สามเณรอย่าท้อ ดูพ่อเป็นตัวอย่าง
เขียนโดย พระปลัดปิยศักดิ์ ปิยสกฺโก
วัดแจ้ง สงขลา เลขานุการพระธรรมทูตอาสา จ.สงขลา
พุทธังสะระณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
ธัมมังสะระณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
สังฆังสะระณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
แม้เราต่างผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากในการทำใจของชาวไทยทั้งแผ่นดินไปแล้วก็ตาม หากความอาลัยรัก และภักดี ต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคต ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ จนถึงวันนี้และวันต่อๆ ไป พระองค์ยังคงสถิตอยู่ในใจของพสกนิกรทุกคนนิจนิรันดร์
และในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ปวงชนชาวไทยได้แสดงความจงรักภักดีในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ทุกพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ ก็มีการจัดสถานที่วางดอกไม้จันทน์ และ กิจกรรมที่ถวายเป็นพระราชกุศล เช่น กิจกรรมทำดีตามรอยพ่อ กิจกรรมปลูกต้นไม้ถวายพ่อ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย แต่สำหรับกิจกรรมในทางพระพุทธศาสนา เกือบจะทุกวัดจัดขึ้นทั่วประเทศ นั่นก็คือการจัดบรรพชาอุปสมบทหมู่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ถือได้ว่า ทุกจังหวัดได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านหาที่สุดมิได้
โดยเฉพาะโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ ของคณะสงฆ์วัดแจ้งสงขลา ร่วมกับโรงเรียนแจ้งวิทยาและเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดสงขลา ซึ่งได้จัดขึ้นทุกปีในวันที่ ๑–๑๐ ธันวาคม (วันพ่อแห่งชาติ) ปีนี้เลยจัดโครงการบรรพชาและอุปสมบทหมู่ ๖๐รูปเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ด้วย
การจัดบรรพชาสามเณร ในการนี้เพื่อเปิดโอกาสให้กับ ผู้ปกครองได้นำกุลบุตร ลูกหลาน มาบรรพชาในช่วงปิดเทอมด้วย เพราะการบวชเป็นสามเณร ถือได้ว่าเป็นหน่อเนื้อของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะผู้ที่บวชอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้นั้น ต้องผ่านการบรรพชาเป็นสามเณรมาก่อน จึงจะสวดญัตติจตุตถกรรมได้ สามเณรถือว่าเป็นเหล่ากอของพระพุทธศาสนา
สิ่งสำคัญที่ลูกๆ สามเณรได้น้อมรับพระรัตนตรัย หรือ พระไตรสรณคมน์ ถือว่าเป็นสิ่งสูงสุด ที่เราชาวพุทธทุกคนยอมรับนับถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นที่พึ่งอันสูงสุดตลอดไป
ไม่มีสิ่งอื่นใดที่ข้าพเจ้าจะยอมรับนับถือ นอกจากพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง พระองค์นั้น และในระหว่างการบวชเรียนก็ปฏิบัติตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญาอย่างเข้มข้นเพื่อเป็นฐานรากในการใช้ชีวิตหลังจากนั้น
ซึ่งการบรรพชาสามเณรในครั้งนี้ นอกจากสามเณรได้ถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพ่อหลวงของแผ่นดินแล้ว ยังถวายให้กับพระพุทธเจ้าที่เป็นศาสดาเอกของโลก เป็นพุทธบูชา ซึ่งเป็นพ่อของพุทธบุตรทั้งหลาย และยังอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้กับบุพการี พ่อ ผู้ให้กำเนิดเรามาอีกด้วย ถือว่าการบวชในครั้งนี้คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม บวชครั้งหนึ่ง ได้บุญ ถึง ๓ ทาง
หลังจากบรรพชาสามเณรในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ ในช่วงภาคเช้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาตมา พูดคุยสนทนากับสามเณรรูปหนึ่ง ชื่อว่าสามเณรโอม นักเรียนชั้นป.๕/๓ โรงเรียนแจ้งวิทยา โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาถามว่า รู้สึกยังไงบ้าง ที่ได้บวชถวายเป็นพระราชกุศลให้กับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในครั้งนี้ สามเณรโอมตอบด้วย รอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจ
“ผมรู้สึกดีใจมาก ที่ได้มาบวช ตอนพ่อแม่บอกข่าวนี้ ผมก็มีความตั้งใจที่จะสมัครบวชเข้าโครงการนี้ด้วย เพราะเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้บวชถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ครับ”
นี่คือความรู้สึกของลูกสามเณร ที่ได้บรรพชาในครั้งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ
พระอาจารย์กล่าวต่อ “ดีแล้ว สามเณรโชคดีนะที่ได้บวชบางคนตั้งใจที่จะบวชแต่มีปัญหาอุปสรรคขวางกั้นเลยไม่ได้บวช เรามีบุญที่ได้บวช ฉะนั้นสามเณรจงตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระอาจารย์นะ”
สามเณรโอมตอบ “ครับ ผมจะตั้งใจปฏิบัติครับพระอาจารย์”
ขณะนั้น สามเณรภูมิ อีกรูปหนึ่งพูดสวนขึ้นมาทันทีว่า ผมว่าจะบวชต่อไปโดยไม่สึก แต่พ่อแม่บอกว่าให้เรียนให้จบป.๖ แล้วค่อยมาบวชใหม่
พระอาจารย์ยิ้ม ตอบว่า สุดยอดมากเลยสามเณรภูมิ ที่มีความตั้งใจ ในการที่จะสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา
กิจกรรมแต่ละวันในครั้งนี้ ได้ความอนุเคราะห์จากพระธรรมทูตอาสาจังหวัดสงขลา โดยมีกิจกรรมหลักคือ การทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น เจริญจิตภาวนาเพื่อให้เกิดความสงบในจิตใจ ขจัดความฟุ้งซ่านออกไป
ภาคเช้า เวลา ๙.๐๐น.-๑๑.๐๐น. ฝึกสมาธิ สติปัฏฐาน๔ เบื้องต้น (ยืน เดิน นั่ง นอน) ทุกอิริยาบถต้องมีสติคอยควบคุมอยู่เสมอ ให้ลูกสามเณร ใช้สติอยู่ด้วยความไม่ประมาท ชีวิตจะมีความสุข ฉันภัตตาหารเสร็จพักผ่อน
ภาคบ่าย เวลา ๑๓.๐๐น.-๑๖–๐๐ น. กิจกรรมธรรมะจากสื่อเกี่ยวบรรยายเรื่อง พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่ตลอดเวลาที่พระองค์ท่านได้ขึ้นครองราชย์ครบ ๗๐ ปี พระองค์ท่านทรงเสียสละพระวรกาย แรงใจ เพื่อพสกนิกรชาวไทย บอกให้สามเณรให้รู้ว่า โครงการของพระองค์ท่าน มี ๔,๐๐๐ กว่าโครงการ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยให้สามเณรรวมกลุ่มกันกลุ่มละ ๑๐ รูป แล้วช่วยกันคิดว่าจะเอาโครงการอะไรไปใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง เช่น โครงการฝายชะลอน้ำ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
สามเณรกลุ่มหนึ่งบอกว่า กลุ่มผมเป็นโครงการ เศรษฐกิจพอเพียงครับ
พระอาจารย์ถามว่า แล้วสามเณร เอาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอย่างไรได้บ้าง
สามเณรตอบว่า ผมก็จะประหยัด ซื้อของที่จำเป็น ช่วยประหยัดเงินพ่อแม่ครับ
หลังจากทำกิจกรรมเสร็จ พระอาจารย์ให้สามเณรแต่ละกลุ่มทำความสะอาดในบริเวณลานวัด ห้องน้ำและที่พักของตน ต่างคนต่างแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมายเอาไว้ สักครู่หนึ่ง สามเณรเก่ง เดินมาบอกว่า สามเณรปายร้องไห้
พระอาจารย์เดินตามต้นเสียงที่ได้ยินมาแว่วๆ เห็นสามเณรปายนั้งร้องไห้อยู่คนเดียว พระอาจารย์ถามว่า สามเณรเป็นอะไรถึงร้องไห้
สามเณรปายตอบว่า ผมคิดถึงบ้าน ผมอยากกลับบ้าน พระอาจารย์ก็ปลอบใจว่า เราตั้งใจเข้ามาบวชแล้วต้องตั้งใจ ต้องอดทน เพื่อนสามเณรคนอื่นอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้ บวชเพื่อให้โยมพ่อโยมแม่ได้บุญด้วย ถ้าเราสึกไปก่อนพ่อแม่อดได้บุญเลย สามเณรต้องสู้ๆ นะ สามเณรปายพยักหน้า เช็ดน้ำตา พระอาจารย์บอกให้ไปช่วยเพื่อนทำความสะอาดต่อไป
หกโมงเย็นเสียงระฆังดังขึ้นเป็นสัญญาณให้รู้ว่าถึงเวลาทำวัตรสวดมนต์เย็น สามเณรพร้อมทำวัตรสวดมนต์ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง เสร็จแล้วพักแบรก ดื่มน้ำปานะ เวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ก็ฝึกสมาธิกันต่อจนถึง ๓ ทุ่มกว่าก็เสร็จกิจกรรมพักผ่อน ตื่นอีกครั้งเมื่อมีสัญญาณระฆังปลุก ตี ๔ ครึ่ง พระพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม ปลุกสามเณร ตื่นๆ ได้แล้ว สามเณรบางรูป ตื่นมานั่งมึนงง เพราะไม่เคยตื่นเช้าขนาดนี้
พระอาจารย์บอกว่า เป็นพระเป็นสามเณรต้องตื่นเช้าๆ ญาติโยมที่รอใส่บาตรเราอยู่ ต้องตื่นมาทำกับข้าวแต่เช้าตรู่กว่าอีก พระพี่เลี้ยงให้สามเณรไปล้างหน้าแปรงฟัน เพื่อช่วยกระตุ้นให้หายจากการง่วงนอน เตรียมพร้อมที่จะไปทำวัตรเช้า ในเวลาตี ๕ ของทุกเช้า เป็นกิจวัตรประจำวัน ที่ต้องปฏิบัติตลอดจนจบโครงการ
พระอาจารย์สังเกตเห็นได้ว่าสามเณรบางรูปมีความมุ่งหวัง ตั้งใจ ที่จะบวชในโครงการครั้งนี้ สามเณรบางรู้เกิดความท้อแท้ ล้มเลิกความตั้งใจ เพราะเพียงแค่กิเลสที่อยู่ในใจของเราเข้ามาคอยขัดขวางไม่ให้เราทำความดี ดังที่ตั้งใจ ฉะนั้นเราต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะกิเลสในใจเราให้ได้
ดูแบบอย่างในหลวงพ่อของแผ่นดิน ที่ไม่เคยย่อท้อต่อความลำบาก ทรงมุ่งมั่น ตั้งใจ ช่วยเหลือประชาชนที่มีความทุกข์ตลอดเวลา ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีที่เราสามารถปรับใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไปได้
“สามเณรอย่าท้อ ดูพ่อเป็นตัวอย่าง” เขียนโดย พระปลัดปิยศักดิ์ ปิยสกฺโก วัดแจ้ง สงขลา เลขานุการพระธรรมทูตอาสา จังหวัด สงขลา