
สมาธิเบื้องต้นสำหรับลงมือปฏิบัติ (มหาสติปัฏฐาน ๔)
บทที่ ๒๑ ลมหายใจเป็นรูป จิตเป็นนาม และวิธีกำหนดนามรูป
ประพันธ์โดย พระราชกิจจาภรณ์ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร) “ญาณวชิระ”
ปีที่พิมพ์ : มกราคม ๒๕๖๘
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
บทที่ ๒๑ ลมหายใจเป็นรูป จิตเป็นนาม
และ วิธีกำหนดนามรูป

ลมหายใจเป็นรูป ส่วนจิตเป็นนาม
ลมหายใจคนเรานั้นจะเข้าออกได้ต้องอาศัยกาย
จึงหายใจเข้าออกได้ เมื่อร่างกายเป็นรูป
ดังนั้น ลมหายใจเข้าออกซึ่งเกี่ยวเนื่องอยู่กับกายจึงเป็นรูปไปด้วย

กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกและกายว่า “เป็นรูป”
จิตและความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในจิตเป็นนาม ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกโกรธ เกลียด รัก ชัง เศร้า เบื่อหน่าย อึดอัด หงุดหงิด เคืองแค้น ซึ่งเกี่ยวเนื่องอยู่กับจิตจึงเป็นนามไปด้วย

กำหนดรู้จิตและความรู้สึกนึกคิดว่า “เป็นนาม”
ลมหายใจและกาย เป็นรูป
จิตและความรู้สึกนึกคิด เป็นนาม

สภาวะที่ชื่อว่า “รูป” เพราะมีความเสื่อมสลายไป มีความไม่คงที่ แปรปรวนเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา
สภาวะที่ชื่อว่า “นาม” เพราะเป็นธรรมชาติน้อมออกไปรับอารมณ์ หรือแล่นออกไปรับอารมณ์ หรือวิ่งออกไปรับอารมณ์
สภาวะที่ชื่อว่านาม มีความไม่คงที่ แปรปรวนเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ขณะนี้คิดอย่าง อีกขณะจิตหนึ่งคิดอีกอย่าง
สภาวะที่ชื่อว่ารูป มีความเสื่อมสลายไป มีความไม่คงที่ แปรปรวนเสื่อมสลายไปอย่างไร สภาวะที่ชื่อว่านามก็มีความไม่คงที่ แปรปรวนเสื่อมสลายไปอย่างนั้นเหมือนกัน
พิจารณาเห็นนามและรูป เสื่อมสลายไปตามสภาพ รูปมีความแปรปรวนเสื่อมสลายไป ฉันใด แม้นามคือจิตใจก็ปรวนแปรเสื่อมสลายไป ฉันนั้นเหมือนกัน
นามอาศัยรูปจึงเป็นไป แม้รูปก็อาศัยนามจึงเป็นไป ทั้งนามและรูปต่างก็อาศัยกันและกันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

เมื่อมองลึกเข้าไปถึงการเกิดดับของนามและรูป ก็จะเห็นนามและรูปเท่านั้นที่เกิดและดับ เมื่อเฝ้าสังเกตนามและรูปด้วยความเป็นกลางเฉยอยู่อย่างนี้ ก็ไม่เห็นสิ่งอื่นนอกไปจากการเกิดดับของนามและรูปแตกตัวอยู่ภายในไม่สิ้นสุด เหมือนมวลอะตอมมากมายมหาศาล ระเบิดตัวเองอยู่ภายในไม่มีที่สิ้นสุด

การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของนามและรูป ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยกระทำซ้ำๆ อยู่เช่นนี้ จนเกิดความรู้ว่า “ไม่เที่ยง” ก็ละความหมายรู้ว่า “เที่ยง” ได้
การพิจารณาเห็นความเป็นทุกข์ของนามและรูปซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยกระทำซ้ำๆ จนเกิดความรู้ว่านามและรูป “เป็นทุกข์” ก็ละความหมายรู้ว่า “สุข”
การพิจารณาเห็นความไม่มีตัวตนของนามและรูปซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยกระทำซ้ำๆ จนเกิดความรู้ว่า “นามและรูปไม่มีตัวตน” ก็ปล่อยวางความยึดมั่นในตัวตนได้
กระบวนการกระทำซ้ำๆ เช่นนี้ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตนของนามและรูปก็เป็นการภาวนา

สุดทางจงกรม :
สมาธิเบื้องต้นสำหรับลงมือปฏิบัติ (มหาสติปัฏฐาน ๔)
บทที่ ๒๑ ลมหายใจเป็นรูป จิตเป็นนาม และวิธีกำหนดนามรูป
ประพันธ์โดย พระราชกิจจาภรณ์ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร) “ญาณวชิระ”
ปีที่พิมพ์ : มกราคม ๒๕๖๘
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐

คำนำ หนังสือ “สุดทางจงกรม”
สุดทางจงกรมเป็นหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิในเบื้องต้น โดยอาศัยหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ เป็นแนวทาง เป็นภาคต่อจากเล่ม “สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ภาค ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสมาธิ” ที่ได้พิมพ์ไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒
เนื้อหาในหนังสือเป็นการหยิบเอาข้อคิดจากการปฏิบัติมารวบรวมไว้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้เริ่มสนใจในทางปฏิบัติเหมือนการทำแผนที่สภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติสมาธิ แล้วทำเครื่องหมายตรงจุดที่สำคัญเป็นสัญลักษณ์เอาไว้ ผู้เขียนใช้เวลาเรียบเรียงขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๒ รวมระยะเวลาที่ถูกขุมขัง ๔๕๐ วัน ช่วงเวลานั้นเหมือนกำลังลอยคออยู่กลางทะเลลึก ทั้งยังต้องเผชิญกับคลื่นมหาสมุทรของพายุร้ายที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน ท่ามกลางค่ำคืนที่มืดมิดไม่เห็นฝั่ง “ความหวัง คือ แสงสว่างเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ แม้มองไม่เห็นฝั่งก็จะไปให้ถึงฝั่ง” ในระหว่างนั้น ได้ใช้สมาธิภาวนาเป็นเครื่องดำรงอยู่ เพื่อเตรียมจิตให้พร้อมในการเผชิญหน้ากับความทุกข์เข็ญใดๆ บรรดามี ซึ่งกำลังรออยู่ข้างหน้า หลังออกจากการนั่งสมาธิในแต่ละวัน ได้บันทึกสภาวะจิตขณะนั้นๆ เอาไว้ แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือ ชุด สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน จนเสร็จสิ้นบริบูรณ์
เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง จึงทำให้การจดบันทึกและการเรียบเรียงหนังสือเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้วิธีจดบันทึกใส่ใบคำถามเกี่ยวกับปัญหาในทางคดีที่ทนายสอบถามเข้ามาบ้าง จดบันทึกใส่กระดาษสำนวนคดีบ้าง จดบันทึกใส่กระดาษใบนำส่งอาหารที่ญาติโยมส่งเข้ามาถวายบ้าง ตามแต่จะนึกอะไรขึ้นมาได้ และหยิบฉวยสิ่งใดทัน
ภาษาจึงดูกระท่อนกระแท่น กระโดดไปกระโดดมา ตามสภาวการณ์ที่เป็นไปในขณะนั้น
เมื่อนำมาเรียบเรียงเพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือได้ปรับปรุงถ้อยคำและขยายความให้ชัดขึ้น แต่ก็พยายามคงสำนวนดั้งเดิมตามที่จดบันทึกเอาไว้ เพื่อรักษาร่องรอยความจริงแห่งธรรมที่เกิดขึ้นในภาวะขณะนั้น
หลายปีมาแล้ว ขณะเริ่มเข้ามาสนองงานพระอุปัชฌาย์ ผู้เขียนมีหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยงดูแลพระนวกะของสำนักวัดสระเกศ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ ) ต้องนำอ่านบทแห่งพระบาลีซ้อมคำขานนาคให้คล่องปาก ต้องโกนผมให้นาค ต้องนำประทักษิณเวียนรอบพระอุโบสถ ต้องนำวันทาสีมาและนำเข้าสู่มณฑลแห่งการอุปสมบทท่ามกลางหมู่สงฆ์จนสำเร็จเป็นพระภิกษุนวกะ ต้องนำพินทุ นำอธิษฐานจีวรบาตรบริขารเครื่องใช้สำหรับพระภิกษุ ต้องนำออกบิณฑบาตเช้าแรก ฉันภัตตาหารมื้อแรก และนำลงโบสถ์ทำวัตรสวดมนต์ตามกิจสงฆ์ หลังทำวัตรค่ำช่วงสามทุ่ม เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) จะนำพระภิกษุสามเณรในสำนัก ตลอดจนญาติโยมที่มาร่วมทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิเจริญภาวนาเป็นประจำทุกคืน สิ่งหนึ่งที่ได้พบเห็นในการทำหน้าที่พระพี่เลี้ยง ซึ่งต้องอยู่ใกล้ชิดกับพระนวกะตั้งแต่วันอุปสมบทจนถึงวันลาสิกขา คือ พระนวกะจะให้ความสนใจกับการนั่งสมาธิเป็นพิเศษ
