หลายสัปดาห์ก่อนได้เล่าถึงงานสาธารณสงเคราะห์ของวัด ของพระสงฆ์ผู้เดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดพุทธารามเกาหลี ซึ่งเป็นงานหนึ่งใน ๖ ด้านของมหาเถรสมาคมที่กำหนดให้วัดไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ดำเนินการ เพื่อให้การอนุเคราะห์สงเคราะห์ญาติโยม วันนี้จะขอเล่าถึงงานเผยแผ่ ซึ่งก็เป็นอีกงานหนึ่งที่มีความสำคัญ
วันนี้ก็เลยจะชวนผู้อ่านข้ามน้ำข้ามทะเล มาเรียนรู้การบวชศีลจารีณีประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันกับพี่น้องชาวไทยที่เกาหลีใต้ ซึ่งจะครบสองเดือนของการมาปฏิบัติศาสนกิจ
ผู้เขียนได้นับดูผู้มาบวชศีลจาริณีก็เยอะพอสมควร ครั้งละ ๕ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง คนเดียวก็มี รวมแล้วก็ ๒๐ – ๓๐ คน ก็ได้พูดคุยถึงความตั้งใจในการมาปฏิบัติธรรม และก็สิ่งที่ต้องการอยากจะให้สอนนอกจากการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ผู้เขียนก็เลยนำมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ธรรมะในชีวิตประจำวัน
“เข้าวัดวันอาทิตย์ ใกล้ชิดพระรัตนตรัย”
วันพระประจำใจ ณ วัดพุทธารามเกาหลี
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้
ตามปกติวันอาทิตย์เป็นวันหยุดของชาวไทยที่ไปทำงานที่เกาหลี และก็จะเป็นวันที่มีคนมาวัดเยอะที่สุด เป็นวันที่ทุกคนนัดหมายกันมาทำความดีร่วมกัน จะเรียกว่า เป็นวันพระประจำใจก็ไม่ผิด
ทุกคนตั้งใจกันมาทำบุญ ด้วยการทำวัตรสวดมนต์ เจริญจิตตภาวนา ฟังธรรม รักษาศีล ก่อนทำวัตรก็สนทนาธรรมกับพระสงฆ์ แล้วก็ร่วมกันตักบาตรข้าวสุกพระสงฆ์ ถวายภัตตาหาร ร่วมกันรับประทานอาหาร ปล่อยปลาให้ชีวิตเป็นทาน วันปกติในตอนกลางวันก็มีคนแวะเวียนมาทำบุญ มาสนทนาธรรมอยู่ไม่ได้ขาด ในช่วงเย็นก็มาร่วมกันสวดมนต์เย็นเป็นประจำทุกวัน มากบ้างน้อยบ้างตามที่แต่ละคนว่าง
กล่าวถึงงานเผยแผ่ของวัดพุทธารามเกาหลี ก็คือวัดเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถมาบวชศีลจาริณีได้ตลอดทุกวัน จะบวชหนึ่งวัน หรือ ๒ คืน ๓ วัน หรือกี่วันก็ตามแต่สะดวก มีเวลาว่างเท่าไหร่ก็บวชเท่านั้น
วันนี้ก็เลยจะชวนผู้อ่านข้ามน้ำข้ามทะเล มาเรียนรู้การบวชศีลจารีณีประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันกับพี่น้องชาวไทยที่เกาหลีใต้ ซึ่งจะครบสองเดือนของการมาปฏิบัติศาสนกิจ ผู้เขียนได้นับดูผู้มาบวชศีลจาริณีก็เยอะพอสมควร ครั้งละ ๕ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง คนเดียวก็มี รวมแล้วก็ ๒๐ – ๓๐ คน ก็ได้พูดคุยถึงความตั้งใจในการมาปฏิบัติธรรม และก็สิ่งที่ต้องการอยากจะให้สอนนอกจากการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ผู้เขียนก็เลยนำมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ธรรมะในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็พอสรุปเป็นแนวทางดังต่อไปนี้
