เมื่อราวสามปีก่อน ได้พบกับเด็กหญิงตัวน้อยเชื้อชาติจีนมาเลเซียวัย ๘ เดือน เธอถือกำเนิดและอาศัยที่สหรัฐอเมริกา คลานเข้ามาใกล้ ขณะที่บรรยายธรรมให้ชาวอเมริกันกลุ่มเล็กๆ ฟัง เธอต้องการจับระฆังใบใหญ่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระและพระบอกทุกคนให้อยู่เป็นปรกติ ปล่อยเธอตามสบาย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พ่อแม่ของเธอมาฟังธรรมและเธอก็ร่วมอยู่ในกิจกรรมวันนั้นจนจบ หลังจากนั้นเป็นต้นมาในช่วงที่พระมาพำนักที่เวอร์มอนท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พ่อแม่ของเธอก็นำเธอมาปฏิบัติด้วยเสมอ และแม่ก็ห้ามเธอบ่อยๆ ว่าอย่าแตะต้องตัวพระอาจารย์นะ เธอคงสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าทำไมต้องปฏิบัติเช่นนั้น แต่เธอก็พยายามเข้ามาอยู่ใกล้ๆ เสมอ
“เด็กน้อยกับการภาวนา คุณค่าแห่งลมหายใจ”
โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
เมื่อปีที่แล้วพ่อแม่ปู่ย่าได้พาเธอไปร่วมปฏิบัติที่สวิสเซอร์แลนด์เป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ เธอจะนอนสมาธิหรือเล่นอยู่ในความเงียบเสมอแม้อาจไม่ทุกครั้ง ขณะที่ทุกคนกำลังนั่งสมาธิ และในช่วงที่พ่อหรือแม่ของเธอเริ่มมีปากเสียงกัน หรือเวลาที่เธอรับรู้ถึงพลังที่ไม่สงบเกิดขึ้นในครอบครัว เธอจะส่งสัญญาณในรูปแบบที่ต่างกันให้พ่อแม่หยุด กลับมาตามรู้ลมหายใจเสมอหรือแม้แต่ตัวเธอเอง เมื่อเกิดภาวะอารมณ์ที่ไม่ปรกติ หงุดหงิดไม่พอใจ เมื่อแสดงท่าทางสูดลมหายใจให้เธอเห็นและอยู่นิ่งๆ ตรงนั้นร่วมกับเธอ ส่วนใหญ่เธอจะทำตาม และได้สติกลับคืนมา
ก่อนหน้านั้นแม่ของเธอปรารภกับพระอยู่เสมอว่า อยากให้พ่อแม่(ปู่ย่า)มีโอกาสได้ปฏิบัติภาวนา เพราะชีวิตของท่านเหนื่อย วุ่นอยู่กับการทำธุรกิจ แม้ในตอนนี้ที่เกษียณแล้วก็ตาม พระก็ได้ให้กำลังใจและบอกกับเธอไปว่า เธอจงปฏิบัติภาวนาอย่างมีวินัยสม่ำเสมอ และจงเป็นนักปฏิบัติที่เบิกบาน และสงบได้ในขณะที่เกิดอารมณ์ไม่ดีเวลาที่อยู่ร่วมกับท่านทั้งสองแล้วอย่าลืมส่งพลังแห่งความสงบจากการปฏิบัติให้ท่านทุกครั้งอย่างไม่ต้องคาดหวังหรือกังวล นั่นหมายถึงเธอได้ตอบแทนคุณพ่อแม่อย่างดีแล้ว เมื่อใดที่เหตุปัจจัยพร้อมทั้งในส่วนที่เธอได้ส่งมอบให้ และในส่วนที่ท่านเคยสั่งสมและกำลังกระทำอยู่ ท่านทั้งสองจะได้มีโอกาสปฏิบัติภาวนาแน่นอน
ณ วันนี้เด็กหญิงตัวน้อยวัยสี่ขวบครึ่ง เมื่อเธอทราบว่าทุกคนจะงดอาหารและรู้ที่มา เหตุผลของการงดอาหารในวันนี้ เธอขอร่วมปฏิบัติงดอาหารจนถึงพรุ่งนี้เช้าหลังจากรับประทานอาหารเช้าเพียงเล็กน้อยร่วมกับทุกคนที่ประกอบด้วยพ่อแม่และปู่ย่าที่มาจากมาเลเซียเพื่อมาเยี่ยมเยือนครอบครัวเธอ เพื่อเป็นการเกื้อกูลการปฏิบัติของพระอาจารย์ในวันคล้ายวันเกิดที่ถือเป็นธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัติด้วยการงดอาหารในทุกๆ ปี ไม่มีใครต้องวุ่นอยู่ในครัวเพื่อเตรียมอาหารถวายพระและรับประทาน ไม่ต้องล้างภาชนะใดๆ
ทุกคนต่างมีโอกาส มีเวลาได้นั่งนิ่งๆ อยู่กับตัวเอง เลี้ยงฉลองร่วมกันในทุกกิจกรรมด้วยความเงียบสงบ ทำวัตรเช้า เย็น นั่งสมาธิ แผ่เมตตา สวดมนต์บทพิจารณาสังขาร ความเปลี่ยนแปลง ความพลัดพราก ความไม่มีตัวเรา เขาที่เที่ยงแท้ แน่นอนร่วมกัน เป็นการเลี้ยงฉลองร่วมกันที่ประหยัดหลายๆ อย่างรวมทั้งพลังงาน และเรียนรู้ที่จะมีความสุขด้วยการเสพให้น้อยที่สุด
วันหนึ่งขณะเดินเล่นกับเด็กน้อย เธอก็พูดขึ้นว่า บางครั้งเราก็หงุดหงิดไม่พอใจ บางครั้งเราเสียใจ บางครั้งเราแสดงกิริยาอาการที่ไม่น่ารัก มันเป็นเรื่องปรกติใช่ไหม และเธอถามอีกว่า ทำไมผู้ใหญ่ต้องโกรธ ไม่พอใจ เวลาเด็กๆ ทำอะไรผิดพลาด
พระถามเธอกลับไปว่า “หนูทำอย่างไรละ เมื่อเวลาหนูโกรธ”
