วันนี้วันพระ วันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕

ศึกษาเส้นทางชีวิตและความคิดของพระเถระรูปหนึ่ง

เมื่อแรกตั้งใจบรรพชาเป็นสามเณรเพียง ๗ วัน

แต่กลับดำรงตนอยู่ในสมณเพศตราบลมหายใจสุดท้าย

ตลอดชีวิตของท่านสามารถสร้างพระสงฆ์ไทยและพระสงฆ์นานาชาติ

เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนทุกข์บนโลก ได้มากมายมหาศาล

อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทย

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

๑๒. หลวงพ่อพริ้ง วิปัสสนาจารย์แห่งเกาะสมุย ๑๓. เรียนนักธรรมที่วัดแจ้ง

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๑๒.

หลวงพ่อพริ้ง วิปัสสนาจารย์แห่งเกาะสมุย

               พระครูอรุณกิจโกศล (พริ้ง โกสโล)  หรือที่ชาวบ้านเรียกขานติดปากว่า หลวงพ่อพริ้ง  แห่งวัดแจ้ง  อำเภอเกาะสมุย  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  มีปูมหลังจากอัตโนประวัติ  เล่าว่า  ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง  ตรงกับวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๔ ที่ตำบลเลม็ด  อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เป็นบุตรคนโตในจำนวน ๑๑ คน ของนายวอน เมืองนิเวศ  และนางใย เมืองนิเวศ  ได้ศึกษาร่ำเรียนในชั้นต้นจากพระสมุห์จอน วัดป่าลิไลก์ อำเภอไชยา  จนเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี  จึงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดป่าลิไลก์  โดยมีพระอธิการปาน เป็นพระอุปัชฌาย์  เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๒

ครั้นมีอายุครบอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดสโมสร อำเภอไชยา  เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. โดยมีพระครูโสภณเจตสิการาม (คง) วัดโพธาราม  ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา  เป็นพระอุปัชฌาย์  พระอธิการคล้ำ วัดป่าลิไลก์  เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์จอน ธมฺมจารี  วัดสโมสร  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้รับฉายาว่า “ โกสโล ” 

หลวงพ่อพริ้งสนใจในทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านจึงย้ายที่จำพรรษาไปเรื่อย หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้จำพรรษาที่วัดสโมสร  เพื่อร่ำเรียนวิชาอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนไปจำพรรษาที่วัดเขาแก้ว  อำเภอกาญจนดิษฐ์  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เป็นเวลาหลายพรรษา  จากนั้น ได้จาริกข้ามมายังเกาะสมุย พำนักที่วัดคงคาราม  อำเภอเกาะสมุย  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งขณะนั้นมีพระสมุห์พร้อม  ธมฺมทินฺโน พระน้องชายแท้ๆ ของท่านเป็นเจ้าอาวาส  ซึ่งต่อมา พระสมุห์พร้อม ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่  “พระครูวิบูลทีปรัต” แล้วย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์เจริญ เกาะพยงัน ขณะยังมีฐานะเป็นตำบลพะงันขึ้นอยู่กับอำเภอสมุย  

หลวงพ่อพริ้ง โกสโล จำพรรษาอยู่ที่วัดคงคาราม  จนกระทั่งเจ้าอาวาสวัดแจ้ง ตำบลหน้าทอนว่างลง จึงได้รับอาราธนาจากพระยาเจริญราชภักดี (สิงห์ สุวรรณรักษ์) นายอำเภอเกาะสมุย  พร้อมด้วยชาวบ้าน  นิมนต์ท่านมาจำพรรษาที่วัดแจ้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เด็กชายเกี่ยวถือกำเนิดบนเกาะสมุย และ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแจ้ง อำเภอเกาะสมุย  เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑

๑๓.

