วันนี้วันพระ วันพฤหัสบดีที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑
“ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.
ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์
ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”
วิถีแห่งผู้นำ
: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
๙๘ – ๑๐๐ วิธีการทำงานของพระธรรมทูตอาสา (๑-๓)
เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
สำหรับสามบทนี้ ผู้เขียนเล่าถึงหัวใจการทำงานของพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ ว่าต้องใช้วิริยะ ความเพียรมากมายเพียงใด ไม่เพียงปฏิบัติจิตภาวนาเพื่อพ้นทุกข์เฉพาะตน หากแต่ต้องฝึกตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นบนหนทางแห่งอนิจจังทุกลมหายใจเข้าออก และพระธรรมบทใดที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ที่พระธรรมทูตได้นำมาเป็นยุทธศาสตร์ในการฝึกตนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาในภาวะวิกฤติ
๙๘. วิธีการทำงานของพระธรรมทูตอาสา (๑)
การเผยแผ่สำหรับชาวพุทธในพื้นที่ตรงนี้ คือ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พระธรรมทูตอาสาใช้วิธีการที่มีอยู่ตามรอยพระพุทธเจ้า คือ อยู่ที่นั่น และทำหน้าที่ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ไม่หวั่นแม้ว่าจะต้องเผชิญกับอันตรายที่คาดไม่ถึง มรณานุสติ จึงเป็นสิ่งที่ครองใจทุกลมหายใจเข้า-ออก ของสมณะผู้เป็นพุทธบุตรของพระพุทธเจ้าทุกรูป แล้วมาร่วมกันเพื่อที่จะทำงาน ถึงขั้นปกป้องหรือพิทักษ์พระพุทธศาสนาเพื่อที่จะอยู่ต่อไปให้ได้ในพื้นที่ตรงนี้ แม้ตัวจะต้องตาย แต่พระพุทธศาสนาจักต้องดำรงอยู่ต่อไป มิใช่เพื่ออะไร แต่เพื่อยังพระสัทธรรมให้ดำรงอยู่เพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด รากแห่งพระพุทธศาสนา คือรากแห่งความจริงแท้ จักยังคงส่องประกายให้มนุษย์โลกเห็นตามความเป็นจริง ว่า ไม่มีใครควรค่าต่อการเกลียดชัง และการทำลาย เราต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ในสังสารวัฏอันไม่มีที่เริ่มต้นและจุดจบกันทั้งสิ้น ความเมตตา กรุณา การแบ่งปันกัน การเกื้อกูลกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ ย่อมยังให้ความสันติสุขดำรงอยู่สืบไป
แม้การเผยแผ่ในพื้นที่ตรงนั้น ไม่ใช่เผยแผ่ปกติอย่างที่ทำกันในพื้นที่อื่นๆ เพราะต้องระวังภัย แต่การระวังภัยก็คือ ความไม่ประมาท ่ดังที่พระพุทธเจ้าให้คติเป็นพระวาจาสุดท้ายไว้ก่อนที่พระองค์จะปรินิพพาน ความไม่ประมาท คือ การระลึกถึงมรณานุสติทุกลมหายใจเข้าออก นั่นคือ การมีสติทุกขณะ
และเมื่อพระธรรมทูตอาสาอยู่ในพื้นที่ ก็จะทำให้มีความตื่นรู้ทุกขณะว่าเราอาจจะตายได้ทุกลมหายใจเข้า-ออกเป็นธรรมดา ทำให้การปฏิบัติส่วนตนเกิดมรรคเกิดผลขึ้นจริงๆ และสามารถที่จะทำให้ชาวพุทธที่บอกตัวเองเป็นชาวพุทธจริงๆ สามารถที่จะยืนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีความรู้สึกว่ามันทำได้จริง
