กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ศักดา สุนทฺโร มากๆ เลยค่ะ อ่านแล้วมีพลังขึ้นมา ในช่วงเวลาท้อๆ ขอเราอย่าทิ้งธรรมะกัน อย่างที่พระอาจารย์ศักดาเมตตาให้ธรรมะ ก็คือ แม้ล้มลง ก็อย่าล้มทับตัวเอง คือ อย่าดูถูกตัวเรา อย่าทิ้งตัวเรา … และ อย่าทิ้งลมหายใจของเรา เพราะชีวิตนั้นมีค่ากว่าที่เราจะมาเหยียบย่ำตัวเราเอง

ผู้เขียนเจอมาหมดแล้ว กับการล้มทั้งยืน เผชิญหน้ากับความตาย ราวกับแพแตกอยู่กลางทะเลยเพียงลำพังกับความพลัดพรากและความสูญเสีย บอบช้ำเสมือนกับโลกนี้ ไม่มีใครเลย แต่โชคดี ยังมี “สติ” และสัมผัสได้ถึงลมหายใจอุ่นๆ แม้น้ำตาไหลจนแห้งเหือด พูดไม่ออกมาเป็นปีๆ ไม่อยากเจอใคร แต่สุดท้าย เราก็ต้องเจอกับตัวเราเองตลอดเวลา ถ้าเราไม่สามารถเป็นเพื่อนกับตัวเราเองได้ ใครเล่าจะมาเป็นเพื่อนเรา…

และแล้ว เช้าวันหนึ่ง ผู้เขียนตื่นขึ้นมา หลังสวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้ว ก็ออนไลน์มาพบกับเสียงธรรมจากเพจของพระอาจารย์ศักดา สุนฺทโร เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ดังภาพข้างต้น และข้อความว่า

เขาโค่นล้มตัดเจ้าคงหวังให้ต้นตาย แต่เจ้าเก่งกลับกลายเป็นเติบโตอย่างแตกต่าง ถ้าชีวิตมันจะโดนรังแกกลั่นแกล้งบ้าง ขอจงสร้างชีวิตรูปแบบใหม่ให้ใหญ่โตอย่างยั่งยืน

ข้อคิดจากต้นไม้ล้มเช้านี้หลายคนที่บอกว่าชีวิตฉันพังหมดแล้ว หาช่องทางใหม่ที่จะเติบโต ยิ่งใหญ่และแปลกตา เป็นชีวิตที่มีค่า อย่าปล่อยให้ชีวิตมันล่มจมแอ้งแม้งอยู่อย่างนั้น

พร้อมกับมี #ว่า เติบโตใหม่ในแบบของเราก็ได้นะ (จากเพจพระศักดา สุนทฺโร)

ผู้เขียนก็เลยวาดรูปพระอาจารย์ศักดา สุนฺทโร ด้วยสีชอล์กออกมาในมุมที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ในความคิดของเราเอง แม้ไม่เหมือนพระอาจารย์ ก็ไม่เป็นไร เวลาวาด มีสติตั้งมั่นอยู่กับปลายนิ้ว ให้ปลายแท่งชอล์กฝนกับแผ่นกระดาษปรู๊ฟจนได้ยินเสียง ร่างออกมาเป็นภาพจนเกิดสมาธิ และปัญญาก็ปรากฏให้เห็นความคิดที่ไหลไปมาในระหว่างวาดอยู่ เหมือนน้ำหนักของปลายสีชอล์กที่ไม่เหมือนกันสักครั้งเดียว ความคิดก็เช่นกัน เหมือนเป็นเรื่องเดิมๆ หมุนมาซ้ำๆ แล้วก็หลอกให้เราหยุดคิดตามมันบ่อยไป …

แต่คราวนี้ ผู้เขียนเห็นความคิดละ และไม่ทะเลาะกับความคิดใดๆ ให้เหนื่อย หรือเป็นทุกข์ไปเปล่าๆ แต่ให้ความคิดนั้น มันผ่านจากใจไหลออกไปตามทางของมัน … ลาก่อน ความคิด ที่ไม่สร้างสรรค์ ลาก่อน ความคิดที่จะฉุดให้ฉันหันหลังกลับ ไม่ล่ะ …บ๊ายบาย

ตอนท้ายของภาพข้อคิดจากไม้ล้ม พระอาจารย์ศักดา ยังเล่าประวัติพระปฏาจาราเถรี ให้ฟังในเพจด้วย…

