กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า

เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง ตอนที่ ๗

เรื่อง ค่ายแรกของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

 พระใบฎีกาคทาวุธ  คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

         จดหมายฉบับที่ผ่านมาอาจารย์พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร. อดีตประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ได้เล่าถวายพระพุทธองค์ว่า พระอาจารย์กับเพื่อน ๆ ได้รวมกันทำงานจิตอาสาด้วยการขับเคลื่อนการอบรมด้านคุณธรรม จริยธรรม โดยมีอาจารย์พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ป.ธ.๙ ท่านเคยเป็นประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม เป็นผู้นำในการชักชวนเพื่อน ๆ มาทำงานร่วมกัน และท่านได้ออกแบบกระบวนการฝึกอบรม แต่ขณะนี้ท่านได้ไปขับเคลื่อนงานด้านสันติวิธีทั้งในและต่างประเทศ

           ทั้งนี้ กระบวนการฝึกอบรมดังกล่าวนั้นได้พัฒนามาเป็น “พระวิทยากรกระบวนธรรม” ในปัจจุบันมีกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ภายใต้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ เป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตรนี้และมีเครือข่ายการทำงานอยู่ในทุกพื้นที่ของภูมิภาค

           ส่วนพระวิทยากรกระบวนธรรม ที่มีจุดเริ่มต้นและพัฒนาการมาจากกระบวนการอบรมของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม และที่น่าสนใจค่ายแรกของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามที่ใช้กระบวนการอบรมนี้บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง

           อาตมาเคยได้ยินครูบาอาจารย์อีกท่านที่เป็นหนึ่งในรุ่นที่รวมตัวกันทำงานคืออาจารย์พระมหาไกรวรรณ์  ชินทตฺติโย ป.ธ.๙, ดร. (ขณะเป็นสามเณร) นอกจากจะเป็นพระนักเผยแผ่ ยังเป็นพระนักการศึกษา และปัจจุบันนี้ท่านทำงานฝ่ายปกครองคณะสงฆ์เป็นรองเจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม ที่สำคัญพระอาจารย์ยังเป็นนาคหลวง รูปที่ ๑๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย

           พระอาจารย์เคยเล่าให้อาตมาฟังว่า ค่ายแรกที่ทำงานร่วมกัน (ถ้าจำไม่ผิด) จัดเมื่อปี ๒๕๔๔. ที่โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา ในระดับชั้น ม.๔. (แบ่งเป็น ๓ รอบ เนื่องจากนักเรียนเยอะ)

ภาพ จากขวา พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย , พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี และ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท
ภาพ จากขวา พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย , พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี และ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท

         “เป็นค่ายที่คล้ายๆ ลองผิดลองถูก เพราะพระวิทยากรแต่ละรูป มีความชำนาญบ้าง ยังไม่มีบ้าง และแม้หลายรูปเคยผ่านการอบรมค่ายมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเน้นการบรรยายเดี่ยวเป็นหลัก เมื่อมารวมกลุ่มกันครั้งแรก เลยยังไม่คล่องตัวนัก แต่ทุกรูปมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ทุก ๆ คาบที่มีการบรรยาย จึงไปนั่งร่วมให้กำลังใจกันแบบเต็มที่ คอยสังเกตการณ์ในทุกๆ ช่วง โดย พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท กับ พระมหาวีระพันธ์ ชุติปญฺโญ เป็นตัวยืนหน้าเวที ส่วนที่เหลือก็ลงกลุ่มย่อยและกิจกรรมอื่น ๆ

           และพระอาจารย์ยังเล่าต่ออีกว่า ส่วนกระบวนการอบรม ใช้แนวทางแห่งวิชาจิตวิทยาพระพุทธศาสนา ซึ่ง อาจารย์โสรีช์ โพธิ์แก้ว และอาจารย์วีณา เนาวลักษณ์ ที่ผู้บรรยาย ได้พาไปเข้าค่ายทดลองปฏิบัติที่วัดปัญญานันทาราม จึงเป็นไปทางเดียวกัน และประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากนักเรียนผู้เข้ารับการอบรม เป็นนักเรียนค่อนข้างดีและเก่ง รวมทั้งกิจกรรมที่พระวิทยากรพาทำ ไม่น่าเบื่อและมีสาระค่อนข้างดีมาก ทั้งในเวทีกลางก็สนุกสนาน เป็นกันเอง เต็มไปด้วยความรู้ ทั้งในกลุ่มย่อย พระวิทยากรก็ใช้วิทยาการที่ได้เรียนรู้มาอย่างเต็มที่ นักเรียนก็ชอบที่จะสนทนาธรรมกับพระอาจารย์และเพื่อน ๆ จึงถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี

         “เมื่อเข้าค่ายครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ (นักเรียนม.๔). ก็ปรับปรุงข้อผิดพลาด เสริมข้อดีลดข้อด้อย รวมทั้งเริ่มให้พระวิทยากรแต่ละรูป มีส่วนร่วมในเวทีกลางมากขึ้น ผลก็ออกมาดีตามลำดับ

         “แต่ค่ายที่มีความรู้สึกว่าดีมากที่สุด และได้เสียงตอบรับในระดับดีมากที่สุด คือ ค่ายช้างเผือก (คัดเฉพาะนักเรียนดีเด่นชั้นม.๕) เป็นค่ายที่พระวิทยากรก็ทำกระบวนการอบรมที่ดีมากที่สุด และนักเรียนก็สามารถรับการอบรมและต่อยอดเพิ่มเติมได้มากที่สุด บรรยากาศเต็มไปด้วยวิชาการธรรมะและแทรกไปด้วยความรื่นเริงอย่างยิ่ง ไม่มีช่วงไหนที่นักเรียนเครียดหรือเบื่อหน่ายเลย และในปีต่อ ๆ มา กลุ่มนักเรียนเหล่านี้ (ม.๔ และม.๕) ก็ได้อาสาสมัครเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงดูแลรุ่นน้องต่อ ๆ มา และเป็นลูกศิษย์ที่ตามดูแลคณะพระอาจารย์มาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้

           จากที่พระอาจารย์เล่าให้อาตมาฟังจะเห็นว่าค่ายแรกนั้นค่อนข้างได้ผลดีเป็นอย่างมากกับการใช้กระบวนการอบรมตามแนวทางของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ที่อาตมาทราบจากการจัดค่ายในช่วงแรก ๆ ครูบาอาจารย์ที่ทำงานร่วมกันในยุครุ่นบุกเบิกเห็นว่าได้ผลดี จึงอยากจะเอาค่ายนี้ไปจัดค่ายที่บ้านเกิดของตนเอง (เป็นที่มาของหลักสูตรจาริกบ้าน จาริกธรรมที่ใช้ใน ๕ จังหวัดพื้นที่เสี่ยงแดงชายแดนใต้ และกิจกรรมพาพระวิทยากรกลับบ้าน) นอกจากนั้นลูกศิษย์รุ่นแรกยังได้มาเป็นอุบาสก อุบาสิกา ด้วยใจที่มั่นคงในพระพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะได้เล่าถวายพระพุทธองค์ในฉบับต่อไป

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า …เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง (ตอนที่ ๗) “ค่ายแรกของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จากคอลัมน์ เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพระ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here