วันแรกของการบวชศีลจาริณี
หลังจากที่ได้รับศีล ๘ แล้วก็ได้ให้โอวาทเกี่ยวกับการครองตน ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องการแต่งกาย จุดประสงค์ของการแต่งกาย ชุดแต่งกายของผู้ปฏิบัติธรรมที่มีสีเดียวคือ สีขาว ไม่ต้องเสียเวลาคิดว่า วันนี้เราจะใส่ชุดไหน การงดอาหารเย็น ก็เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการหุ่งหาอาหาร ให้เป็นคนเลี้ยงง่าย งดเว้นการขับร้องประโคมดนตรี ดูการละเล่น ทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมเครื่องย้อมเครื่องทา เป็นต้น เว้นจากการนั่งหรือนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลีอันบริสุทธิ์
โดยสรุปแล้วก็ต้องการให้เป็นคนอยู่ง่าย กินง่าย นอนง่าย การปฏิบัติตนทุกอย่างเพื่อจะให้เห็นคุณค่าแท้ของการแต่งกาย ทานอาหาร ความเป็นอยู่
หลังจากนั้นก็อธิบายเรื่องหลักในการทำบุญ โดยได้ยกบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มาเล่าให้ฟัง หลายคนไม่เคยรู้ว่ามีวิธีการทำบุญที่หลากหลาย ส่วนใหญ่ก็รู้แค่ว่า การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หลายคนก็ยังไม่รู้ว่า การอ่อนน้อมถ่อมตน การขวนขวายในกิจที่ชอบ การให้ส่วนบุญ การอนุโมทนาบุญ การฟังธรรม การแสดงธรรม การทำความเห็นให้ตรง เหล่านี้ก็เป็นบุญ หลายคนได้เล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมา แสดงความอ่อนน้อมถ่อมต้นต่อผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ ไม่คิดว่าเป็นบุญ ขวนขวายในกิจที่ชอบทำหน้าที่ของตัวเอง ช่วยเหลือคนอื่น คนในครอบครัว ไม่คิดว่าเป็นบุญ บางครั้งก็มีความทุกข์ที่จะต้องรับผิดชอบ เสียดายที่ไม่รู้ว่าเป็นบุญ
ในภาคบ่ายก็เริ่มต้นด้วยการสวดอิติปิโส ๙ จบ แล้วก็ให้ฝึกการเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ให้อยู่กับความรู้สึกตัว โดยได้ชวนให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้อยู่กับสิ่งที่ทำเต็มร้อย เอาความรู้สึกเต็มร้อยไปอยู่กับการเดิน เดินก็รู้ว่าเดิน เอาความรู้สึกเต็มร้อยไปอยู่กับการนั่ง นั่งก็ให้รู้ว่านั่ง อยู่กับสิ่งที่เกิดเต็มร้อย ความคิด เวทนา ทุกอย่างที่หมุนเวียนเข้ามา ให้มีความรู้สึกตัว แล้วก็ได้ชวนผู้ปฏิบัติธรรมได้กลับมาถามตัวเองบ่อยๆ ว่า ขณะนี้เราอยู่ในอิริยาบถใด เราทำอะไรอยู่ ขณะนี้เรารู้สึกอย่างไร สุขทุกข์หรือเฉยๆ ขณะนี้เราคิดหรือไม่คิด ขณะนี้อารมณ์เราเป็นอย่างไง