ประวัติ “พระปฏาจาราเถรี ” ในสมัยพุทธกาล เล่าโดย พระอาจารย์ศักดา สุนฺทโร

ปฏาจารา เป็นธิดาของเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล บิดามารดาเป็นคนมั่งคั่งร่ำรวย นางจึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี นางเป็นหญิงรูปร่างงดงาม แต่นางหลงรักชายคนใช้ของนางเอง เมื่อบิดามารดาจะหาชายหนึ่งในชนชั้นเดียวกันมาแต่งงานด้วย นางจึงนัดแนะให้คนใช้พาหนีแล้วไปสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในชนบทอันทุรกันดารแห่งหนึ่ง

เริ่มแรกชีวิตในชนบท ปฏาจารามีความสุขมาก เพราะได้อยู่ใกล้ชิดกับชายคนรัก เวลาผ่านไปไม่นานนางก็ตั้งครรภ์ ในเวลาใกล้คลอดนางมีความกังวลใจเพราะไม่มีบิดามารดาและญาติอยู่ใกล้ นางจึงขอร้องให้สามีพากลับไปหาบิดามารดา เมื่อสามีปฏิเสธการขอร้องเพราะกลัวเกรงบิดามารดาของนางจะเอาโทษ นางจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพียงลำพัง

นางคลอดบุตรคนแรกในระหว่างทาง เมื่อสามีตามไปพบเข้าได้ชี้แจงเหตุผลต่างๆ จนพานางกลับบ้านได้สำเร็จ ในเวลาต่อมาปฏาจาราตั้งครรภ์อีกเป็นครั้งที่สองและขอร้องสามีเหมือนครั้งก่อน เมื่อสามีปฏิเสธคำขอร้องเหมือนครั้งที่แล้ว นางจึงพาบุตรน้อยผู้กำลังหัดเดินหนีออกจากบ้าน ในระหว่างทางนางปวดท้องอย่างรุนแรงเพราะกำลังจะคลอดบุตร และฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก

สามีตามไปพบนางกำลังดิ้นทุรนทุรายอยู่ท่ามกลางสายฝนจึงไปตัดไม้เพื่อมาทำที่กำบังฝนชั่วคราว แต่เขาถูกงูพิษร้ายกัดถึงแก่ความตาย ปฏาจาราคลอดบุตรด้วยความยากลำบาก แล้วนางอุ้มทารกและจูงบุตรน้อยตามไปพบศพสามี จึงมีความเศร้าโศกเสียใจมาก นางตัดสินใจจะพาบุตรไปหาบิดามารดาในเมือง

เมื่อมาถึงลำธารใหญ่ที่น้ำกำลังไหลเชี่ยว นางไม่อาจพาบุตรข้ามน้ำพร้อมกันได้ จึงให้บุตรคนโตยืนรอที่ฝั่งข้างหนึ่ง แล้วนางก็อุ้มทารกแรกเกิดเดินข้ามน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง หลังจากจัดแจงวางทารกน้อยไว้ในที่อันเหมาะสมแล้วนางได้เดินข้ามน้ำเพื่อกลับมารับบุตรคนโต

ในขณะที่นางกลับมาถึงกลางน้ำนางเห็นเหยี่ยวตัวหนึ่งกำลังบินโฉบลงเพื่อจิกทารกเพราะมันเข้าใจว่าเป็นก้อนเนื้อ นางจึงยกมือขึ้นไล่เหยี่ยวแต่ก็ไม่อาจช่วยชีวิตทารกน้อยได้เพราะเหยี่ยวมองไม่เห็นอาการที่นางขับไล่จึงเฉี่ยวลูกน้อยไป

บุตรคนโตมองเห็นนางยกมือขึ้นทั้งสองข้างเข้าใจว่ามารดาเรียกตนจึงก้าวลงสู่แม่น้ำอันเชี่ยวและถูกน้ำพัดพาหายไป

ปฏาจาราสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในเวลาใกล้กันแต่นางยังยั้งสติได้

