“เพื่อความสงบสุขของชีวิต”
พระสงฆ์นานาชาติ
กับบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเกาหลีใต้ (จบ)
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้
สัปดาห์ก่อนเล่าถึงตอนที่พระอาจารย์จิระศักดิ์ เกตุเมโธ เจ้าอาวาสวัดพุทธารามเกาหลี พานั่งรถชมเมืองคย็องจู เป้าหมายไปที่วัดพุลกุกซา (Bulguksa Temple) คำว่า “พุลกุกซา” นั้น หมายถึง ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา สร้างขึ้นในปี ค.ศ.๕๒๘ ปีที่พระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยราชวงศ์ชิลลา (Silla) ปัจจุบันตั้งอยู่ในเมืองคย็องจู หรือ เคียงจู (Gyeongju) ของจังหวัดคย็องซังเหนือ (คย็องซังบุกโด, Gyeongsangbuk-do) และได้รับการบันทึกจากองค์การ UNESCO ในปี ค.ศ.๑๙๙๕ ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
เราไปถึงวัดพุลกุกซาในช่วงใกล้ค่ำประมาณ ๑๕ นาทีก็หกโมงเย็น มีเวลาในการเดินชมบริเวณวัดประมาณ ๔๕ นาทีก่อนที่ความมืดจะปกคลุม ความรู้สึกขณะเดินเข้าไปในวัดสัมผัสได้ถึงความศรัทธา ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา วัดมีอาณาบริเวณกว้างขวางประกอบด้วยวิหารใหญ่น้อยหลายหลัง มีศาลาลายล้อมรอบ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา
ลักษณะของสถาปัตยกรรมวัดแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่รับมาจากจีนอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะลักษณะของแผนผังตัวอาคาร ที่แบ่งพื้นที่ออกเป็นลานสี่เหลี่ยมย่อยๆ โดยมีระเบียงทางเดินและประตูทางเข้าเชื่อมต่อถึงกัน โดยในแต่ละลานจะมีวิหารอยู่หนึ่งหลังเป็นประธานของพื้นที่ ภายในเขตวัด มีเจดีย์ขนาดเล็กสององค์ตั้งคู่กัน ได้แก่ เจดีย์ดาโบทับ (Dabotap) และเจดีย์ช็อกกาทับ (Seokgatap) เจดีย์ทั้งสององค์นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติประจำชาติ และได้รับการยกย่องว่าเป็นเจดีย์ที่งามที่สุดของอาณาจักรชิลลา
เรามีเวลาไม่พอสำหรับที่จะไปวัดถ้ำซอคูรัม (Seokguram Grotto) เพื่อที่จะไปดูโบสถ์ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งสร้างโดยทำการเจาะเชื่อมกับถ้ำด้านหลัง ด้านในมีพระประธานองค์ใหญ่ คือ พระศากยมุนีทัธคัตตา สร้างจากหินขาว ด้านหลังนั้นเป็นรูปแกะสลักนูนของเทพ ๘ องค์ และพระโพธิสัตว์อีก ๒ องค์ มีความสวยงามมาก จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การ UNESCO ในปี ค.ศ.๑๙๙๕ เช่นเดียวกัน
หลังจากที่ไปชมวัดพุลกุกซาแล้วก็มาพักที่วัดภาวนาคย็องจู ได้พูดคุยกับพระอาจารย์นุกูล ธีรวโร เจ้าอาวาสวัดภาวนาคย็องจู เกาหลีใต้ ถึงความตั้งใจในการทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะสร้างวัดไทยในเกาหลีใต้
ท่านเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่เรียนจบปริญญาตรี ซึ่งท่านเรียนเอกภาษาญี่ปุ่นแล้วก็บวชเป็นพระ ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะสอนสามเณรในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็มีหลวงปู่ปุญญะสัญโต จากวัดแทจงซา เมืองปูชาน ประเทศเกาหลีใต้ ต้องการอยากจะให้พระไทยมาศึกษาแลกเปลี่ยนอยู่ที่วัดท่าน
“ตอนนั้นไม่มีพระรูปไหนอยากจะมาที่เกาหลีใต้ ก็คิดว่าเรายังหนุ่ม มาเรียนก็ได้ภาษา ประกอบกับมีพระอาจารย์ ดร.ฐานิโย เป็นต้นแบบ ซึ่งท่านเป็นพระอาจารย์ที่เรียนจบปริญญาเอกที่ญี่ปุ่นแล้วก็สอนมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น ก็คิดว่า ถ้าเราไปญี่ปุ่นก็มีพระทำหน้าที่อย่างนี้แล้ว แต่ที่เกาหลีใต้ยังไม่มี ก็เลยตัดสินไปอยู่ที่วัดแทจงซา ไปอยู่ ๓ เดือน ก็เริ่มเรียนภาษาเกาหลีที่ปูชาน เรียนอยู่ ๖ เดือนก็มาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยดงกุก อยู่ที่วัดครบ ๑ ปี ก็มาอยู่ที่มาอยู่ที่หอพักมหาวิทยาลัย
“ตอนอยู่ที่วัดแทจงชา ได้ฝึกความอดทนมาก ความเพียรมาก ได้ฝึกหลายๆ อย่าง ทำวัตรตีสามถึงตีสี่ นั่งสมาธิตีสี่ถึงตีห้าทุกวัน แล้วก็พักถึงหกโมงเช้า ฉันข้าวต้ม ข้าวต้มก็ข้าวต้มกับกิมจิทุกวัน ไม่ต้องลุ้นว่าวันนี้จะมีเมนูอะไร แต่ละวันก็ไปเรียนหนังสือเดินลงเขาสิบห้านาทีไปรอรถเมล์ นั่งรถเมล์อีกหนึ่งชั่วโมงไปเรียน”