ก็แนะนำผู้ปฏิบัติธรรมให้กลับมาถามตัวเองบ่อยๆ แม้จะไม่ได้อยู่ในอิริยาบถเดินจงกรม นั่งสมาธิ ในระหว่างการพักผ่อน ทานข้าว หรือในระหว่างการทำงาน ทำภารกิจส่วนตัวก็ชวนให้กลับมาถามตัวเองบ่อยๆ ชวนให้ถามตัวเองวันละหลายๆ ครั้ง ๑๐-๑๕ ครั้ง เวลาตอบก็ให้อยู่นิ่งๆไม่ต้องทำอะไร ตอบตามที่รู้สึกอย่านึกตอบ แล้วก็ให้ฝึกกำหนดรู้ในขณะที่เราทำอะไรไปด้วย
รู้สึกตัวไหมว่า เราตื่อนอนกำลังเก็บที่นอน
รู้สึกตัวไหมกำลังอาบน้ำ
รู้สึกตัวไหมว่ากำลังทำความสะอาดวัด
รู้สึกตัวไหมว่ากำลังทานข้าว
ฝึกความรู้สึกตัวไปกับทุกเรื่อง จากเรื่องภายนอกสู่เรื่องภายใน อะไรที่เกิดขึ้นก็ให้ย้อนกลับมาที่ตัวเรา ความรู้สึก นึก คิด ฝึกไปเรื่อยๆจนให้เราทำทุกอย่างด้วยความตื่นรู้ ทำทุกอย่างด้วยความรู้สึกตัว
ในช่วงค่ำของวันแรกก็ทบทวนการปฏิบัติ แล้วให้ทุกคนแบ่งปันเรื่องราวของตนเองผ่านกิจกรรมดีใจเสียใจ เวลาที่เราดีใจเราคิดถึงใคร เวลาที่เราเสียใจเราคิดถึงใคร โดยให้พูดเรื่องดีใจเสียใจ ชวนฝึกทักษะการฟังร่วมกัน โดยให้ทุกคนฟังด้วยการไม่ตัดสิน จะฟังเพื่อให้ได้ยินเสียงของหัวใจคนพูดจริงๆ จะไม่มีการเพ่งโทษ ตัดสิน จะไม่มีเสียงในหัว ให้ฝึกการฟังด้วยความรู้สึกตัว
วันที่สองของการปฏิบัติธรรม
ภาคเช้าก็เปิดโอกาสให้ถามตอบปัญหา แล้วก็ฝึกภาคปฏิบัติต่อ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ด้วยความรู้สึกตัว ภาคบ่ายก็เริ่มด้วยการสวดอิติปิโส ๙ จบ แล้วก็ปฏิบัติเป็นการส่วนตัวประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วก็ชวนแบ่งปันผ่านหัวข้อ ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย และอยากจะขอความช่วยเหลือจากใคร หรือเคยให้ความช่วยเหลือใครที่นึกถึงแล้วมีความสุขตลอด
ในความเป็นจริงชีวิตของคนเรามีเรื่องราวมากมายที่เราอยากจะขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัยใครสักคน แต่บางครั้งเราก็ไม่กล้าที่พูดออกมา การได้ขอโทษ ให้อภัยมันเป็นการปลดปล่อยความอิสระให้กับใจของเราเอง อย่างน้อยๆ เราขอโทษใครสักคน แม้เขาไม่ได้ยินก็ตาม แต่เราก็ได้คุณธรรมที่เกิดขึ้นกับใจเรา เราให้อภัยใครสักคน ใจของเราก็เป็นอิสระ
ในช่วงคำของวันที่สอง ได้ทบทวนการปฏิบัติธรรมแล้วก็ได้ชวนผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมได้กลับมาทบทวนจิตใจตัวเอง โดยได้แจกกระดาษ A ๔ หนึ่งแผ่นแล้วให้เขียนถึงสองหัวข้อคือ จิตร่วง กับจิตรุ่ง ในหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา และในวันนี้ที่ทำกิจกรรม โดยส่วนใหญ่แล้วหลายคนเล่าให้ฟังว่า เห็นจิตร่วงของตัวเองที่เกิดขึ้นจากความคิดประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในจิตร่วงนั้นยังไม่ได้เกิดจริง ทุกอย่างเป็นเพียงแต่ความคิด ความคิดไปเลยการกระทำ ก็เลยทำให้จิตร่วง แต่เมื่อพูดถึงจิตรุ่งของแต่ละคนในรอบสัปดาห์ที่ผ่าน ซึ่งหลายคนเล่าให้ฟัง ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ที่เป็นความสุขของชีวิต การได้นั่งรถชมเมือง การได้ทานไอศกรีม ได้ทานอาหารที่ตัวเองชอบ ได้ซื้อรองเท้าให้แม่พ่อตัวเอง ให้ลูกตัวเอง เป็นต้น
