เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระผู้มีคุณูปการต่อประเทศชาติ

พระพุทธศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และชาวโลกอย่างอเนกอนันต์

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๙๖. วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้

๙๗. วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

สำหรับสองบทนี้ ผู้เขียนเล่าที่มาของการจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนใต้  และ วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงไว้ในการช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ โดยความเสียสละอย่างแรงกล้าของพระธรรมทูตอาสา

 ๙๖.จัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนใต้       

              พอถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ก็มีมติมหาเถรสมาคมรองรับการทำงานของพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้   โดยให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  เป็นศูนย์ขับเคลื่อนความมั่นคงพระพุทธศาสนาใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นการทำงานเผยแผ่เชิงรุกตามมติมหาเถรสมาคมที่สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ  ต้องรับผิดชอบไปทุกพื้นที่  ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะปกติ  หรือเป็นพื้นที่เสี่ยง  เช่น ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบที่ต้องไปขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกให้เป็นระบบและเป็นรูปธรรม

              ตามมติที่ ๕๑๒/๒๕๕๘ เรื่อง ขอความเห็นชอบตั้งศูนย์ขับเคลื่อนการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนใต้  ดังความในมติมหาเถรสมาคม  มติที่ ๕๑๒/๒๕๔๘ สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคมที่ว่า

“…เพื่อขับเคลื่อนงานส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างเข้มแข็ง  เป็นระบบ  และเป็นรูปธรรม  สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  จึงเห็นควรจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนงานส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนใต้ ณ วัดสระเกศฯ กรุงเทพมหานคร

“เนื่องจากที่ผ่านมาวัดสระเกศฯ  โดยกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม  สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  ได้ส่งพระธรรมทูตอาสา  และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมความมั่นคง  และเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พระภิกษุสามเณร  และพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง…”

              และมติมหาเถรสมาคมดังกล่าวนี้  เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานก่อตั้งพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ของสมเด็จพระพุฒาจารย์  ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ที่ออกประกาศในปี พ.ศ. ๒๕๕๓  ซึ่งเป็นการออกคำสั่งที่มีผลตามกฎหมาย

๙๖.วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้     

              เนื่องจากในอดีตเมื่อสิบกว่าปีมานี้จนถึงปัจจุบันเกิดปัญหาความไม่สงบในภาคใต้  ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนที่นับถือพระพุทธศาสนา  ไม่สามารถที่จะปฏิบัติกิจหน้าที่ของชาวพุทธ  อาทิ ใส่บาตร ทำบุญ สวดมนต์ ไหว้พระ และกิจของสงฆ์เองก็ดำเนินไปด้วยความลำบาก  จึงเกิดพระธรรมทูตกลุ่มหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า  “พระธรรมทูตอาสา”  เพื่อที่จะทำงานเผยแผ่ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีข้อจำกัดในหลายด้าน  เช่น  ด้านระยะเวลา  และด้านงบประมาณ  สภาพพื้นที่  พระธรรมทูตอาสาแต่ละรูป แต่ละองค์ที่เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ถือได้ว่าเป็นผู้ที่เสียสละ  เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ 

การเสียสละอันยิ่งใหญ่ของบรรดาพระธรรมทูตอาสา  เป็นสิ่งที่ควรยกย่องเป็นอย่างยิ่ง  เป็นเทียนชัยเล่มเล็กๆ แห่งพระพุทธศาสนาที่ส่องแสงสว่างไปทั่วทั้ง ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งมีภาระและงานรับผิดชอบอยู่มากตามขนาดของพื้นที่ไปด้วย

              “แม้ในยามที่ร่างกายโรยแรง  เริ่มชราภาพลง  แต่ข่าวคราวที่พระสงฆ์สามเณรและชาวพุทธถูกฆ่าที่ภาคใต้  กลับเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น  พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  จำนวน ๒๖๐ รูป  ในจังหวัดสตูล  สงขลา  ยะลา  นราธิวาส  และปัตตานี  จึงถูกก่อตั้งขึ้นตามดำริของเจ้าประคุณสมเด็จฯ   เพื่อปลุกจิตสำนึกให้พระสงฆ์ร่วมกันทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย  นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นต้นมา”

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ประทานโอวาทแก่พระธรรมทูตอาสาว่า  “หากไม่มีพระสงฆ์ ในพื้นที่  ชาวพุทธก็หมดที่พึ่ง…ก็ชื่อว่า พระพุทธศาสนาได้หมดไปแล้ว  ขอให้ทุกองค์หนักแน่น  มั่นคง อยู่เป็นกำลังใจให้ชาวพุทธ  ถึงแม้วันหนึ่งวันใดข้างหน้า  พระพุทธศาสนาจะหมดไปจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็ขอให้วันนั้น  มีพระสงฆ์เดินออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย

เครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  เกิดขึ้นโดยดำริของเจ้าประคุณฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)  อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้  จึงได้เสนอมหาเถรสมาคมให้มีการจัดตั้งพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา  โดยการกำกับดูแลของสำนักส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นกลุ่มพระสงฆ์ที่มุ่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาสังคม  สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พุทธศาสนิกชนในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบใน ๕ จังหวัด  อันได้แก่จังหวัดสตูล  ปัตตานี  ยะลา  นราธิวาส และจังหวัดสงขลา  ซึ่งผ่านการอบรมในหลักสูตร Fa For D (Facilitator For Development of Decency) เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีจุดเน้นของกระบวนการ คือ เพื่อทบทวนแนวคิด  หลักการ  และพุทธวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการกลุ่ม  เพื่อฝึกทักษะการเป็นพระวิทยากรกระบวนการ  การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม  ด้วยกิจกรรม  อาทิ เช่น  Deep Listening : การฟังอย่างล้ำลึก  นึกอย่างลึกล้ำ  พูดอย่างมีประสิทธิภาพ : คนพูดได้คิด คนฟังได้คิด  และเพื่อฝึกทักษะการจัดทำและบริหารโครงการ  จนถึงการสร้างและพัฒนาเครือข่าย  ซึ่งดำเนินการอบรม โดยกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม  สำนักส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ในปัจจุบันมีสำนักงานกลางเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  อยู่ที่วัดบูรพาราม ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี  ศูนย์ประสานงานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดสตูล  อยู่ที่วัดนิคมพัฒนาราม อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล  ศูนย์ประสานงานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดสงขลา อยู่ที่วัดแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา  ศูนย์ประสานงานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดยะลา  อยู่ที่วัดนิโรธสังฆาราม อำเภอเมือง จังหวัดยะลา  และศูนย์ประสานงานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส  อยู่ที่วัดทองดีประชาราม อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส  มีพระธรรมทูตอาสาปฏิบัติศาสนกิจ ๒๖๐ รูป ภารกิจหลัก คือ ให้พระธรรมทูตอาสา ออกเยี่ยมให้กำลังใจพระสงฆ์ และชาวพุทธในพื้นที่  ออกสำรวจวัด และหมู่บ้านชาวพุทธที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง  อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบ  ทำให้ต้องออกจากพื้นที่  และช่วยฟื้นฟูประเพณีเก่าๆ ของชาวพุทธที่หายไปในช่วงเกิดเหตุความไม่สงบ  ภายใต้การกำกับของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๙๖. จัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนใต้ ๙๗. วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here