บทความที่แล้วกล่าวถึง “ต้นไม้ผลิใบ ธรรมะผลิบาน เบื้องหลังสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๖” ได้เล่าถึงบทสรุปของการเรียนธรรมะ ผ่านกระบวนการเรียนการสอน เรียนรู้วิถีชีวิตของความเป็นสามเณรภายใต้แนวคิด “รักตน-รักคน-รักโลก-รักจักรวาล” เพื่อค้นหาและเข้าใจความหมายที่แท้จริงของ “ความรักจักรวาล”
ห้องเรียนธรรมะบนดินแดนอีสานใต้
เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗”
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ
ปีนี้ (พ.ศ.๒๕๖๑) โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปีที่ ๗ ได้สัญจรมาเปิดห้องเรียนธรรมะบนดินแดนอีสานใต้เป็นครั้งแรก ณ วัดป่าไทรงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสาขาที่ ๑๐ ของวัดหนองป่าพง โดยได้รับความเมตตานุเคราะห์รับเป็นพระอาจารย์ใหญ่โครงการจาก พระครูนิโครธรรมาภรณ์ หรือ หลวงตาเอนก ยสทินฺโท ผู้เป็นลูกศิษย์ของพระโพธิญาณเถร หรือ หลวงปู่ชา สุภทฺโท ผู้ก่อตั้งวัดหนองป่าพง พระภิกษุชาวอุบลราชธานี ผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและจิตตภาวนา เป็นแบบอย่างและให้การสั่งสอนแก่สานุศิษย์มากมาย ทั้งชาวไทยและพุทธศาสนิกชนชาติอื่นๆ ทั่วโลก
โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมในปีนี้ มีเป้าหมายที่จะเผยแผ่พุทธธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควบคู่ไปกับการสะท้อนพุทธวิถีอันสงบงามของคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี หรือที่นิยมเรียกกันว่า “พระป่า” ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง ผ่านย่างก้าวของการเรียนรู้ บนเส้นทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา ของเยาวชนทั้ง ๑๒ คน
ก่อนจะเล่าถึงการเรียนรู้ของเหล่าเยาวชน ผู้เขียนขอกล่าวถึงกิจวัตรของพระภิกษุสามเณรและโครงการต่างๆ ของวัด ซึ่งก่อนที่โครงการจะเริ่ม คณะพระพี่เลี้ยงจากกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ นำโดยพระครูปลัดทรัพย์ชู มหาวีโร พระมหาสมควร ถิรสีโล ได้เดินทางมาก่อน ได้ทำกิจวัตรตามวิถีของวัดป่าไทรงาม ๔-๕ วัน
โดยกิจวัตรของพระภิกษุสามเณรวัดป่าไทรงาม เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา ๐๓.๓๐ น. ทุกรูปพร้อมกันลุกขึ้นจากที่จำวัดทำภาระกิจส่วนตัว เสร็จแล้วเดินไปนั่งสมาธิรอทำวัตรเช้าในเวลา ๐๔.๐๐ น. ทำวัตรเสร็จในเวลา ๐๕.๐๐ น. ทุกรูปพร้อมใจกันมาปัดกวาดเช็ดถูโรงฉัน ปูอาสนะจัดกระโถน ปัดกวาดเช็ดถู ปูเสื่อรอบๆ ศาลาโรงฉันสำหรับญาติโยมที่จะมาร่วมทำบุญ เวลา ๐๖.๐๐ น. โดยประมาณ ก็แบ่งสายออกรับบิณฑบาต สายใกล้ สายไกล
กิจวัตรอันหนึ่งที่มีความโดดเด่นของลูกศิษย์สายวัดหนองป่าพง คือการอุปัฏฐากดูแลพระอาจารย์ พระภิกษุผู้มีพรรษากาลน้อยที่สุดในสายบิณฑบาตจะต้องคอยส่งคอยรับบาตร คอยล้างเท้า เช็ดเท้าพระมหาเถระ เป็นการฝึกตนเอง นอบน้อมในทางธรรม หลังจากที่กลับจากบิณฑบาตแล้ว สายไหนกลับมาก่อนก็กวาดใบไม้บริเวณวัดรอเสียงระฆังเรียกรวม โดยเฉลี่ยเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น.