นางเดินร้องไห้เข้าสู่เมืองสาวัตถี และได้ทราบข่าวจากชาวเมืองคนหนึ่งในระหว่างทางว่าลมฝนได้พัดเรือนบิดามารดาของนางพังทลายและเจ้าของเรือนก็ตายไปด้วย เมื่อนางทราบข่าวนี้นางไม่อาจตั้งสติได้ นางสลัดผ้านุ่งทิ้งแล้ววิ่งบ่นเพ้อด้วยร่างกายอันเปล่าเปลือยเข้าไปในพระวิหารเชตวัน ในขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ประชาชนเห็นนางแล้วร้องบอกกันว่า คนบ้าๆ อย่าให้เข้ามา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปล่อยให้นางเข้ามาเถิด แล้วตรัสให้นางได้สติ นางกลับได้สติดังเดิม ใครคนหนึ่งในที่ประชุมนั้นโยนผ้าให้นางนุ่งห่ม แล้วพระพุทธเจ้าทรงดำรัสปลอบโยนนางก็มีกำลังใจขึ้นมาและเข้าใจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนโดยสรุป จึงบรรลุมรรคผลชั้นโสดาบัน

จากนั้น นางได้กราบทูลขอบวชเป็นพระภิกษุณี หลังจากบวชแล้วไม่นาน พระภิกษุณีปฏาจารา ได้ตักน้ำจากหม้อสำหรับบรรจุน้ำล้างเท้ามาล้างเท้าของตน เมื่อเทน้ำราดเท้าครั้งหนึ่งน้ำไหลจากหลังเท้าลงดิน ซึมแผ่ออกไปแล้วก็หมดลง ตักอีกกระบอกหนึ่งเทล้างเท้า น้ำก็ไหลลงดินแผ่วงกว้างออกไปแล้ว ครั้งที่สามน้ำก็แผ่วงกว้างออกไปแล้วหยุดแผ่

พระภิกษุณีปฏาจาราเทียบกับชีวิตของตนว่า ชีวิตเหมือนน้ำล้างเท้า

น้ำแผ่ซึมครั้งแรกเหมือนชีวิตลูกน้อยของตนเกิดและอยู่ในโลกไม่ทันไรก็หยุดเคลื่อนไหวตายจากโลก

น้ำแผ่ซึมครั้งที่สองเหมือนอดีตสามีกำลังหนุ่มก็ตายจากโลกเพราะถูกงูกัด

และน้ำซึมแผ่ครั้งที่สามเหมือนบิดามารดาและพี่ชายตายเมื่ออายุมาก

เมื่อนางพิจารณาเช่นนี้ พระพุทธเจ้า ก็ได้แสดงธรรมให้นางทราบความจริงว่า ความคิดของเธอถูกต้องแล้ว เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็นธรรมดา ฉะนั้นคนที่เกิดมาแล้วจะต้องพบกับความเสื่อมของชีวิตร่างกาย แม้ว่าชีวิตจะอยู่เพียงขณะหนึ่ง ระยะหนึ่ง ก็คงประสบความเสื่อมอยู่นั่นเอง แต่ว่าค่าของชีวิตคนนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าเกิดมานานหรือว่าเกิดมาน้อย เพราะคนเราแม้มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี แต่ถ้าไม่เห็นความเสื่อมของร่างกายแล้ว ก็สู้คนที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว แต่เห็นความเสื่อมของร่างกายไม่ได้

นางได้พิจารณาตามไป ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันนั้นเอง หลังจากบรรลุพระอรหันต์แล้ว ท่านได้นำหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าและประสบการณ์ของท่านมาสอนภิกษุณีและสตรีทั้งหลายที่มีปัญหาในชีวิตอยู่เสมอ พระปฏาจาราเถรีมีความสนใจในพระวินัยเป็นพิเศษ ตั้งใจศึกษาพระวินัยจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเอตทัคคะ (เป็นเลิศกว่าผู้อื่น) นางเป็นผู้ทรงพระวินัย เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดำรงอยู่ในภาวะภิกษุณีจนพอสมควรแก่อายุขัยแล้วก็นิพพาน

เมื่ออ่านเพจของพระอาจารย์ศักดา สุนฺทโร จบลง ผู้เขียนก็รำลึกถึงวันวานที่เคยฟังธรรมจากท่านเมื่อราวสี่ปีก่อน จึงย้อนกลับมาดูทางช่องยูทูปของ จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

ในวันเสาร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในโครงการ “โชคดีที่เจอพระ คุยธรรมะข้างภูเขาทอง” ณ ศาลาหลวงพ่อโชคดี วัดสระเกศ เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ โดยในวันนั้น พระมหาธนเดช  ธมฺมปญฺโญ ประธานกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม ได้นิมนต์พระอาจารย์ศักดา สุนฺทโร แห่งวัดไร่ป่าธรรมภิมุข จังหวัดตราด มาแบ่งปันธรรมะแบบง่าย ๆ ให้กับผู้เข้าฟังธรรมบรรยายในวันนั้น

