เมื่อคราวก่อนได้ตอบคำถามของท่านที่อยากรู้ว่า ทำอย่างไรถึงจะได้ขึ้นสรรค์ โดยยกเรื่องของท้าวสักกะมาเป็นกรณีตัวอย่าง มีหลายท่านที่ชอบ เพราะมีแนวทางชัดเจนและยังปฏิบัติได้จริง ทำให้เกิดความมั่นใจในการทำดีของตนเองมายิ่งขึ้น
แต่ก็มีเสียงสะท้อนอื่นตามมาเหมือนกันบอกว่า “อย่าเอานรกมาขู่ อย่าชูสวรรค์มาล่อ” อันที่จริงก็ไม่ได้คิดจะขู่หรือลวงล่ออะไร เพราะเป็นแค่ผู้สื่อสารข้อมูลสู่มวลชน ในเรื่องราวดีๆ ทางพระพุทธศาสนา แม้จะมีความคิดเห็นส่วนตัวบ้าง แต่ก็พยายามที่จะนำเสนอเชิงสร้างสรรค์มากที่สุด โดยมุ่งประโยชน์ของผู้อ่านเป็นสำคัญ
“พระพุทธศาสนากับเสรีภาพในการเรียนรู้”
โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

ผู้อ่านเองก็จะต้องกลั่นกรอง และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้สู่การประยุกต์ใช้ จึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารรวดเร็วและมากมาย
สมัยนี้เราจึงต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์มาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการย่อย แยกแยะ และคัดกรองข้อมูลต่างๆ แล้วสกัดคั้นเอาเฉพาะส่วนที่จำเป็นสำหรับเรามาใช้ เหมือนชาวเหมืองแร่ร่อนทอง ดินเยอะแต่คนที่แยกดินออกจากทองคำได้แม้ชิ้นเล็กๆ แต่เราก็สะสมสิ่งที่ได้ไปเรื่อยๆ ไม่มีใครที่ร่อนเจอทองชิ้นเดียวแล้วเลิกทำ
เหมือนกับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองทางด้านจิตใจ เราจำเป็นต้องหมั่นกลั่นกรองและลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ตักมาครั้งแรกถาดร่อนทองของเรามันก็มีแต่ดิน มองไม่เห็นเลยว่าจะมีแร่ทองหรือเปล่า
บางคนก็มองตัวเองเป็นแค่เศษดิน “สรรค์ไม่ต้องการคนอย่างผมหรอก”
พูดปิดทางตัวเองแบบนี้มันก็กระตุ้นไปทางดีได้ยาก เพราะจิตใจอ่อนแอมองเห็นคุณค่าของชีวิตตัวเองต่ำต้อย ซึ่งจะแตกต่างกับบางคนที่มองเห็นตัวเองเป็นดินก็จริง แต่มั่นใจว่าชีวิตนี้มีความหมายจะต้องหาคุณค่าของตนเองให้เจอ
“แค่ใจมีหวังสักวันสวรรค์จะเป็นใจ” แน่นอนว่า เขาจะเบิกบานกับการก้าวเดินของชีวิตอย่างมาก แม้ไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นใจแต่เขาเต็มใจที่จะเผชิญกับมัน
ถ้าจะเปรียบเทียบสวรรค์ก็เหมือนความอิ่ม ถ้าเรากินเต็มที่ไม่ต้องเอาความอิ่มมาอ้างเพื่อจะกินข้าวเลยก็ได้ แต่ที่เรากินบางครั้งก็เพราะความหิว
การทำดีก็เช่นกัน