เธอตอบว่า “ปล่อยให้ความโกรธดับไปเอง”
พระเลยถามอีกว่า “หนูทำได้ทุกครั้งไหม” เธอตอบว่า “ไม่ทุกครั้ง”
แม่ของเด็กน้อยเล่าให้ฟังว่า มีอยู่หลายครั้งที่อยู่ด้วยกันแบบสบายๆ ลูกสาวตัวน้อยของเธอ จะนั่งขัดสมาธินิ่งๆ ทำท่าทางสูดลมหายใจเข้า-ออก ถ้าใครถามว่าเธอทำอะไร เธอจะร้องไห้และหยุดทำทันที
เมื่อใดที่เราสามารถยอมรับความไม่น่ารัก ไม่ดีของเราได้ จะไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะสามารถยอมรับความไม่น่ารัก ไม่ดีของผู้อื่นได้
การทำผิดพลาด ไม่ถูกต้องไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเพราะเราไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดนั้นและมิหนำซ้ำเราติเตียน ไม่พอใจหรืออาจเกลียดตัวเองที่เป็นเช่นนั้น เมื่อเราไม่สามารถให้อภัยตนเอง เราจะให้อภัยคนอื่นไม่ได้เลย เราจะกลายเป็นคนดีที่ก้าวร้าว หงุดหงิดและถือตนว่าตนดี ความดีเช่นนั้น คือความทุกข์มหันต์ และยากที่ใครจะอยากอยู่ใกล้ คบค้าสมาคมด้วย
ความผิดพลาด คือสิ่งที่ควรรู้ และตั้งสติที่จะลด ละด้วยใจที่สงบ ความมีสติอย่างอ่อนโยน เมตตากรุณา คือพลังแห่งการเยียวยาที่แท้จริง
หลายครอบครัวพาลูกหรือใช้โอกาสในวันคล้ายวันเกิด ไปเลี้ยงอาหารกลางวันบ้านเด็กกำพร้า ไปทำกิจกรรมบ้านพักคนชรา ทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ เป็นอาสาสมัคร บริจาคโลหิต งดอาหาร ถือศีล ๘ อยู่นิ่งๆ เงียบๆ ฯลฯ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่อจักรวาล และทุกสรรพสิ่งที่หยิบยื่นและมอบโอกาสเกื้อกูลให้สามารถมีชีวิตผ่านไปอีกรอบปี
ถ้าใครสามารถหยิบยื่น แบ่งปัน เสียสละ ลด ละ เลิกในสิ่งไม่ดี เพื่อเป็นการขอบคุณที่ตนได้รับโอกาส การเกิดนั้นเป็นการเกิดที่งดงามในจิตใจใหม่ที่เรียนรู้จะปล่อยวางความยึดมั่น ถือมั่น โดยเฉพาะความคิด คำพูด การกระทำที่ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ตน ไม่เป็นประโยชน์กับใครเลยควรละเสีย ควรเห็นโทษที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่นเสีย เมื่อเราเห็นโทษในการคิดไม่ดี พูดไม่ดี และทำไม่ดีซึ่งจะมีผลที่ไม่ดีแล้ว เราจะเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนคำพูด และเปลี่ยนการกระทำ ความสุขที่เกิดขึ้นจากการคิดดี ทำดี และพูดดีนั้นจะเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าและเป็นที่น่าจดจำกว่าวันใดๆ
ขอให้ทุกวันเป็นวันเกิดของการคิดดี พูดดี และทำดี ชีวิตของเราจะเกิดใหม่ สดใสกว่าวันวาน เพราะบุญ คือความเบา โปร่ง สงบเย็น ของจิตใจ
การที่เรานำพาตัวเราหรือคนที่เรารักให้เกิดใหม่อีกครั้งด้วยจิตใจใหม่อยู่เสมอ โดยไม่เพิ่มความอยาก ความโกรธ ความหลงให้ปรากฏในจิต ถือเป็นการเฉลิมฉลองวันเกิดที่รักตัวเองและคนที่รักอย่างแท้จริง เพราะความอยาก ความโกรธ และความหลง คือ เชื้อแห่งการเกิดความทุกข์อย่างไม่รู้จักจบ เวียนว่ายในวังวนแห่งความแก่ เจ็บ ตาย เสียใจ พลัดพราก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
มาร่วมกันเลี้ยงฉลอง วันไม่เกิด กันดีไหม โลกใบนี้จะได้สงบจากการเบียดเบียนมากขึ้น โดยไม่ต้องประท้วง ป่าวประกาศ เพียงแค่กระทำตัวเรา หยุดที่ตัวเรา ด้วยการไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนโลก เสพแต่น้อยกำลังช่วยกันรักษ์โลก การได้เกิดอีกครั้งแห่งสติปัญญาคือการปล่อยวาง เป็นการเกิดที่ยิ่งใหญ่ ที่ดับการเกิดทันที โดยไม่จำกัดเวลา เพศ วัยหรือ สถานะใดๆ
สุขสันต์ วันไม่เกิด
เกิดเพื่อไม่เกิด คือ การเกิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ไร้เกิด ไร้ทุกข์ สุขสงบเย็น
จาก คอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒
เรื่อง “เด็กน้อยกับการภาวนา คุณค่าแห่งลมหายใจ” โดย พระพิทยา ฐานิสสโร