บันทึก จาริกบ้านจารึกธรรม
ตอน “มิติใหม่ในงานศาสนสงเคราะห์“
เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้ประสานงานโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ /กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม/ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
แม้ว่าไวรัสโควิด -๑๙ จะทำให้คนในโลกปั่นป่วน หากเรามีสติในการมองเหตุของปัญหาให้ออก และมีทางป้องกันรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาโรคระบาดในระยะยาว เชื่อว่า ไวรัส โควิด -๑๙ ยังไม่น่ากลัว เท่ากับความกลัว และวิธีการแก้ปัญหาแบบใช้ความกลัวนำ ผลก็คือ ความตกใจไม่เพียงโรคระบาดจะได้ระบาดได้กว้างไกลยิ่งขึ้น แต่อาจทำให้คนตกงานมากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจแย่ คนหวาดระแวงกันมากขึ้น
ทั้งๆ ที่ ไวรัสโควิดนั้น กลัวการเว้นระยะห่าง ไม่เจาะทะลุผ่านหน้ากากอนามัย ไวรัสโควิดยังกลัวน้ำอุ่นที่เราดื่มลงไป กลัวสมุนไพรฟ้าทะลายโจร กลัวมะนาว และกลัวสมุนไพรต่างๆ อีกมากมาย แล้วยังกลัวแดดอีกด้วย ทำไมเราไม่สามารถเปิดร้านได้ปกติ นั่งตากแดดกันบ้าง ในวันที่อากาศเย็นๆ แทนที่จะอุดอู้อยู่ในบ้านกับความกลัว พร้อมกับงานที่หายไป ซึ่งทำให้คนเล็กๆ ทำมาหากินได้ยากขึ้น และในระยะยาว อาจเกิดโรคที่เป็นผลข้างเคียงจากการไม่มีจะกินตามมา… (admin)
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน…
ณ วัดเล็กๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ข้างโรงพยาบาลศิริราช มีเรื่องราวที่น่าประทับใจและน่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง
ตลอดระยะเวลากว่า ๓ ปีที่ผ่านมา พระครูสมุห์ภักดี ยตินฺธโร ท่านได้ทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตศรัทธา ต้องการช่วยเหลือให้ทุกคนได้พ้นทุกข์ ไม่ได้เลือกว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นใคร นับถือศาสนาใด ท่านทำโครงการที่พักญาติหรือผู้ป่วยยากไร้ ที่วัดอมรินทรารามวรวิหาร หรือ วัดบางหว้าน้อย เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มาเป็นเวลานานแล้ว ท่านสละทรัพย์ส่วนตัว พร้อมทั้งชักชวนญาติโยมที่เป็นกัลยาณมิตรปรับปรุงห้องพัก สร้างห้องพักเพิ่มเติมข้างๆ กุฏิที่พักของท่าน ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช โดยการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสงเคราะห์ ส่งญาติผู้ป่วยที่มาจากต่างจังหวัดที่ไม่มีที่พักหรือผู้ป่วยผู้ยากไร้มาพัก
ผู้เขียนเคยได้ยินเรื่องของท่านจากพระครูสิริวิหารการ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ จนวันหนึ่งได้นำคณะพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพพระธรรมทูตอาสามาทำกิจกรรมที่วัดของท่าน แล้วสนทนากับท่าน
ท่านพาชมโครงการ สถานที่ และห้องพักต่างๆ ซึ่งเป็นห้องที่ท่านต่อเติมขึ้นในบริเวณใกล้ๆ กุฏิ ที่พักของท่าน แต่ละห้องไม่ได้มีเครื่องอำนวยความสะดวกใด มีเพียงแต่เสื่อ หมอน ผ้าห่ม พัดลม ถ้วย จาน ชาม พอแต่ให้คนที่มาพักได้ใช้สอยดำรงชีวิต
