“อาตมามาอยู่กับท่านตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๖
เห็นปฏิปทาของท่านจากวัตรปฏิบัติของท่านมาโดยตลอด
ก็ซึมซับ ทั้งเรื่องการอ่านหนังสือ
และงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา”
พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส “
อาจาริยบูชา ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
ชาตกาล ๕๓ ปี พรรษาที่ ๓๐
“ญาณวชิระ”
พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์)
“ผู้จุดประกายแห่งชีวิต : จากใจศิษย์ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส”
“อาจารย์คืออิฐก้อนแรก ที่สร้างแรงบันดาลใจในอุดมการณ์เผยแผ่พระพุทธศาสนา”
: พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ย้อนรำลึกในวันวาน พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส แห่งวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เล่าว่า เพราะเห็นท่านอาจารย์เทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) สร้างพระเจดีย์และมีมุมมองในการสร้างอย่างลุ่มลึกถึงพระพุทธเจ้า จึงคิดอยากสร้างบ้าง และด้วยแรงแห่งศรัทธาในวัตรปฏิบัติของท่าน จึงเป็นแรงบันดาลใจจนกระทั่งสร้างสำเร็จแล้วที่แม่ฮ่องสอน โดยมีพระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ และชาวบ้านมาช่วยกันสร้างพระเจดีย์ตั้งแต่สร้างฐานอย่างมั่นคงแข็งแรงแล้วค่อยๆ ก่ออิฐทีละก้อนๆ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านบนยอดดอย
เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ที่พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส เรียนรู้การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากการทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัสของท่านอาจารย์เทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) พร้อมกับครูบาอาจารย์อีกหลายท่าน ตั้งแต่อยู่ที่ในคณะ ๗ จนต่อมา ได้ย้ายตามท่านมาอยู่คณะ ๕ ซึ่งเป็นกุฏิหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส เล่าว่า ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ ที่ได้บรรพชาเป็นสามเณรมาประมาณ ๓ ปี ตอนนั้นอยู่ในพรรษา อาจารย์กำลังเขียนหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” อยู่พอดี ท่านเขียนตอนเป็นพระมหา แต่ไม่เพียงเขียนหนังสือธรรมะเท่านั้น ท่านอาจารย์ยังปฏิบัติข้อวัตรตามพระธรรมวินัยอย่างเข้มข้้น
“เมื่อครั้งอยู่กับท่านอาจารย์ โดยปกติ ท่านจะนำพระบวชใหม่ออกบิณฑบาต อาตมาเป็นเณร ท่านก็ให้ไปอุปัฏฐากพระ ให้เดินตามหลังพระใหม่ คอยดูบาตรดูจีวรช่วยพระบวชใหม่ เพื่อให้เณรคุ้นเคยกับพระบวชใหม่ ท่านจะเดินนำหน้า
ก่อนฉันเช้า ท่านจะพาพระใหม่และสามเณรจัดอาหารที่รับบิณฑบาตมา ฝึกหัดวางจาน ช้อน วางแก้วน้ำ ผลไม้ และได้อุปัฏฐากท่านอาจารย์ด้วย เพราะท่านฉันกับพระใหม่ทุกวัน ถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษา
ในพรรษาหนึ่ง ท่านจะเขียนหนังสือได้เล่มหนึ่ง และในพรรษานั้น ท่านอาจารย์ก็เขียน ลูกผู้ชายต้องบวช เสร็จพอดี ก่อนหน้านั้นในปี พุทธศักราช ๒๕๔๕ ท่านก็เขียน “พุทธานุภาพ : อานุภาพแห่งพระพุทธองค์” จากนั้นก็เขียน “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ต่อจนจบ
“ในช่วงที่ท่านอาจารย์เขียนลูกผู้ชายต้องบวช ก็ได้ชงกาแฟให้ท่านฉัน ซักจีวรให้ และพับให้เรียบร้อย ต้องคอยผลัดเวรกันกับเณรรูปอื่นปัดกวาดเช็ดถูห้องอาจารย์ ส่วนวันไหนต้องรื้อหนังสือออกมาทำความสะอาด มาปัดฝุ่นด้วย สามเณรในคณะจะชวนกันไปด้วยกันทุกรูป
“ท่านบอกว่า ฝุ่นชอบเกาะหนังสือ หากปล่อยไว้นานๆ ไม่ดีกับสุขภาพ ต้องเอาออกมาทีละช่อง ทีละชั้น และต้องช่วยกันจำว่า หนังสือเล่มไหนอาจารย์เอาไว้ช่องไหน เวลาหยิบท่านจะได้จำของท่านได้ สิ่งที่ได้เรียนรู้ช่วงที่อยู่อุปัฏฐากท่าน ก็คือ ท่านชอบอ่านหนังสือ ในห้องท่านจะมีหนังสือมาก หลากหลายด้าน มีตู้จัดเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ ท่านจัดเรียงของท่านเอง เพราะเวลาหาจะได้รู้ว่า เล่มไหนอยู่ตรง และนานทีท่านก็จะโละไปบริจาคห้องสมุด อาตมาก็เลยชอบอ่านหนังสือไปด้วย
ที่จริง ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้บังคับให้ใครอ่าน ท่านไม่ได้บอกว่า หนังสือดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ แต่ท่านทำให้ดู อยู่ให้เห็น พอเห็นท่านอ่านก็ซึมซับการอ่านหนังสือจากท่านไปด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์”
“ระหว่างที่อยู่กับท่านอาจารย์ ท่านก็พาทำกิจกรรมในคณะ ไม่ให้พระอยู่เฉย ท่านมีพลังมาก ๆ ตั้งแต่เป็นพระมหา ในการพาพระเณรทำงานพระศาสนาทุกด้าน บางที ท่านพาพระใหม่และสามเณรทาสีคณะด้วยตัวเอง พระใหม่รุ่นเก่าๆ ที่บวชอยู่กับท่านก็จะรู้”
“ตั้งแต่ทำความสะอาดกุฏิ ล้างคณะ ขัดห้องน้ำ ถูพื้น ทั้งพระเณรช่วยกัน ท่านจะสอนเสมอว่า ญาติโยมบริจาคให้เรามาอยู่ในวัด ในกุฏิ เราก็กตัญญูต่อสถานที่ ช่วยกันทำความสะอาด พระเณรก็ออกจากห้องมาช่วยกัน ทำให้ระยะห่างของพระเณรกับท่านน้อยลง ทำงานร่วมกันเป็นสิ่งดี คอยดูแลกุฏิให้สะอาด ของสังฆทานท่านจะไม่สะสม จะให้เณรคอยคัดของดีๆ ส่งไปให้วัดต่างๆ ในต่างจังหวัด ให้สำนักเรียนบาลีของสามเณรแต่ละรูป และโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่วัดบ้านเกิดท่านที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ก็ส่งไปให้พระเณรได้ใช้
“ตอนที่ท่านเป็นพระมหา ยังไม่ได้เป็นพระเถระรับภาระในการบริหารคณะสงฆ์ ท่านดูแลพระเณรในคณะ ๗ ของวัดสระเกศ พระเณรและญาติโยมจะอบอุ่นกันมาก ต่อมา จึงย้ายมาคณะ ๕ เพื่อดูแลกุฏิหลวงพ่อสมเด็จ แต่ก็ดูแลคณะ ๗ ด้วย
ท่านเขียนหนังสือ และสนองงานหลวงพ่อสมเด็จ อาตมาได้มาอยู่กับท่านตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ ได้เห็นปฏิปทาของท่านจากวัตรปฏิบัติของท่านมาโดยตลอด อาตมาก็ซึมซับมา ทั้งเรื่องการอ่านหนังสือ และงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
“หากเห็นหนังสือดีๆ ที่ช่วยพัฒนาความคิด หรือเป็นความรู้ใหม่ๆ ท่านมักจะซื้อมาที่ละหลายๆ เล่ม ฝากลูกศิษย์คนนั่นคนนี้เสมอ จากที่อาตมาไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ ก็เริ่มอ่านมาเรื่อยๆ จนขนาดว่า ภายในหนึ่งปี อ่านหนังสือจบเป็น ๑๐๐ เล่ม สิ่งที่สังเกตได้ คือ การคิดการอ่าน มุมมอง เปลี่ยนไปจากเดิมมาก บางครั้ง ได้หนังสือดีๆ มา อยากปิดห้องสัก ๗ วัน ไม่อยากให้ใครรบกวนเพื่อที่จะได้อ่านหนังสือ อ่านจบแล้วค่อยออกมาพบปะผู้คน”
การอ่านอย่างมีสติ คือ การพัฒนาที่ดี
“อาจารย์ คือ ผู้จุดประกายให้อาตมามีอุปนิสัยรักในการอ่าน
การศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง”
พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส
พระมหาปฐมพงศ์ เล่าต่อมาว่า จากเดิมอาจารย์ซื้อหนังสือมาฝาก แต่ตอนนี้ เราไปหาซื้อเองแล้ว เพราะเรารู้ว่า จะศึกษาเรื่องอะไร ซื้อที่ไหน เราก็ไปเลือกหาเอง ไม่ต้องรบกวนอาจารย์แล้ว การอ่าน ทำให้เปิดกว้างทางความคิด ทำให้มีมุมมองที่หลากหลาย