หลังจากจบกิจกรรมแล้วก็แนะนำผู้ปฏิบัติธรรมได้ไปทำต่อเป็นการบ้าน ในแต่ละวันก่อนนอน เชิญชวนให้จดบันทึกว่า มีอะไรที่ทำให้จิตรุ่ง ทำให้จิตร่วง วันไหนที่จิตรุ่งมากกว่าจิตร่วง วันนั้นถือว่าชีวิตมีกำไร
วันสุดท้ายของการปฏิบัติธรรม
ได้ทบทวนการปฏิบัตธรรมเดินจงกรม นั่งสมาธิ ชวนทำด้วยความตั้งใจ เต็มใจ ไม่เพ่ง ไม่ตัดสิน ทำด้วยความรู้สึกตัวแล้วก็ถามตัวเองบ่อยๆ แล้วก็เปิดโอกาสให้ถามตอบปัญหา ในช่วงสุดท้ายได้ชวนมองถึงเป้าหมายชีวิต ชวนมองถึงคุณค่าแท้ของชีวิต ได้แบ่งปันผ่านนิทานเรื่อง “หม้อดินใบร้าว”
มีคนเฝ้าพระราชอุทยานคนหนึ่ง มีหน้าที่ในการดูแลสวนผลไม้ ในทุกเช้าเขาจะตักน้ำแล้วแบกหม้อดินสองใบขึ้นไหล่ทั้งสองข้างเดินจากริมคลองไปสู่สวน ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร หม้อดินใบหนึ่งนั้นเป็นหม้อดินใบร้าว เมื่อถึงสวนจะเหลือน้ำในหม้อดินเพียงครึ่งหนึ่ง วันหนึ่งหม้อดินใบร้าวก็พูดกับคนดูแลสวนบอกว่า นายครับ ฉันจะขอลาออกจากการทำหน้าที่ตักน้ำ เพราะฉันทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีมานี้ฉันตักน้ำได้แค่ครึ่งเดียว คนเฝ้าสวนก็บอกว่า ก่อนที่เธอจะลาออกขอไปตักน้ำกับฉันก่อนเป็นครั้งสุดท้าย
ครั้งนี้หลักจากที่ตักน้ำแบกหม้อดินขึ้นไหล่แล้ว คนเฝ้าสวนก็เดินช้าๆ แล้วพูดกับหม้อดินใบร้าวว่า เธอมองดูสองข้างทางสิ ข้างที่เธออยู่มีต้นไม้ ดอกไม้ขึ้นเต็มริมทางเลย ขณะอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นฝั่งของหม้อดินใบที่ไม่ได้ร้าว ต้นไม้เหี่ยวเฉาแห้งตาย ดอกไม้ไม่มีสักต้น เธอรู้ไหมดอกไม้สวยๆเหล่านี้ ถูกนำไปจัดแจกันทุกอันในพระราชวัง
ในโลกนี้ไม่มีใครที่ไร้ค่า ในโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่มีคุณค่าในชีวิต ทุกอย่างมีคุณค่าอยู่ในตัว มองเห็นความสำคัญของชีวิต มองเห็นคุณค่าของชีวิต อย่าดูถูกตัวเอง เหมือนกับหม้อดินใบร้าว ทุกคนมีคุณค่า และก็คุณค่าพอที่จะดำรงอยู่ในโลกใบนี้
จากนั้นชวนผู้อ่านได้ปฏิบัติธรรมร่วมกันด้วยการเขียนเรื่องราวต่างๆ ตามที่ได้เล่ามา ไม่ว่าจะดีใจเสียใจ หรือ ขอโทษ ขอคุณ ให้อภัย ขอความช่วยเหลือ บันทึกดูว่า หนึ่งเดือนที่ผ่านมา อาทิตย์ที่ผ่านมา วันนี้เราจิตรุ่ง จิตร่วงด้วยเรื่องอะไร แล้วเราจะเข้าใจแล้วเห็นคุณค่าแท้ของชีวิต
จาริกบ้าน จารึกธรรม
(หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒)
เรื่อง “เข้าวัดวันอาทิตย์ ใกล้ชิดพระรัตนตรัย”
วันพระประจำใจ ณ วัดพุทธารามเกาหลี
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้