ท่านเล่าให้ฟังว่า จากการที่วัดอยู่ติดกับโรงพยาบาลศิริราช แล้วท่านก็ได้รับนิมนต์ให้ไปรับบาตรตามห้องผู้ป่วยต่างๆ แล้วเห็นญาติผู้ป่วยที่มาจากต่างจังหวัดไม่มีที่พัก ต้องนอนหน้าระเบียงตึกบ้าง ตามซอกของตึกบ้าง ถามได้ความว่า ไม่มีเงินที่จะไปเช่าห้องพัก ก็เลยจำต้องหลบนอนตามที่ต่างๆ ของโรงพยาบาล ท่านก็เลยปรึกษากับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจัดทำโครงการที่พักญาติหรือผู้ป่วยยากไร้ โดยสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลจะเป็นผู้รับรองให้ก่อนที่จะมาพักที่วัด
“ตอนแรกๆ ที่ทำโครงการใหม่ๆ พระที่อยู่ในวัดบางรูปก็ไม่เข้าใจ ท่านกลัวว่าจะนำคนที่มีเชื้อโรคร้ายแรงต่างๆ มาอยู่วัด กลัวติดเชื้อบ้าง แต่พอนานเข้าก็เข้าใจ ท่านเหล่านั้นเห็นความตั้งใจของผมเองที่ปรารถนาจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งยังได้สัมผัสพูดคุยกับญาติของคนป่วยที่มาพัก ทำให้เข้าใจ ต่างก็เห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”
พูดถึงความตั้งใจของท่าน ท่านอยากกั้นอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นห้องพักสำหรับญาติผู้ป่วย แต่ด้วยความที่อาคารของโรงเรียนทางวัดก็ต้องใช้ประโยชน์ในส่วนของการสอนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ-สามเณร ทั้งยังใช้เป็นสถานที่อบรมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน
ท่านบอกว่าถ้ากั้นเป็นห้องพักเล็กๆ ก็จะทำให้เกิดความลำบากในการจัดที่พักสำหรับการอบรม เราก็ทำได้เท่าที่เรามีพื้นที่ไปก่อน แค่นี้ก็ถือว่าเป็นบุญแล้ว
ผู้เขียนอ่านความรู้สึกที่ท่านเขียนถึงญาติผู้ป่วยต่างๆ ที่มาพักแล้ว ทำให้มีความรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่งในโครงการนี้ หลายๆ ตัวอย่างที่ท่านเล่าไว้ ผู้เขียนขอนำมาเล่าต่อให้ท่านทั้งหลายได้อ่านพอเป็นเครื่องให้ระลึกถึงความดีที่ท่านเสียสละ
“ขอแชร์ความซาบซึ้งใจ โดยใช้จรรยาบรรณเช่นเดียวกับแพทย์พยาบาล คือ ไม่เปิดเผยข้อมูล ชื่อ หน้าตาของผู้ป่วยหรือญาติ กรณีนี้เป็นอีกกรณีที่ประทับใจ สามีภรรยาคนไทยเชื้อสายปกากะญอ พาลูกมารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช สองคนกลางคืนไปนอนอยู่ในห้องน้ำที่โรงพยาบาลศิริราช ลูกอยู่ห้อง ICU เฝ้าไม่ได้ พ่อแม่เนื้อตัวมอมแมม ลูกศิษย์ที่เป็นแม่บ้านไปพบเข้า พาไปสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลศิริราช เพื่อส่งต่อมาพักที่โครงการที่พักญาติหรือผู้ป่วยยากไร้ที่พระอาจารย์ดูแลอยู่
” พอดีห้องเสริมว่างอยู่เลยให้เข้าพัก มาพักแล้วก็ไม่นิ่งดูดายกวาดใบไม้ ล้างพื้นให้ทุกวัน เนื่องจากต้องอยู่นานเป็นเดือนหรือมากกว่านั้น ลูกศิษย์ที่เป็นแม่บ้านเลยพาไปสมัครงานทำความสะอาดที่โรงพยาบาลศิริราชกับราชาโยคะ รับเงินรายวันๆละ ๓๓๐ บาท จ่ายทุกวัน ข้าวปลาอาหารก็ได้จากที่พระอาจารย์บิณฑบาตให้ลูกศิษย์ที่กุฏิจัดไปให้ทุกห้องเพื่อประหยัดรายจ่ายให้โยม
ขณะนี้ลูกออกจาก ICU พ่อทำงานมีรายได้ สองสามีภรรยาหน้าตาแจ่มใสสะอาดสะอ้านต่างจากวันแรกที่มาลิบลับ รู้สึกปีติใจที่ได้ช่วยเขา กุศลผลบุญเกิดทันทีแก่จิตเรา ขอแผ่กุศลนี้แด่ทุกๆ คนด้วย
ค่ำนี้สองสามีภรรยาชาวปกากะญอ มาลากลับบ้านพรุ่งนี้เช้ามืด มากราบพร้อมกำธนบัตรในมือ ๕๐๐ บาท
“พระอาจารย์ โผ (ผม) ช่วยได้แค่นี้”
