“ตราบใดที่ยังมีคนบวช
๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือนติดต่อกันไม่ขาดสาย
ตราบนั้นพระพุทธศาสนาก็ไม่มีวันเสื่อมสลาย
สีแห่งผ้ากาสาวพัสตร์
จะยังสงบเย็นเหลืองอร่ามโลกตลอดไป”
จากหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
“เกิดในรัชกาลที่ ๙ เกิดเป็นลูกผู้ชาย
บวชถวายพระองค์ท่าน ครั้งหนึ่งในชีวิต”
เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
ในช่วงเวลาที่พสกนิกรไทยสูญเสียพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของปวงชนชาวไทยไปสี่ปีกว่าแล้ว นำมาซึ่งความโศกเศร้าอย่างประมาณมิได้
คงไม่มีสิ่งใดที่จะคลายความอาลัยรักในพระองค์ไปได้ และสิ่งหนึ่งที่พสกนิกรไทยตั้งใจกระทำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านอย่างเต็มกำลังก็คือ “การบวช”
และการบวชนี้มีอานิสงส์เพียงใด พระราชกิจจาภรณ์ เขียนไว้ในหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” ตอนหนึ่งว่า ตราบ ใด ที่ ยังมี คน บวช ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน ติดต่อกันไม่ขาดสาย ตราบ นั้น พระพุทธศาสนา ก็ ไม่มีวัน เสื่อมสลาย สี แห่ง ผ้ากาสาวพัสตร์ จะ ยัง สงบ เย็น เหลือง อร่าม โลก ตลอดไป
“ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่ผ่านการ บวชเรียน เขียน อ่าน ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน หรือ ๑ พรรษา เมื่อลาสิกขากลับไปดำเนิน ชีวิตอย่างชาวบ้าน เขาเหล่านั้นก็ล้วนผ่านเส้นทางธรรม มาแล้ว ย่อมมีหลักให้กับชีวิต สามารถประคับประคองตน ให้อยู่ในกรอบแห่งชีวิตที่ดีงามได้ เป็นลูก ก็เป็นลูกที่ดี ของพ่อแม่ เป็นสามีก็เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นพลเมือง ก็เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นหลักในการเผย แผ่ธรรมะ เป็นกำลังในการสืบทอดพระพุทธศาสนา และ เป็นปราการที่แข็งแกร่งในการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา
“เขาจะเป็นคนที่มีความอดทน เข้มแข็ง และกล้าแกร่ง แม้ ในยามต้องเผชิญช่วงเวลาแห่งความทุกข์ และความยากลำบากของชีวิต การบวชในพระพุทธศาสนา เป็นการ เจริญรอยตามแบบอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้พระองค์ทรงเป็นโอรสกษัตริย์ แต่พระองค์กลับเสียสละ ทุกอย่างออกบวช เพื่อแสวงหาหนทางที่จะนำไปสู่ความ หลุดพ้นจากความทุกข์ ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ตามที่ทรง ประสงค์
“การมีโอกาสเกิดเป็นลูกผู้ชาย
ภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา
ถือว่าเป็นความโชคดีของชีวิต
เป็นความโชคดีที่ลูกผู้ชายอีกหลายพันล้าน
ไม่มีโอกาสสัมผัสได้
ยิ่งถ้ามีโอกาสได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา
ดำเนินชีวิตอย่างพุทธบุตร
ผู้แสวงหาความสงบแม้ชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิต
มากบ้าง น้อยบ้าง ตามโอกาส
ยิ่งเป็นช่วงชีวิตที่งดงาม
ควรค่าแก่การจดจำ ยากที่จะลืมได้
จากหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ดังที่วัดทั่วประเทศจัดพิธีบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรถวายเป็นพระราชกุศลมาตลอดหนึ่งปีในช่วงหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙
พระมหาอมร มหาลาโภ วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) จ.เชียงใหม่ พระวิทยากรดูแลการบวชตลอดโครงการของวัดร่ำเปิงในช่วงตั้งแต่วันที่๑๒-๓๐ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เล่าว่า การบวชถวายในหลวงครั้งนี้ มีผู้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท ๙๐ รูป สามเณร ๒ รูป เป็นการแสดงถึงความจงรักภักดี และแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อปวงชนชาวไทย
“ในส่วนของวัดร่ำเปิงเองเป็นวัดประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ทุกวัน ตลอด ๓๖๕ วัน ซึ่งผู้เข้าบวชในครั้งนี้มีหน้าที่หลักก็คือ สวดมนต์ ไหว้พระ ปฏิบัติธรรม”
พระมหาอมร มหาลาโภ
“ซึ่งทุกคนก็ทราบกันอยู่แล้วว่า เป็นการฝึกจิตใจให้ได้เรียนรู้เรื่อง สติ สมาธิ บางท่าน อาจไม่เคยบวชมาทั้งชีวิต ก็เลือกที่จะมาปฏิบัติในครั้งนี้ ซึ่งก็อาจจะลำบากบ้างสำหรับผู้บวชใหม่ เพราะต้องมาอยู่ในอิริยาบถไม่กี่อย่าง เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ แต่แม้ว่าจะลำบากอย่างไร เขาก็เลือกที่จะมาปฏิบัติธรรมในครั้งนี้
“ เป็นความตั้งใจดีของแต่ละคน
ที่อยากทำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
เป็นเรื่องที่น่าปีติว่า
คนไทยทุกคนตลอดเวลาที่ผ่านมา
ก็ตั้งใจทำบุญ ใส่บาตร ปฏิบัติธรรม
หรือทำความดีอะไรก็ตาม
ถวายเป็นพระราชกุศลพระองค์ท่านตลอดเลย”
พระมหาอมร มหาลาโภ
“และชาวไทยกลุ่มนี้ก็เสียสละความสุขที่บ้านมาปฏิบัติธรรม มีหลากหลายอาชีพที่มาบวช อายุสูงสุดที่มาบวชก็ ๘๒ ปี และเด็กสุดก็ ๗ ขวบ สำหรับผู้สูงวัยแม้ว่าสภาพร่างกายไม่อำนวยแต่ด้วยใจรัก แม้ลำบากแต่ละท่านก็ยอมอดทน
“ส่วนสามเณรวัย ๗ ขวบ
เขาก็ผูกพันกับวัดมา
พ่อแม่ก็มาปฏิบัติธรรมกัน
เขามาบวชโดยที่พ่อแม่ไม่ได้บังคับ
เขารู้ว่า สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก
และที่สำคัญ เขาบอกว่า
เขาได้เกิดในรัชกาลที ๙”
พระมหาอมร มหาลาโภ
สำหรับ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กรุงเทพฯ ได้จัดโครงการรากแก้วศาสนทายาทมาโดยตลอดเช่นกัน พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช) นามปากกา ปิยโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ฯ กล่าวว่า ที่วัด ได้จัดบรรพชาอุปสมบทมาหนึ่งปี ตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ หลังจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต จนถึงตอนนี้ ก็ ๑๙๙๙ รูป แต่ละรุ่นบวช ๑๕ วัน เดือนละสองครั้ง ๆ ละ ๑๕ วัน บวชมาทั้งหมด ๑๕ รุ่นพอดี
