อาชีวะวิถีพุทธต้นแบบ
โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
“การพัฒนาเยาวชนเพื่อศตวรรษหน้า จะไม่ใช่แค่ให้เรารู้มากๆ แต่ที่สำคัญคือให้เขารู้จักตัวเองดีพอ และรู้ว่าอะไรดีสำหรับเขา เพื่อให้เขาได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตทีดีได้อย่างเหมาะสม โลกจะพัฒนาไปไกลแค่ไหนก็ไม่สำคัญเท่าใจเราพัฒนาไปเท่าไหร่แล้วต่างหาก”
ถ้าพูดถึงโรงเรียนอาชีวะ คนส่วนใหญ่ก็จะนึกภาพ เด็กเกเร ยกพวกตีกัน ซึ่งปรากฏอยู่ในสื่อมากมาย แต่เราอาจจะไม่ค่อยได้ยินข่าวดีจากนักเรียนอาชีวะเท่าไหร่นัก นั่นก็อย่าพึ่งไปโทษเด็กเลย เพราะจริงๆ แล้วเรื่องดีก็มีมากมาย แต่สื่อของเรานั้นมุ่งแฉเรื่องร้ายเพราะว่าขายดี จะให้แผ่เรื่องดีมีแต่จะขายไม่ออก เรื่องดีๆ ก็เลยทำได้แค่บอกต่อๆ กันไป ฟังไปฟังมาก็พลอยจะสงสัยว่า “ดีขนาดนั้นเลยเหรอ?” เมื่อมีข่าวดีเราก็เลยแคลงใจ มากกว่าจะคลาย เพราะไม่ค่อยได้คุ้นเคยกับข่าวดีมากนัก
เหมือนกับที่ผู้เขียนได้ยินข่าวโรงเรียนอาชีวะแห่งหนึ่ง ซึ่งเล่าต่อๆ กันมาว่า เป็นโรงเรียนอาชีวะวิถีพุทธ ก็ยังไม่ค่อยจะอยากเชื่อเพราะ “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” จึงหาโอกาสให้กับตนเองเพื่อไปดูของจริง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงได้โอกาสนั้น กะว่าจะไปแบบไม่ให้ตั้งตัว เพื่อจะดูวิถีชีวิตจริงๆ ของที่นั่น เดี๋ยวเขารู้ว่าเราไปจะมีการจัดฉาก ด้วยความที่จะไปไม่ให้รู้ตัวก็เลยหลงทาง กว่าจะไปถึงก็เลยไม่ทันเวลาที่เขาคุยว่ามีการทำวัตรเช้าเป็นประจำ
ทันทีที่ไปถึง ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระอาจารย์ที่ดูแลนักเรียนอยู่ ข้างๆ นั้นก็มีพระสงฆ์และสามเณรกลุ่มหนึ่งกำลังตัดท่อนอลูมิเนียมและเตรียมงานกระจก มองไปอีกด้านเห็นศาลาสวดมนต์มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นประธาน นักเรียนหลายคนทั้งชายหญิงใส่ชุดขาวเดินไปเดินมา อีกด้านหนึ่งมีผู้ปกครองพาบุตรหลานมาสมัครเรียน
ขณะที่นั่งรอที่เก้าอี้เหล็กฝีมือนักเรียน เด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินมาใกล้ๆ นั่งลงกราบก่อนจะแจ้งว่านิมนต์ไปที่ห้องประชุม ซึ่งขณะนั้นมีนักเรียนชั้นปี ๓ กำลังปฏิบัติธรรมอยู่ เขาบอกว่า “ไหนๆ พระอาจารย์ก็มาถึงแล้ว นิมนต์ให้ธรรมะเด็กๆ หน่อย” ในห้องมีนักเรียนใส่ชุดขาวผู้ชายอยู่ด้านหน้า ส่วนด้านหลังนั้นเป็นผู้หญิง สีหน้าท่าทางดูนิ่งๆ แต่มีรอยยิ้มเล็กๆ กันทุกคน ก็ได้ให้ธรรมะพื้นฐานไปเล็กน้อยพร้อมแง่คิดสำหรับการทำงานและการดำเนินชีวิตว่าจะต้อง
“อดทน ข่มใจ ใจเย็นๆ พอทนได้ สบายอยู่แล้ว”
อดทน ต่อความยากลำบาก เพราะงานสายอาชีพนั้นส่วนใหญ่แล้วก็จะเหนื่อยหน่อย ในช่วงแรกๆ เราจึงต้องอดทนต่อความทุกข์ท้อทางใจไปด้วย “ใจท้อจะแพ้ ใจแท้ถึงท้อก็ไม่ถอย”