ซึ่งจัดโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร โดยมีท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ในขณะนั้น เป็นเลขานุการ ได้ขยายงานตามมติมหาเถรสมาคม ที่ ๔๑๒/๒๕๕๖ ที่เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการสนับสนุน การดำเนิน ภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกและสร้าง เครือข่ายขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระศาสนาเชิงรุกทั่วประเทศ

จึงขอนำมาแบ่งปันในวันนี้ ที่เราอาจกำลังขาดกำลังใจในชีวิตไป ให้ย้อนกลับมาหาตัวเรา ในวันที่วันพรุ่งอาจไม่มีลมหายใจแล้ว หากทว่า วันนี้ ยังมีลมหายใจอยู่ ธรรมะอันเรียบง่ายของพระอาจารย์ศักดา จากชายแดนตะวันออกของประเทศไทย ที่เดินทางเมตตาแบ่งปันให้กับผู้เดินทางมาฟังได้พบธรรมะในใจตนเอง ไม่ให้ประมาทในวัย ในเวลา ในความตายที่จะมาพรากเราได้ทุกขณะ

พระอาจารย์ศักดา เริ่มต้นด้วยการเริ่มต้นจากการนำสวดมนต์ สรรเสริญพระพุทธเจ้าที่ทรงชนะพญามาร ด้วยทำนองสรภัญญะ  และตามด้วยบทสวด ธัมมปริยายะถาคา (พระคาถาธรรมบรรยาย) ที่ลึกซึ้งถึงเหตุและปัจจัยของชีวิตเมื่อถึงที่สุดก็ต้องตายเป็นธรรมดา อย่าได้มัวแต่ประมาทอยู่เลย เพราะไม่มีใครต่อรองหรือผัดผ่อนกับพญามัจจุราชไปได้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ ให้เร่งความเพียร ปฏิบัติเพื่อความสงบสังขารให้ทันท่วงที เพราะชีวิตนี้ช่างเปราะบางนัก ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ เป็นอนัตตา อย่างแท้จริง…

ก่อนที่ท่านจะนำเข้าสู่การฟังธรรมอันเป็นอกาลิโก (เหนือกาลเวลา) ที่หยุดเวลาไว้ให้เราอยู่กับปัจุบันอย่างเต็มอิ่ม

จึงขอคัดบทสวดธัมมปริยายะถาคา (พระคาถาธรรมบรรยาย) มาฝากไว้ ในขณะที่เราฟังบทสวดนี้แล้วเปล่งเลียงไปพร้อมๆ กัน ดังที่พระอาจารย์ศักดากล่าาว่า เวลาสวดมนต์ต้องให้ได้สองใจ คือ ๑. ชื่นใจ และ ๒. เข้าใจ….แล้วเมื่อฟังธรรมจบแล้ว เราจะค้นพบแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่ทำให้เราเห็นว่า หนทางของการเติบโตอย่่างแตกต่าง ในแบบฉบับของเราเองนั้นเป็นอย่างไร

ธัมมปริยายะถาคา (พระคาถาธรรมบรรยาย)

สัพเพ สัตตา มะริสสันติ, สัตว์ทั้งหลายทั้งสิ้นจักตาย,
มะระณัง ตังหิชีวิตัง, เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด,
ชะรังปิ ปัตฺวา มะระณัง, แม้อยู่ได้ถึงชราก็ต้องตาย,
เอวัง ธัมมา หิ ปาณิโน. เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา
ยะมะกัง นามะรูปัญจะ, ก็นามและรูปเป็นของคู่กัน,
อุโภ อัญโญญะนิสสิตา, ต่างอาศัยกันและกันทั้งสอง,
เอกัสฺมิง ภิชชะมานัสฺมิง, เมื่อฝ่ายหนึ่งแตกสลาย,
อุโภ ภิชชันติ ปัจจะยา, ทั้งสองฝ่ายอันอาศัยกันก็ต้องสลาย
ยะถาปิ อัญญะตะรัง พีชัง, เปรียบเหมือนพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง,
เขตเต วุตตัง วิหูระติ, ที่หว่านลงในนาแล้วย่อมงอกได้,
ปะฐะวีสัญจะ อากัมมะ, เพราะอาศัยรสแห่งแผ่นดิน,
สิเนหัญจะ ตะทูภะยัง, และยางในพืชทั้งสองประการนั้น
เอวัง ขันธา จะ ธาตุโย ฉะจะ อายะตะนะ อิเม
ขันธ์ห้าและธาตุทั้งหลาย ทั้งอายตนะ ๖ เหล่านี้ก็เหมือนกัน

