“การสร้างวัดขึ้นในต่างประเทศ   การให้พระได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศก็เพื่อเตรียมต่อลมหายใจพระพุทธศาสนาให้อยู่ในโลกต่อไป  ไม่ใช่เพื่ออะไร  ก็เพื่ออนุเคราะห์โลก  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘๗. ให้ โอวาทธรรมพระธรรมทูต ๘๘. อุดมการณ์การทำงานเผยแผ่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

สำหรับสองบทนี้ ผู้เขียนเล่าย้อนถึงที่มาของปณิธานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลไปทั่วโลกให้ได้ อันเป็นที่มาของการสร้างพระธรรมทูต พระเณรรุ่นใหม่เพื่อถ่ายทอดธรรมสู่เพื่อนมนุษย์ ให้มีโอกาสได้รับพระธรรมอันฉ่ำเย็นของพระพุทธเจ้าตราบจนสิ้นทุกข์ทางใจในที่สุด

๘๗. ให้โอวาทธรรมพระธรรมทูต

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้วางเป็นแนวทางการสร้างวัดสำหรับพระธรรมทูตไว้ว่า  

              พระสงฆ์ไปปฏิบัติงานประเทศใดต้องใช้เงินของประเทศนั้นสร้างวัด   เพราะถ้าจะเอาเงินไทยไปสร้างวัดในต่างประเทศ  เราจะต้องเอาเงินบาทออกนอกประเทศเท่าไรจึงจะสร้างวัดได้วัดหนึ่ง  ค่าเงินบาทกับเงินต่างประเทศแตกต่างกันมาก  พระสงฆ์ที่ไปอยู่ต่างประเทศจึงต้องเก่งและมีความอดทนสูง

              ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)  เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา  ตามคำนิมนต์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา  โดยคณะผู้ร่วมเดินทางประกอบด้วย  เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์  (ช่วง วรปุญฺโญ) และ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นเหตุให้เห็นหนทางในการเผยแผ่พระพุทธ  ได้เกิดการวางรากฐานพระพุทธศาสนา  และเกิดวัดไทยขึ้นทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา  โดยอาศัยสมาคมชาวไทยต่างๆ  เช่น สมาคมชาวไทยอีสาน  สมาคมชาวไทยเหนือ  และสมาคมชาวไทยทักษิณ  ตลอดจนนักศึกษาไทยในอเมริกา 

              การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในดินแดนฝั่งตะวันตก  ไกลออกไปถึงสหรัฐอเมริกา  นับเป็นการเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนารอบโลกที่ไกลที่สุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเผยแผ่พระศาสนาของคณะสงฆ์  หลังสิ้นสุดยุคพระธรรมทูตทั้ง ๙  สาย ของพระเจ้าอโศกมหาราช  รวมระยะเวลาเดินทางถึง ๘๐ วัน ใน ๑๑ ประเทศ  ประกอบด้วย ประเทศญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  เนเธอร์แลนด์  เบลเยียม เยอรมนี  เดนมาร์ก  สวิตเซอร์แลนด์  อิตาลี  กรีก  และอินเดีย

              และในปีเดียวกันนั้น  ภายหลังกลับจากเดินทางรอบโลก  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ไปสังเกตการณ์พระศาสนาในประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง  เพื่อจาริกย้อนรอยเส้นทางพระบรมสารีริกธาตุ รศ. ๑๑๖ ซึ่งขุดพบที่กรุงกบิลพัสดุ์  ประเทศอินเดีย  ส่วนเดียวกับที่ประดิษฐานอยู่บนบรมบรรพต (ภูเขาทอง)  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  พระราชทานแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างๆ  เช่น ลังกา พม่า ลาว  ญี่ปุ่น  เกาหลี  และไซบีเรีย  เป็นต้น โดยเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เดินทางไปตามเมืองที่สำคัญต่างๆ  ของญี่ปุ่น  จนถึงเมืองนาโกย่า  แล้วเข้านมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระเจดีย์วัดนิไทจิ

              เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ  ได้สร้างอาคารหลังหนึ่งขึ้นภายในบริเวณวัด  และให้ชื่อว่า “อาคารอนุสรณ์สมเด็จฯ ญาโณทยมหาเถระ พ.ศ.๒๕๑๗”  เพื่อเป็นที่พักพระสงฆ์ต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาในประเทศไทย  ให้ได้รับความสะดวกสบายในเรื่องที่อยู่อาศัย  ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) พระอาจารย์ผู้จุดประกายความคิดที่จะให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปในโลกตะวันตก  ซึ่งอาคารดังกล่าวได้มีพระสงฆ์จากประเทศลาว  กัมพูชา  พม่า  จีน  ญี่ปุ่น  เนปาล  และบังคลาเทศ  เป็นต้น  เข้ามาพำนักอยู่เรื่อยมา หลังจบการศึกษา  บางรูปเดินทางกลับประเทศของตน  บางรูปได้ทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตในนามพระสงฆ์ไทยเดินไปเผยแผ่พระศาสนายังประเทศตะวันตก

              แม้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ  การตั้งวัดในต่างประเทศ  และการที่จะให้มีพระธรรมทูตไปประจำที่ต่างประเทศ  ในยุคแรกเริ่ม  ต้องพบกับอุปสรรคปัญหานานาประการ               

              แต่ที่สุด  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็สามารถนำพาพระธรรมทูตสายต่างประเทศก้าวข้ามห้วงเวลาแห่งความยากลำบากไปได้  ทุกครั้งที่มีผู้ตำหนิพระธรรมทูตต่างประเทศ  เจ้าประคุณสมเด็จฯ  ก็จะกล่าวด้วยแววตาอ่อนโยนเสมอว่า   

              “ คนไทยไปเมืองนอก  เพื่อไหว้ฝรั่ง  แต่พระไปเมืองนอก  เพื่อให้ฝรั่งไหว้ ”         

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักพูดกับพระธรรมทูตเสมอว่า  “ไปแล้วอย่าคิดกลับ ต้องคิดเอาหิมะกลบหน้า” อันเป็นอมตะวาจาที่ทำให้พระธรรมทูตสายต่างประเทศ  ทุ่มเททำงานเพื่อพระศาสนาอย่างอุทิศชีวิต

๘๘. อุดมการณ์การทำงานเผยแผ่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์

อุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของหลวงพ่อสมเด็จฯ ในการทำงานพระพุทธศาสนา คือ 

ต้องเอาพระพุทธศาสนาสู่กระจายออกไปทั่วโลกให้ได้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

  เพราะหลวงพ่อสมเด็จฯ  ท่านมองว่าทุกสิ่งคือความไม่เที่ยง  แม้กระทั่งพระพุทธศาสนาในเมืองไทยก็ไม่เที่ยง  ความไม่เที่ยงจะต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท  เอาพระพุทธศาสนาไปอยู่ประเทศนั้นประเทศนี้  ซึ่งอุดมการณ์ของหลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านมองเสมอว่า  “หากใครพูดถึงเรื่องพระไปต่างประเทศไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้  หลวงพ่อก็จะบอกเขาว่า…คนไทยไปเมืองนอก กับพระไปเมืองนอกนั้นแตกต่างกัน  คนไทยไปเมืองนอก  ไปเพื่อไหว้ฝรั่ง  แต่พระไปเมืองนอก ไปเพื่อให้ฝรั่งไหว้”

ด้วยอุดมการณ์ที่ว่า  อย่านึกว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ  มองไปที่ไหนก็มีแต่วัด  มองไปที่ไหนก็เห็นแต่จีวรเหลืองอร่าม  แล้วเหตุการณ์อย่างมหาวิทยาลัยนาลันทาจะเกิดขึ้นไม่ได้  ชั่วเพียงวินาทีเดียว  ทุกอย่างก็พลิกได้  นี่มองอย่างประวัติศาสตร์  ประวัติศาสตร์มันมี  มันเกิดมาแล้ว  อย่าประมาท  ต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามปณิธานของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในต่างประเทศ  นับว่าเป็นการสร้างงานพระพุทธศาสนาที่ต้องอาศัยความอดทน  ความศรัทธา  พร้อมกับความอุปถัมภ์ของแม่บ้านไทยที่นำได้ฝรั่งเข้าร่วมกิจกรรมวัฒนธรรมไทย  เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยชาวพุทธในต่างแดน  จึงก่อให้เกิดปณิธานที่หลวงพ่อสมเด็จฯ  ส่งพระธรรมทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างประเทศ  ต้องเริ่มเรียนรู้ในด้านของภาษาอังกฤษ  เพื่อการสื่อสารกับฝรั่งได้  และเรียนรู้เรื่องของกฎหมายในแต่ละเมืองที่จะได้ดำเนินชีวิตอยู่ที่ประเทศนั้น  ดังที่ท่านกล่าวว่า

“การสร้างวัดขึ้นในต่างประเทศ   การให้พระได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศก็เพื่อเตรียมต่อลมหายใจพระพุทธศาสนาให้อยู่ในโลกต่อไป  ไม่ใช่เพื่ออะไร  ก็เพื่ออนุเคราะห์โลก  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

              ผลจากการเดินทางปฏิบัติศาสนกิจในยุโรปเป็นครั้งแรก  ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องการสร้างวัดกระจายไปตามประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป  ต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๖  ฯพณฯ ดร.สมปอง สุจริตกุล  เอกอัครราชทูตไทย  ประจำกรุงเฮก  ได้ร่วมกับคณะกรรมการย้ายที่ทำการเพื่อให้พระสงฆ์สามารถใช้เป็นที่พำนักได้สะดวกขึ้น  ในขณะปฏิบัติศาสนกิจในประเทศเนเธอร์แลนด์  โดยเช่าอาคารเป็นตึก ๓ ชั้น ๑ คูหา อาคารเลขที่ ๒๐ ถนนทัลมาร์  เมืองวาลแวกซ์  ชั้นล่างทำเป็นห้องพระ  ชั้นสองเป็นที่พักสงฆ์  และชั้นบนทำเป็นห้องสมุด 

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๑๙  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เดินทางไปทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความยินดีของพี่น้องชาวไทยและชาวต่างประเทศ   ซึ่งวัดก็ได้รับการพัฒนามาโดยลำดับจนกลายเป็น “วัดพุทธาราม” เนเธอร์แลนด์อย่างถาวร  นอกจากนั้น วัดพุทธารามยังเป็นสถานที่ฝึกพระธรรมทูตให้ออกไปปฏิบัติศาสนกิจยังประเทศในแถบสแกนดิเนเวียอีกด้วย

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘๗. ให้โอวาทธรรมพระธรรมทูต ๘๘. อุดมการณ์การทำงานเผยแผ่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here