Socially Engaged Buddhism พระพุทธศาสนาเพื่อรับใช้สังคม

คำนี้แท้จริงแล้วไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ หากย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล

นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ

พระองค์มิได้ประกาศศาสนา หากแต่พระองค์ทรงประกาศความจริง

ความจริงในกายใจที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อพบก็คือสิ่งเดียวกัน

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา   เราทุกคนต่างประสบกับภาวะทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น

และปรารถนาจะออกจากทุกข์

จากนั้น พระองค์ทรงเดินด้วยพระบาทเปล่า เพื่อเกื้อกูลชาวโลกให้พบความจริงนี้

เพื่อจะได้รู้ว่า เราทุกคนนั้นเหมือนกัน …

ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด สัญชาติใด นับถือศาสนาใด หรือไม่นับถือศาสนาใดๆ ก็ตาม

แต่เรานั้นต่างก็เหมือนกันอยู่ดี

เราเกิดมาจากแม่และพ่อ ที่มีพระคุณเหนือชีวิต

และผสานชีวิตด้วยอาหารที่แม่ปรุงไว้ให้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

เราต่างมาจากจากดิน น้ำ ลม ไฟ เช่นเดียวกัน และจะกลับคืนไปยังที่ๆ เดียวกันอยู่ดี

แต่ระหว่างทางแห่งชีวิตนี้

เราจะดำเนินไปอย่างไร เกื้อกูลกันอย่างไรเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างสันติ

ไปจนกว่าลมหายใจสุดท้ายจะมาเยือน

“ศาสนิกสัมพันธ์”

ถอดบทเรียนอันล้ำค่า “เยี่ยมพระพบปะโยม”

โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.

ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร

สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม

และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

กว่าจะมาเป็น “โครงการเยี่ยมพระพบปะโยม” นั้นมีที่มาอันยาวนาน สืบเนื่องมาตั้งแต่หลังมหาอุทกภัยในปีพ.ศ.๒๕๕๔ ได้เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ตามลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ สร้างความเสียหายให้ประชาชนเป็นอันมาก เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

มีความเมตตาห่วงใยพระภิกษุสามเณรและผู้ประสบอุทกภัย จึงมีบัญชาให้คณะสงฆ์นำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคออกไปช่วยเหลือประชาชนตามที่ต่างๆ และจัดกระบวนการธรรมะเยียวยาใจ โดยประยุกต์กระบวนการพุทธจิตวิทยา การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มและรายบุคคล จัดกิจกรรมนันทนาการ และนำสวดมนต์ เจริญจิตภาวนา ใช้ธรรมะเยียวยาใจ โดยพระวิทยากร ทั้งพระวิทยากรจิตอาสา และพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยลงไปในพื้นที่ จัดเป็นศูนย์พักพิงและช่วยเหลือในทุกจังหวัด

ต่อมาหลังจากน้ำลดแล้ว คณะสงฆ์จิตอาสาก็ได้ช่วยกันอบรมประชาชนและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้แก่ประชาชนในยามที่จะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติและอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจ็บป่วยที่จะต้องช่วยเหลือกัน จนกระทั่งเกิดเป็นโครงการ  “เยี่ยมพระพบปะโยม” ขึ้นเพื่อให้พระธรรมทูตอาสาฯได้เข้าไปเยี่ยมโยมคนแก่หรือคนพิการที่มาวัดไม่ไหวด้วย

นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของที่มาของโครงการฯ ซึ่งกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ  โดยการประสานความร่วมมือของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เจ้าของโครงการฯ ให้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้จัดอบรมพระสงฆ์ในจังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในหลักสูตร พระวิทยากรกระบวนการพัฒนางานกระบวนธรรม โดยเน้นกระบวนการให้คำปรึกษาเชิงพุทธ ทักษะการฟัง ทักษะการสื่อสาร ทักษะการพูดคุย และทักษะการจัดกิจกรรมค่ายคุณธรรม  จริยธรรมฯ โดย พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ป.ธ.๙ ประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามในขณะนั้น

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ป.ธ.๙

เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและนำไปจัดกระบวนการอบรมมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๕๓  และท่านยังเป็นผู้ตั้งชื่อ “โครงการเยี่ยมพระพบปะโยม”นี้ด้วย ซึ่งจะทยอยเล่าที่มาให้ฟังสลับกับการถอดบทเรียนอันล้ำค่าในฉบับต่อไป

สำหรับโครงการเยี่ยมพระพบปะโยมที่ลงพื้นที่ไปเมื่อวันที่ ๑๕-๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นั้นเป็นการลงพื้นที่ให้กำลังใจกับพระสงฆ์และให้ธรรมะกับอุบาสกอุบาสิกาชาวพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยในครั้งนั้นได้เดินทางไปที่วัดเขากลอย จังหวัดสงขลา และได้พบกับ พระครูบวรสรนาท ท่านเคยเข้าร่วมอบรมวิทยากรกระบวนธรรม รุ่น ๔ ซึ่งจัดโดยกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สนง.ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯวัดสระเกศ เล่าให้ฟังถึงการเข้ามารับผิดชอบวัดที่ครั้งหนึ่งเคยถูกทิ้งร้างมาร่วม ๒ ปี และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการบูรณะ  ท่านว่าต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“เพราะคนปัจจุบันนี้คิดกับพระไม่เหมือนเมื่อก่อน ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระไม่ค่อยรู้อะไร? ถ้าพระรูปนั้นมาเป็นเจ้าอาวาสใหม่ๆ เวลาจะทำอะไรโยมจ้องแต่จะคัดค้าน พระบางรูปจึงอยู่ไม่นานก็หนีจากไป  การเปลี่ยนแบบหักดิบ ถ้าพระไม่มีบารมีเพียงพออาจจะอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำในสิ่งที่เราถนัดคือ สอนธรรม มีเมตตา และช่วยเหลือ จึงไปกันได้”

จากนั้นเราเดินทางสู่วัดภูเขาหลง จ.สงขลา เป็นอีกวัดที่กลุ่มเพื่อชีวิตดีงามได้มาอาศัยอบรมประชาชนและเยาวชนในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๓ – พ.ศ.๒๕๕๖

พระเทพญาณโมลี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด เจ้าอาวาสวัดทรายขาวผู้บุกเบิกสร้างวัดแห่งนี้เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมฉลองสิริราชสมบัติ ๖๐ พรรษา โดยสถานที่บนเขาหลงนั้นดูจะเหมาะสมทั้งเรื่องอากาศ ภูมิทัศน์ที่สูง บรรยากาศสงบเงียบ อีกทั้งชื่อ “ภูเขาหลง” นั้นตั้งขึ้นตามลักษณะที่ว่าไม่ว่าใครแม้แต่พรานที่ชำนาญป่าเดินเข้ามาอาจหลงหาทางออกไม่ได้ ไม่ต่างจากมนุษย์ที่หลงไปตามอำนาจความยากจนทำให้ชีวิตมืดบอดหาทางไปไม่เจอ แต่วัดจะช่วยให้เขาเหล่านั้น ไม่หลงทางชีวิตอีกต่อไป

แต่ไม่ง่ายนักที่จะสร้างอาคาร และปรับพื้นที่จนสามารถใช้การได้ หลวงพ่อเล่าให้ฟังอย่างมีปีติถึงการสร้างวัดด้วยสองมือ แม้ตอนนั้นอาจดูไม่ง่ายเลย เพราะต้องเผชิญอากาศ สร้างอาคารก็โดนปลวกกินหมด แต่เพราะความอดทน เสียสละ และที่สำคัญคือความมีเมตตา

“วัด ในสมัยหนึ่งสร้างจากศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกาเพื่อให้พระเป็นกำลังใจ แต่ในอีกยุคหนึ่งสร้างด้วยกำลังของพระเถระที่มีวิสัยทัศน์ มองเห็นอนาคตพระพุทธศาสนา ต้องมีสถานที่ให้เป็นสัปปายะก่อนสิ่งอื่น เพื่อไว้พัฒนาคน…

ฟังเรื่องสร้างวัดแล้วนึกถึงพระพุทธศาสนาที่ยืนยาวมาได้ เพราะได้พระเถระหลายท่านสร้างและรักษาต่อๆ กันมา นึกถึงคำพูดหนึ่งของพระเดชพระคุณพระพิศาลสิกขกิจ เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนการกุศลแจ้งวิทยา จังหวัดสงขลา   

“ถ้าเราคิดว่าโรงเรียนนี้เป็นสมบัติของทุกคน ถ้าเรารักสมบัติของเราก็ต้องสนใจดูแล เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนาเป็นสมบัติของเราทุกคนชาวไทย ถ้าเรารักก็ต้องร่วมกันปกป้องรักษา”. เพราะทุกอย่างล้วนเป็นสมบัติของเราชาวไทยที่จะต้องรักษาและปกป้องในฐานะผู้สืบทอดต่อไป

อีกทั้งเป็นการสานสายใยความผูกพันอันอบอุ่นของคนในชุมชนทุกศาสนาที่จะมีส่วนในการร่วมกันดูแลศาสนสถานของกันและกันประดุจญาติมิตรดังที่เคยเป็นมาในอดีตกาลจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

และนี่คือสันติสุขอย่างแท้จริงที่ใครๆ ก็ต้องการ คือหน้าที่ของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามที่เข้าไปเยี่ยมพระพบปะโยมทุกคนโดยไม่เลือกว่าจะนับถือศาสนาใด เพราะเราคือพี่น้องไทยบนแผ่นดินเดียวกัน  

“ศาสนิกสัมพันธ์” เพราะเราคือพี่น้องไทยบนแผ่นดินเดียวกัน

ถอดบทเรียนอันล้ำค่า “เยี่ยมพระพบปะโยม”

โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.

คอลัมน์ ท่องเที่ยวโลกกะธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์

นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒

“ศาสนิกสัมพันธ์” เพราะเราคือพี่น้องไทยบนแผ่นดินเดียวกัน
ถอดบทเรียนอันล้ำค่า “เยี่ยมพระพบปะโยม”
โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.
คอลัมน์ ท่องเที่ยวโลกกะธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์
นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙ ดร. ผู้เขียน
ผู็อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ
พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here