วงโรย ผู้คนก็ไม่ค่อยนิยมออกไปนอกบ้านเท่าไหร่ เพราะอากาศหนาว เวลาออกไปข้างนอกก็จะเศร้า วังเวง ต้นไม้ก็เหลือแต่ต้น คนเกาหลีนิยมฆ่าตัวตายมาก เพราะมันเศร้า มันเหงา มันหดหู่
ส่วนหนึ่งเป็นคนหนุ่มสาวที่ฆ่าตัวตาย เพราะผิดหวังในเรื่องต่างๆ ในชีวิต คนหนุ่มสาวเกาหลีส่วนใหญ่ตั้งความหวังเกี่ยวกับการเรียนและอาชีพไว้สูงมาก ทว่าเมื่อเรียนจบออกมากลับต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจซบเซา และอัตราการว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ
พระอาจารย์ท่านเล่าว่า แม่น้ำบางแห่งที่มีสะพานข้าม ทางการต้องเอาตาข่ายไปขึงกั้นไว้ป้องกันไม่ให้คนใช้เป็นสถานที่โดดน้ำฆ่าตัวตาย ป้องกันถึงขนาดนั้น ถึงแม้จะป้องกันอย่างไรก็ห้ามไม่ได้อยู่ดี คนอยากจะตาย
ผู้เขียนเคยอ่านบทความหนึ่ง ได้กล่าวถึงข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า สถิติการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้สูงมาก ๒๐.๒ คนต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คนในปี ค.ศ.๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) หรือเกือบสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก ๑๐.๕๓
ศูนย์รับจัดงานศพจำลองให้คนเป็น
เพื่อให้เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่
เป็นที่น่าสนใจมาก ในปัจจุบัน สังคมเกาหลีตื่นตัว ภัยจากความเครียด การแข่งขันสูง ฆ่าตัวตาย ศูนย์บริการเยียวยาสภาพจิตใจผ่านการจำลองความตาย จึงได้จัดพิธีศพปลอม เลียนแบบคนตาย เยียวยาหัวใจคนเป็น
ในบทความเล่าถึงวิธีการว่า ผู้ที่มาเข้าร่วมพิธีศพจำลองมีตั้งแต่วัยรุ่นหนุ่มสาวเรื่อยไปจนถึงคนชราวัยเกษียณ โดยทุกคนจะต้องสวมชุดคนตาย ถ่ายรูปตั้งหน้าโรงศพ เขียนจดหมายลาตายถึงบุคคลที่ตัวเองรัก และสุดท้ายคือลงไปนอนในโลกศพซึ่งถูกปิดฝาไว้ราวๆ ๑๐ นาที
หนึ่งผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเล่าว่า ช่วงเวลาสั้นๆ ที่นอนอยู่ในโลงศพทำให้เขาได้คิดว่า บ่อยครั้งที่เขามองคนอื่นเป็นคู่แข่ง ตอนที่อยู่ในโลงก็คิดว่า ทำแบบนั้นจะได้ประโยชน์อะไร
ในขณะเดียวกันเจ้าของศูนย์บริการเยียวยาสภาพจิตใจผ่านการจำลองความตาย เล่าว่า ศูนย์รับจัดงานศพจำลองให้กับคนเป็น เพื่อที่ทุกคนจะได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ รู้จักขอโทษ รวมถึงเรียนรู้ที่จะให้อภัยแก่คนในครอบครัวเพื่อนฝูง เขารู้สึกตื้นตันใจทุกครั้ง เมื่อเห็นคนที่เคยโกธรกันกลับมาคืนดีกันในงานศพญาติ แต่อีกใจหนึ่งก็เสียดายที่พวกเขาปล่อยเวลาให้ล่วงเลยนานเกินไป
และเขากล่าวทิ้งทายว่า เราไม่ได้มีเวลาชั่วนิรันดร์ ดังนั้นผมจึงคิดว่า ประสบการณ์อย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก หากเรารู้จักให้อภัยและคืนดีกันเร็วเท่าไหร่ ชีวิตที่เหลืออยู่ก็จะมีความสุขมากเท่านั้น
เมื่อกล่าวถึงเรื่องความตาย ความเป็นจริงไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนเราก็ต้องตาย แต่ว่าการตายของเรานั้นเรามีความพร้อมขนาดไหน คำถามง่ายๆ ก็คือ เราเตรียมตัวตายหรือยัง นึกถึงในสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทำที่หน้าที่โค้ชสอนเรื่องความตายให้กับนางกีสาโคตมี ที่ลูกของนางตาย นางก็ร้องไห้แทบจะขาดใจที่ลูกรักตาย อุ้มลูกไปหาใคร ก็ไม่มีใครช่วยได้ จนมีคนบอกว่า มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวที่จะรักษาได้
นางก็อุ้มลูกไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ตรัสสอนนะว่า คุณโยมความตายเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็จะต้องตาย แต่พระองค์บอกว่า ให้เธอไปขอเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตายมาสักหยิบมือหนึ่ง นางก็ไปขอบ้านหลังแรก เจ้าของบ้านบอกว่า มีเมล็ดพันธุ์ผักกาด แต่ว่าญาติพึ่งตายไปไม่นาน บ้านหลังที่สอง สาม สี่ ห้า ก็บอกว่า มีเมล็ดพันธุ์ผักกาด แต่ปู่ ย่า ตาย ยาย ลุง ป้า น้า อาลูก หลาน พึ่งตายไป จนจวนเวลาค่ำนางก็กลับได้สติว่า ทุกคนต้องตาย แล้วก็คลายจากความเศร้าเสียใจ ก็จัดงานศพของลูกตัวเอง แล้วก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมแล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
แล้วในชีวิตจริงเราจะมีใครโชคดีเหมือนพระนางกีสาโคตมีเถรีไหมล่ะ ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นโค้ชสอนเรื่องความตายให้จนพ้นจากความทุกข์ ความจริงไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเองที่จะต้องช่วยตัวเอง ทำความเข้าใจ เรียนรู้ความตายอย่างผู้ตื่นรู้
หลวงพ่อพุทธทาสบอกว่า ตายเสียก่อนตาย คือ ความรู้สึกว่าตัวตนของเรา ตัวกูของกู ดับไปเสียก่อนเสียที่ร่างกายจะตาย ก่อนแต่ที่จะตายทางร่างกายนั่น ท่านสอนให้ดับตัวตน ว่าตัวตน ว่าของตน ดับความรู้สึกตัวตนนี้เสีย ตายที่แรกหมายถึงตายแห่งอวิชชาความไม่รู้ ความยึดถือว่าตัวตนของตน เรียกว่าตายของตัวตนในความรู้สึกตายเสีย ก่อนที่ร่างกายจะตายจริง นี้เป็นความดับทุกข์อย่างยิ่ง
ติดตามเรื่องราวการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยในเกาหลีใต้ ผ่านเฟสบุ๊ค วัดพุทธาราม เกาหลี
เราไม่ได้มีเวลาชั่วนิรันดร์ (จบ) งานศพ กับ คุณค่าของการมีชีวิตอยู่
จากคอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒) โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้