“สำหรับรุ่นนี้จำพรรษา ๕ แห่งคือ ที่วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ๑๐๐ รูป วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี ๑๐๐ รูป วัดหินหมากเป้ง หนองคาย ๑๐๐ รูป วัดสุวรรณมาศมงคล ชะอำ จังหวัด เพชรบุรี ๑๐๐ รูป และที่พุทธมณฑลอีก ๑๕๐ รูป โดยจัดพิธีการบรรพชาอุปสมบบตั้งแต่ ๑๓ ตุลาคม- ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๐“
สำหรับเหตุผลเดียวของผู้ที่ตั้งใจมาบวช ท่านเจ้าคุณปิยโสภณอธิบายว่า
“เนื่องจากพสกนิกรของพระองค์
อยากจะตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณ
ไม่มีสิ่งใดที่จะตอบแทนพระองค์เป็นสิ่งสูงสุดได้
เท่ากับการบวช ตามประเพณีของชาวพุทธ”
“เพราะได้เจริญสมาธิภาวนา อุทิศเป็นพระราชกุศล ถวายพระองค์ท่าน ทุกวัน ๆ ละ สามครั้ง ก่อนฉันภัตตาหารเช้า ก่อนฉันภัตตาหารเพล และก่อนจำวัด มีการเวียนเทียน สวดมนต์ไหว้พระทุกวัน ก็ถือว่า ยิ่งใหญ่มากที่แต่ละท่านเสียสละเวลามา”
“ผลที่เกิดจากการบวชในครั้งนี้ สำหรับส่วนตัวก็คือ ทำให้จิตสงบนิ่ง ได้ปีติ ได้ลดน้ำหนัก ได้ความแข็งแรงของร่างกาย ได้อดอาหาร เพราะบางคนน้ำหนักเกิดเนื่องจากกินตอนที่ไม่หิว แต่พอมาบวชเหลืออยู่มื้อเดียว สองมื้อ และได้เดินตลอดเวลา วันหนึ่งเดิน ๒๐ กิโลทุกวัน ๑๕ วันน้ำหนักลดไป ๑๕ กิโลก็มี ๑๒ กิโลกรัมก็มี
“อีกทั้งได้ขัดเกลา ได้ฝึก ได้ฝืน ได้แสดงความอดทน เพราะบางคนเป็นลูกนายพล เป็นลูกเศรษฐี เป็นลูกเจ้าสัว มีห้องนอนส่วนตัว มีทุกอย่างส่วนตัวหมด พอมาบวช ไม่มีอะไร มีเพียงบาตรหนึ่งใบ ออกบิณฑบาตเท้าเปล่า ทำให้เขามีความรู้สึกว่า ที่ผ่านมา เขาทำงานมีแต่กำไร ขาดทุน ผิดหวัง เขาก็ได้มานั่งทบทวน ว่าแท้ที่จริงแล้วมนุษย์เรามีเท่านี้แหละ ผ้าสามผืน อาหารสองมื้อ ก็มีชีวิตอยู่ได้ เป็นการตักเตือน เวลาไม่สมหวัง เวลาผิดหวัง ไม่ได้ดั่งใจปรารถนา ก็ไม่ทุกข์ เป็นการฝึกให้ยับยั้งชั่งใจ ให้ได้สติในหลายๆ เรื่องได้มากยิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่แต่ละท่านเล่าให้ฟัง
“สำหรับประโยชน์ส่วนรวม ได้ภาพลักษณ์ที่ดีในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้ทำสมาธิ ไหว้พระสวดมนต์ ได้โอกาสที่ดีในการฝึกฝนอบรมตนเอง บางสิ่งบางอย่างที่เป็นสนิมในใจ มีการอาฆาตพยาบาท ความโกรธ เกลียดที่กัดกร่อนอยู่ ภายในจิตใจของตัวเองมายาวนาน ก็ได้มาทบทวน และได้ขัดสนิม ที่มันอยู่ในใจออกไป นี่คือสิ่งที่ผู้มาบวชได้ทบทวนตัวเอง ”
นั่นคืออานิสงส์ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงเบื้องปลาย แม้บวชเพียงช่วงสั้นๆ หากตั้งใจจริง จิตใจอันสงบเย็นย่อมปรากฏ
ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้ ความเห็นตามความเป็นจริง ของจิตใจ และวิธีการ ที่ จะ นำไปสู่ การ แก้ไข ปัญหาของ ชีวิต สูงสุด จน ถึง ความ ดับทุกข์ อย่าง สิ้นเชิง ตามรอยบาทพระศาสดา และตามรอยองค์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของปวงชนชาวไทยที่รักยิ่งอย่างไม่เสื่อมคลาย
“เกิดในรัชกาลที่ ๙ เกิดเป็นลูกผู้ชาย บวชถวายพระองค์ท่าน ครั้งหนึ่งในชีวิต” เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ จากคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐)