เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า
เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง ตอนที่ ๓
“เล่าเรื่องเส้นทางธรรม(ทำ) เพื่อชีวิตดีงาม”
โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
จากกคอลัมน์ เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ พฤศจิกายนพ.ศ.๒๕๖๒)
สิ่งที่เห็นได้ยากในสังคมปัจจุบันคือ “การทำงานเป็นทีม” หรือเห็นคนเก่งที่มารวมกันทำงานเป็นทีมจิตอาสาเพื่อสังคม “กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม” จึงสามารถเป็นกลุ่มต้นแบบต้นธรรมในเรื่องนี้ได้เลย เพราะในยุคเริ่มทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นการรวมตัวของพระนักคิด พระนักเขียน พระนักเผยแผ่ และที่สำคัญเป็นการรวมตัวของเปรียญธรรมเก้าประโยค มีทั้งนาคหลวง (สอบ ป.ธ.๙ ขณะเป็นสามเณร) ซึ่งก็น่าคิดว่ามีแต่คนเก่ง ๆ ท่านมาร่วมกันทำงานได้อย่างไร
ทำไมคนเก่ง ๆ ถึงจับมือเดินไปด้วยกันได้
ท่านอาจารย์ พระมหาขวัญชัย กตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร ภายใต้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ และเป็นอาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ (ส่วนกลาง) ท่านเป็นพระคิดนักเขียนนามปากกา “กิตฺติเมธี” ซึ่งเป็นอดีตประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ท่านเคยเล่าให้อาตาฟังว่าเหตุที่มาร่วมกับกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามนั้นมีอยู่ว่า

“ตอนนั้นเนื่องจากท่านเรียนปริญญาโทสาขาปรัชญา และได้เรียนวิชาจิตวิทยาในพระพุทธศาสนาร่วมกับปริญญาโทสาขาพระพุทธศาสนา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ และตอนนั้นมีการแจ้งจากพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ป.ธ.๙ ในห้องเรียนว่าจะมีการอบรมค่าย ขอนิสิตที่สนใจไปเป็นวิทยากรไปร่วมอบรมเด็ก
“ตอนแรกเรียนอยู่คนละสาขาก็ยังไม่ได้สนใจทันที เนื่องจากว่ายังไม่สนิทกัน เพราะเรียนร่วมกันแค่ไม่กี่วิชา จนกระทั่งผ่านการอบรมไป ๑ รุ่น ก็มีการมาพูดในห้องเรียนอีกครั้ง และครั้งนี้เพื่อนที่เรียนปรัชญาด้วยกันรับปากและชวนผู้เขียนไปด้วย ตอนนั้นคิดว่าจะไปช่วยสักค่ายและตั้งใจจะไปเป็นเพื่อนของเพื่อนเท่านั้น แต่ปรากฎว่าตอนไปจริงเพื่อนที่ว่าจะไปก็ไม่ไป จึงเหลือผู้เขียนที่เรียนเอกปรัชญาไปคนเดียวเท่านั้น ซึ่งตอนแรกก็เกร็งว่าจะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ เพราะยังไม่คุ้นเคย
“แต่ปรากฏว่า ทำงานร่วมกันได้ เพราะรูปแบบจิตวิทยาที่ได้เรียนร่วมกันมา และช่วงที่ไปนี้เองก็ได้รู้จักรุ่นพี่ รุ่น ๑๒ ที่มาทำงานร่วมกันด้วย ช่วงนั้นพอทำงานไปก็เริ่มแบ่งเวลาจากเรียนไปทำงานอบรมค่ายไปด้วย ยังจำได้ว่าหลังจากวันนั้นก็มีงานค่ายมาไม่ขาด เพราะเป็นการอบรมที่ถือว่าแปลกใหม่และเป็นที่สนใจของหลายๆ โรงเรียน จากนั้นจึงได้มีการตั้งชื่อกลุ่มตามลำดับ”
จะเห็นว่าแม้พระอาจารย์ไม่ได้สนิทหรือรู้จักใครเลยในช่วงเริ่มแรกของการเข้ามาในกลุ่ม แต่ได้เคยเรียนวิชาที่เกี่ยวกับกระบวนการจิตวิทยาร่วมกัน จึงทำให้มีอุดมการณ์เหมือนกัน และ…
ท่านได้มองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ คือการได้พัฒนาเยาวชนให้มีคุณธรรม จริยธรรม เพราะเยาวชนในวันนี้คืออนาคตของประเทศชาติในวันข้างหน้า
การทำงานในยุคแรกนั้นลำบากมาก ต้องเจออุปสรรคมากหลาย และที่ว่ากลุ่มเพื่อชีวิตดีงามทำงานเป็นทีมคือพระวิทยากรไปอบรมในแต่ละค่าย ๑๐ รูปขึ้น ดังเช่น สมัยที่อาตมาได้มาเริ่มทำงานตอนที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นผู้ลงนามคำสั่งตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ

ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ อาตมาได้เป็นผู้นำค่ายจำได้ว่าที่โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ใช้พระวิทยากร ประมาณ ๓๐ รูป ซึ่งถือว่าเยอะมาก เหมือนดังที่พระอาจารย์ท่านได้เล่าต่อถึงบรรยากาศในการทำงานในยุคเริ่มก่อตั้งกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามว่า
“บรรยากาศการรวมกลุ่มกันครั้งแรก ค่อนข้างจะดูแปลกตาเนื่องจากวิทยากรกลุ่มที่ไปแต่ละครั้งมีจำนวนมาก ไปทีละ ๑๐ รูปขึ้นไป ขึ้นรถเมล์ รถทัวร์เดินทางกันไปทั่ว แต่บรรยากาศการทำงานมีความอบอุ่น แม้บางทีจะต้องทุ่มเททั้งทุนทรัพย์และเรี่ยวแรงสติปัญญา
“บางครั้งสถานที่ไม่อำนวย บางครั้งเกิดปัญหาเรื่องเจ้าของสถานที่ ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยการเสียสละของพระวิทยากรทุกท่าน ที่ทำด้วยความตั้งใจจริง จนกลายเป็นคำพูดที่พูดกันติดปากว่า “คนดีไม่จำเป็นต้องทำเพื่อคนอื่น เพราะสำหรับคนดีไม่มีใครเป็นคนอื่น” แต่ที่ผู้เขียนถือว่าทำให้เราชัดเจนขึ้นในการทำงานคือการทำงานเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๖ ที่เป็นการอบรมผู้เสี่ยงติดยาเสพติด เพราะเป็นการทำงานที่ยกระดับจากเด็กไปสู่การอบรมกลุ่มผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างมองว่าพระเด็ก ๆ พวกนี้จะอบรมไหวหรือ
“ตอนแรกจึงให้พระอบรมแค่ ๓ วันก่อน แต่พอผ่านไปค่ายเดียวเขาขอให้อบรมเป็น ๕ วันและทำงานอย่างต่อเนื่องมาอีกหลายรุ่น นอกจากนั้นยังมีงานที่พิสูจน์ใจพระวิทยากรอย่างมาก เมื่อครั้งที่อบรมเยาวชนจากทั่วประเทศที่จังหวัดกาญจนบุรี เพราะบรรยากาศตอนนั้น เจ้าของสถานที่ไม่ยินดีที่จะให้คณะพระวิทยากรเข้าอบรม และแสดงท่าทีไม่ชอบต่อหน้าเยาวชนผู้เข้าอบรม
แต่เหมือนเป็นการทดสอบจิตใจ เพราะท้ายที่สุดแล้วด้วยความนิ่งและมุ่งมั่นทำงานอบรมจึงทำให้การอบรมครั้งนั้นช่วยทำให้เจ้าของสถานที่ชื่นชมต่อพระวิทยากร และที่สำคัญผู้เข้ารับการอบรมก็ประทับใจในสิ่งที่พระวิทยากรแสดงออกอย่างมีความอ่อนน้อมถ่อมตน”
จะเห็นว่าสิ่งที่พระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังตั้งแต่สาเหตุการมาร่วมงานกับกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม รวมถึงบรรยากาศต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงาน เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก นี้คือสิ่งที่อาตมาอยากจะกราบทูลให้พระพุทธองค์ได้ฟัง ซึ่งอาตมาจะได้มาถอดรหัสเรื่องเล่าของพระอาจารย์ในจดหมายฉบับหน้า
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

อบรมผู้ติดยาเสพติดและผู้ค้า(รายย่อย)
ในภาพเป็นทีมงานจากสาธารณสุขและตำรวจที่ร่วมอบรม หลักสูตร ๙ วัน ณ อ.หมวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อปี ๒๕๔๔
(กลุ่มเพื่อชีวิตดีงามรับผิดชอบการอบรม ๕ วันแรก)
เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง ตอนที่ ๓ “เล่าเรื่องเส้นทางธรรม(ทำ) เพื่อชีวิตดีงาม” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม จากคอลัมน์ เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ พฤศจิกายนพ.ศ.๒๕๖๒