เรียนนักธรรมที่วัดแจ้ง

               วัดแจ้งเป็นวัดสำคัญด้านการศึกษาปริยัติและปฏิบัติของเกาะสมุย เมื่อคราวสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ที่สมุย  ทรงขึ้นท่าที่หน้าทอน ก็มีกำหนดเข้าเยี่ยมวัดแจ้ง พระองค์บรรยายถึงสภาพวัดแจ้งในเวลานั้นว่า มีพระยืนแถวรอรับเสด็จราว ๗-๘ รูป มีนักเรียน ชี และชาวบ้าน นั่งเรียงแถวรอรับเสด็จ  บางคนมีเครื่องสักการะและผลไม้มาถวาย  อุโบสถวัดแจ้งเป็นไม้กระดานตีเป็นหลืบ กว้างขวางสะอาดสะอ้าน ส่วนกุฏิสงฆ์ยังมีสภาพเป็นฝาขัดแตะ มุงด้วยจาก

วัดแจ้งคงได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาตามลำดับจนถึงยุคที่พระยาเจริญราชภักดี (สิงห์ สุวรรณรักษ์) นิมนต์หลวงพ่อพริ้งมาเป็นเจ้าอาวาส จึงได้มีการเรียนการสอนปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป 

เมื่อสามเณรเกี่ยวบรรพชาเป็นสามเณร  ได้ตั้งตนอยู่ในโอวาทของหลวงพ่อพริ้งอย่างเคร่งครัด   ปฏิบัติกิจวัตรของตนเองอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง  ได้เรียนรู้ข้อวัตร ไหว้พระสวดมนต์  ทำวัตรเช้า – เย็น  บิณฑบาตตามกิจสงฆ์อันสมควรแก่สมณะ

ต่อมา ท่านมีฉันทะที่จะแสวงหาความรู้ศึกษาข้อวัตร ข้อธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก  คือ การศึกษานักธรรม

ดังนั้น เมื่อวัดแจ้งมีสามเณรอยู่ด้วยกันหลายรูป หลวงพ่อพริ้งจึงได้ริเริ่มให้มีการเรียนนักธรรม   โดยท่านเป็นผู้สอนเอง สามเณรเกี่ยวจึงได้เรียนนักธรรมในปีแรกที่บวช  โดยไม่ต้องไปเรียนต่อที่อื่น

ผลการสอบนักธรรมในปีนั้น มีสามเณรหลายรูปสอบตก ส่วนสามเณรเกี่ยวสามารถสอบผ่านนักธรรมชั้นตรีได้โดยไม่ยากนัก

หลวงพ่อสมเด็จ ฯ เล่าถึงสภาพการเรียนการสอนนักธรรมที่เกาะสมุยเวลานั้น ว่า “ สมัยนี้พอพูดถึงเรียนนักธรรมก็ดูเป็นธรรมดา  เราต้องนึกย้อนกลับไปเกาะสมุยเมื่อ ๖๐- ๗๐ ปีที่แล้ว  เอาแค่จะข้ามไปมาระหว่างสมุยกับสุราษฎร์ก็ยังลำบาก

แต่เดิมที่วัดแจ้ง ไม่มีการศึกษานักธรรมเป็นหลักมาก่อน ซึ่งก็เหมือนกับวัดอื่นๆ บนเกาะสมุย  เนื่องจากการคมนาคม การสื่อสาร และการเรียนการสอนบนเกาะเป็นไปด้วยความยากลำบาก  แม้ตำหรับตำราก็หายาก จะมีผู้เรียนอยู่บ้างก็เป็นเรื่องฉันทะเฉพาะตน สอนกันตามมีตามเกิด หากต้องการเรียนเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ต้องข้ามไปเรียนที่พุมเรียง สุราษฏร์ธานี   

ในสมัยโน้นจะร่ำเรียนอะไรก็ดูจะเป็นเรื่องยากไปเสียหมด เกาะสมุยไปมาก็ยาก หนังสือจะอ่านอย่างทุกวันนี้ก็ไม่มี จะมีก็แต่อาจารย์ผู้สอน ต้องใช้วิธีเขียนตามที่หลวงพ่อพริ้งท่านให้จดใส่สมุด เพื่อเอามาท่อง แต่อาจารย์ท่านก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก 

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ๑๒. หลวงพ่อพริ้ง วิปัสสนาจารย์แห่งเกาะสมุย ๑๓. เรียนนักธรรมที่วัดแจ้ง เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here