ท่านเล่าให้ฟังถึงการเกิดขึ้นของวัดภาวนาคย็องจูว่า หลังจากที่เรียนภาษาเกาหลีรวม ๒ ปี ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัย ในระหว่างที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอยู่ปี ๒ วันนั้นเป็นวันเกิดพอดีก็ไปซื้อปลาไปปล่อยร่วมกับเพื่อนๆ คนจีน แล้วก็เจอคนไทย โยมคนนั้นก็เป็นสะพานบุญให้ได้รู้จักคนไทยที่ทำงานในเมืองคย็องจูกลุ่มนั้น กลุ่มนี้
หลังจากนั้นก็เลยรวมญาติโยมทำกิจกรรมในวันอาทิตย์เดือนละ ๑ ครั้ง ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรม โดยใช้พื้นที่วิหารของมหาวิทยาลัยทำกิจกรรม และก็อีกสามอาทิตย์ก็นั่งรถไปบิณฑบาตตามชุมชนที่คนไทยพักอาศัยอยู่ ก็ทำอยู่ ๓ ปี คนก็เริ่มเยอะขึ้น
เวลาคนไทยมาทำกิจกรรมก็นำอาหารการกินจำพวกเนื้อสัตว์มาด้วย ก็มานั่งกินต่อหน้าพระประธาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรับไม่ได้ คนไทยคิดว่าวิหารของมหาวิทยาลัยเป็นวัดไทยไปแล้ว เพราะจัดกิจกรรมมา ๓ ปี เวลามาก็ไม่ได้นัด มาถึงก็เปิดประตูวิหารเข้าไป ซึ่งนักศึกษามหาวิทยาลัยก็นั่งสมาธิสวดมนต์ เจ้าหน้าที่ก็ตำหนิมาที่พระ ประกอบกับเวลาทำกิจกรรมก็ต้องมีของใช้ ก็ฝากเก็บที่ห้องเก็บของๆ มหาวิทยาลัย นานเข้าของเยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่มีที่เก็บ ก็ไม่รู้จะเอาไปไหน ก็เลยบอกกับตัวเองว่า คงถึงเวลาในการสร้างวัด ก็เลยมาเช่าสถานที่แห่งนี้ทำเป็นวัด สัญญาเช่าถึงปี ค.ศ.๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔)เมื่อมีกำลังพอก็คงจะซื้อที่ดินสร้างวัดในอนาคตอันใกล้
พระอาจารย์นุกูล ท่านเล่าให้ฟังถึงมหาวิทยาลัยดงกุก เดิมทีเป็นวิทยาลัยสงฆ์ที่พระสงฆ์บริจาคเงินกันสร้างขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๐๖ (พ.ศ.๒๔๙๙) แล้วก็เปิดการเรียนการสอนสำหรับพระภิกษุ-ภิกษุณี เปิดเรียนได้ ๓ ปีก็เปิดโอกาสสำหรับคฤหัสถ์ได้เข้ามาศึกษา แล้วก็กลายเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่พระสงฆ์ตั้งขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันก็เปิดสอนสาขาวิชาทั่วไป เหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป ไม่ใช่มีเพียงแค่คณะพระพุทธศาสตร์ มีพระสงฆ์ทำหน้าที่ร่วมบริหารในตำแหน่งอธิการบดี
แต่เดิมนั้นมหาวิยาลัยเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องการสอนภาษาเกาหลี คนที่จะไปเป็นครูสอนภาษาเกาหลีต้องจบจากที่นี่ถึงจะได้รับการยอมรับ ในปัจจุบันนี้ประเทศเกาหลีใต้ มีมหาวิทยาลัย ๔๐๐ กว่าแห่ง มหาวิทยาลัยดงกุกติดอันมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดอันดับที่ ๑๔
สำหรับการคณะพุทธศาสตร์ มีพระภิกษุ-ภิกษุณีจากทั่วโลก และก็คนหนุ่มสาว คนวัยกลางคนชาวเกาหลีที่สนใจพระพุทธศาสนาเข้าศึกษาปีละ ๑๕๐ รูป/คน พระอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยสัมภาษณ์คนหนุ่มสาวทำไมถึงมาเรียนพระพุทธศาสนา
หลายคนก็ตอบว่า
เขาก็มีความรักในพระพุทธศาสนา
อยากทำงานเกี่ยวกับการสอนศีลธรรม
อยากให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปทั่วโลก
มีคนหนึ่งที่ตอบว่า เวลาเห็นคนหนุ่มสาวทั่วไป อยากให้คนหนุ่มสาวเหล่านั้นได้พบธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความสงบสุขในการใช้ชีวิต สำหรับมหาวิทยาลัยดงกุกนั้นยังมีการเปิดสอนสาขาพระพุทธศาสนาสำหรับสอนเด็ก ซึ่งก็ได้รับการสนใจชาวเกาหลีใต้เข้าศึกษาปีละ ๒๐๐ คน
ติดตามเรื่องราวการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางตอนใต้ของประเทศเกาหลีใต้ของคณะสงฆ์ไทยผ่าน Facebook วัดพุทธาราม เกาหลี (วัดไทยอันซัน) ถ้ามีโอกาสในครั้งหน้าก็คงจะนำมาเล่าให้ญาติโยมได้ฟังอีก
“เพื่อความสงบสุขของชีวิต” พระสงฆ์นานาชาติ
กับบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเกาหลีใต้ (จบ)
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้
จากคอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒)