เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระแห่งยุคสมัย ผู้นำพระพุทธศาสนาก้าวสู่โลกยุคใหม่ ผู้สร้างตำนานพระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๙๑.ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

 ๙๒.สานสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนามหายาน 

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

สำหรับสองบทนี้ ผู้เขียนอธิบายกรอบความคิดของหลวงพ่อสมเด็จฯ ที่อิงกับพระธรรมวินัยจนก่อเกิดเป็นวิสัยทัศน์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนที่สามารถเกื้อกูลการบวชเรียนเป็นพุทธบุตรเพื่อสืบทอดการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกสายให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

๐. ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา            

ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก  จนพระพุทธศาสนาเบ่งบานกลางหิมะในโลกตะวันตกอย่างแข็งแกร่ง  เกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)  ผู้ริเริ่มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก  ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ และริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ   เป็นเหตุให้พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตได้ยึดเป็นแนวทางอันเดียวกัน  เป็นที่มาแห่งความสำเร็จของงานพระศาสนาในต่างประเทศ  นับได้ว่า  เจ้าประคุณสมเด็จฯ  เป็นผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก  ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไป  เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทย  และประชาชนในต่างประเทศทั่วโลก

เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้จะถูกจดจำ  เล่าขานถ่ายทอดสืบต่อกัน  จนกลายเป็นตำนาน  จากตำนานกลายเป็นประวัติศาสตร์  จากประวัติศาสตร์กลายเป็นความทรงจำของโลก

“ที่สุดแล้ว นามของพระมหาเถระท่านนี้ ก็จะถูกจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของโลก  ในนามผู้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานยังแผ่นดินตะวันตกอันไกลโพ้น ตลอดไป”

ดังสำนวนไทยที่ว่าฝนทั่งให้เป็นเข็มหมายถึง การใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการฝึก อบรม  สั่งสอน  โดยการมอบหมายงานที่สำคัญให้ทำด้วยความไว้วางใจ  ในความสามารถของศิษย์  เพื่อให้งานนั้นสำเร็จ  ซึ่งโบราณท่านเปรียบไว้ดั่งการฝนหรือตะไบทั่ง  ซึ่งเป็นแท่งเหล็กขนาดใหญ่ ให้มีขนาดเล็กลงจนเท่าเข็มเล่มหนึ่ง  นั่นคือ  หลักการสอนของหลวงพ่อสมเด็จฯ ที่มีต่อศิษย์ 

๒. สานสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนามหายาน

              สิ่งที่ท่านทั้งหลายควรจะดีใจอย่างยิ่งร่วมกันนั้นก็คือ  ทั้งเถรวาทและมหายาน  ไม่ได้เคยคิดประโยชน์ส่วนตัวแต่ประการใด  มุ่งอย่างเดียวว่าจะให้บรรดาคนทั้งหลาย  ได้รับประโยชน์จากคำสอนในทางพระพุทธศาสนา  มุ่งที่จะสร้างความอบอุ่นใจให้แก่คนทั้งหลาย

              คนทั้งหลายที่มีทุกข์มีร้อน  ก็ได้คลายทุกข์คลายร้อน  ที่มีทุกข์น้อย  เร่าร้อนน้อย  ก็หายไป  จึงเป็นความอบอุ่นที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน

              ความร่วมมือกัน คือ สามัคคีธรรมก่อให้เกิดความสุข  สุขทั้งแก่ตนเอง สุขทั้งแก่ชาวโลก

              การร่วมแรงร่วมใจกันจนเป็นตบะที่ยิ่งใหญ่ของเราทั้งหลาย  จะนำความอบอุ่น  นำความสุขมาสู่ชาวโลก  เคยมีพระผู้ใหญ่ฝ่ายมหายานได้กล่าวมาเมื่อประมาณ ๓๐ ปี แล้ว  ซึ่งเป็นความคิดของท่าน  แต่ว่าเป็นความคิดที่น่าจับใจ ท่านว่า

              พระพุทธศาสนาเหมือนต้นไม้ใหญ่  และมีสองกิ่งใหญ่ๆ  กิ่งหนึ่งเป็นเถรวาท  กิ่งหนึ่งเป็นมหายาน  แต่เป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน  คือ พระพุทธศาสนา  เรามีความรู้สึกร่วมกันเช่นนี้  ก็จะทำให้เกิดพลังใหญ่”

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ  ริเริ่มสานศาสนสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน โดยในปี พ.ศ. ๒๕๐๕  เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไทยคณะแรกเดินทางไปสังเกตการณ์พระศาสนาและเชื่อมศาสนสัมพันธ์  ที่ประเทศเกาหลี  ญี่ปุ่น  ไต้หวัน  ฮ่องกง  เวียดนาม  และจีน ฯลฯ  ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนอย่างสำคัญแห่งหน้าประวัติศาสตร์ศาสนา  ในการเชื่อมพระพุทธศาสนาเถรวาทกับมหายานเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น 

              ท่านโอสาโฮ  คิมุระ  และท่านโอโนะ  พระญี่ปุ่นที่รับการอุปสมบทตามแบบอย่างพระสงฆ์เถรวาทก่อน  จึงบวชตามแบบอย่างพระสงฆ์ฝ่ายมหายาน  และยังเป็นประเพณีมาถึงปัจจุบันว่า  ผู้จะบวชในสำนักของท่านทั้งสอง  ต้องได้รับการอุปสมบทตามแบบอย่างพระสงฆ์เถรวาทก่อน

              จากการเดินทางสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาในเกาหลี  ญี่ปุ่น  ไต้หวัน  ฮ่องกง  และจีน ฯลฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕  พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน ได้ขอรับการอุปสมบทตามแบบอย่างพระสงฆ์เถรวาท  เกิดประเพณีการบวชตามแบบอย่างพระสงฆ์เถรวาทก่อนบวชตามแบบอย่างพระสงฆ์มหายาน  ขึ้นในประเทศญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน ในเวลาต่อมา

              ริเริ่มให้มีการจัดการศึกษาสำหรับคณะสงฆ์ทั้งฝ่ายจีนนิกายและอนัมนิกาย  โดยในเบื้องต้น  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ส่งพระที่มีความเข้าใจทางการศึกษาไปช่วยในการบริหารโรงเรียน  และต่อมา ได้ริเริ่มให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยสำหรับคณะสงฆ์อนัมนิกายในประเทศไทย  ชื่อว่า  “มหาปัญญาวิทยาลัย

              “ต่อไปพระเณรจะน้อยลง  ไม่ใช่น้อยแต่เฉพาะจีนนิกายกับอนัมนิกาย  พระไทยก็น้อยลงด้วย เพราะความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง  แต่ที่จะให้มีพระเณรอยู่ได้  ต้องจัดการศึกษาให้พระเณรได้เรียน จะประกอบพิธีกรรมอย่างเดียวไม่ได้   ให้พระเณรได้ออกบิณฑบาต  ได้ปฏิบัติกิจอย่างพระไทย  เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  คณะสงฆ์ทั้งจีนนิกายและอนัมนิกายจึงจะเป็นปึกแผ่นมั่นคง”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๙๑.ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๙๒. เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here