วันนี้วันพระ วันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔

เรียนรู้วิถีชีวิตและปฏิปทาพระมหาเถระผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม

พระเถระผู้เพียรสร้างพระสงฆ์แห่งยุคกึ่งพุทธกาล

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๕. จุดเริ่มต้นแห่งก้าวย่างบนเส้นทางธรรม ๖. สู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ๗. บรรพชาวันแรก เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

.

จุดเริ่มต้นแห่งก้าวย่างบนเส้นทางธรรม

               ก่อนวันเดินทางไปศึกษาต่อที่กำหนดไว้จะมาถึง  เด็กชายเกี่ยวล้มป่วยไม่สบายอย่างกะทันหัน  แม้จะได้รับการเยียวยารักษาทั้งยาต้ม  ยาหม้อ  ยาฝรั่ง  ตามกำลังความสามารถที่หมอในสมัยนั้นจะทำได้   แต่อาการป่วยของเด็กชายเกี่ยวก็หาได้ทุเลาเบาบางลงไม่  หากแต่นานวันอาการก็ดูเหมือนยิ่งทรุดหนักลงทุกขณะ  จนถึงขนาดบ่นเพ้อเพราะพิษไข้   ก่อให้เกิดความกังวลใจแก่บิดามารดาเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม อาการป่วยของเด็กชายเกี่ยวที่นับวันมีแต่จะทรุดหนักลง  หาได้รอดพ้นไปจากการสังเกตของตาผ้าขาว  ซึ่งเป็นหมอชาวบ้านท่านหนึ่งไม่   ตาผ้าขาวได้แนะนำบิดามารดาของเด็กชายเกี่ยวว่า

ถ้าต้องการให้เด็กชายเกี่ยวหายขาดจากโรคภัยไข้เจ็บกลับเป็นปกติ  ก็ต้องให้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร  วิธีนี้เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยให้พ้นจากวิบากกรรมได้

สิ่งอัศจรรย์ทั้งหลายในโลกเกินหยั่งรู้  เพียงพ้นการบนบานศาลกล่าวไม่นาน  อาการเจ็บไข้ก็ดูเหมือนทุเลาลง  ทำให้บิดามารดาเชื่อว่า  หนทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้เด็กชายเกี่ยวหายขาดได้  จึงตกลงใจให้เด็กชายเกี่ยวบรรพชาเป็นสามเณรอุทิศกุศลแก่เจ้ากรรมนายเวรเป็นระยะเวลา ๗ วัน  ตามคำแนะนำของตาผ้าขาวโดยไม่ลังเล

.

สู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์

พิธีบรรพชาเด็กชายเกี่ยว โชคชัย ในวัย ๑๒ ปีได้ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย เมื่อวันที่  ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ วัดเฉวง (วัดสว่างอารมณ์) ตำบลบ่อผุด  อำเภอเกาะสมุย  จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนิมนต์เจ้าอธิการพัฒน์  ภทฺทมุนี  วัดภูเขาทอง เจ้าคณะตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในสมัยนั้น มาเป็นพระอุปัชฌาย์  

 หลวงพ่อสมเด็จฯ เล่าว่า “ สมัยนั้น พระอุปัชฌาย์อยู่ที่วัดภูเขาทอง ตำบลแม่น้ำ โยมจึงต้องไปนิมนต์หลวงพ่อพัฒน์มาบวชให้ หลวงพ่อพัฒน์เป็นพระที่ชาวสมุยนับถือมาก เชื่อว่า ท่านเป็นพระศักดิ์สิทธิ์  อย่างตอนเกิดพายุถล่มแหลมตะลุมพุก พัดเอาบ้านเรือนพังเสียหาย ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เกาะสมุยปลอดภัย ไม่ถูกพายุถล่ม เพราะพระอุปัชฌาย์พัฒน์เป่าพายุไม่ให้มาขึ้นที่สมุย  ชาวสมุยลือกันว่า ตอนเกิดพายุ เห็นหลวงพ่อพัฒน์ยืนอยู่ที่โขดหินริมทะเล เอาผ้าอาบโบกพัดให้พายุไปที่อื่น

๗.

บรรพชาวันแรก

               เนื่องจากพระอุปัชฌาย์อยู่ที่วัดภูเขาทอง จึงต้องไปนิมนต์ให้มาบวชที่วัดเฉวง ในวันแรกที่สามเณรเกี่ยวบวช เกิดมีคนตายที่เตรียมจะเผา  เป็นศพคนแก่ในหมู่บ้าน  สามเณรเกี่ยวกลัวผี  เกรงว่า กลางคืนจะนอนไม่หลับ จึงหลับตากล้าๆ กลัวๆ เดินตามพระอุปัชฌาย์เข้าไปยืนอยู่พักหนึ่ง  พอเผลอลืมตาขึ้นเท่านั้น  เหมือนกล้องที่มีเลนซ์ดีถ่ายภาพติดหมดเลย  เห็นตั้งแต่หัวถึงเท้า  ในภายหลัง หลวงพ่อสมเด็จฯ  เล่าให้ศิษยานุศิษย์ฟัง ว่า  “ภาพนั้นยังติดตาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้  แหม่ สำคัญจริง  คล้ายๆ กับเป็นเลนซ์ที่ดีมากจึงติดตาทันที จะเจือด้วยความกลัวหรืออะไรก็ไม่ทราบ  แต่ภาพนั้นปรากฏชัดเจน  เห็นลักษณะว่าเป็นอย่างไร  มีผ้านุ่งห่มอย่างไร”

แม้ตอนแรกจะกลัว แต่พอนานเข้าก็เริ่มชิน จนเห็นเป็นธรรมดา จึงเป็นเหตุให้สามเณรเกี่ยวชอบไปนั่งในป่าช้าที่ริมทะเลในเวลาต่อมา

หลวงพ่อสมเด็จฯ  เล่าว่า  “ ตอนเป็นเณรบวชใหม่ๆ โยมนำไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อพริ้ง ท่านได้พาธุดงค์ บางครั้งต้องปักกลดที่ป่าช้า  แต่ก็ไม่ใช่ถือเป็นจริงเป็นจังอะไร  ท่านอยากฝึกให้รู้ ตอนนั้น หลวงพ่อเข้าออกป่าช้าจนชำนาญทาง  เรียกว่า  รู้จักหลุมศพทุกหลุม  ต้นไม้ทุกต้น โดยไม่ต้องเข้าไต้เข้าไฟอะไร จากที่ตอนแรกรู้สึกกลัว  ก็กลายเป็นความสนุก ไม่ใช่สนุกสนานเฮฮาอย่างเด็กทั่วๆ ไปนะ แต่สนุกที่ได้ต่อสู้กับความกลัว  สนุกที่เราสามารถเอาชนะความกลัวได้  รู้สึกเพลินที่ได้ไปตามสถานที่ที่แปลกตา ”

ที่จริงสมัยโน้น รอบเกาะสมุยเป็นเส้นทางธุดงค์ของพระทั้งนั้น พระท่านก็เดินเท้าไปตามป่าตามเขา ชาวบ้านเห็นพระธุดงค์  ถือเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของการฝึกหัด ไม่ใช่เรื่องวิเศษวิโสอะไร  ก็ถวายข้าวถวายน้ำ  แล้วพระก็เดินต่อ ไม่ใช่อย่างทุกวันนี้  ทั้งคนทั้งพระต่างเห็นเป็นเรื่องวิเศษวิโสไป”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๕. จุดเริ่มต้นแห่งก้าวย่างบนเส้นทางธรรม ๖. สู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ๗. บรรพชาวันแรก เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here