วิธีการในการเผยแผ่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมหรือเป็นกลุ่ม ที่สำคัญคือต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม การเผยแผ่เชิงรับและเชิงรุกที่ต้องลุกไปหา เพื่อเจาะพื้นที่สถานศึกษาโดยการเข้าไปเยี่ยม หรือสอนหนังสือ พระต้องออกจากวัดไปหาชาวบ้าน ไม่เพียงแต่ชาวพุทธเท่านั้น หากจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนในสังคมพหุวัฒนธรรมด้วย นี้คือหัวใจในการทำงานของพระธรรมทูตอาสาที่เห็นว่าเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้า ไม่ว่าเขาจะเป็นใครหากเดือดร้อนมาต้องช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างเต็มกำลังเสมอกัน
เพราะพระสงฆ์ก็เกิดและเติบโตในพื้นที่ซึ่งเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาแต่บรรพชนโบราณนานมาเช่นกัน ซึ่งสมัยก่อน เราอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา แต่เหตุใด ในช่วงเวลาสิบกว่าปีกว่ามานี้ จึงเกิดความรุนแรงขึ้น พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้คือผู้ซับน้ำตาชาวบ้านทุกหมู่เหล่าให้หวนคืนกลับมาหาความสันติสุขในใจ ปราศจากความหวาดระแวงกันและกันดังเช่นในอดีตที่ผ่านมาโดยแท้…
พระธรรมทูตจึงไม่ใช่พระที่สร้างวัดแล้วอยู่ในวัดอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่บริบทในพื้นที่ทั่วภูมิภาคด้วย พื้นที่ไหนที่จะเสี่ยง ต้องต้อนรับอยู่ที่วัดญาติโยมก็ทำเช่นนั้น ไม่ว่าเด็กหรือเยาวชนเข้าวัด ก็มีการอบรม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามหลักของพระพุทธศาสนา ที่สำคัญคือ พระธรรมทูตจะต้องไปในพื้นที่ทุกแห่งตามที่เขาจะขอร้องมาด้วย นอกเหนือจากลงพื้นที่เองแล้ว อย่างเช่น ทางโรงเรียนต่างๆ ร้องขอมาทางพระธรรมทูตทั่วไปเยอะมาก ก็ต้องดำเนินการตามที่ขอ เพราะแต่ละโรงเรียนที่พระธรรมทูตไปอบรมครูและนักเรียน โดยการจัดกิจกรรมค่าย พอไปแล้วทางโรงเรียนก็บอกต่อ ว่าดีต่อครู และนักเรียนเขาอย่างไร นักเรียนมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไร เข้าใจตนเอง เข้าใจพ่อแม่ เข้าใจว่าการศึกษามีความสำคัญกับชีวิตเขาอย่างไร ก็ตั้งใจเรียน ตั้งใจช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ตั้งใจฝึกสติ สมาธิ จนปัญญาเกิด สมองโล่ง เกิดความคิดสร้างสรรค์มากมายในการเรียน ทำให้การเรียนดีขึ้น ทำให้การเรียนการสอนในโรงเรียนสนุกสนานและได้สาระ ตอนนี้ก็สำเร็จอยู่มาก แต่ต้องมีสื่อเป็นตัวกลางที่ช่วยนำเสนอการทำงานของพระธรรมทูตเป็นหลักด้วย
ให้กำลังใจกับพระสงฆ์และให้ธรรมะกับอุบาสกอุบาสิกาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ณ ชุมชนวัดป่าศรี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