เหตุง ปะฎิจจะ สัมภูตา, อาศัยเหตุจึงเกิดขึ้นได้,
เหตุภังคา นิรุชฌะเร, เพราะเหตุแตกสลายก็ย่อมดับไป
ยะถา หิ อังคะสัมภารา, เปรียบเหมือนการคุมสัมภาระเครื่องรถเข้าได้
โหติ สัทโท ระโถ อิติ, เสียงเรียกว่ารถก็มีได้,
เอวัง ขันเธสุ สันเตสุ เมื่อขันธ์ห้ายังมีอยู่ก็เหมือนกัน
โหติ สัตโตติ สัมมะติ, การสมมุติว่าสัตว์ก็มีได้
อุโภ ปุญญัญจะ ปาปัญจะ, ยัง มัจโจ กุรุเต อิธะ,
อันผู้จะต้องตายทำบุญและบาปทั้งสองอย่าง, อย่างใดไว้ในโลกนี้

ตัญหิ ตัสสะ สะกัง โหติ, บุญและบาปนั้นคงเป็นของๆ ผู้นั้นแท้
ตัญจะ อาทายะ คัจฉะติ, ผู้นั้นก็ต้องรับรองบุญและบาปนั้นไป
ตัญจัสสะ อะนุคัง โหติ, บุญและบาปนั้นก็ย่อมติดตามผู้นั้นไป
ฉายาวา อะนุปายินี, เหมือนเงาอันติดตามผู้นั้นไปฉะนั้น
สัทธายะ สีเลนะ จะโย ปะวัฑฒะติ, ผู้ใดเจริญด้วยศรัทธาและศีล
ปัญญายะ จาเคนะ สุเตนะ จูภะยัง, และปัญญา การบริจาค การสดับศึกษาทั้งสองฝ่าย
โส ตาทิโส สัปปุริโส วิจักขะโณ, ผู้นั้นเป็นสัตบุรุษเฉียบแหลมเช่นนั้น
อาทียะติ สาระมิเธวะ อัตตะโน, ย่อมถือไว้ได้ซึ่งสาระประโยชน์ของตนในโลกนี้แท้
อัชเชวะ กิจจะมาตัปปัง, ความเพียรเผากิเลส, พึงเร่งรีบทำเสีย แต่ในวันที่มีชีวิตเป็นอยู่นี้ทีเดียว.
โก ชัญญา มะระณัง สุเว, ใครจะรู้ว่าความตายจะมีมาในวันพรุ่งนี้
นะหิ โน สังคะรันเตนะ, มะหาเสเนนะ มัจจุนา, เราทั้งหลายจะผัดเพี้ยนกับมัจจุราช ผู้มีเสนาใหญ่นั้นไปไม่ได้เลย

เอวัม ภูเตสุ เปยเตสุ เมื่อสังขารเหล่านั้น ต้องเป็นอย่างนี้แน่แท้แล้ว,
สาธุ ตัตถาชฌุเปกขะนา, การวางอุเบกขาในสังขารเหล่านั้นได้เป็นดี.
อะปิ เตสัง นิโรธายะ ปะฎิปัตติยาติสาธุกัง, อนึ่ง การปฏิบัติเพื่อความสงบสังขารเหล่านั้นได้ ก็ยิ่งเป็นความดี,

สัพพัง สัมปาทะนียัญหิ อัปปะมาเทนะ สัพพะทาติ.
กิจทั้งสิ้นนี้ควรบำเพ็ญให้บริบูรณ์, ด้วยความไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ นั้น แล

“เติบโตอย่างแตกต่าง” แรงบันดาลใจจากพระอาจารย์ศักดา สุนฺทโร กับบันทึกริมทางเมื่อวันวาน “โชคดีที่เจอพระ คุยธรรมะข้างภูเขาทอง” เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

กราบขอบพระคุณภาพถ่ายจาก เพจ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และเพจพระศักดา สุนฺทโร

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here