ข่มใจ การเผชิญชีวิต จะพบทั้งเรื่องถูกใจและไม่ถูกใจ บางครั้งก็เลือกไม่ได้ เราจึงต้องฝึกที่จะข่มใจให้สงบเมื่อต้องพบกับเรื่องที่ขัดใจ ไม่วู่วาม ไม่ใช้อารมณ์ ประคองสติให้ดี บางครั้งเราก็ต้องใช้ความสงบสยบเคลื่อนไหว
ใจเย็นๆ การตัดสินใจ ไม่ควรหุนหันพลันแล่น ระวังความชั่วที่เกิดขึ้นแม้เพียงวูบเดียว เพราะเพียงชั่ววูบที่เราเผลอสติอาจจะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปอย่างยากจะกู้ให้คืนกลับ เพราะฉะนั้นแล้ว จะทำอะไรให้ใจเย็น
สบายอยู่แล้ว
“ไม่มีอะไรร้ายในยามที่เราใจดี แต่จะไม่มีอะไรดีถ้าใจเราร้าย”
เราจึงต้องฝึกทักษะทางอารมณ์ให้เป็นคนมองโลกในแง่บวก บริหารอารมณ์ตนเองได้ดี ไม่เครียด ไม่กังวล และปล่อยวางเป็น เพราะชีวิต ไม่อาจจะเป็นไปตามที่เราคิดทุกอย่าง แต่การสร้างชีวิตให้มีความสุข คือการปรับจิตใจให้สมดุลไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งที่เข้ามากระทบจนมากเกินไป
จากนั้นก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยสนทนาถามตอบ แรกๆ ก็ดูจะไม่มีใครกล้าถามอะไร ก็เลยเล่าเรื่องเจ้าของสาหร่ายทอด ที่มีฉายาว่า “วัยรุ่นพันล้าน” ครั้งหนึ่งเขาออกรายการทีวี พิธีกรถามว่า “คุณประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย คุณมีเทคนิคอะไร?”
เขาตอบว่า “ผมมีเทคนิคอยู่ ๓ ประการ ๑)ถาม ๒)ถาม และ ๓)ถาม”
คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ใช้ทักษะการตั้งคำถามเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ให้กับตนเองอยู่เสมอ พอเล่าจบก็เริ่มมีคนอยากถามขึ้นมาเลย ยินดีมากที่หลายคนสนใจในเรื่องการเรียนและการทำงาน แนวทางการดำเนินชีวิตในอนาคต บางคนก็ถามเรื่องความรัก ก่อนจะจบการถาม หนุ่มน้อยหน้ากวนคนหนึ่ง ยกมือถามว่า “ทำไม สโนไวท์ไม่มีขี้มูก” ฟังดูงงๆ เลยถามกลับว่า “ทำไมเหรอ” รอยยิ้มยียวนบานบนใบหน้าก่อนจะตอบว่า “เพราะมีคนแคระทั้ง ๗” เสียงหัวเราะดังขึ้นในห้องประชุม แม้คำถามจะดูสาระน้อยไปหน่อย แต่ก็ให้รางวัลความกล้าและสร้างสรรค์ในการถาม ก่อนจะสรุปว่า “บางครั้ง คำถามที่ดีก็มีค่ามากกว่าคำตอบ เพราะว่าเราถามหาอะไรเราจะได้สิ่งนั้น และคำตอบของใครก็ไม่สำคัญเท่ากับ คำตอบจากใจของเราเอง”
ก่อนกลับได้พบกับพระอาจารย์วิหาญชัย อนุตตฺโร ท่านเล่าถึงการสอดแทรกธรรมะแม้ในวิชาช่างยนต์ ความรับผิดชอบอุปกรณ์การเรียน ท่านบอกว่า “ความรู้หาที่ไหนก็ได้ แต่นิสัยความรับผิดชอบเราต้องฝึกให้เขา”
ส่วนแม่ชีระเบียบ ถิรญาณี เล่าให้ฟังมากมายและเน้นย้ำว่า “จะสร้างโรงเรียนให้เป็นวัด วัดจิต วัดใจ พัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี ที่มีความรู้”
“วิทยาลัยอาชีวจุลมณีศรีสะเกษ” ถือว่าเป็นโรงเรียนอาชีวะวิถีพุทธต้นแบบ แม้ดูแล้วคิดว่า ยากที่จะเลียนแบบ แต่ว่าน่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีสำหรับใครที่ตั้งใจอยากจะทำโรงเรียนเพื่อพัฒนาเยาวชนที่แท้จริง ไม่เพียงแต่สร้างธุรกิจการศึกษา แสวงหาผลกำไรจากค่าเทอม