ในช่วงเวลานั้นสังคมไทยได้เกิดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติสมาธิซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกันหลายประการ โดยพุ่งเป้าไปที่การสอนสมาธิไม่ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ออกประกาศให้มีการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้มีการจัดทำหลักสูตรสมาธิโดยยึดตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ผู้ที่เป็นเจ้าสำนักปฏิบัติธรรม สามารถถูกเสนอชื่อเข้าสอบความรู้เป็นพระอุปัชฌาย์ได้เป็นกรณีพิเศษ จะได้ดูแล อบรม ตักเตือน สั่งสอนสัทธิวิหาริกในสำนักของตนได้โดยตรง จากเดิมผู้ที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์ต้องมีตำแหน่งทางการปกครองตั้งแต่เจ้าคณะตำบลขึ้นไป
การประกาศจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยยึดตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นด้วย
อาศัยเหตุที่ในเวลานั้น ผู้เขียนเกี่ยวข้องใกล้ชิดอยู่กับพระนวกะของสำนักวัดสระเกศ ต้องคอยตอบคำถามคลี่คลายข้อสงสัยทางพระพุทธศาสนาให้กับพระนวกะอยู่เสมอ ซึ่งก็หนีไม่พ้นหัวข้อเกี่ยวกับการนั่งสมาธิดังกล่าวนี้ด้วย จึงตั้งใจเขียนหนังสือเกี่ยวกับสมาธิ เพื่อเป็นความรู้เบื้องต้นสำหรับพระนวกะที่สนใจในทางปฏิบัติ โดยแบ่งหนังสือออกเป็น ๓ ภาค เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้
๑. สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ภาค ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสมาธิ
๒. สมาธิเบื้องต้นสำหรับการลงมือปฏิบัติ ภาค ปฏิบัติ (สติปัฏฐานสูตร)
๓. สมาธิเบื้องต้นสำหรับตรวจสอบผลของสมาธิ ภาค ตรวจสอบผลของการปฏิบัติ (สามัญผลสูตร)
เนื้อหาของหนังสือได้นำเอาความรู้จากครูบาอาจารย์และสภาวะที่เกิดจากการปฏิบัติมาเรียบเรียงออกเป็นตัวหนังสือ ให้ใกล้เคียงกับสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติให้มากที่สุด เท่าที่ภาษาตัวหนังสือจะสามารถถ่ายทอดออกมาได้ โดยได้นำเอาสติปัฏฐานสูตรซึ่งเป็นพระสูตรว่าด้วยวิธีปฏิบัติสมาธิ และสามัญญผลสูตรซึ่งเป็นพระสูตรว่าด้วยผลของความเป็นสมณะมาวางไว้เป็นหลักด้วย พระนวกะจะได้มีหลักในการตรวจสอบด้วยตัวเองว่า ส่วนไหนเป็นขั้นตอนการลงมือปฏิบัติ ส่วนไหนเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติ และส่วนไหนเป็นคำอธิบายเพื่อให้เกิดความรู้เกี่ยวกับสภาวะ
เมื่อเขียนสมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้านเสร็จลงในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ คุณธนิต วิริยะรังสฤษฏ์ ซึ่งเข้ามาอุปสมบทเป็นพระนวกะอยู่คณะ ๗ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในเวลานั้น ได้นำไปจัดพิมพ์เผยแผ่ หลังจากนั้นผู้เขียนก็มีงานอย่างอื่นแทรกเข้ามา ด้วยเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ไปช่วยดูแลงานในสำนักงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเริ่มจัดตั้งขึ้นในปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๑ จนล่วงเลยมาร่วม ๑๐ ปี จึงมีโอกาสเรียบเรียงหนังสือสมาธิเบื้องต้นสำหรับการลงมือปฏิบัติ และสมาธิเบื้องต้นสำหรับตรวจสอบผลของสมาธิตามที่ตั้งใจเอาไว้ โดยอาศัยช่วงเวลาที่ถูกคุมขังเป็นเวลาปีเศษดังกล่าว นั้น
บัดนี้ หนังสือสมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้านทั้ง ๓ ภาค ได้สำเร็จลงโดยบริบูรณ์สมดังมโนปณิธานแล้ว ขอพระสัทธรรมแห่งพระบรมศาสดา จงแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มวลมนุษย์ เหมือนฝนใน วสันตกาลหลั่งลงสู่พื้นแผ่นดินเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มวลสรรพชีวิตนั้น เทอญ
พระราชกิจจาภรณ์
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
“ญาณวชิระ”
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร, มกราคม ๒๕๖๘