ลูกศิษย์หลายรูปก็จะมาพร้อมกันรอล้างเท้าหลวงตาเอนก ซึ่งเป็นภาพที่อบอุ่นเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม หลังจากนั้นหลวงตาก็จะออกไปให้ธรรมะกับญาติโยม พระสงฆ์ขึ้นอาสน์สงฆ์ หลวงตาให้ธรรมะประมาณ ๓๐ นาที บางวันก็ ๔๕ นาที เสร็จจากนั้นก็รับประเคนอาหาร ให้พรญาติโยม การรับอาหารบิณฑบาตของวัดป่าไทรงาม ถือตามแบบของวัดหนอป่าพง คือจะมีตัวแทนพระสงฆ์ทำหน้าที่แจกภัตตาหาร
การแจกภัตตาหารก็ได้ฝึกการเป็นผู้อยู่ง่าย ฉันง่าย ใจเราอยากจะฉันอย่างหนึ่ง แต่ท่านตักอาหารอีกอย่างหนึ่งให้ ก็ทำให้เราไม่ยึดติด วันหนึ่งท่านตักอาหารที่เราชอบใส่ในบาตรให้ ใจของเรามันพองเลย ปรุงแต่งถึงรสชาติอาหารแล้ว สักพักหนึ่งท่านตักขนมหวานลาดลง ความอร่อยหายไปตั้งแต่ยังไม่ได้ฉัน
ผู้เขียนก็สงสัยว่า ทำไมต้องใช้วิธีการแจกภัตตาหาร พระอาจารย์รูปหนึ่งท่านก็เมตตาเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมพระสงฆ์ที่มาอยู่วัดหนองป่าพงมีมาก เป็น ๒๐๐-๓๐๐ รูป ทำให้อาหารไม่พอฉัน หลวงปู่ชาท่านก็เลยใช้วิธีการแต่งตั้งตัวแทนสงฆ์ทำหน้าที่แจกภัตต์
หลังจากที่ฉันเสร็จบางวันก็ ๑๑.๐๐ น. บางวันก็ ๑๑.๓๐ น. ผู้ที่เป็นผู้น้อยก็รีบฉัน ล้างบาตร ล้างกระโถนของตนเองเสร็จก็มาอุปัฏฐากพระอาจารย์ เมื่อทุกรูปทำกิจวัตรเสร็จก็มาพร้อมเพรียงกันฟังโอวาทจากหลวงตา ท่านมีข่าวสาร กิจกรรมอะไรของวัด ท่านก็จะแจ้งให้ทราบ แล้วก็ร่วมมือกันทำ หลังจากนั้นก็เป็นเวลาส่วนตัว รูปไหนมีภาระหน้าที่อะไรที่ได้รับมอบหมายก็ไปทำ เมื่อถึงเวลา ๑๕.๐๐ น.ก็จะมีสัญญาณระฆังให้ทุกรูปมาร่วมกันปัดกวาดใบไม้บริเวณวัด เวลา ๑๖.๐๐ น. ก็มาร่วมกันฉันน้ำปานะ ก็ทำเหมือนการแจกภัตต์ ทูกรูปจะต้องมีแก้วน้ำประจำตัว ผ้าเช็ดแก้ว หลังจากฉันน้ำปานะเสร็จก็ให้ทำกิจวัตรส่วนตัว
เวลา ๑๘.๐๐ น.ก็จะมีสัญญาณระฆังพร้อมกันไปนั่งสมาธิ เวลา ๑๙.๐๐ น.ก็จะเริ่มทำวัตรเย็น ทำวัตรเสร็จ หลวงตาก็จะให้โอวาท บางวันก็ถึง ๒๐.๓๐ น. บางวันก็ ๒๑.๐๐ น. ตามแต่เรื่องที่หลวงตาท่านเมตตาเล่าให้ฟัง สั้นบ้างยาวบ้าง กิจวัตรก็จะเป็นอย่างนี้
มีหลายเรื่องที่หลวงตาเล่าให้ฟังในมุมการทำงานของพระสงฆ์เกี่ยวกับการสงเคราะห์ชุมชน ท่านไม่ได้ทำหน้าที่ปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์แต่ผู้เดียว แต่ท่านยังสงเคราะห์เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ท่านไม่ได้สงเคราะห์ด้วยธรรมอย่างเดียว บางครั้งท่านก็สงเคราะห์ด้วยอามิส สิ่งของเล็กๆ น้อยเป็นสินน้ำใจ
หลวงตาเล่าให้ฟังว่า มีหลายโครงการที่ทำ ตัวอย่างเช่น โครงการให้กำลังใจเจ้าหน้าทหาร ตำรวจตะเวนชายแดน ตามเขตรอยต่อประเทศไทย-กัมพูชา เราไปเยี่ยมเขา ไปให้กำลังใจ เอาเครื่องดื่มไปให้ หลายคนไปอยู่ตามชายแดน ถือว่าเสียสละมาก ต้องจากลูก จากครอบครัว ก็ทำให้หลวงตาคิด เขาทำหน้ารักษาประเทศไทย เราซื้อประเทศไทยไว้ก็ไม่แพงหรอก บางทีก็เอาเครื่องดื่มไปให้ เอาข้าวสารไปให้ หมดสี่พัน ห้าพันบาท ซื้อประเทศไทยไว้ถือว่าไม่แพง บางคนไปอยู่ก็ลำบาก ไม่มีปัจจัยส่งให้ลูกเรียนบ้าง เราพอมีก็อนุเคราะห์กันไป เราไปช่วยโดยไม่ได้หวังอะไร พอเราไปบ่อยๆ เขาก็ถามว่าหลวงพ่ออยู่ที่ไหน คนเหล่านี้เวลาวัดมีงานอะไรเขาก็มาช่วยเรา อันนี้ก็เป็นอีกโครงการหนึ่ง
โครงการมอบโคกระบือแม่พันธุ์ให้กับเกษตรกรผู้ยากไร้ เริ่มต้นจากมีคนเอาโคกระบือมาถวายแล้ววัดก็ไม่รู้จะเลี้ยงอย่างไร ก็เลยทำเป็นโครงการ หลายปีผ่านไปก็มากขึ้นเรื่อยๆ เรามีกติการ่วมกันว่า พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ให้ไปเกษตรกรจะนำไปขายไม่ได้ เลี้ยงจนหมดอายุไข เรียกได้ว่า เลี้ยงเอาบุญ เขาก็เอาไว้ประดับ หนังก็เอามาทำกองเพล โครงการนี้ก็ทำมาหลายปี ปัจจุบันก็มอบหลายพันตัว เราก็ไม่ได้ไปขอใคร พอถึงเวลาวันใกล้วันคล้ายวันเกิดก็มีคนนำมาถวาย เราก็อนุเคราะห์มอบกันไป
โครงการสร้างลานธรรมในสถาบันการศึกษา เราก็ไปทำให้ ไปปลูกต้นไม้ เอาพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหินไปมอบให้สถานศึกษา ค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์เราออกให้หมด ทำแล้วก็ทำพินัยกรรมกับผู้อำนวยการโรงเรียนไว้ ลานธรรมแม้จะเปลี่ยนผู้บริหารก็ไม่สามารถจะรื้อได้ เด็กนักเรียนนักศึกษาจะได้มีสถานที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีโอกาสก็ไปสอนกรรมฐาน พาเดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นการปลูกฝั่งสิ่งที่ดีงามให้กับลูกหลาน
โครงการออมเพื่ออนาคต หลวงพ่อร่วมกับธนาคารเปิดบัญชีให้กับเด็ก โดยเริ่มต้นหลวงพ่อเปิดบัญชีให้ ๑๐๐ บาท แล้วก็ให้เด็กเขาฝากเอา พูดกับธนาคารไว้ว่า สำหรับการศึกษาของลูกหลาน เวลาจะเบิกจะต้องมีลายมือชื่อหลวงพ่อด้วย หลายคนก็จบชั้นประถมศึกษาเก็บได้หลายหมื่นบาท จบมัธยมศึกษาหลายคนมีเงินเก็บ ๗-๘ หมื่นบาท เราฝึกนิสัยรักการออมให้กับลูกหลาน ถ้าเขาฝากเอง ไม่นานก็มาเบิกไปใช้ แต่พอให้หลวงพ่อเซ็นด้วยก็จะยากหน่อย บางคนก็สำเร็จ บางคนก็ไม่สำเร็จ คือ บางคนก็มีเก็บ บางคนก็ไม่มีเก็บ
โครงการเหล่านี้เราจำเป็นต้องทำ เพราะเราอยู่กับชุมชน อันไหนพอจะช่วยกันได้ก็ช่วยกัน บางอย่างอาจจะไม่ใช่หน้าที่พระโดยตรง แต่ถ้าชาวบ้านเขาดูแลตัวเองได้ เราก็ไม่ต้องช่วย เราช่วยเขา เขาก็ถือว่าได้ช่วยพระพุทธศาสนา เพราะเขามีอยู่มีกิน เขาก็ค้ำชูพระพุทธศาสนา โครงการกองทุนข้าวเปลือกก็มี โครงการทุกโครงการมีคณะกรรมการเป็นคนทำ แต่ทำในนามของวัด พระสงฆ์ไม่ได้เป็นคนทำเอง อย่างเข้าใจเป็นอย่างอื่น
กล่าวถึงเรื่องราวโครงการต่างๆ ของวัดพอให้เห็นภาพว่า หลวงพ่อท่านพาญาติโยมทำอะไรบ้าง ก่อนที่จะเล่าถึงเรื่องราวของเหล่าสามเณรที่มาเรียนรู้วิถีของวัดป่า วัดป่าไทรงามเป็นวัดที่อุดมไปด้วยป่าไม้นานาพันธ์ พื้นที่ของวัด ๒๐๐ กว่าไร่ถูกปกคุมไปด้วยต้นไม้ ธรรมชาติ หลวงพ่อเอนกท่านได้พูดไว้ตอนหนึ่งว่า ชีวิตจะได้รับความสุข ก็ต่อเมื่อเห็นและเข้าถึงธรรมชาติ ธรรมชาติมีพลัง มีความสงบ เราไม่ต้องพูดกันมาก เรามาเห็นเราก็คลายทุกข์ไปแล้ว พูดออกมาเป็นคำเดียวกัน น่าอยู่นะ มีความสุขนะ ปรับเปลี่ยนความวุ่นวายให้เข้าสู่ความสงบ
เรื่องราวของเหล่าสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗ จะเป็นอย่างไร จะกล่าวในตอนนี้ก็คงจะไม่ทันแล้ว เชิญชวนได้อ่านในตอนต่อไป