พระอาจารย์คืนเงินให้ บอกเก็บไว้เถอะเป็นค่ารถกลับบ้าน ทั้งโยมทั้งเราเหมือนๆ จะมีหยดน้ำในตา แต่พยายามกลั้นไว้ เดินไปดูลูกสาวเขายังกินอาหารเองไม่ได้ ต้องให้นม อาหารทางจมูก
กรณีนี้ประทับใจหลายๆ อย่าง นอนหลบในห้องน้ำโรงพยาบาล เนื้อตัวมอมแมมเมื่อแรกเจอ พูดไทยไม่ชัด ลูกสาว ๔ ขวบ นอน ICU สองสามีภรรยา ขยันช่วยงานปัดกวาดทุกวัน ลูกศิษย์ฝากงานทำความสะอาด เพื่อนร่วมงานรัก ขยันทำงานกวาดถู ๕ ชั้น ทำงานไม่ปริปากบ่น จนเขาไม่อยากให้ออกจากงาน วันนี้ลูกสาวดีขึ้นหมอให้กลับบ้านได้
พระอาจารย์มอบหลวงพ่อโบสถ์น้อยให้ ๓ องค์ พ่อ แม่ ลูก และมอบเหรียญในหลวง รัชกาลที่ ๙ ให้ลูกสาวห้อยคอไว้ บอกเขาว่า หลวงพ่อโบสถ์น้อยศักดิ์สิทธิ์ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านรักประชาชน ท่านศักดิ์สิทธิ์ ชาวปกากะญอ สามีภรรยามองหน้าเรา น้ำตาซึมทั้งสามคน เขาบอกว่าเที่ยวหน้าเอาทุเรียนมาฝาก
“ดูเอาเถอะคนเรา จนยากแต่น้ำใจยิ่งใหญ่ เราได้แต่คิดในในใจ อยากบอกเขาว่า ไม่ต้องหรอกทั้งเงินและของ โยมให้อาตมาตั้งแต่โยมได้มาพักที่นี่แล้ว ให้อาตมาและผู้สนับสนุนโครงการที่พักฯ ได้มีโอกาสได้รับกุศลผลบุญ มันชื่นใจ บุญเห็นทันตา”
อีกกรณีหนึ่งที่ท่านได้เล่าไว้ วันนี้โยมญาติผู้ป่วยนำปัจจัยมาถวาย บอกโยมเก็บไว้เถอะ โยมต้องใช้เงินรักษาแม่เยอะมาก โยมตกงาน รับประทานอาหาร บะหมี่สำเร็จรูปที่เอาไปให้วันละมื้อ โยมจะไม่ยอม จะถวายให้ได้ บอกโยมไม่ได้มีแค่วันนี้พรุ่งนี้ อนาคตโยมมีแล้วค่อยมาทำบุญทีหลัง
“อาตมาขอช่วยโยมก่อน ที่พักนี้ก็ไม่ใช่ของอาตมา ญาติโยมช่วยกันสร้าง ให้เอาไว้ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โยมอยู่ไปเถอะดูแลแม่ที่เจ็บป่วยให้ดี ไม่ต้องกังวลเรื่องที่พัก ขอกุศลจงถึงแก่ผู้ที่ช่วยร่วมสร้างเรือนพักนี้ทุกท่านเทอญ เป็นห่วงแต่ถ้าอาตมาไม่อยู่จะมีใครสานต่อ จะทำไปเรื่อยๆตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ”
วันที่ไปเยี่ยมท่าน ท่านได้นำชมหน้าเรือนพักญาติผู้ป่วย ซึ่งกำลังก่อสร้างนำพระพุทธรูป และปู่หมอชีวกโกมารภัจจ์มาตั้งไว้ให้โยมที่มาพักกราบไหว้ให้มีกำลังใจ ซึ่งยังไม่เสร็จดี
เรามีกำลังเท่าไหร่ก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้หวังจะเสร็จในวันสองวัน ทำหน้าที่สั่งสมบารมีไปเรื่อยๆ เป็นความสุขใจ อิ่มใจทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เมื่อเห็นคนมาพัก ท่านได้เปิดเผยให้คณะของเราได้ฟัง
นี้ก็เป็นเรื่องราวดีๆของความดีงามของพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ได้ทำหน้าที่ศาสนสงเคราะห์ในเมืองใหญ่ให้กับญาติโยมที่มีความลำบากเรื่องที่พัก ตามกำลังของความสามารถที่พระสงฆ์รูปหนึ่งจะทำได้ ก็ขออนุโมทนาในความดีที่ท่านพระครูสมุห์ภักดี ยตินฺธโร ได้ตั้งใจทำในครั้งนี้ ตราบนานเท่านาน
ศาสนสงเคราะห์ เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้ประสานงานโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ /กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม/ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ จากคอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๐
ศาสนสงเคราะห์ เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้ประสานงานโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้