บางครั้งไม่ใช่เพราะเราต้องการสวรรค์หรอก แต่เพราะจิตสำนึกภายในของเรานั้นโหยหาความรู้สึกที่อยากจะเติมเต็มชีวิต ซึ่งมีอยู่ในใจของเราทุกคน ทุกชาติศาสนาภาษา คุณธรรมที่จะนำไปสู่สวรรค์ในภพหน้าจึงเป็นธรรมเก่าที่โบราณาจารย์กล่าวไว้นานแล้ว และพระพุทธเจ้าก็รับรองถึงหลักธรรมดังกล่าวว่าสอดคล้องกับสิ่งที่พระองค์ค้นพบ และสามารถนำไปสู่สุคติโลกสวรรค์
พระพุทธศาสนากล่าวถึงสวรรค์มากก็จริง แต่ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด
เพราะถึงจะเป็นเทวดาบนสวรรค์บางทีก็ยังมีความทุกข์ แม้แต่ท้าวสักกะเองก็ตาม แม้จะเป็นเทวราชา เป็นจอมแห่งเทพก็มีความทุกข์ นั่นคือ ถูกรัศมีของเทพชั้นปลายๆ บดบัง และแม้แต่เสียงล้อของรถเทพองค์นั้นก็ยังทำให้บัลลังก์ท้าวสักกะสั่นสะเทือน
เพราะอำนาจแห่งบุญของท้าวสักกะแม้จะมีมาจนเป็นจอมเทพ แต่เป็นบุญที่ทำกับคนทั่วไป ในขณะที่เทพบุตรองค์นั้นทำบุญแม้เพียงเล็กน้อยกับพระอริยสงฆ์กลับมีพลังรัศมีมากกว่า ส่งผลให้ท้าวสักกะอยากจะทำบุญกับพระสงฆ์ ให้เราศึกษาเพิ่มเติมในเทวตาวัตถุ จะเห็นกรณีศึกษาอีกมากมาย
พระอริยสงฆ์ท่านจึงไม่ได้มุ่งเอาสวรรค์ แต่พยายามแสวงหาทางพ้นทุกข์ ถ้าท่านทำบุญด้วยสาธารณสงเคราะห์ก็เพื่อละการยึดมั่นในวัตถุและละอัตตาตัวตน หวังผู้คนพ้นทุกข์เท่านั้น
เช่นเดียวกับ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ท่านไม่ได้ยึดครองอะไรจนในที่สุดแม้กระทั่งร่างกาย ทรัพย์ที่มีคนบริจาคมาท่านก็อนุเคราะห์สานต่อก่อประโยชน์เพิ่มเติม แม้สงฆ์ท่านอื่นก็ปฏิบัติไปในทางเดียวกัน อาจไม่ได้เด่นดังใหญ่โต แต่เป็นมุมเล็กๆ ที่งดงามในส่วนที่ท่านดำรงตนอยู่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ
การทำบุญกับพระอริยสงฆ์จึงเป็นการเอาบุญมาต่อบุญ เพราะสิ่งที่เราทำไปจะนำไปสู่การต่อยอดสร้างประโยชน์ในส่วนอื่นๆ อีกหลากหลาย หลายวัดเป็นสำนักเรียนส่งเสริมการศึกษาพระสงฆ์สามเณร บางวัดสงเคราะห์ประชาชนที่ยากไร้ และยุวสงฆ์สามเณรที่ได้รับการศึกษาเกิดแรงบันดาลใจในการสานต่องานพระพุทธศาสนา จึงทำให้สืบต่อกันมากว่าสองพันหกร้อยปีมาแล้ว
คำสอนทางพระพุทธศาสนามีทั้งระดับมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ และมีเสรีภาพต่อทุกคนว่าจะใฝ่ในระดับไหน สามารถที่ขวนขวายใคร่ปฏิบัติได้ตามกำลังและแรงปรารถนา ไม่เคยปิดกั้นบังคับ
แม้ว่าพระท่านอาจจะยกสวรรค์นรกขึ้นมากล่าวถึงแต่เอาเข้าจริงๆ ก็อยู่ที่ตัวเราเองทั้งนั้นเป็นผู้เลือก จะไม่เอาตามก็ไม่ได้มีคาดโทษเอาผิด จึงว่าท่านเอาสวรรค์มาล่อเอานรกมาขู่เสียทีเดียวไม่ได้ น่าจะเป็นการยกขึ้นมาให้เรียนรู้ มากกว่า
เมื่อได้เรียนรู้แล้วก็อยู่ที่เราแล้วละ ว่าจะไปทางไหน?

พระพุทธศาสนากับเสรีภาพในการเรียนรู้
โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒

