“เราจะสืบสานรักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”…พระปฐมบรมราชโองการ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ วันฉัตรมงคลแรกแห่งรัชกาลที่ ๑๐

0
3616

๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ วันนี้ เป็นวันแรกแห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นวันฉัตรมงคลแรกแห่งรัชกาลที่ ๑๐ พระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่ปวงชนชาวไทยต่างมีความปีติเป็นล้นพ้นเหนือเศียรเกล้า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ แก่ประชาชนชาวไทยใจความว่า

“เราจะสืบสานรักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม

เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”…


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการใจความว่า “เราจะสืบสานรักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”…

เป็นการสืบทอดพระราชปณิธาน พระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ความว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม “อย่างงดงามยิ่ง ตามรอยบูรพมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ที่ทรงประกาศพระองค์ เป็นพุทธศาสนูปถัมภก และเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก มาโดยตลอด

นับเนื่องตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขและความเป็นอยู่ที่ดีของปวงประชาราษฎร์ โดยพระราชกรณียกิจสำคัญประการหนึ่งที่ทรงดำเนินรอยตามสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน คือ การทำนุบำรุงและสืบสานพระบวรพุทธศาสนาให้ยั่งยืนมาโดยตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ

และในรัชสมัยปัจจุบัน ในวันมหามงคลของปวงชนชาวไทย วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ หลังประกาศพระปฐมราชโองการ พระองค์ทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรไทยโดยทศพิธราชธรรมจริยา และทรงสถาปนา สมเด็จพระราชินีสุทิดา เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ยังความปีติให้แก่พสกนิกรชาวไทยไปทั่วโลก


ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอน ๑๔ ข ๔ พ.ค.๒๕๖๒ ประกาศเรื่อง สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

พระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็น “พุทธศาสนูปถัมภก”

และในยามบ่ายของวันฉัตรมงคลแรกแห่งรัชสมัยรัชกาลที่ ๑๐ เมื่อเวลาประมาณ ๑๖.๔๐ น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับพระราชยานพุดตานทอง ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมีพระราชดำรัสประกาศพระองค์ เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ความว่า

“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสและได้นึกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้นๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ บรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการ ให้การคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดีว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิด”

จากนั้นพระสงฆ์ ๘๐ รูป เปล่งสังฆวาจา “สาธุ” ๓ ครั้ง แล้วถวายอดิเรก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

และเมื่อย้อนกลับไปอ่านพระปฐมราชโองการตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมาก็ล้วนเกี่ยวเนื่องกับ หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงประกาศในพระปฐมบรมราชาภิเษกทุกพระองค์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พุทธศักราช ๒๓๒๘

“…พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรปรารถนาเถิด…”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๒

“ แต่บรรดาพฤกษาและแม่น้ำใหญ่ น้อย และสิ่งของทั้งปวง ซึ่งมีในแผ่นดิน ทั่วขอบเขตแดนพระนคร ซึ่งหาเจ้าของหวงแหนมิได้
ให้พระราชทานแก่ สมณะ พราหมณ อณาประชาราษฎร์ทั้งปวง ตามแต่ปรารถนาเถิด ”

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗

“ เจ้าพระยา และพระยา ของซึ่งถวายทั้งนี้ จงจัดแจงบำรุงไว้ให้ดี จะได้รักษาแผ่นดิน ”
ในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พบหลักฐานพระปฐมบรมราชโองการหลังจากพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ที่พระที่นั่งภัทรบิฐ
พบแต่ “ พระราชโองการปฏิสันถาร ” ในการเสด็จมหาสมาคม ซึ่งโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าเฝ้าเพื่อรับการถวายราชสมบัติ
จากนั้นจึงมีพระราชโองการตรัสปฏิสันถารกับเจ้าพระยา และพระยาทั้งปวง ซึ่งมีข้อความเดียวกันทุกรัชกาล
ต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยกเลิกพิธีส่วนนี้ มีแต่เพียงการถวายพระพรชัยมงคลจากขุนนางฝ่ายหน้าและข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๓๙๔

“ พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๑

“ แต่บรรดาที่ไม่มีเจ้าของผลไม้ทั้งน้ำในห้วยละหารตรท่าก็ดี ตามแต่สมณพราหมณาจารยอาณาประชาราษฎรจะมาแต่จตุระทิศต่างๆ ตามแต่จะปรารถนา ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖

คำภาษามคธ “ อิทานาหํ สพฺเพสํ อนุมติยา ราชา มุทฺธาวสิตฺโต สฺยาเมสุ อิสฺสราธิปจฺจํ รชฺชํ กาเรมิธ ธฺมมิกราชปเวณิยา อนุชานามิ ยนฺติ สฺยามวิชิเต
อปรปริคฺคหิตํ ติณกฏฺโจทกํ สมณพฺราหฺมณาทโย สพฺเพสฺยามรฏฺฐิกา ยถาสุขํ ปริภุญฺชนุตุฯ ”

คำแปล “ ครั้งนี้ท่านทั้งปวงพร้อมใจกัน ยอมให้เราเปนเจ้าครองราชสมบัติได้รับมุรธาภิเษกเปนใหญ่ในสยามราษฎร์วราณาจักรนี้แล้ว เราขออนุญาตยอมให้ โดยธรรมิกราชประเพณี พรรณพฤกษชลธีในสยามราษฎร์วราณาจักรนี้ ซึ่งไม่มีเจ้าของหวงแหนนั้น ตามแต่สมณพราหมณาจารย์ ประชาราษฎรทั้งปวงจะปรารถนาใช้สอยเทอญ ฯ ”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๓

คำภาษามคธ “อิทานาหํ พฺราหฺมณา ราชภารํ วหนฺโต พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขาย ธมฺเมน สเมน รชฺชํ กาเรมิ ตุมฺหากํ สปริคฺคหิตานํ
อุปริ ราชกํ อาณํ ปสาเรตฺวา นาโถ หุตฺวา ธมฺมิกํ รกฺขาวรณคุตฺตี สํวิทหามิ วิสฺสฏฺฐา หุตฺวา ยถาสุขํ วิหรถ ฯ”

คำแปล “ ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน
เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ ฯ ”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๘

คำภาษามคธ “อิทานาหํ พฺราหฺมณา ราชภารํ วหนฺโต พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขาย ธมฺเมน สเมน รชฺชํ กาเรมิ ตุมฺหากํ สปริคฺคหิตานํ
อุปริ ราชกํ อาณํ ปสาเรตฺวา นาโถ หุตฺวา ธมฺมิกํ รกฺขาวรณคุตฺตี สํวิทหามิ วิสฺสฏฺฐา หุตฺวา ยถาสุขํ วิหรถ ฯ

คำแปล “ ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน
เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ ฯ ”

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘

เสด็จสวรรคตก่อนทรงรับพระราชพิธีบรมราชภิเษก


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙

วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

“ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ”

นับเนื่องถึงพระปฐมราชโองการในรัชสมัยปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการใจความว่า “เราจะสืบสานรักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”…



ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 
พุทธศักราช ๒๕๖๒

ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ประกอบด้วย อักษรพระปรมาภิไธย วปร อยู่ตรงกลาง พื้นอักษรสีขาวขอบเดินทอง อันเป็นสีของวันจันทร์ซึ่งเป็น วันพระบรมราชสมภพ ภายในอักษรประดับเพชร ตามความหมายแห่งพระนามมหาวชิราลงกรณ 

อักษร วปร อยู่บนพื้นสีขาบ (น้ําเงินเข้ม) อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์ ภายในกรอบพุ่มขาวบิณฑ์สีทอง สอดสีเขียว อันเป็นสีซึ่งเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ กรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ อัญเชิญมาจากกรอบที่ประดิษฐานพระมหาอุณาโลม อันเป็นพระราชลัญจกรประจําพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ 

แวดล้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็น เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมอุณาโลมประกอบเลขมหามงคลประจํารัชกาล อยู่เบื้องบน พระแสงขรรค์ชัยศรีกับพระแส้จามรี ทอดไขว้อยู่เบื้องขวา ธารพระกรกับพัดวาลวิชนี ทอดไขว้อยู่เบื้องซ้าย และฉลองพระบาทเชิงงอน อยู่เบื้องล่าง





สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ในการพิธีสรงพระมุรธาภิเษก
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ในการพิธีสรงพระมุรธาภิเษก
การสรงพระมุรธาภิเษก เป็นไปตามคติความเชื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่เปรียบพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ ก่อนเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก เป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ต้องมีการสรงพระมุรธาภิเษก ผ่านการไขสหัสธารา หรือการอาบน้ำพันสาย ที่ไหลออกมาจากฝักบัว ทำจากทองแดง เจาะรูหนึ่งพันรู ติดตั้งไว้ภายในมณฑปพระกระยาสนาน เหนือพระเศียร เป็นการเปลี่ยนพระราชสถานะสู่ความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลผ่านพระเศียร พระวรกาย พระราชหฤทัย และพระบาท เชื่อว่าเผื่อแผ่ไปถึงประชาชนและแผ่นดิน แสดงถึงพระราชภาระที่จะดูแลประชาชนให้เป็นสุขตลอดไป
(ในภาพ) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จขึ้นมณฑปพระกระยาสนาน ทางทิศตะวันตก ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยพระครอบพระกริ่ง รัชกาลที่ ๔ ที่พระปฤษฎางค์ เสด็จลงจากมณฑปพระกระยาสนาน แล้วจึงเสด็จขึ้นอีกครั้งทางทิศตะวันออก ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยพระครอบยันต์เดิม รัชกาลที่ ๔ ที่พระหัตถ์ แล้วเสด็จลงจากมณฑปพระกระยาสนาน

ข้าพเจ้าอยากเล่าให้แม่ฟังทั้งหมดทุกตัวอักษร ทุกสื่อออนไลน์ หากแม่ของข้าพเจ้าอยู่ก็คงจะชวนให้ไปนั่งดูทีวีกันท่านตลอดทั้งสามวันนี้อย่างไม่ให้คลาดสายตาไปแม้แต่นาทีเดียว และถ้าตอนไหนไม่ได้ดูก็จะชวนกันดูย้อนหลังให้เต็มอิ่ม แต่ข้าพเจ้าก็เชื่อลึกๆ ว่า แม่ยังคงติดตามงานพระราชพิธีอย่างไม่กระพริบตา แล้วดลใจให้ข้าพเจ้าชื่นชมตามสื่อต่างๆ และนำมาบันทึกไว้ใน manasikul.com เป็นความทรงจำเก็บไว้ในอากาศ กับประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่แม่รอมากว่า ๖๐ ปี

แม่ข้าพเจ้ารักในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ มาก ๆ แม่บอกว่า ตอนที่พระองค์ประสูติ ที่บ้านคุณตา ซึ่งเป็นกำนันในสมัยเมื่อหกสิบกว่าปีก่อน มีวิทยุเครื่องเดียว ก็มาเปิดฟังกันกลางบ้าน ทุกคนก็เงี่ยหูฟัง และเตรียมถ่านสำรองไว้กันถ่านหมด

เมื่อเสียงยิงสลุดพระราชทานดังขึ้น แม่ก็นับ ถ้าเป็นเลขคี่คือ เป็น พระราชโอรสแน่ และเป็นอย่างนั้นจริงๆ เสียงสลุตดังถึง ๒๑ นัด เป็นพระราชโอรส ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพระสถาน ในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฏคม พ.ศ. ๒๔๙๕ และได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดมา นับตั่งแต่พระราชสมภพตราบจนปัจจุบัน

ขอขอบพระคุณ https://phralan.in.th และ ไทยรัฐออนไลน์

หนังสือ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ” 

และ ภาพบางส่วนจากวิกิพีเดีย

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here