ซึ่งเดี๋ยวนี้ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) กลายเป็นสื่อกระแสหลักไปแล้ว พระสงฆ์ไม่น้อยก็อาศัยการออนไลน์เป็นช่องทางเผยแผ่พระพุทธศาสนา เล่าเรื่องการทำงานในพื้นที่อยู่สม่ำเสมอ และถ่ายทอดวัตรปฏิบัติในวัดตั้งแต่ทำวัตรเช้า ใส่บาตรทำบุญ แสดงธรรม ไปจนถึงเวลาทำวัตรเย็น พระสงฆ์บางรูป บางวัดยังจัดธรรมะก่อนนอนอีก เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการใช้ชีวิตให้สมดุลโลกสมดุลธรรมเพื่อเตรียมต้อนรับวันใหม่ด้วยใจที่พร้อมจะเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าด้วยสติปัญญาอย่างแจ่มใส และยังชักชวนผู้คนให้มาสวดมนต์ออนไลน์เพื่อเพิ่มกำลังสติ สมาธิ และปัญญากันได้ดีมาก
ยิ่งในยุคที่โควิด –๑๙ ระบาดไปทั่วโลก ตั้งแต่ต้นปีพ.ศ.๒๕๖๓ เป็นต้นมา การเผยแผ่ธรรมเพื่อช่วยให้ผู้คนดับทุกข์ในใจ ยิ่งต้องทันสมัยและทันกับทุกข์ที่ท่วมทับผู้คน พระธรรมทูตอาสาจึงปรับตัวในการสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการที่พระสงฆ์ช่วยกันทำอาหาร “รสพระทำ” เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่สามารถไปทำงานได้ในช่วงกักตัว จัดปฏิบัติธรรมที่บ้านฟังเทศน์ออนไลน์ อีกทั้งพระธรรมทูตอาสาหลายๆ วัด ก็ช่วยกันสอนและสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านได้ยังชีพในช่วงเวลาวิกฤตินี้ผ่านสื่อโซเชียล ตลอดจนช่วยเหลือในเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับชาวบ้านตามที่ชาวบ้านต้องการ
จะเห็นได้ว่า งานของพระธรรมทูตอาสานั้นมากมายและหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ตามคลื่นแห่งความทุกข์ที่มากับการเติบโตของโรคระบาดอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตบนพื้นฐานที่ต้องมีเศรษฐกิจที่ดีรองรับ แต่เมื่อเกิดปัญหาอย่างหนึ่ง ก็เป็นเหมือนโดมิโนที่ล้มเป็นทอดๆ การศึกษาต้องหยุดชะงัก เข้ามาสู่ระบบการเรียนผ่านออนไลน์แทน
เมื่อโลกเปลี่ยนไป การใช้ชีวิตในสังคมโลกใหม่ ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว พระธรรมทูตนอกจากต้องฝึกตนบนหนทางแห่งการพ้นทุกข์เฉพาะตนตามรอยบาทพระบรมศาสดาแล้ว ยังต้องทำงานอย่างหนักและทุ่มเทให้ทันการต่อการช่วยเหลือคนทุกข์ให้พ้นทุกข์ให้ทันท่วงที ตามรอยพระพุทธเจ้าชนิดก้าวต่อก้าวเลยทีเดียว
ย้อนกลับไปก่อนที่โควิดระบาดอย่างหนัก พระธรรมทูตก็ลงพื้นที่มาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็สร้างจิตอาสาไปด้วย จากการพูดคุยสนทนากับญาติโยมมาที่วัด ก็ถามถึงการเป็นอยู่การเรียน การงานของลูกเขา และแทรกธรรมะให้เขาไปอีกทาง เด็กๆ และเยาวชนที่มากับพ่อแม่ และที่เคยมาอบรมเข้าค่ายปฏิบัติธรรมด้วย หลายคนก็สนใจมาช่วยพระอีกแรงหนึ่ง โดยมาเป็นทีมกับพระธรรมทูต เวลาลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง เยี่ยมคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านไม่มีใครดูแล ก็จะเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนมากขึ้น เกิดการเกื้อกูลกันอย่างเป็นธรรมชาติ
ทุกครั้งหลังการอบรมค่ายธรรมะจบลง พระธรรมทูตก็จะไปในโรงเรียนทั้งแบบทางการและไม่ทางการ เพื่อไปติดตามและพูดคุยกับเด็กนักเรียนหลังจากอบรมไปแล้วว่ายังรักษาหัวข้อธรรมอะไรได้บ้าง จำอะไรได้บ้าง และจัดโครงการต่างๆ ขึ้น ให้ชาวบ้านมาสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติถวายพระพรในหลวง มีการปฏิบัติธรรมพูดคุยเสวนาธรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เป็นต้น