การพัฒนาเยาวชนเพื่อศตวรรษหน้า จะไม่ใช่แค่ให้เรารู้มากๆ แต่ที่สำคัญคือให้เขารู้จักตัวเองดีพอ และรู้ว่าอะไรดีสำหรับเขา เพื่อให้เขาได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตทีดีได้อย่างเหมาะสม โลกจะพัฒนาไปไกลแค่ไหนก็ไม่สำคัญเท่าใจเราพัฒนาไปเท่าไหร่แล้วต่างหาก
เกี่ยวกับผู้เขียน
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป (แก้วศรี)
วัดธรรมาภิรตาราม ดุสิต กรุงเทพ
ฉายา ญาณปฺปทีโป ( ยานัปปะทีโป)
แปลว่า ผู้มีปัญญาหยั่งรู้ดุจแสงประทีป
วิทยากรกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม จัดกระบวนการอบรมให้กับสถาบันการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา องค์กรหน่วยงานเอกชนและราชการ อีกทั้งเป็นวิทยากรให้กับโครงการต่างๆ เช่น โครงการธรรมะเยียวยาใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมปี พ.ศ.๒๕๕๔ ,โครงการเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ ,ปฏิบัติศาสนกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ประเทศเนปาล ,โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร, โครงการพระนักเขียน ,โครงการพระวิทยากรกระบวนธรรม ,โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากรด้านการให้คำปรึกษา ,โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม สำหรับผู้นำท้องที่และผู้นำท้องถิ่น และ โครงการเสริมสร้างศักยภาพแม่ชีไทยด้านการปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยา , โครงการพัฒนาศักยภาพนิสิตและการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ,โครงการพัฒนาเจตคติและจิตวิญญาณความเป็นครูในวิถีพุทธ ,โครงการครูกับการเรียนรู้วัฒนธรรม และวิถีพุทธในประชาคมอาเซียน เป็นต้น
งานเขียน อาทิ อย่าคว้าดวงดาวด้วยสายตา ,วิชาความสุข , อย่าปล่อยให้ทุกข์มาบุกใจ ,อยากเป็นยอดคนต้องเก่งตนเก่งคนเก่งงาน,ทุกข์เกิดจากใจก็ดับได้ด้วยใจ ,Set goals “ตั้งเป้าหมาย” วิชาวิทยากร
งานเขียนวิชาการ รวมไปถึงบทความวิชาการ บทความวิจัย งานวิจัย คอลัมนิสต์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ เช่น หน้าต่างศาสนา นสพ.ข่าวสด และคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ นสพ.คมชัดลึก หน้าพระไตรสรณคมน์ ทุกวันพฤหัสบดี
การศึกษา
จบนักธรรมเอก เปรียญธรรม ๔ ประโยค ,ประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.วค.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ,พุทธศาสตร์บัณฑิต พธ.บ.(พุทธจิตวิทยา)มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต ศศ.ม.(พัฒนาสังคม)สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ พุทศาสตรดุษฎีบัณฑิต พธ.ด.(พุทธจิตวิทยา)มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปัจจุบัน สอนวิชาจิตวิทยาสังคมแนวพุทธ, ปรัชญาเบื้องต้น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย