คำถาม: สังคมเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ จะว่า โควิดนำความเปลี่ยนแปลงมาให้ส่วนหนึ่งก็อาจจะใช่ เมื่อมนุษย์ต้องห่างกัน การสื่อสารก็น้อยลง ก็อาจเกิดความหวาดระแวงกันมากขึ้น ความเมตตาต่อกันน้อยลง  ความกลัวมากขึ้น ขณะเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งครอบครัวก็ใกล้ชิดมากขึ้น ดูแลกันมากขึ้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือ พระรัตนตรัยจะมาช่วยแก้ไขวิกฤตินี้อย่างไร

วิสัชนา คำตอบ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี : การเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกฎไม่เที่ยง (อนิจจลักขณะ) หากนับเอาตามจิตใจของมนุษย์เป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงจะนับเอาว่าสิ่งที่ที่เปลี่ยนแปลงแล้วจิตใจรับรู้แล้วพัฒนาให้ดีขึ้นก็จะถือว่าสิ่งนั้นเป็นกุศล

แต่หากเปลี่ยนแปลงแล้วจิตใจรับรู้แล้วไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ กลายเป็นอุปสรรคหรือขัดขวางไม่ให้นำตัวเองไปสู่เป้าหมายคือความสุขและสงบก็จะถือว่าสิ่งนั้นเป็นอกุศล

ในแง่นี้จะถือว่า โรคภัย (คือภัยจากโรค) นั้นเป็นภัยหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตและนำไปสู่ความทุกข์ทางกาย แต่ความทุกข์ทางกายนี้เป็นไปตามธรรมดา เนื่องจากร่างกายไม่ใช่สิ่งที่บังคับให้เป็นไปตามต้องการได้ เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจึงจำเป็นต้องไม่ให้ใจป่วยไปตามกายด้วย

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเรื่องนี้เป็นที่มาของการหาที่พึ่งพิง (นาถะ, รัตนะ) ของมนุษย์ ที่พยายามยึดถือเอาสิ่งภายนอกเป็นที่พึ่งพิงเป็นหลักที่ส่วนใหญ่เป็นวัตถุ เช่น ต้นไม้ ภูเขา ขณะที่พระพุทธศาสนาเสนอให้ถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจ

จะสังเกตว่า ที่พึ่งทางใจนั้นเป็นแรงพลักดันให้เกิดความเป็นอิสระทางด้านจิตใจ ไม่ให้ถูกร่างกายพลักดันให้ทำ เช่น ความหิวทางกายทำให้เกิดการเบียดเบียนคนอื่น

คือเราเป็นอิสระจากที่พึ่งอื่นแต่ยึดเอาจิตใจเป็นที่พึ่งในการดำเนินชีวิต

ขณะที่การที่ความเมตตาถือเป็นแรงพลักดันหนึ่งในการอยู่ร่วมกัน แต่เมตตานั้นเป็นเรื่องที่ต้องมาจากการใส่ใจตัวเองว่าคิดกับตนเองอย่างไร และคิดกับผู้อื่นอย่างไร

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี

การที่พระพุทธศาสนาสอนว่า เราต่างต้องการให้คนอื่นปฏิบัติดีต่อเรา แต่ความดีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่นนี้ต้องมองไปถึงว่า เราเน้นไปที่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เพราะในแง่ความเมตตาที่มนุษย์มีต่อกันนั้นอาจจะต้องมุ่งไปที่ความเมตตาต่อมนุษย์โลกมากกว่า

เช่น พระพุทธเจ้าในครั้งเป็นพระเวสสันดรชาดกได้สละบุตรและภริยาให้เป็นทาน ไม่ใช่ว่าพระเวสสันดรไม่มีเมตตากับบุตรและภริยา แต่ทรงเชื่อว่าการที่พระองค์บริจาคนี้จะเป็นประโยชน์ในอนาคต เมื่อพระองค์บรรลุธรรมแล้วจะถือว่าทรงมีเมตตาต่อคนจำนวนมากในการช่วยเหลือสรรพสัตว์

ฉะนั้น เราอาจจำเป็นต้องเข้มแข็งเพื่อให้สังคมอยู่ได้ และบางครั้งความเข้มแข็งคือเราต้องปฏิบัติตามกฎของสังคม ทั้งที่เราขัดใจตนเอง ไม่ชอบกฎทางสังคม แต่นั่นไม่ใช่ว่าเราไม่เมตตาต่อตนเอง แต่เป็นไปเพื่อให้สังคมส่วนรวม

แต่หากเราเมตตาต่อสังคมน้อยลงก็เพราะเราใส่ใจต่อตัวเองมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การอยู่แบบตัวคนเดียว ซึ่งจะพบว่าปรากฎอยู่ในสังคม ๒ แบบคือ วิถีชีวิตแบบพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เน้นความเมตตาต่อตัวคนเดียว หรือไม่อย่างนั้นก็ในสังคมแบบมิคสัญญีที่เข่นฆ่ากัน เป็นสังคมเห็นแก่ตัว ขาดความเมตตา

ทั้งหมดนี้เป็นไปตามวิถีสังคมที่เราอาจเลือกที่จะมีเมตตาเสียก่อนอย่างน้อยก็กับตนเอง เพื่อที่จะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

เมื่อโควิดนำความเปลี่ยนแปลงสังคมมาให้ พระรัตนตรัยแก้ไขวิกฤตินี้อย่างไร ปุจฉา-วิสัชนากับ พระมหา ดร.ขวัญชัย กิตฺติเมธี (ป.ธ.๙)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here