เป็นการเชื่อมผู้คนในชุมชนให้รู้จักกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเหมือนสมัยปู่ย่าตายาย เกิดจิตอาสาอย่างเป็นธรรมชาติ จนมีอาสาสมัครถึง ๑๕๐ คน เข้ามาอยู่แบ่งเป็นเขต และก็จัดจิตอาสาเริ่มจากออกช่วยเหลือคนเจ็บคนป่วยมาตลอด ทุกเรื่องที่ชาวบ้านปรึกษา พระธรรมทูตอาสาก็ต้องหาคำตอบให้ได้ เพราะว่าพระธรรมทูตอาสาเป็นที่พึ่งของเขายามทุกข์ยากยามลำบาก ต่อไปพระธรรมทูตอาสามีมากขึ้น ก็มีทีมหนึ่งไปเยี่ยมคนป่วยที่โรงพยาบาล อีกทีมก็ไปเยี่ยมคนป่วยติดเตียงที่บ้าน เป็นอย่างนี้
พระธรรมทูตอาสาทำให้เป็นแบบอย่างโดยการพัฒนาวัดตัวเองก่อน พัฒนาตามที่โยมต้องการ แบบไหน อย่างไร ตามวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ช่วยกันเป็นที่ปรึกษาให้กับญาติโยม เมื่อพระธรรมทูตอาสาเป็นเสมือนลูกหลานชาวบ้าน เขาก็เชื่อและไว้วางใจ จากนั้นก็พัฒนาบริเวณรอบวัดให้เขามีส่วนร่วม จัดกิจกรรมทำบุญ ใส่บาตร ฟังธรรม จัดตลาดเกษตรกรรมธรรมชาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลให้ชาวบ้านมีหลักในการดำรงชีวิตและการทำงาน เมื่อชาวบ้านรอบๆ วัดศรัทธา เขาก็จะพูดไปเองว่าน่าไว้วางใจ เชื่อถือได้ ทำแล้วไม่มีส่วนที่เป็นครหาทางการเงิน ทางการบริหาร เขาก็จะเชื่อถือพระธรรมทูตอาสา แม้คนใต้จะเชื่อใจคนยาก แต่ถ้าพระธรรมทูตเป็นส่วนหนึ่งของเขา เป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนบรรพชนที่อยู่อาศัยกันหลายๆ ศาสนาเชื้อชาติ ก็อยู่ร่วมกันได้เช่นเดิม ไม่หวาดระแวงกัน เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่รักใคร่กัน ช่วยเหลือกันเหมือนเดิม นี่คืองานของพระธรรมทูต คือ คืนความสุขสงบให้สังคมพหุวัฒนธรรม
การทำงานเป็นกลุ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญ การทำงานเป็นทีมคือ การดึงทุกส่วนที่อยู่รอบตัวเข้ามาช่วยในการเผยแผ่ให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น ผู้นำชุมชน หน่วยราชการต่างๆ โรงเรียน ดึงคนที่มีความรู้สึกร่วมกันมาทำงานร่วมกัน และสร้างเครือข่ายอย่างเป็นธรรมชาติ โดยการดึงคนแม้ที่ไม่เห็นด้วยให้กลับมาเห็นด้วย แต่ทั้งหมดก็เกิดจากใจ ความรู้สึก ความปรารถนาดีต่อสิ่งที่พระธรรมทูตเพียรทำอย่างบริสุทธิ์ใจ ที่ออกมาทางด้านพฤติกรรมที่จริงใจจากงานเผยแผ่ที่ทำ การปฏิบัติต่อคนที่เราเกี่ยวข้องโดยการพูด การแสดงออก การคิด และวิธีการเผยแผ่นั้นก็จะทำให้ความสงบและสันติในใจของผู้คนเกิดขึ้นได้ จากนั้น ท้องถิ่นชุมชนก็สามารถเกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้ในที่สุด
ให้กำลังใจกับพระสงฆ์และให้ธรรมะกับอุบาสกอุบาสิกาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ณ ชุมชนวัดป่าศรี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
๙๙. วิธีการทำงานของพระธรรมทูตอาสา (๒)
