“การสอนเด็ก…ไม่ใช่แค่ให้เขารู้อะไร แต่ให้เขารู้วิธีคิด เพราะถ้ามีวิธีคิดที่ดีแล้วจะนำไปสู่การแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง

 


มีลาอยู่ตัวหนึ่ง มันเล็มหญ้าอยู่ที่ทุ่งอันเขียวขจีกว้างใหญ่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ทำให้เช้าๆ หมอกเม็ดหนาค้างอยู่บนยอดหญ้าสะท้อนกับแสงแดดเป็นประกายดุจเพชรเม็ดงาม  กระจายทั่วทุ่ง  เสียงจิ้งหรีดดังระงมไปทั่วทุ่ง สร้างความบันเทิงใจให้กับลาตัวนั้นมาก  ความหลงใหลในเสียงของจิ้งหรีดทำให้ลาตัดสินใจเดินไปถามว่า

“เจ้าจิ้งหรีดน้อย เสียงเจ้าดีเหลือเกิน เจ้าทำยังไงถึงได้เสียงดีขนาดนี้?”

จิ้งหรีดน้อยร้องตอบไปว่า  “ข้าตื่นแต่เช้ากินน้ำค้างทุกวัน”

ฟังเพียงเท่านี้เจ้าลาตัวนั้นมันก็เลิกกินหญ้า  ตื่นเช้ามาก็เลียกินแต่น้ำค้าง  ด้วยหวังว่าสักวันมันจะมีเสียงที่ดีเหมือนจิ้งหรีด

ไม่นานลาตัวนั้นก็ตาย เพราะร่างกายผอมโซขาดใจตายในที่สุด

ผู้เขียนเล่าเรื่องนี้ให้เด็กๆ ฟัง ก่อนจะถามว่าเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร

เด็กๆ หลายคนบอกว่า “ลาโง่ไม่ดูตัวเอง”

มีเด็กคนหนึ่งบอกว่า “ลาไม่ได้โง่แค่ค้นหาตัวเองไม่เจอ เลยมัวแต่เลียนแบบคนอื่น จึงไม่ประสบความสำเร็จ”

ฟังแล้วก็ได้แต่แย้มน้อยๆ เพราะไม่กี่ครั้งที่เล่าไปแล้วจะมีคนค้นพบรหัสที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเล่า  เพราะการสอนเด็กยุคนี้  การอธิบายให้ฟังไม่ค่อยได้ผลเพราะเขาหาอ่านได้จากอินเทอร์เน็ต  แต่การกระตุ้นด้วยคำถามหรือเรื่องเล่าเพื่อชวนคิด  และขบประเด็นบางอย่าง  จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ดีกว่า เพราะบางครั้งเราไม่ใช่แค่ให้เขารู้อะไร  แต่อยากให้เขารู้วิธีคิดมากกว่า  เพราะถ้ามีวิธีคิดที่ดีแล้วจะนำไปสู่การแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง  

จากเรื่องลากับจิ้งหรีด  เราช่วยกันสรุปประเด็นว่า ลาเหมือนจะมีความฝันที่อยากจะเสียงดี หรือมันอาจจะอยากเป็นนักร้องก็ได้ แต่ว่ามันหาการแสวงหาความรู้ที่ถูกต้อง  ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นนักร้องไม่ได้  แต่มันอาจจะค้นหาแนวของตัวเองมากกว่าเลียนแบบคนอื่นจนลืมตัวตนไป

และเมื่อขยายประเด็นเราก็พบว่า คนเรานั้นมีความทุกข์เมื่อเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น  เพราะส่วนใหญ่มักจะเปรียบด้วยสิ่งที่ตนเองขาดกับสิ่งที่คนอื่นมี  ก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ  ที่ตนเองมีไม่เท่าเขา และก็ยิ่งอยากให้ตัวเองมีเหมือนคนอื่นเพิ่มขึ้นไปอีก

เมื่อรู้สึกว่าตัวเองมีไม่พอก็เลยทุกข์  ทั้งที่ตัวเองนั้นมีมากกว่าคนอื่นหลายเท่า

การเปรียบเทียบเพื่อแข่งขัน        เป็นมุมบวก

การเปรียบเทียบเพื่อแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น เป็นมุมลบ

เพื่อเป็นการเปรียบเทียบเชิงสร้างสรรค์  ใช้ค้นหาตนเอง ลองมาพิจารณาดูสิว่า เรานั้นมีอะไรบ้างที่เด่นเห็นว่าเป็นข้อได้เปรียบหรือพิเศษกว่าคนอื่นบ้าง  สักประมาณ ๔ อย่างก็พอ เช่น

๑.มีอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่น

๒.เคยมีประสบการณ์อะไรที่ยอดเยี่ยมกว่าคนอื่น

๓.ทำได้ดีกว่าคนอื่น

.มีใครที่รักเสมอ

ในหนึ่งคำถามอาจจะตอบได้มากกว่าหนึ่งอย่าง แล้วลองพิจารณาคำตอบของตัวเองดูอีกครั้ง  ไม่ใช่ว่าอันไหนถูกหรือผิด  แต่ลองคิดถึงตัวเองให้มากที่สุด  ภาพตัวตนของเราจะปรากฏชัดขึ้นมาเรื่อยๆ

เมื่อเห็นตนชัด  ก็จะพัฒนาตนถูก 

ดูตนให้ออก  บอกตนให้ได้  ใช้ตนให้เป็น 

ในช่วงต้นปีนี้  หลายคนคงได้ทบทวนตัวเองมากพอสมควรแล้ว  ก็อยากให้เราพัฒนาต่อไป  ทบทวนเปรียบเทียบตนกับคนอื่นแล้วอย่าไปทับถมปมด้อย  ให้ค่อยๆ พัฒนาปรับปรุง  ส่วนปมเด่นก็ต่อยยอดให้ดีงามมากยิ่งขึ้น

ไม่แน่ว่า  ปีนี้อาจจะเป็นปีแห่งการค้นพบตัวเอง…ก็เป็นได้…

 พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here