ต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส ได้เห็นการทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่องด้วยความทุ่มเทและเสียสละของท่านอาจารย์ ท่านเล่าให้ฟังว่า
“ขณะนั้น อาจารย์ให้อาตมามาช่วยงานท่าน ตอนนั้น ท่านยังเป็นพระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ บางวันก็อยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ กับท่านสองรูปจนดึกดื่น อาตมาจะกลับทีหลังท่าน เพราะต้องคอยปิดประตูหน้าต่างหลังท่านกลับ บางวันดึกมาก อาตมาก็จำวัดที่นั่นเลย“
พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส
“ตอนนั้น เงียบมาก จนดูวังเวง ภูเขาทองไม่มีคนอย่างทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวก็ไม่มี พอ ๕ โมงเย็น แทบไม่มีคนเดิน อาจารย์ทำงานพระศาสนาทุกด้านอย่างไม่ได้คิดถึงตนเองเลยว่า ตัวเราต้องได้ ก่อนจะทำอะไร ท่านจะคิดรอบด้าน สอบถามคนนั่นคนนี้ ศึกษาจนแน่ใจว่าสิ่งที่คิดเป็นไปได้ และกราบเรียนหลวงพ่อสมเด็จแล้วจึงลงมือทำท่านดำเนินชีวิตตามปณิธานหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ว่า “อะไรก็ตามถ้าเราได้ สำนักไม่ได้ พระศาสนาไม่ได้ อย่าเอา ถึงแม้เราไม่ได้ แต่สำนักได้ พระศาสนาได้ ให้เอา เราได้ สำนักได้ พระศาสนาได้ ให้เอา รวมความ คือ จะทำอะไรก็แล้วแต่ ให้ถือพระศาสนาเป็นที่ตั้ง”
“ท่านอาจารย์ก็รับสืบทอดมา และทำงานพระศาสนาด้วยความเสียสละแรงกายแรงใจทุ่มเทการทำงานมาก เรียกว่า ท่านมอบลมหายใจให้พระพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้
“ท่านต้องดูแล แก้ปัญหา และวางหลักยุทธศาสตร์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับพระหนุ่มเณรน้อยที่ทำงานโดดเดี่ยวอยู่ตามท้องถิ่นชนบทห่างไกล จากชายแดนใต้จนถึงดอยสูง ท่านเป็นเหมือนภูเขาให้ท่านเหล่านั้นพิง
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ได้รับการเรียบเรียงใหม่อีกครั้ง โดยพระเถระแห่งวัดสระเกศฯ ๕ รูป คือ หลวงพ่อธงชัย สุขญาโณ (อดีตพระพรหมสิทธิ) พระมหาสังคม ญาณวฑฺฒโน (อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์) พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) พระมหาบุญทวี ปญฺญาวํโส (อดีตพระศรีคุณาภรณ์) และ พระมหาสมจิตร จิตฺตธมฺโม (อดีตพระครูสิริวิหารการ)
เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
โดย สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด และบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และมอบให้แก่ส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม เพื่อถวายพระราชกุศล แสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย
ในหนังสือ “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เล่มนี้ ไม่เพียงบ่งบอกถึงมโนปณิธานของพระโพธิสัตว์สิบชาติสุดท้าย ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จนกระทั่งหลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏอย่างสิ้นเชิงในพระชาติสุดท้ายเท่านั้น หากยังเป็นการตามรอยธรรมมโนปณิธานพระพุทธองค์ ของพระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร และพระมหาเถระทั้งห้ารูป อย่างชัดเจนอีกด้วยว่า
“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย
สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง
แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”
พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส เล่าต่อมาว่า
อาตมาเห็นความเสียสละส่วนตัวของท่านเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด สิ่งที่อาตมาสัมผัสได้ คือ
๑. ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่ไม่ถือตัว รับฟังความคิดเห็นของผู้น้อย แล้วคอยเพิ่มเติมเสริมความคิดให้ และจะคอยสอบถามความเป็นไปอยู่เสมอ
๒.น้ำใจโอบอ้อมอารีต่อผู้คนทั้งปวง
๓.ดูแลศิษย์ด้วยสุจริต ยุติธรรม เปิดเผย ไม่หลอกลวง คือ ไม่มีความลับในกำมือกับลูกศิษย์
๔.ดูแลคนใกล้ คนไกล ถ้าดีแล้วดูแลเสมอกัน
๕.คิดอย่างรอบด้านแล้วจึงทำ คือคิดทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลายแล้วจึงทำ
๖.ทำตามแบบแผนประเพณี ของบูรพาจารย์ ชำนาญในกลยุทธศาสตร์ ไม่ทำงานแบบโชว์ แต่ทำงานด้วยความเสียสละ เป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์ลูกหาได้เห็นการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ต่อส่วนรวม ต่อพระศาสนา
“เรียกว่า เป็นต้นแบบของครูบาอาจารย์ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พระเณรรุ่นหลังจากหลวงพ่อสมเด็จฯ ไม่อยู่ก็ได้ดำเนินชีวิต ดำเนินงานเผยแผ่ตามปฏิปทาของท่าน”
พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส
มโนปณิธานของพระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) ยังคงสืบทอดอยู่ในลมหายใจของพระเณรลูกศิษย์ทุกสารทิศ ประดุจเปลวเทียนที่หลอมละลายให้แสงสว่างแห่งปัญญาไปข้างหน้า เพื่อสร้างทางธรรมไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏ และยังสานสร้างทางให้ผู้คนเข้มแข็งทางจิตใจด้วยศีล สมาธิ และปัญญา ตามรอยธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพ่อแม่ครูอาจารย์ตลอดสาย อันเป็นฐานพระเจดีย์ที่มีชีวิตอย่างมั่นคงต่อไปไม่สิ้นสุด…
ดังที่ท่านกล่าวว่า
“ทุกซากปรักหักพังของพระเจดีย์
กรวดหิน ดินทรายทุกเม็ด
ที่แตกกระจายไป
ก็คือพระเจดีย์องค์เล็กๆ
มากมายนับไม่ถ้วน”
ญาณวชิระ
จาก รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๗๗ “เทียนพรรษาส่องสว่างที่ฐานพระเจดีย์ …แบบอย่างของครูบาอาจารย์ผู้มีชีวิตเพื่อส่วนรวม”
อาจาริยบูชา ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ชาตกาล ๕๓ ปี พรรษาที่ ๓๐ “ญาณวชิระ” พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) ผู้จุดประกายแห่งชีวิต : จากใจศิษย์ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส
ประวัติ พระมหาเทอด ญาณวชิโร นามปากกา “ญาณวชิระ”
อดีตพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด วงศ์ชะอุ่ม ,ป.ธ.๖, พธ.ม. ) โดยสังเขป
เกิด : ที่บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันอังคารที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๔
บิดา : นายเกิน วงศ์ชะอุ่ม
มารดา : นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
บรรพชา : ณ วัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง) จังหวัดอุบลราชธานี พุทธศักราช ๒๕๒๗ โดยมีพระครูภัทรววิหารกิจ (พร ภทฺทญาโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์
อุปสมบท : ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ พุทธศักราช ๒๕๓๕ ได้รับฉายาว่า “ญาณวชิโร” หมายถึง ผู้มีปัญญาประดุจเพชร
การศึกษา : เปรียญธรรม ๖ ประโยค จากสำนักวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , ปริญญาโททางด้านปรัชญา จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
สมณศักดิ์ : พุทธศักราช ๒๕๔๙ ที่พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ , พุทธศักราช ๒๕๕๓ ที่พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ,พุทธศักราช ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑ ที่ พระราชกิจจาภรณ์ และ พุทธศักราช ๒๕๖๑ – ปัจจุบัน พระมหาเทอด ญาณวชิโร
ตำแหน่งหน้าที่และงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอดีต
– ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
– อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– บรรยายพิเศษสถาบันพระปกเกล้า
– คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ มหาวิทยาศรีนครินทร์วิโรฒประสานมิตร
การบรรยายธรรม :
-อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-บรรยายพิเศษที่สถาบันพระปกเกล้า
-บรรยายที่กรมประชาสัมพันธ์
-บรรยายธรรมทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ
การเผยแผ่ธรรมผ่านสื่อ รายการโทรทัศน์ในอดีต :
บรรยายธรรมทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.๕) รายการ ละครจากชีวิตจริง เรื่อง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ออกกาศทุกวันจันทร์ – พฤหัสบดี เวลา ๑๘.๐๐ น.
บรรยายธรรมทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อสมท. รายการ “แสงธรรมส่องทาง” ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๐๕.๓๐ – ๐๖.๐๐ น.
บรรยายธรรมทางสถานีโทรทัศน์ช่อง Thai PBS รายการ “พุทธภูมิสู่สุวรรณภูมิ” ทุกวันจันทร์ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๙.๐๐ น.
ฯลฯ
งานประพันธ์ :
– หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
– พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์
– ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย
– ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
– มหาสมัยสูตร
– ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ (การ์ตูนแอนิเมชัน)
– ตำนานภูเขาทอง
-พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
– ลูกผู้ชายต้องบวช
– ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน
– สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน
– ประทีปธรรมแห่งแม่มูล
-หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
-บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา
-สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์
– ความเป็นมาของพระอภิธรรม
ฯลฯ
อาจาริยบูชา ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ชาตกาล ๕๓ ปี พรรษาที่ ๓๐* “ญาณวชิระ” พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) ผู้จุดประกายแห่งชีวิต : จากใจศิษย์ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส
* หมายเหตุ : เกี่ยวกับการนับพรรษา เนื่องจาก พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) อุปสมบทหลังออกพรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ จึงนับพรรษาปีถัดไป คือ เริ่มนับพรรษาในปี พุทธศักราช ๒๕๓๖ – ๒๕๖๖ จึงนับได้ พรรษาที่ ๓๐ และย่างเข้าสู่พรรษาที่ ๓๑ ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๗