ความเสียสละและความตั้งใจที่จะต้องจัดสรรเวลาในการทำงานในฐานะเป็นเจ้าคณะผู้ปกครองต้องทำคือ การเข้าถึงพื้นที่ การเข้าถึงประชาชน หมายถึงการอยู่ที่วัด การเทศน์หรือจะบรรยายอยู่ที่วัด อาจไม่เพียงพอแล้ว เพราะปัจจุบันคนเข้าวัดน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มของเยาวชนนี้ถ้าไม่มีงานหรือกิจกรรม เขาก็จะไม่เข้ามาที่วัด สิ่งที่จะต้องทำให้ประสบความสำเร็จได้คือ การเข้าไปสู่ชุมชน โรงเรียน หมู่บ้าน และทำกิจกรรมของชุมชนร่วมกัน ที่สังคมปัจจุบันเขามองเห็นว่าพระไม่ได้อยู่แค่ในวัด แต่เป็นพระที่อยู่กับชาวบ้าน หมายถึงเข้าหาชาวบ้าน คือ แทนที่จะให้ชาวบ้านมาหาเรา เราก็ไปหาชาวบ้านเอง ในส่วนการไปหากลุ่มเป้าหมายที่เราคิดว่าจะไปจัดอบรมธรรมะ หรือจัดกิจกรรมค่ายธรรมะ เขาก็จะขอดูบริบทอะไรต่างๆ ความพร้อมหลายๆ ส่วนโดยเฉพาะสิ่งที่เราจะไปพูด ไปทำ ไปนำเสนอ มันเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย มันเป็นประโยชน์ในคนแต่ละกลุ่มไหม ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน หรือคนทำงาน และผู้สูงอายุก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ความเสียสละนั่นแหละเป็นสิ่งที่จะต้องมีกับสังคม ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่ต้องเสียสละเวลาที่เราจะนั่งพักในวัด หรือเสียสละกิจนิมนต์ส่วนตัว
หน้าที่พระธรรมทูตอาสาสิ่งหนึ่งที่จะต้องสละไปก็คือกิจนิมนต์ส่วนตัว หรือที่เราทำกันปกติ พอได้มาทำหน้าที่เผยแผ่ทำให้มีความรู้สึกว่าเราต้องตัดกิจส่วนตัวออกไป แล้วมอบหมายให้คนอื่นไปแทน ทั้งนี้ทั้งนั้นมันอยู่ที่ความเสียสละ พระธรรมทูตอาสาในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานอยู่ขณะนี้ ที่สัมผัสได้ก็คือมีใจที่จะทำและเสียสละเป็นที่ตั้ง
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้แนวทางพระธรรมทูตว่า ต้องใช้ลีลา สติปัญญา วิธีการที่จะสอน เมื่อเขาเข้ามาเรา จะสอนอะไรเขา ต้องเข้าใจบริบทของชาวบ้าน ธรรมะอะไรที่เยียวยาใจเขาได้ บางครั้งเขาไม่เห็นว่าพระพุทธศาสนาจะช่วยแก้ทุกข์เขาได้อย่างไร บางคนก็มองว่าพระพุทธศาสนาเป็นของไม่มีความหมาย พระธรรมทูตก็ต้องมีกุศโลบายในการสอน อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า เราก็ต้องรู้ว่าวิธีการทำใจอย่างไรเมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นมา เราจะบอกเขาอย่างไรเมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นมา แล้วทำอย่างไรที่จะทำให้ใจเขาเย็นลง ยอมรับตามความเป็นจริง ถ้าลูกเขาตายขึ้นมาใครจะบอกเขาอย่างไร การเกิดการตายเป็นสิ่งปกติ ถ้าเขายอมรับได้ทุกสิ่งมันก็จบ ไม่มีทุกข์ แล้วเขาก็จะเชื่อในพระพุทธศาสนาว่าดับทุกข์ทางใจให้เขาได้จริง
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่อยู่บนหลักความเป็นจริง เป็นธรรมชาติ พระธรรมทูตต้องมีหลักที่จะสอนเขา ถ้าเขาเห็นหลักตามความเป็นจริงแล้ว เขาก็จะเชื่อเราอย่างจริงใจ ต่อไปเขาก็จะไม่ทิ้งวัดไม่ทิ้งธรรมะ ไม่ทิ้งพระศาสนา คือการเผยแผ่ที่ทำด้วยใจ ด้วยการเอาใจเขาใส่ใจเรา ก็จะได้ใจเขากลับมา
โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
๑๐๐.วิธีการทำงานของพระธรรมทูตอาสา (๓)
