เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระ

ผู้เกิดมาเพื่อกอบกู้ สืบสาน

พระพุทธศาสนาให้มีชีวิตและลมหายใจ

เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์

ด้วยการสร้างพระเณร

มากที่สุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

สำหรับสองบทนี้ ย้อนรอยธรรมกลับคืนสู่ในช่วงแรกแห่งการศึกษาปริยัติและปฏิบัติกับเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

๓๖.ความพากเพียร

๓๗. เรียนกรรมฐานกับสมเด็จพระสังฆราช (อยู่)

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๓๖.ความพากเพียร

              ผลการเรียนพระปริยัติธรรมที่แม้จะพบอุปสรรคมากมาย  เป็นเหตุให้ต้องเสียเวลาล่าช้าออกไปนานปีเช่นนั้น  แต่เมื่อได้เริ่มเรียนแล้ว  เพราะความเอาใจใส่  และความมุ่งมั่นอย่างเป็นเอก  ก็สามารถทำให้สามเณรเกี่ยวสอบผ่านเปรียญธรรม ๕ ประโยคตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณรในเวลาต่อมา

              “บรรดาลูกหลานชาวเกาะสมุยในสมัยนั้นที่เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ  มีจำนวนไม่มากนัก  ส่วนใหญ่จะเรียนวิชาทางโลก  เรียนกฎหมาย  เรียนนายร้อยนายเรือ  ผู้ที่คิดเรียนทางธรรมอย่างสามเณรเกี่ยวไม่ค่อยมี  คนทั่วไปชอบเอาดีทางโลก  หวังในเกียรติยศหรือเป็นเจ้าคนนายคนมากกว่า”

              สามเณรเกี่ยวมอบชีวิตจิตใจให้แก่การเรียนการศึกษาปริยัติธรรมอย่างจริงจัง  กระแสหนุนส่งให้ท่านจากถิ่นฐานบ้านเกิดมามุ่งศึกษาทางธรรม  ยามว่างจากเรียนท่านก็ปฏิบัติช่วยเหลืองานครูบาอาจารย์  แล้วก็เข้าห้องปิดประตูเรียนหนังสือโดยไม่ยอมให้เสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระ

๓๗.

เรียนกรรมฐานกับสมเด็จพระสังฆราช (อยู่)

              เมื่อมาอยู่วัดสระเกศฯ สามเณรเกี่ยวได้มีโอกาสเรียนพระกรรมฐานเพิ่มเติมจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) พระองค์ท่านมีความเชี่ยวชาญพระกรรมฐานด้านกสิณ  จนเป็นที่เล่าขานกันว่า พระองค์ท่านสามารถกำหนดรู้สิ่งต่างๆ ทั้งปัจจุบัน อดีต และอนาคตได้อย่างแม่นยำ  จนนักโหราศาสตร์ยกให้พระองค์ท่านเป็นบูรพาจารย์ทางด้านโหราศาสตร์  แท้ (ที่) จริง  พระองค์ท่านกำหนดรู้วาระจิตโดยจิต  เพราะผลมาจากการฝึกในกสิณนั้นเอง

              “สมเด็จพระสังฆราชนั้น  พระองค์ท่านสมถะ  อยู่อย่างเรียบง่ายไม่ถือยศถือศักดิ์  แต่ก็ทรงมีระเบียบมากจนมองไม่เห็นว่า  จุดไหนที่เรายกขึ้นมาตำหนิพระองค์ท่านได้

              “พระองค์ท่านเป็นพระมหาเถระที่พูดน้อย   มีลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใส  และถือว่าพระที่อยู่กับพระองค์ท่านเหมือนกับลูกหลาน  จึงทำให้มีความรู้สึกว่า  ไม่มีอะไรที่พอจะยกขึ้นมาว่า  อันนี้ไม่ดี  อันนั้นไม่ดี เพราะสิ่งที่ท่านทำ  สะอาดทั้งหมด  เมตตา  กรุณา  ที่พระองค์ท่านแสดงออกมาจากการกระทำ  จากการพูด ทำให้ไม่สามารถเห็นจุดบกพร่องแม้แต่นิดเดียว”

              วัดสระเกศฯ เป็นวัดที่เกี่ยวกับพระกรรมฐานที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  จนได้ชื่อว่า “แดนอสุภกรรมฐาน”  แม้การปกครองภายในวัดก็แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย  คือ  ฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ 

ธรรมเนียมการขึ้นเป็นเจ้าอาวาสครองพระอารามก็แตกต่างจากที่อื่น  แม้พระประธานในพระอุโบสถที่สร้างแบบปางสมาธิก็ไม่ค่อยมี  ส่วนมากนิยมสร้างปางมารวิชัย  แต่พระประธานที่พระอุโบสถวัดสระเกศฯ  เป็นปางสมาธิ  ก็เนื่องจากวัดสระเกศฯ  เป็นวัดกรรมฐานของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  การสร้างพระประธานจึงสร้างให้สอดคล้องกับลักษณะวัด

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ทรงเคร่งครัดในพระกรรมฐานมาก  ทรงเรียนพระกรรมฐานจากพระธรรมกิตติ (เม่น)  ซึ่งต่อมารัชกาลที่ ๕ โปรดให้ย้ายจากวัดสระเกศฯ ไปครองวัดสังเวช  พอถึง ๓ ทุ่ม  สมเด็จพระสังฆราชทรงปิดประตู และสั่งไว้ไม่ให้ใครมารบกวน  ในช่วงนั้นพระองค์ท่านไม่รับแขก ใครไปหาก็ไม่ได้พบเพราะเป็นเวลากรรมฐานของพระองค์ท่าน  แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องเป็นเรื่องตาย เรื่องที่จำเป็นก็อนุญาตให้เรียกได้