การศึกษาปัญหาให้ลงไปดูพื้นที่จริง สิ่งที่จะไปแนะนำเขาในพื้นที่ของแต่ละหมู่บ้าน พระธรรมทูตก็จะจัดกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มข้าราชการ เพราะคนแต่ละประเภทเขามีการรับรู้ที่ไม่เหมือนกัน เราจะต้องตรวจสอบรูปแบบก่อน
โดยใช้ยุทธศาสตร์พาหุง ( มาจากบทสวดพาหุง หรือ บทพุทธชัยมงคลคาถา ซึ่งเป็นพระพุทธมนต์ที่มีเนื้อหาสรรเสริญชัยชนะมาร ๘ ประการของพระพุทธเจ้า หากมองการทำงานทางโลก การทำงานก็ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา เหมือนพระพุทธเจ้าผจญมาร หรืออุปสรรคทั้ง ๘ ประการ แต่พระองค์ก็ชนะมารได้ด้วยความจริง และความดี )
เพราะบางคนพูดไม่เยอะเขาก็เข้าใจ และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ลุล่วงด้วยดี แต่บางคนต้องใช้กฎระเบียบเยอะ จึงเข้าใจ และอาจต้องใช้การอธิบายมาก จึงสามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งทุกปัญหาและอุปสรรคมีไว้เรียนรู้แก้ไข และพัฒนาตนเอง จนในที่สุด เราก็จะชนะอุปสรรคทั้งปวง
การ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” คือ เข้าใจในกระบวนการในการเผยแผ่ เข้าใจในชุมชน รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง รู้เขารู้เรา ขณะนี้เรา หมายถึงพระธรรมทูตทำงานแบบไม่รู้เขา แต่เขารู้เราหมด รู้ความเป็นไป รู้ความเคลื่อนไหวจะด้วยวิธีหรือกลยุทธ์อะไรก็แล้วแต่
ดังนั้น มีความคิดเห็นส่วนตัวในการเผยแผ่ที่จะประสบผลสำเร็จ ถ้าใน ๓ จังหวัดชายแดนเป็นไปได้ยากมากในลักษณะของการเผยแผ่
ประการแรก มาจากความแตกต่างทางด้านชุมชน วัฒนธรรม และสังคม เพราะเรามีศาสนสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นก็แค่ภาพ เราไม่เอาความจริงมาพูดกัน เราเอาแต่โลกสวยหรูต้องสันติ มันมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากในเรื่องสังคมเรื่องวัฒนธรรม แต่ถ้าเป็นส่วนตัวในเรื่องของการสำเร็จจะต้องอิงหลักในการพัฒนาของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่ทราบกันดี เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกวันนี้ก็ใช้วิธีหลายอย่าง ใช้สื่อเป็นเครื่องมือ สื่อหลักมี ๒ ส่วน คือสื่อกระแสหลัก โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อกระแสรองก็คือ สื่อโซเชียล ทั้ง ๒ ส่วนนี้ก็นำมาเครื่องมือในการเผยแผ่ศาสนาเป็นหลัก และอีกอย่างคือการพบปะผู้คน พูดคุยสนทนา และให้ความคิดตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิด เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการเผยแผ่ได้เช่นกัน
วิธีการในการเผยแผ่ของพระธรรมทูตอาสาสำหรับ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย การพบปะพูดคุย เสวนาธรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อสร้างความไว้วางใจแล้วค่อยแทรกธรรมะ จัดอบรม ดึงมวลชน ดึงจิตอาสาออกมาจนมีอาสา ทำให้เป็นแบบอย่างโดยการพัฒนาวัดตัวเองก่อน ต้องใช้ลีลา สติปัญญา วิธีการที่จะสอน จากการศึกษาปัญหาดูพื้นที่จริง เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา เข้าใจในกระบวนการในการเผยแผ่ เข้าใจในชุมชน การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือ
ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านภาวะผู้นำของพระธรรมทูตอาสา ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ พระธรรมทูตอาสา สามารถสร้างขวัญกำลังใจชาวพุทธในพื้นที่ภาคใต้ เข้าใจในหน้าที่ เพื่อนร่วมงานมีความรับผิดชอบในการทำงานเชิงรุกและเชิงรับ สามารถประสานกับกับข้าราชการ เจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ และส่วนบ้านเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้
และหลักการบริหารของพระธรรมทูตในพื้นที่ ๕ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีบริบทพิเศษต่างจากพื้นที่อื่น จึงต้องทำความเข้าใจ โดยการศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ คำนึงถึงการทำงานกับคณะทำงาน ประเมินตนเอง เชื่อมโยงไปยังสถานการณ์ว่าสามารถเข้าไปเพื่อลดความขัดแย้งหรือลดความขัดแย้งและลดช่องว่างระหว่าง วัด ชุมชน และหน่วยงานราชการได้อย่างรู้กาล
โดยเฉพาะเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก มีการเชื่อมโยงผู้นำชุมชนให้เข้ามาร่วมกัน ยกย่องและให้เกียรติในการทำกิจกรรม วางแผน จัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการทำงาน มอบหมายการทำหน้าที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ เป็นผู้ให้ เสียสละ ไปเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจให้ขวัญ ให้สิ่งของต่างๆ
ทรัพยากรที่ใช้ในการบริหารเพื่อผลสัมฤทธิ์ของงานเผยแผ่ ได้แก่ งบประมาณ อุปกรณ์ในการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ สื่อออนไลน์ต่างๆ เครื่องบันทึก เครื่องมือสื่อสาร กล้องถ่ายรูป ยานพาหนะในการเดินทาง สื่อการเรียนการสอน บุคลากร การประชาสัมพันธ์ หลักธรรม งานเผยแผ่จะอยู่ได้ศาสนาจะต้องอยู่รอด และต้องมีการติดตามประเมินผล
ประกอบกับแนวคิดเกิดขึ้นในการบริหารงานพระธรรมทูตอาสา เป็นการจัดการทรัพยากรมนุษย์ องค์กรต้องมองบุคลากรในองค์กรไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยทางการบริหาร แต่เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้มีความก้าวหน้า
กระบวนการบริหารงานบุคคลจะต้องปรับเปลี่ยน เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ขององค์กรและตอบสนองเป้าหมายขององค์กร สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร กระบวนการจัดการทรัพยากรมนุษย์มีลักษณะบูรณาการอย่างแท้จริง
ผู้บริหารต้องเชื่อมั่นต่อผู้ใต้บังคับบัญชา มอบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กระตุ้นให้เกิดการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และผสมผสานโยงใยศักยภาพของบุคคลให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก เพื่อให้เกิดแรงบวกในการใช้ศักยภาพของตนเอง
ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน ได้เป็นเครื่องจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”