พอปิดประตูเสร็จแล้ว  ทรงมีจีวรพาดอยู่ที่ไหล่ผืนหนึ่ง  พาดไว้เฉยๆ  พาดเหมือนผ้าขาวม้า  แล้วเดินจงกรม  เดินทุกคืนไม่เคยขาด  อย่างน้อยก็ ๓๐ นาที  ประตูกุฏิสมัยโบราณเป็นซีกๆ ใครเดินผ่านไปผ่านมามองเข้าไปข้างในก็มองเห็นพระองค์ท่านเลย

“บางทีพระเณรที่ไม่เข้าใจว่าท่านเดินทำไม  พากันพูดด้วยความคึกคะนองว่า  “ดูสมเด็จฯ ท่านเดินไปเดินมา  คล้ายกับเสือติดจั่น”

    ที่บรรทมของท่านนั้นเป็นพื้นไม้ธรรมดา  ไม่มีเตียงสำหรับบรรทม  และไม่มีพรมปูแต่อย่างไร

    พระองค์ก็บรรทมบนพื้นไม้ธรรมดา  ที่หน้าต่างมีถาดสีขาวใบหนึ่ง  แขวนไว้ตลอด  เป็นถาดที่พระองค์ท่านนำไปแขวนไว้เอง  ทรงชี้ให้สามเณรเกี่ยวดูว่า  “นั่นน่ะ  ถาดกรรมฐานเอาไว้เพ่ง  เวลานั่งหรือนอน  ต้องเพ่งไปที่กสิณนั้น”

    พร้อมกับทรงแนะนำวิธีการเพ่งกสิณ

    ทำให้ทราบว่าทรงเคร่งครัดในกรรมฐานมาก  และยังเป็นเหตุได้รู้จักถาดกสิณของพระองค์ท่านด้วย ใครไปใครมาก็เห็นถาดนี้  แต่ไม่มีใครทราบว่าเป็นถาดอะไร  ได้แต่สงสัย  และพระองค์ก็ไม่เคยบอกใคร

    แล้วสามเณรเกี่ยวก็ได้ใช้วิธีเพ่งกสิณเจริญในพระกรรมฐานตามแนวทางพระองค์ท่านสืบมา

    สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) นั้น  ในขณะนั้น แม้พระองค์จะมีพรรษายุกาลมากกว่า ๙๐ ปี แต่สติสัมปชัญญะของพระองค์ยังสมบูรณ์ทุกประการ  มีสุขภาพอนามัยดี  พระองค์จดจำคนที่มาเฝ้าพระองค์ได้แม่น  ส่วนหนึ่งก็คงมาจากการที่พระองค์เจริญพระกรรมฐานอยู่ทุกวัน

และเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์  (เทียบ) เป็นพระอาจารย์คอยสั่งสอนในจริยาวัตร  ชีวิตสามเณรเกี่ยวจึงเหมือนถูกแวดล้อมด้วยปราชญ์ทางศาสนา  ผู้เชี่ยวชาญทั้งปริยัติและปฏิบัติอย่างเป็นเอก  คอยเป็นกัลยาณมิตรให้แสงสว่างเดินตามเส้นทางธรรม

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) พระอาจารย์ผู้สอนปริยัติและปฏิบัติแก่สามเณรเกี่ยว ทรงเป็นต้นแบบแห่งวัตรปฏิบัติและปฏิปทา  อันนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าตามเส้นทางธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ 

นอกจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชทรงมีความทรงจำเป็นเลิศ  มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่างๆ แล้ว  พระองค์ยังทรงแตกฉานในพระไตรปิฎกอย่างมากด้วย  ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงอ่านพระไตรปิฎกทุกวัน  วันละหนึ่งหน้าเป็นอย่างน้อย  พอตกดึกเสร็จกิจวัตรทุกอย่างทั้งไหว้พระ สวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนาแล้ว  ก่อนจำวัด พระองค์ก็อ่านพระไตรปิฎกก่อนจึงจำวัดเสมอ

เพราะความที่สามเณรเกี่ยวมีอุปนิสัยพูดน้อย  มีท่าทีแห่งความสงบนิ่ง  พูดจาเท่าที่จำเป็น  เมื่อว่างเว้นจากการปฏิบัติอุปัฏฐากครูบาอาจารย์  ก็มักจะเข้าห้องปิดประตูทบทวนตำรับตำราทุกครั้ง  จึงไม่ค่อยได้ไปพูดคุยเล่นหัวกับเพื่อนสามเณรที่อยู่ในวัยเดียวกัน

เวลาส่วนใหญ่ของสามเณรเกี่ยวจึงอยู่กับการศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ทางศาสนาและความรู้อย่างอื่นที่กว้างออกไป

    เพราะอุปนิสัยใฝ่รู้แตกต่างจากสามเณรในวัยเดียวกัน  จึงทำให้สมเด็จพระสังฆราช  ให้การแนะนำว่า  ควรอ่านพระไตรปิฎก สามเณรเกี่ยวจึงเริ่มอ่านพระไตรปิฎกมาตั้งแต่เป็นสามเณรอายุยังน้อย

สามเณรเกี่ยวดำเนินชีวิตอยู่อย่างพระนักศึกษา  พระมุ่งมั่นในการเรียน  สู้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเกาะกลางอ่าวไทย  อีกทั้งหลวงพ่อพริ้งผู้เปรียบเสมือนบิดา  ตั้งความหวังให้ศิษย์เจริญก้าวหน้าในด้านพระปริยัติธรรมที่สูงส่ง  สามเณรก็มีกำลังใจในการเรียนเพื่อสนองคุณพระอาจารย์  สนองคุณพระพุทธศาสนา

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ๓๖.ความพากเพียร ๓๗. เรียนกรรมฐานกับสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here